Skip to main content
sharethis

หลังจากที่ศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้ท้องที่ที่อยู่ในเขต 5 ตำบล ของ จ.ระยอง ประกอบด้วย ต.มาบข่า ต.เนินพระ ต.ทับมา ต.บ้านฉาง และท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ต.มาบตาพุด เป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา


 


วานนี้ (16 มี.ค.52) ภายหลังการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2552 ซึ่งมีขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติให้ประกาศพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามที่ศาลปกครองตัดสิน แต่ให้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองระยอง ที่ระบุว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือบอร์ดสิ่งแวดล้อมละเลยการปฏิบัติหน้าที่


 


โดยที่ผ่านมา บอร์ดสิ่งแวดล้อมได้ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมพื้นที่เขตมลพิษ พยายามทำทุกอย่างข้อกำหนด แต่ยังไม่มีภาคประชาชน องค์กรส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม การประกาศพื้นที่ควบคุมมลพิษจะทำให้ประชาชนเข้ามาช่วยกันตรวจสอบดูแลมลพิษในท้องถิ่นได้


 


สำหรับการอุทธรณ์กรณีบอร์ดสิ่งแวดล้อมละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ กรมควบคุมมลพิษ จะดำเนินเรื่องอุทธรณ์ตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ในวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 17 มี.ค. จะนำเสนอให้มีการประกาศพื้นที่ควบคุมมลพิษตามขั้นตอนต่อไป


 


 


"สุวิทย์" เชื่อไม่กระทบศก.
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้นำข้อท้วงติงของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ระบุว่าการประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะยิ่งซ้ำเติมอุตสาหกรรมในพื้นที่ควบคุม ในยามเศรษฐกิจตกต่ำขึ้นมาพิจารณาด้วยหรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่า ในที่ประชุมมีการชี้แจงเหตุและผลและทำความเข้าใจเรื่องนี้กับนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว ไม่มีปัญหา



"ที่ผ่านมา พื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษหลายพื้นที่ เช่น พัทยา และภูเก็ต ไม่เคยมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ หรือรายได้จากการท่องเที่ยวถดถอย จึงเชื่อว่ามาบตาพุดก็ไม่น่าจะมีปัญหาเช่นกัน" นายสุวิทย์กล่าว


 



ชุมชนรอบมาบตาพุดแบ่งขั้ว ชุมนุมค้าน-หนุน


ก่อนหน้าทราบผลการประชุม นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกพร้อมด้วยชาวมาบตาพุดและนักเรียนกว่า 150 คน รวมตัวกันหน้าศาลปกครองระยอง ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อเวลา 09.00 น. เพื่อเตรียมเดินทางด้วยเท้าเข้า กทม.ยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์เรียกร้องไม่ให้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองระยอง อย่างไรก็ตาม นายสุทธิกล่าวว่า ผู้ใหญ่ขอร้องให้ปักหลักอยู่ที่นี่ รอการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะอุทธรณ์คำสั่งหรือไม่อุทธรณ์



ขณะที่ชาวมาบตาพุดและบ้านฉาง ฝ่ายเรียกร้องให้อุทธรณ์นั้น รวมตัวบริเวณข้างศูนย์ราชการ จ.ระยอง กว่า 400 คน โดยมีนายสุทธา เหมสถล นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม อ.บ้านฉาง-มาบตาพุด เป็นแกนนำ



นายสุทธากล่าวว่า เตรียมเดินทางเข้า กทม.เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองระยอง แต่ผู้ใหญ่ที่นับถือขอร้องไม่ให้เดินทางเข้า กทม. จึงต้องมารวมตัวกันที่ศูนย์ราชการ และได้แยกย้ายกันเดินทางกลับในเวลาต่อมา


 


 


อภิสิทธิ์ยันเจ้าหน้าที่ต้องยื่นอุทธรณ์มาบตาพุด


เมื่อเวลา 13.35น.วันที่ 16 มี.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าให้ประกาศให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งจะตรงกับคำวินิจฉัยของศาลปกครอง โดยเมื่อลงนามตามขั้นตอนของกฎหมายก็จะประกาศได้ทันที


 


