Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จอม เพชรประดับ


ปฎิรูป..การเมือง


ปฎิรูป..สื่อ


ปฎิรูป..ผู้สื่อข่าวการเมือง


 


ผมรับปากกับ บก.ประชาไทว่า ตลอดเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเป็นเดือนของนักข่าว นักสื่อสารมวลชน (วันนักข่าว - 5 มีนาคม) ผมจะขอทำตัวเป็นแมลงวัน ลองตอดตอมแมลงวันด้วยกันเองบ้าง เพื่อผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารทั้งหลาย จะได้รับรู้ และเข้าใจ ความเป็นมาเป็นไปของคนในวงการนี้ ยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ไม่ได้มีอคติใด ๆ กับใคร ทั้งสิ้น แต่เป็นความจริงใจ ที่ต้องการให้เกิดความโปร่งใสในวิชาชีพ เพื่อเป็นอีกหลักประกันหนึ่ง ที่จะทำให้ประชาชน และผู้บริโภคศรัทธาต่อวิชาชีพสื่อมวลชน


ช่วงนี้มักจะได้ยินคำว่า "ปฎิรูป" อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะ ปฎิรูปการเมือง และปฎิรูป สื่อมวลชน  นั่นหมายถึงว่า ของเดิมที่เป็นอยู่อาจจะเก่าไม่ทันสมัย ไม่เป็นที่ต้องการของคนหมู่มากอีกต่อไป ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนแก้ไข


แต่..ใครละ จะเป็นคนบอกว่า ต้องปฎิรูป หรือแก้ไข ปรับเปลี่ยนอย่างไร และของเดิมที่มีอยู่ไม่ดีอย่างไร. หากสังคมไทยอยู่ในสภาวะปกติ โจทย์นี้ ก็คงไม่เหนือบ่ากว่าแรงพลังของคนไทย แต่ขณะนี้สังคมไทยอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติอย่างยิ่ง  ไม่ปกติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง. ความไม่ปกติที่น่ากลัว และรุนแรงเสียยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจนั่นก็คือ ความแตกแยกของคนในชาติด้วยกันเอง เป็นความแตกแยกบนเกมส์การชิงอำนาจของฝ่ายการเมือง


น่ากลัว และสร้างความทุกข์เข็ญ ร้าวราญใจให้กับคนไทยไปทุกหย่อมหญ้า


เหตุแห่งความแตกแยก ขัดแย้งที่รุนแรงเช่นนี้ มาจาก นักการเมืองและผู้ที่หวังในอำนาจทั้งหลาย โดยมี นักการเมืองเป็นคนเปิดเกมส์ ดึงเอาพลังมวลชนจากทุกสถาบัน มาเป็นหมาก เพื่อเล่นเกมส์แย่งอำนาจ


แน่นอน "สื่อมวลชน" ก็เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่ ถูกใช้เป็นเครื่องมือแห่งการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง นอกเหนือจากสถาบันกองทัพ ตุลาการ ข้าราชการ และอื่นๆ ดังนั้นหากแนวทางแห่งปฐมบท เพื่อการ "ปฎิรูป" เริ่มต้นจากฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะปฎิรูปการเมือง ปฎิรูปสื่อ หรือจะปฎิรูปด้านใดในสังคม ก็ยิ่งจะพบกับความล้มเหลว และยิ่งเพิ่มความแตกแยกให้รุนแรงมากขึ้น


รัฐบาล คือ กลุ่มการเมือง ที่อยู่ในอำนาจเวลานี้ ต้องยอมรับความจริงก่อนว่า การก้าวขึ้นสู่อำนาจไม่สง่างาม และไม่ชอบธรรม ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนจำนวนไม่น้อย ดังนั้นถ้าจะเริ่มต้นสร้างกระบวนการปฎิรูปสังคมอย่างได้ผล รัฐบาล จะต้องเป็นเพียงแค่ผู้เปิดประตู และเชื้อเชิญทุกขั้ว ทุกฝ่าย ทุกสี ทุกภาคส่วน ด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ ปราศจากอคติ และไร้ซึ่งผลประโยชน์ทางการเมืองใด ๆ


