Skip to main content
sharethis

     


เมื่อวันที่ 1 มี.ค.52 ระหว่างเวลา 11.15-11.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ ได้ร่วมลงนามเอกสารผลการประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ได้แก่ ปฏิญญาชะอำหัวหินว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2009 - 2015 ณ ห้องรอยัล ดุสิต แกรนด์ บอลรูม โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี นอกจากนี้ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ให้การรับรองและออกเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง กับการประชุมฯ อีก 6 ฉบับ และรับทราบเอกสารอีก 7 ฉบับ รวมทั้งเป็นพยานเอกสารที่ลงนาม โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 1 ฉบับ ดังนี้


 


          เอกสารที่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนให้การรับรอง จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่


          1. แผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน


          2. แผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน


          3. แผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่สอง ค.ศ. 2009-2015


          4. ปฏิญญาร่วมว่าด้วยการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในอาเซียน


          5. แถลงการณ์ว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งแผนนโยบาย บูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน


          6. แถลงการณ์ว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก


 


          เอกสารที่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนรับทราบ จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่


          1. รายงานประจำปีของเลขาธิการอาเซียนเรื่องการดำเนินงานของอาเซียนต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14


          2. รายงานของเลขาธิการอาเซียนว่าด้วยพัฒนาการการอนุวัติแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์


          3. รายงานของเลขาธิการอาเซียนว่าด้วยการติดตามผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง


          4. รายงานของผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน


          5. สรุปรายงานตารางความคืบหน้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและตารางความคืบหน้าประชาคมอาเซียน


          6. รายงานการดำเนินโครงการเผยแพร่ปีแห่งความรู้เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2551


          7. รายงานว่าด้วยการแข่งขันเพลงประจำอาเซียน


 


          เอกสารที่ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นพยาน จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่


          1. ความตกลงอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียม


 


 


***********


 


แถลงการณ์ของประธานอาเซียน


ในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 อำเภอชะอำ วันที่ 28 กุมภาพันธ์-1


(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)


มีนาคม 2552   โดยสำนักโฆษกฯ


         


 


 


1. เรา ประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มาพบกันที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทยเป็นครั้งแรกภายใต้กฎบัตรอาเซียน ในการประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์- 1 มีนาคม 2552 เราได้หารือกันอย่างกว้างขวางเปิดกว้าง และบรรลุผลสำเร็จ ภายใต้หัวข้อหลัก "กฎบัตรอาเซียนเพื่อประชาชนอาเซียน"


 


กฎบัตรอาเซียน


2. เราได้ฉลองการมีผลใช้บังคับของกฎบัตรอาเซียนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 กฎบัตรนี้ได้วางกรอบทางกฎหมายและทางสถาบันสำหรับอาเซียนให้เป็นองค์การที่มีกฎหมายเป็นพื้นฐาน มีประสิทธิภาพ และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อปูทางไปสู่การบรรลุประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 ในการนี้ เราได้มีอาณัติให้องค์กรต่างๆ ของอาเซียนปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎบัตรอาเซียนโดยสมบูรณ์


 


3. เรายินดีในผลสำเร็จของการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของเรากับสมาชิกของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระดับสูงว่าด้วยกฎบัตรอาเซียน ซึ่งในระหว่างนั้นข้อเสนอแนะต่างๆ ได้มีขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสภาพบุคคลทางกฎหมายของอาเซียน การจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทและประเด็นทางกฎหมายอื่นๆ ภายใต้กฎบัตรอาเซียน


 


4. เรายินดีกับความคืบหน้าในการจัดตั้งคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อเริ่มปฏิบัติหน้าที่แล้ว คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน ปรับปรุงการประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอกภูมิภาค


 


5. เราชื่นชมความก้าวหน้าของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งได้เสนอร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 เรารับทราบว่าการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนอาเซียนจะเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ เราตกลงว่า องค์กรนี้ควรเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ในช่วงปลายปี 2552


 


6. เราย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างพอเพียง อันรวมถึงงบประมาณและบุคลากรเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้สำนักเลขาธิการอาเซียนสามารถบรรลุภารกิจและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นตามกฎบัตรอาเซียน


 


การเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ในระดับภูมิภาค


เสถียรภาพทางการเงิน


7. เราชื่นชมแถลงการณ์ร่วมสำหรับสื่อมวลชนของการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 สมัยพิเศษที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งสะท้อนถึงพันธกรณีที่แน่วแน่ของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศ + 3 ที่จะร่วมมือกันแก้ไขผลกระทบในทางลบของวิกฤตการณ์การเงินโลกปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ


 


8. เรายินดีต่อความคืบหน้าของข้อริเริ่มเชียงใหม่แบบพหุภาคี และชื่นชมต่อการตัดสินใจที่จะเพิ่มจำนวนเงินของข้อริเริ่มเชียงใหม่ฯ จากที่เคยตกลงกันไว้ที่ 80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการสนับสนุนทางการเงินที่เพียงพอและการทำให้กระบวนการเฝ้าระวังมีความเข้มแข็งมากขึ้น ข้อริเริ่มเชียงใหม่แบบพหุภาคีจะสามารถเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพที่จะส่งเสริมความเชื่อมั่นและรื้อฟื้นเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค เราเรียกร้องให้รัฐมนตรีคลังทำงานต่อไปกับประเทศ+3 เพื่อเร่งรัดกระบวนการข้อริเริ่มเชียงใหม่แบบพหุภาคี นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนการดำเนินการตามข้อริเริ่มตลาดพันธบัตรเอเชียเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตลาดการเงินในภูมิภาคโดยเสนอทางเลือกที่เพิ่มขึ้นและความหลากหลายของรูปแบบในการออมและการลงทุนในภูมิภาค


 


9. เราเห็นพ้องกันว่า นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่สวนกระแสและประสานงานกันมากขึ้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินโลก บางรัฐบาลได้ดำเนินแผนกระตุ้นทางการเงินเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ รวมทั้งดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อให้ภาคธนาคารสามารถดำเนินการได้ต่อไป เราจะพยายามต่อไปเพื่อทำให้แน่ใจว่าโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมอยู่ในสถานะที่จะบรรเทาผลกระทบต่อคนยากจนและกลุ่มผู้เสียเปรียบทางสังคม


 


10. เราตกลงที่จะทำงานคู่ขนานกับข้อเสนอแนะของที่ประชุมสุดยอดของกลุ่ม G-20 โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิรูปสถาบันและตลาดการเงินระหว่างประเทศ เรายึดมั่นที่จะต่อต้านมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ซึ่งจะทำให้การค้าโลกเลวร้ายลงและทำให้การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจล่าช้า



ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน


11.  เราตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความต้องการของอาเซียนที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ เพื่อให้การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกนประสบผลสำเร็จ


12. เราตระหนักถึงความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวโยงกันระหว่างความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงานอย่างรอบด้าน เราให้คำมั่นที่จะกระชับความร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารทั้งภาคการผลิตและภาคการจัดจำหน่าย เราจะทำให้แน่ใจว่า ทรัพยากรและเทคโนโลยีจะได้รับการจัดสรรอย่างเพียงพอเพื่อเพิ่มผลผลิตทางอาหาร ขณะที่กลไกที่เหมาะสมจะต้องได้รับการพัฒนาเพื่อขจัดการบิดเบือนทางการตลาดสำหรับอาหาร ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความมั่นคงด้านอาหารในยามวิกฤต เรายินดีต่อความพยายามที่กำลังดำเนินอยู่ในการจัดตั้งกองทุนสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนกับประเทศ +3 เพื่อเป็นกลไกถาวรในภูมิภาค


 


13. เรารับทราบความสำคัญของความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อที่จะรับประกันการเพิ่มพูนความมั่นคงและความยั่งยืนของพลังงานโดยอาศัยการทำให้มีความหลากหลายของทรัพยากร การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากร การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง ในการนี้ เรายินดีต่อการลงนามในความตกลงอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นคุณูปการสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงาน


 


14. เราเน้นความจำเป็นที่จะกระชับความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมทั้งเชื้อเพลิงชีวภาพ เราเน้นย้ำความจำเป็นที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนร่วมกับพลังงานรูปแบบอื่นๆ ในสัดส่วนที่มากขึ้น ในการนี้ เราได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีพลังงานอาเซียนร่วมกันกำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณของพลังงานทดแทนร่วมกับพลังงานรูปแบบอื่นๆ ภายในห้าปีข้างหน้า เราได้ตกลงที่จะพิจารณาลู่ทางในการพัฒนาภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทน


