Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านคำสร้างไชยที่แห่ถอนชื่อหนุนสร้างโรงไฟฟ้า "บัวสมหมาย" หวั่นกรมโรงงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ อนุมัติสร้างโดยอาศัย "มติปลอม" ที่ผู้ใหญ่บ้านสร้างขึ้น


 


หลังจากที่ชาวบ้านหมู่ ๑๗ ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานีตื่นผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทบัวสมหมายผลิตไฟฟ้าจำกัด กลางชุมชนของบริษัท ได้แห่ขอถอนชื่อที่เคยเซ็นสนับสนุนโครงการกว่าครึ่ง กล่าวคือ ในวันที่ ๑๖ตุลาคม ๒๕๕๑ นางสมพิศ บุญกาที ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑๗ อ้างว่าได้ดำเนินการประชาคมหมู่บ้านและที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้ลงลายมือชื่อจำนวน ๕๗ คน


 


หลังจากนั้นชาวบ้านคำสร้างไชยได้ร่วมกันจัดเวทีรับฟังข้อมูล โดยได้เชิญอาจารย์มหาวิทยาอุบลราชธานี ทนายความ ตัวแทนของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ได้เข้าไปเก็บข้อมูลและถ่ายทำวีซีดีคำสัมภาษณ์ของชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับโรงงานไฟฟ้าของบริษัท บัวสมหมายผลิตไฟฟ้า จำกัด ที่ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด และหลังจากที่ชาวบ้านได้รับรู้ข้อมูลเรื่องผลกระทบในด้านฝุ่นอันเกิดจากวัสดุทีใช้ในการผลิต(แกลบ)และควันที่เกิดจากกระบวนการการผลิตซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ  รวมถึงปัญหาจากการขนส่งวัสดุซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายเนื่องจากโรงงานได้ตั้งอยู่ในบริเวณชุมชน ทำให้เกิดความวิตกกังวล จึงได้ทำหนังสือขอถอนชื่อจากการสนับสนุนในครั้งที่ทำประชาคมหมู่บ้านถึงนายอดุลยรัตน์ องอาจยุทธ์ นายอำเภอสว่างวีระวงศ์ 


 


นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้ทำสำเนาส่งให้กับอุตสาหกรรมจังหวัด อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง พร้อมแจ้งเรื่องและส่งสำเนาหนังสือไปยังกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ช่วยเหลือตามขอบเขตและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอีกด้วย


 


วันนี้ (๒๘ ธ.ค.) นางไพศรี ศรีเฉลิม ตัวแทนชาวบ้านผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือ เรื่อง ขอถอนชื่อการลงประชามติประชุมประชาคมหมู่บ้าน และขอคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท บัวสมหมายผลิตไฟฟ้า จำกัด เปิดเผยว่า เนื้อหาในหนังสือระบุว่า การจัดทำประชาคมหมู่บ้านในวันที่ ๑๖ ต.ค.๕๑ และนางสมพิศ  บัญกาที ผู้ใหญ่บ้านคำสร้างไชย ได้ออกหนังสือเลขที่ พิเศษ/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ โดยระบุว่าได้ดำเนินการประชาคมหมู่บ้านเรียบร้อยแล้ว และที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ และได้แนบบันทึกรายงานการประชาคมและรายชื่อชาวบ้านผู้เข้าร่วมประชาคมไปพร้อมด้วยนั้น ไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากในวันนั้นมีชาวบ้านเข้าร่วมเพียง ๒๗ คนเท่านั้น ไม่ใช่ ๕๗ คนตามรายงาน


 


นางไพศรีกล่าวอีกว่า ผู้ลงลายมือชื่อบางคนไม่ได้เข้าร่วมประชาคมจริง เพียงเดินผ่านที่ประชุมแล้วถูกเรียกให้ลงชื่อ และเหตุที่ยอมลงชื่อก็เพราะเข้าใจว่าเป็นเพียงลงชื่อเข้าประชุมตามปกติเท่านั้น และในเช้าวันต่อมายังมีการเดินเคาะประตูล่าลายชื่อ โดยไม่แจ้งแก่คนที่ลงชื่อว่าเป็นการลงมติเห็นชอบให้สร้างโรงไฟฟ้า ที่สำคัญรายชื่อบางส่วนเป็นของชาวบ้านที่ไปทำงานต่างจังหวัด ยังไม่ได้เดินทางกลับในวันลงลายมือชื่อ