และทุกฝ่ายที่รัฐบาลเชื้อเชิญเข้ามา ต้องไม่โน้มเอียงไปในทางฝากรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ เพื่อจะได้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และเพื่อให้แต่ละฝ่ายพร้อมที่จะยื่นมือออกมาประสานกัน และเดินเข้าสู่เส้นทางเดียวกันคือ การร่วมกันแก้ปัญหาของชาติบ้านเมือง


รัฐบาล ต้องแสดงให้เห็น ถึงการเสียสละเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง พิสูจน์ให้เห็นชัดว่า พร้อมที่จะปฎิเสธผลประโยชน์ทางการเมืองในทุกรูปแบบ  ยืนยันหรือแสดงออกอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เล่นเกมส์แย่งชิงอำนาจเพื่อพรรคพวก หรือเพื่อลุ่มคนที่คอยให้ท้าย แต่ทุกนโยบาย ทุกแนวคิดที่ออกมา ก็เพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และต้องการจะเยียวยาสังคมและประเทศชาติอย่างแท้จริง


พูดถึงบทบาท และความสำคัญของ "ผู้สื่อข่าวการเมือง" ในยามนี้กันบ้าง ผู้สื่อข่าวการเมือง ในที่นี้หมายรวมทั้ง นักข่าว ช่างภาพ บก.ข่าว ทั้งจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ คนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการปฎิรูปการเมือง และถือเป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างยิ่งในสภาวะที่การเมืองของประเทศอยู่ในสภาวะไม่ปกติ


แต่ดูเหมือนความสำคัญนี้กลับไม่ค่อยถูก หรือถูกหยิบยกขึ้นมาพูดวิเคราะห์กันมากนัก


เบี้องต้น ผู้สื่อข่าวการเมือง ต้องยอมรับความเป็นจริงก่อนว่า ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่กำหนดประเด็นข่าวการเมืองในแต่ละวัน คือฝ่ายการเมือง ซึ่งชัดเจนอย่างยิ่งในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และความจริงอีกประการหนึ่งที่จะต้องยอมรับกันในความเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองไทยคือ นักการเมืองส่วนใหญ่ มีเป้าหมายเดียวกันคือ ผลประโยชน์ และอำนาจ สำหรับตัวเองและพรรค(พวก) ต้องมาก่อน ผลประโยชน์ประเทศชาติมาทีหลังเสมอ ( น่าสงสัย.. สโลแกนพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า ประชาชนต้องมาก่อน ทำไมไม่ค่อยถูกตอกย้ำมากนัก เมื่อได้เป็นรัฐบาล ) ซึ่งยุทธศาสตร์ การเป็นผู้กำหนดทิศทางข่าวในแต่ละวันของฝ่ายการเมืองนั้น ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอย่างยิ่งของทุกพรรคการเมือง


ผู้สื่อข่าวการเมืองเอง ก็รู้อยู่แก่ใจว่า ในหลายครั้ง เราตกเป็นส่วนหนึ่งของเกมส์การเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประเด็นเพื่อโยนหินถามทางของฝ่ายการเมือง การปล่อยข่าวล่อ เพื่อลวงเหยื่อ ให้ติดกับดักของอีกฝ่ายหนึ่ง  แต่ด้วยหลักแห่ง "ข้อเท็จจริง" นักข่าวทุกคนก็ต้องนำเสนอตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งหากคนอ่าน หรือผู้บริโภคข่าวที่ไม่รู้ทันข่าว หรือไม่ทันเกมส์การเมือง ก็อาจจะคิดหรือเชื่อไปว่า ผู้สือข่าวการเมือง ตกเป็นเครื่องมือ หรือเป็นทาสรับใช้นักการเมือง แม้กระทั่งบางครั้ง การ ให้ความสำคัญกับคำพูดของนักการเมืองในลักษณะท้าตี ท้าต่อย แบบนักเลงบ้านนอก หรือดุด่า เสียดสี กันอย่างดุเดือด รุนแรง นี่ก็คงหนีไม่พ้น หลักการของการทำข่าวที่ว่า "ข้อเท็จจริง" ซึ่งนักข่าวจะต้องนำเสนอ เพราะสุดท้ายเราเชื่อมั่นว่า ผู้บริโภคข่าว หรือคนรับสื่อ จะต้องใช้ดุจลยพินิจตัดสินเองได้ (นักวิชาการหลายท่านที่ไม่เชื่อในการใช้ดุลยพินิจของคนไทยส่วนใหญ่อาจจะแย้ง) เพราะนี่ก็คือข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่ง ที่จะยืนยันถึงคุณภาพของนักการเมืองไทย หากมองอย่างเข้าใจและยอมรับความจริง  การนำเสนอข่าวการเมืองในลักษณะนี้ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรสำหรับประเทศที่โครงสร้างและวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นแบบนี้