 


การจัดการด้านภัยพิบัติ


15.  เรายินดีกับความสำเร็จของกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไซโคลนนาร์กิส และให้คำมั่นจะสนับสนุนพม่าในความพยายามฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยต่อไป โดยเฉพาะหลังการเปิดตัวแผนฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมหลังภัยพิบัติไซโคลนนาร์กิส เรายินดีต่อมติที่ประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จะขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่มแกนนำสามฝ่ายจนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการบรรเทาทุกข์ภัยพิบัติ เราตกลงที่จะพัฒนากลไกระดับภูมิภาคในลักษณะบูรณาการเพื่อรับมือกับมหาภัยพิบัติในอนาคต เรารับทราบข้อเสนอของประเทศไทยที่จะให้การฝึกอบรมและการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการภัยพิบัติโดยศูนย์เตรียมความพร้อมด้านภัยพิบัติในเอเชีย


 


16. เราตกลงที่จะให้เลขาธิการอาเซียนทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมของอาเซียน ซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีเมื่อได้รับการร้องขอจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประสบภัยในกรณีมหาภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติธรรมชาติหรือโรคระบาด


 


เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษและการลดช่องว่างการพัฒนา


17. เรายินดีกับความคืบหน้าของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ โดยเฉพาะในด้านการให้การศึกษาในเบื้องต้น ความเท่าเทียมกันทางเพศ และการต่อสู้กับโรคติดต่อ เราย้ำความจำเป็นที่จะต้องรักษาความสมดุลระหว่างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนาทางสังคมและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มความพยายามของเราในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ


 


18. เราเน้นความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของความพยายามร่วมกันในการลดช่องว่างการพัฒนา เพื่อ ทำให้ประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางบรรลุผล เรารับรองแผนงานของข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวกันของอาเซียน ฉบับที่ 2 ระหว่างปี 2552-2558 และรับทราบว่า แผนงานดังกล่าว รวมทั้งแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนสามเสาหลัก จะช่วยผลักดันให้กระบวนการสร้างประชาคมเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน


 


ประชาคมการเมืองและความมั่นคง


19. เรายินดีที่แผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนแล้วเสร็จ แผนงานดังกล่าวได้ตั้งเป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีกฎเกณฑ์ และมีค่านิยม และบรรทัดฐานร่วมกัน เป็นภูมิภาคที่เป็นปึกแผ่น มีสันติภาพ เสถียรภาพ และมีความสามารถตอบสนองกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยยึดมั่นความรับผิดชอบร่วมกันต่อความมั่นคงอย่างรอบด้าน และเป็นภูมิภาคที่ มองออกไปสู่ภายนอก และมีพลวัตร ในโลกที่มีความพึ่งพาซึ่งกันและกันและบูรณาการมากขึ้น


 


20. เราเรียกร้องให้มีดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคงอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรืองในภูมิภาคของเรา รวมทั้งเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์และสวัสดิการของประชาชนอาเซียน ในการนี้ เรามอบหมายให้คณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการและกิจกรรมเพื่อให้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนบรรลุผลตามเป้าหมาย และสอดคล้องกับหลักการและวัตถุประสงค์ของกฎบัตรอาเซียน


 


21. เราชื่นชมผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 3 ที่เมืองพัทยา ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และเสริมสร้างความสามารถของอาเซียนในการจัดการกับความท้าทายทางความมั่นคงในรูปแบบใหม่ อันรวมถึงภัยพิบัติต่างๆ


 


ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


22.เรายินดีกับผลการประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งแรก โดยเฉพาะระบบใบคะแนนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ใช้สำหรับติดตามผลการดำเนินการตามพันธกรณีของเรา และแผนการสื่อสารของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะเสริมสร้างความตระหนักในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


 


23.เราชื่นชมความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นหลังจากการลงนามปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เกิดขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 และเน้นย้ำความสำคัญของการบูรณาการทางเศรษฐกิจอาเซียนอย่างทันกาลภายใต้หัวข้อ "ก้าวเดินด้วยกัน ทำงานร่วมกันไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"


 