ทั้งนี้คณะกรรมการฯได้พิจารณาว่าการประกาศเขตควบคุมมลพิษเป็นกลไกสำคัญตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้การทำงานในการกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆมีกฎหมายรองรับชัดเจนและเป็นกระบวนการที่พื้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยที่ประชุมได้ให้ข้อสังเกตว่าผู้ที่มีหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องนี้ต่อควรรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายและให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดเพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ เดินต่อไปได้ อย่างไรก็ตามจะมีการขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองเพื่อยืนยันว่าไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติเรื่องการประกาศเขตควบคุมมลพิษตามที่ศาลมีคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ เพราะถ้าเขาไม่อุทธรณ์ก็เท่ากับว่าละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ แต่การยื่นอุทธรณ์จะไม่กระทบกับการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ
 
"ผมคิดว่าคงไม่เป็นธรรมสำหรับหลายคนที่ถูกวินิจฉัยว่าละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ แล้วไม่ให้เขาใช้สิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์ตรงนี้ และเราก็ต้องเชื่อในความเป็นธรรมที่ศาลจะให้กับทุกฝ่าย" นายกรัฐมนตรี กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าประชาชนในพื้นที่เรียกร้องไม่ให้อุทธรณ์จะเป็นปัญหาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนของนโยบายก็ประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว ส่วนการเรียกร้องไม่ให้อุทธรณ์นั้นตนคิดว่าจะให้เจ้าหน้าที่ยอมรับว่าละเลยคงไม่ได้ เขาต้องไปต่อสู้ตรงนั้น เมื่อถามว่าการประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่มีผลกระทบ เพราะการกำหนดเขตควบคุมมลพิษในประเทศนั้นมีการดำเนินการอยู่หลายพื้นที่ในประเทศไทยที่มาบตาพุดไม่ใช่เป็นพื้นที่แรก ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานต่างๆ แต่อย่างใด ส่วนมาตรการที่จะเพิ่มขึ้นมาก็จะมีขั้นตอนที่ต้องไปร่วมกันทำซึ่งต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย


 


ผู้สื่อข่าวถามว่าคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสามารถดำเนินการได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าเขาคิดว่าสามารถดำเนินการได้หรือจะใช้สิทธิ์ตามกฎหมายก็ทำได้ และคงไม่กระทบต่อการดำเนินการของรัฐบาลเรื่องการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งตนมั่นใจว่าการประกาศครั้งนี้เป็นการประกาศโดยชอบ ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่ยื่นอุทธรณ์จะทำให้ประชาชนคิดว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของเขาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของประชาชนคงไม่ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ รัฐบาลประกาศชัดเจนและจะประกาศต่อไป


 


นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ที่มีความกังวลกันมี 2 ลักษณะคือ ส่วนที่ 1.เกรงว่าจะไปกระทบการการทำงานที่กำลังดำเนินการอยู่หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมก็ไม่คิดว่ามีผลกระทบ 2.มีความกังวลว่าพอเป็นคำว่าเขตควบคุมมลพิษแล้วจะเป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ ตนก็ยืนยันว่าไม่ เพราะตามเจตนารมณ์ของกฎหมายคือเป็นการประกาศเพื่อให้เราสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ได้มีผลเพื่อต่อต้านธุรกิจและธุรกิจต้องเคารพเรื่องการรักษามาตรฐานสิ่งแวดล้อมและต้องทำให้ชุมชนไม่เดือดร้อนด้วย และตนไม่คิดว่าจะทำให้เสียบรรยากาศการลงทุน เพราะถ้าทุกคนอธิบายให้เห็นว่าเป็นกลไกตามปรกติที่รัฐบาลพึงใช้ในการดูแลผลกระทบจากอุตสาหกรรมซึ่งสากลเขาก็มีเหมือนกัน


 


นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาของบริษัทที่จังหวัดสระบุรีกรณีกากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ตนขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปเร่งดูว่าทำไมยังมีการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 10 ปี โดยให้รายงานกลับมาให้ตนทราบภายใน 7 วัน ส่วนเรื่องผลกระทบจากเสียงเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิก็ให้เสนอเข้ามาพิจารณาในสัปดาห์หน้า


 


 


ที่มา: เรียบเรียงจากมติชนออนไลน์, เว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net