แต่สิ่งที่อยากจะฝากถึง ผู้สื่อข่าวการเมือง( ตอกย้ำกับตัวเองด้วย) นั่นก็คือ นี่คือห้วงเวลาแห่งความไม่ปกติของการเมืองไทย นอกจากการที่จะต้องปฎิบัติหน้าที่ด้วยการเคารพต่อหลัก "ข้อเท็จจริง" ที่เกิดขึ้น นำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ด้วยจิตใจที่เป็นธรรม และเป็นกลางกับทุกฝ่าย เพื่อประชาชนจะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างมากที่สุดแล้ว อาจจะต้องเพิ่มสำนึกและเป้าหมาย การนำเสนอข่าวการเมือง เพื่อที่จะนำไปสู่การหาทางออกให้กับการเมืองของประเทศด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ผู้สื่อข่าวการเมือง อาจจะต้องเพิ่ม สำนึกแห่งการปฎิรูปการเมือง เที่จะนำไปสู่ การสร้างเสถียรภาพของการเมืองไทยด้วย แต่ไม่ใช่การยัดเยียดข้อมูลข่าวสาร หรือการตัดสิน พิพากษา ส่งให้กับประชาชนหรือผู้รับสื่อ (ต้องระวังระหว่าง...การตั้งประเด็นข่าว กับ...การตั้งธงไว้ล่วงหน้า เป็นเส้นแบ่งที่ยากมาก..มีโอกาสจะพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง)


อีกประการหนึ่งที่ ผู้สื่อข่าวการเมือง ต้องยอมรับความจริงด้วยใจที่เป็นธรรม นั่นคือ ภาพลักษณ์ของนักการเมือง ที่ไร้อุดมการณ์ มุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์และอำนาจของตัวเองเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝีมือของการนำเสนอข่าวของพวกเราเองด้วยผู้สื่อข่าวการเมืองบางคนอาจจะบอกว่า มีนักการเมืองที่ซื่อสัตย์ เสียสละ คำนึงถึงประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ก็มีอยู่จริง แต่น้อยมากเมื่อเทียบกับนักการเมืองส่วนใหญ่  และนักการเมืองน้ำดีเหล่านี้ก็มักจะถูกกลบด้วยนักการเมืองน้ำเน่า..ใช่ นี่ก็คือความจริงที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของพวกเราเองด้วยไม่ใช่หรือ


แต่หากเป้าหมาย และสำนึกของ ผู้สื่อข่าวการเมือง ที่ต้องการจะร่วมกันสร้างเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงแข็งแรงให้กับประเทศ เราก็จำเป็นต้องนำเสนอสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่น้อยนิดในสังคมการเมืองบ้านเราด้วย (อาจจะมีมากก็ได้ แต่ติดที่ว่าเราคิดว่าไม่มี)


เป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน สำหรับประเทศไทยในยามนี้ ที่จะต้องให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ(ไม่ใช่สร้างภาพ) กับประชาชน เกี่ยวกับการเมือง และให้สังคม ประชาชนเห็นด้านดีของการเมืองบ้าง เพราะถึงอย่างไร ชีวิตของคนไทยทุกคนก็หนีผลกระทบจากการเมืองไปไม่พ้น ดังนั้น ผู้สื่อข่าวการเมืองในเมืองไทย จะต้องเป็นพลัง กระตุ้น และผลักดันให้ คนไทยทุกภาคส่วน ร่วมกันมีสำนึกในวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่หลวงนี้ เพื่อให้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ทุกคน ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันประสานมือ ประสานใจ ค้นหารูปแบบ และสร้างระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีความมั่นคง เป็นมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการ และความเป็นจริงตามวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนไทย


เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนี้  100 ปี ก็ยังน้อยเกินไป สำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net