สินค้า


24.เราชื่นชมผลสำเร็จของการจัดทำความตกลงอาเซียนว่าด้วยการค้าสินค้า และการลงนามความ ตกลงดังกล่าวโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ เราตระหนักว่าความตกลงฉบับนี้ได้บรรจุองค์ประกอบสำคัญต่างๆ ที่จะเสริมสร้างความโปร่งใส ความแน่นอน และการคาดการณ์ได้ ภายในกรอบทางกฎหมายของอาเซียน และเสริมสร้างระบบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนซึ่งมีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน อันมีความสำคัญต่อประชาคมธุรกิจอาเซียนและผู้บริโภค


 


25. เราได้แสดงความยินดีต่อการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียนสำหรับการตรวจผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยา ตลอดจนการลงนามความตกลงดังกล่าวโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14


 


การบริการ


26.เรารับทราบความคืบหน้าสำคัญที่มีขึ้นในการเปิดเสรีการค้าบริการในรอบต่างๆ ของการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน นอกจากนี้ เราพอใจในการดำเนินงานในการเจรจารอบที่ 5 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน ซึ่งส่งผลให้มีการลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งนี้


 


การลงทุน


27.เรายินดีกับการลงนามความตกลงว่าด้วยการลงทุนฉบับครอบคลุม (เอซีไอเอ) ในระหว่างการประชุมสุดยอดปีนี้ เราชื่นชมที่จะนำเสนอเอซีไอเอที่ทันท่วงที เนื่องการความตกลงฉบับครอบคลุมนี้จะทำให้อาเซียนเป็นที่น่าสนใจในฐานะจุดหมายของการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจอาเซียน


 


การท่องเที่ยว


28.เราชื่นชมพันธกรณีและความพยายามของรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนในการส่งเสริมบูรณาการด้านการท่องเที่ยวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียน ปี 2554-2558 และการจัดทำแนวพื้นที่เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวอาเซียน เรารับทราบมาตรการแก้ไขเพื่อตอบสนองต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจโดยการประกาศให้ปี 2551 -2553 เป็นปีแห่งเยาวชนนักเดินทางภายใต้ข้อคิดริเริ่มอาเซียนด้านการท่องเที่ยว


 


วาระการพัฒนารอบโดฮา


29.เรายืนยันเจตนารมณ์ที่จะบรรลุผลวาระการพัฒนารอบโดฮา ดังนั้น เราเรียกร้องให้สมาชิกองค์การการค้าโลก โดยเฉพาะผู้มีบทบาทสำคัญ ให้เร่งรัดการเสริมสร้างและใช้ความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถสรุปรอบการเจรจานี้ได้ เรายังเรียกร้องให้ประเทศผู้ค้าทั้งปวงระงับการเพิ่มการกีดกันทางการค้าหรือการใช้มาตรการบิดเบือนทางการค้า ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ที่อ่อนไหวของตลาดโลกเลวร้ายลง


 


30.เราเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มความช่วยเหลือแก่ปะระเทศกำลังพัฒนา และโดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเพื่อเพิ่มพูนการมีส่วนร่วมของประเทศเหล่านั้นในการค้าโลก รวมทั้งลดแรงกระทบจากวิกฤตการณ์โลกในปัจจุบัน


 


31.เราเรียกร้องให้เอื้ออำนวยและเร่งรัดกระบวนการภาคยานุวัติองค์การการค้าโลกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาของประเทศนั้น


 


วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม


32. ด้วยส่วนแบ่งที่ใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถมีบทบาทสำคัญในการรองรับผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างงานในภาคการผลิตและการบริการ จุดแข็งของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมควรจะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ พัฒนาต่อไป และป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บรรษัทที่เติบโตขึ้นทั้งหลายควรจะถูกส่งเสริมให้เป็นหุ้นส่วนกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในสาขาเดียวกัน รวมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้ากับห่วงโซ่การผลิตต่างๆ และให้ความสนับสนุนในเรื่องการวิจัยและการพัฒนา การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ แนวทางดำเนินการ และเทคโนโลยี โดยที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นหนึ่งในสาขาสำคัญอันดับแรกๆ ที่อยู่ในแผนงานการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราจึงควรเร่งรัดการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่างๆ ในการนี้ เราได้มอบหมายให้คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนพัฒนาแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ที่มุ่งเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและปรับตัวต่อสถานการณ์ในภูมิภาค