 


อนึ่ง วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๑ มูลนิธิประชาสังคม จังหวัดอุบลราชธานีได้ร่วมกับสถานีโทรทัศน์โสภณเคเบิลทีวีได้ออกถ่ายทำบันทึก "รายการสภาไทบ้าน" นอกสถานที่ที่บ้านคำสร้างไชย หมู่ ๑๗ ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี โดยมีชาวบ้านคำสร้างไชย และผู้นำชุมชนจากบ้านใกล้เคียง ได้แก่ บ้านทุ่งนาในและบ้านคำนกเปล้าเข้าร่วมรายการประมาณ ๔๐ คน


 


ในการบันทึกรายการได้มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ได้แก่ ขรรค์เพชร ชายทวีป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.อุบลฯ นายศุภกิจ นัทนะวรการ นักวิชาการพลังงานทางเลือก จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ และนายสำเนียง สพสิงห์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง โดยมีนายสมหมาย สมทรัพย์ ประธานกรรมการบริษัท บัวสมหมายผลิตไฟฟ้า จำกัด  ได้โทรศัพท์เข้ารายการเพื่อตอบข้อซักถามของชาวบ้าน


 


นายสมหมายได้ตอบคำถามของชาวบ้านที่สอบถามถึงความคืบหน้าของโครงการฯ นายสมหมายตอบว่าบริษัทฯ ได้ทำการซื้อที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ตกลงรับซื้อกระแสไฟฟ้าที่จะผลิตได้จากบริษัทฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตก่อสร้างโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม


 


หลังจากได้รับข้อมูลจากการบันทึกรายการ ชาวบ้านได้แสดงความกังวลว่า การต่อสู้คัดค้านของชาวบ้านอาจไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะหน่วยงานราชการและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างละเลยหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ อีกทั้งยังมีพฤติกรรมขัดขวางมิให้ชาวบ้านเข้าร่วมการบันทึกรายการ และนายสำเนียง สพสิงห์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้างยังได้กล่าวในรายการด้วยว่า เป็นความใฝ่ฝันของ อบต. ในอันจะให้มีโรงงานในชุมชน เพราะจะทำให้ร้านค้าจะได้ขายสินค้า และลูกหลานจะได้มีงานทำ ส่วนปัญหาที่จะเกิดมีขึ้นในอนาคตค่อยแก้ไข แต่ปัจจุบันนี้ปัญหายังไม่เกิด


นางไพศรีกล่าวต่อว่า การให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าเฉพาะด้านเพียงด้านเดียวของ บริษัทบัวสมหมาย มีมาตลอด เช่น บอกว่าชาวบ้านจะได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก และมีความมั่นคงด้านไฟฟ้า เพราะมีโรงไฟฟ้าอยู่ใกล้หมู่บ้าน แต่ความจริง คือ ไฟฟ้าจะถูกนำเข้าระบบรวมของประเทศ ราคาค่าไฟฟ้าจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับนโยบายส่วนกลาง และคำบอกเล่าที่สร้างความตื่นเต้นให้แก่ชาวบ้าน คือ โรงไฟฟ้าจะสร้างงานให้แก่คนในชุมชน บริษัทฯ จะให้เงินพัฒนาชุมชนผ่านทาง อบต.ท่าช้าง แต่เรื่องผลกระทบจากโรงไฟฟ้าไม่เคยบอกกล่าวกับชาวบ้านเลย


 


อนึ่ง ชาวบ้านที่เคยลงลายมือชื่อที่นางสมพิศ บัญกาที ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑๗ อ้างว่าเป็นมติของการจัดทำประชาคมหมู่บ้านจำนวน ๕๗ คนนั้น ในรายชื่อขอถอนชื่อการลงประชามติประชุมประชาคมหมู่บ้าน เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่แนบไปพร้อมหนังสือขอถอนชื่อฯ มีจำนวนถึง ๓๑ คนหรือเกินกว่ากึ่งหนึ่ง 


 


 


 


รายงานข่าวที่เกี่ยวข้อง  http://www.prachatai.com/05web/th/home/14745

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net