 


ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน


33. เรารับรองแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเป็นแผนงานในการมุ่งสู่ การเป็นประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อความเป็นปึกแผ่น เป็นเอกภาพ และมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ตลอดจนสร้างสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและด้วยการผสมกลมกลืน เป็นประชาคมซึ่งความเป็นอยู่ที่ดี การทำมาหากิน และสวัสดิการของประชาชนได้รับการส่งเสริม โดยคำนึงถึงที่กล่าวนี้ เราเน้นความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือ ในการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม ความยุติธรรม และสิทธิต่าง รวมถึงมุ่งให้เกิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และการลดช่องว่างทางการพัฒนา


 


34. เราสนับสนุนให้รัฐสมาชิกอาเซียนส่งเสริมการสร้างความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนผ่านการศึกษาและวัฒนธรรม ภายใต้การศึกษา เราเห็นว่า การจัดทำหลักสูตรอาเซียนของแต่ละชาติ ในการศึกษาทุกระดับจะช่วยเตรียมเยาวชนของเราให้พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวผลสำเร็จจากประชาคมอาเซียน รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน เราส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาตลอดชีพ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับอาเซียนและความรู้เกี่ยวกับอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่นที่ถูกละเลยและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส


 


35. เราเน้นความสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน ดังนั้น เราจึงยินดีกับการริเริ่มของไทยในการจัดตั้งสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นเวทีให้ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการก่อตั้งประชาคมอาเซียน เราส่งเสริมให้รัฐสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ให้จัดตั้งกลไกในลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแบ่งปันข้อมูลและกิจกรรมระดับภูมิภาคและ


 


36. เราต้อนรับเพลง The ASEAN Way เป็นเพลงประจำอาเซียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นผลที่เป็นรูปธรรมจากการดำเนินการตามกฎบัตรอาเซียน เพลง The ASEAN Way นี้เป็นลิขสิทธิ์ของอาเซียน โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนเป็นหน่วยงานหลักที่จะดูแลการใช้เพลงดังกล่าวอย่างเหมาะสม เราส่งเสริมให้ใช้เพลงดังกล่าวในการประชุมอย่างเป็นทางการ และกิจกรรมภายในอาเซียน รวมทั้งการประชุมกับประเทศ คู่เจรจา เราสนับสนุนให้รัฐสมาชิกอาเซียนเผยแพร่เพลงประจำอาเซียนภายในประเทศของตน โดยการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นและปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน เราได้เน้นถึงความจำเป็นที่จะพัฒนาความคิดและความรู้สึกของการเป็นพลเมืองอาเซียนซึ่งมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน ตลอดจนคุณค่าและหลักการของอาเซียนด้วย


 


ประเด็นในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ


พม่า


37. เราได้หารืออย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับปัญหาพม่า นายเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่าได้กล่าวสรุปเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองและความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 7 ขั้นตอนที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยในพม่า เราสนับสนุนให้รัฐบาลพม่าอำนวยความสะดวกต่อกระบวนการปรองดองแห่งชาติให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสร้างเอกภาพแห่งชาติ อันจะนำไปสู่สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในพม่า เราเรียกร้องพม่าให้ร่วมมือกับผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่อไป


 


ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในมหาสมุทรอินเดีย


38. เราได้มีการหารือที่เป็นประโยชน์ในเรื่องผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในมหาสมุทรอินเดีย โดยตระหนักถึงความซับซ้อนและละเอียดอ่อน โดยที่ประเด็นนี้เป็นปัญหาระดับภูมิภาคและมีนัยด้านมนุษยธรรม เราได้ตกลงที่จะเพิ่มการแลกเปลี่ยนทัศนะและทำงานร่วมกันภายในอาเซียน ในขณะเดียวกัน ปัญหานี้ ควรได้รับการแก้ไขในบริบทที่กว้างกว่า รวมทั้งกระบวนการบาหลี โดยรวมประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทาง


 


สถานการณ์ในฉนวนกาซา


39. เราได้หารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์ในฉนวนกาซา ซึ่งเกิดจากปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล เราเน้นว่า สวัสดิการและการกินดีอยู่ดีของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซามีความสำคัญสูงสุด เราเรียกร้องให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างไม่มีอุปสรรคแก่ชาวปาเลสไตน์ทั่วพื้นที่ฉนวนกาซา เพื่อช่วยบรรเทาความยากลำบากของชาวปาเลสไตน์ เราสนับสนุนทุกความพยายามทั้งระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่จะนำมาซึ่งการหยุดยิงอย่างถาวร


 


40. เราเน้นความสำคัญของการส่งเสริมการฟื้นฟูบูรณะในฉนวนกาซา และความจำเป็นที่จะได้รับความช่วยเหลือระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ในการนี้ เราเรียกร้องให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประชุมระหว่างประเทศที่จะส่งเสริมการบูรณะฟื้นฟูในฉนวนกาซา ที่จะจัดโดยอียิปต์ในเดือนมีนาคม 2552 เรายินดีต่อความพยายามที่จะทำให้ชาวปาเลสไตน์มีความปรองดองกัน โดยเฉพาะความตกลงล่าสุดระหว่างกลุ่มปาเลสไตน์ต่างๆ ที่จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่มีเอกภาพ เราเรียกร้องความพยายามครั้งใหม่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและประชาคมระหว่างประเทศที่จะนำมาซึ่งสันติภาพที่สมบูรณ์แบบบนพื้นฐานของวิสัยทัศน์ที่จะมีรัฐประชาธิปไตยสองรัฐ ได้แก่ อิสราเอล และปาเลสไตน์ อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ภายใต้เขตแดนที่มั่นคงและได้รับการยอมรับตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่ 1850 (2008) และข้อริเริ่มสันติภาพของอาหรับ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ การหารือระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ควรจะมีขึ้นโดยเร็วที่สุด


 


ความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียน


41. เรายินดีต่อการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำอาเซียนของประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก ซึ่งเอกอัครราชทูตเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาภายนอก


 


42.เรายินดีต่อการที่จะมีการจัดการประชุมสุดยอดเพื่อฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 20 ปี อาเซียน - เกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2552 (2009) ณ เกาะเจจู เกาหลีใต้ เราเห็นร่วมกันว่า การประชุมสุดยอดจะเป็นโอกาสดีที่จะทบทวนความสัมพันธ์ใน 20 ปีที่ผ่านมา และกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคตระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้


 


43. เราตระหนักว่าความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีของอาเซียนที่มีอยู่กับประเทศคู่เจรจาต่างๆ มีความสำคัญในการเสริมสร้างการเข้าถึงตลาดสำหรับผลิตผลและบริการของอาเซียน ตลอดจนเป็นพื้นฐานสำหรับอาเซียนในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่แฟ้นกับเขตเศรษฐกิจต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและในภูมิภาคอื่นของโลก


 


44.ในการนี้ เราชื่นชมความคืบหน้าในการทำให้ความตกลงการค้าสินค้าอาซียน-จีน ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลีใต้ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership Agreement) มีผลใช้บังคับ เรารับทราบด้วยความยินดีที่ความตกลงการลงทุนอาเซียน-จีนแล้วเสร็จ ซึ่งจะได้มีการลงนามระหว่างการประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจา ในเดือนเมษายน 2552


 


45.เราขอแสดงความยินดีต่อการลงนามความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย- นิวซีแลนด์ เรายังเชื่อว่าความตกลงดังกล่าวเป็นพัฒนาการสำคัญต่อการเพิ่มพูนมูลค่าการค้าสินค้าและบริการของภูมิภาคให้ขยายออกไปภายนอกอาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์


 


46. เราสนับสนุนข้อเสนอของไทยที่จะจัดการประชุมอาเซียน+1 อาเซียน+3 และ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 10 - 12 เมษายน 2552 นอกจากนั้น เรายังได้เรียกร้องให้ประเทศคู่เจรจาที่เกี่ยวข้องหาข้อยุติเกี่ยวกับกำหนดวันประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน


 


เรื่องอื่น ๆ


47. เราขอยืนยันพันธกรณีในการสร้างอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน ในการนี้ เราพอใจกับผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มผู้แทนของภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ได้ก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน เยาวชนอาเซียน และภาค ประชาสังคมอาเซียน และเราได้ชื่นชมข้อสังเกตที่มีประโยชน์จากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจอาเซียนในช่วงการประชุมระหว่างอาหารกลางวันด้วย


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net