Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


 


ท่ามกลางความมืดหน้าตามัวของผู้ที่กำลังต่อสู้กันอย่างเมามันเพื่อเอาแพ้เอาชนะ ทางการเมืองจนถึงขนาดเอาชีวิตเป็นเดิมพันเพียงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตน โดยต่างฝ่ายต่างลืมไปว่าชีวิตมนุษย์นั้นมีค่ายิ่งนัก กว่าจะเกิด กว่าจะเจริญเติบโต กว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึงวันตาย แต่กลับต้องมาถูกจับให้เป็นเบี้ยของแกนนำของฝ่ายการเมืองที่โสมม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง


 


ไม่ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะจบลงอย่างไร บทเรียนประวัติศาสตร์ตอนนี้จะถูกจารึกไว้ว่าในครั้งหนึ่งสังคมไทยเราไร้สติถึงกับฆ่าฟันกันเพียงเพื่อสนองตัณหาทางการเมืองของคนไม่กี่คน สังคมไทยเราไร้สติจนถึงกับบุกยึดสนามบินนานาชาติที่เป็นประตูเข้าออกประเทศ


 


นอกจากการออกมาห้ำหั่นเพื่อเอาชีวิตของฝ่ายตรงข้ามแล้ว กลไกของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็กลับนิ่งเฉย ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลเป็ดง่อยที่มักกล่าวอ้างอยู่เสมอว่าได้รับฉันทามติจากการเลือกตั้งเข้าไปบริหารประเทศรวมถึงการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ว่ากลไกของรัฐที่เป็นตำรวจ ทหารหรือฝ่ายพลเรือนที่ไม่ยอมปฏิบัติงานจนปล่อยให้สนามบินถูกยึด โดยลืมไปว่าในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะชื่ออะไรหรือมาจากพรรคการเมืองไหนก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยภาษีอากรจากประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ


 


สภาวะการณ์ของความขัดแย้งของไทยเราก้าวเข้าสู่ภาวะไร้อำนาจรัฐซึ่งเป็นสภาวะการณ์ขั้นแรกของความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งมีอยู่ 3 ระดับ คือ


 


1) จลาจล(Riot) มีความวุ่นวายเกิดขึ้นแผ่ซ่านไปทั่วประเทศ กลไกของรัฐทำงานไม่ได้ สถานที่ราชการถูกยึด ฯลฯ ซึ่งสภาวะการณ์เช่นนี้คือสภาวะการณ์ของไทยเราในปัจจุบันที่ติดอันดับ 7 ประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกรองจาก อิรัก อัฟกานิสถาน เชชเนีย แอฟริกาใต้ จาเมกา และซูดานเท่านั้นเอง(ขนาดอินเดียที่มีการฆ่ากันตายเกือบ 200คนในการก่อการร้ายที่มุมไบยังอยู่อันดับที่ 17 เท่านั้น)


 


2) สงครามกลางเมือง(Civil War) เมื่อมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นก็มีการจัดตั้งกองกำลังเป็นของตัวเอง มีพื้นที่ที่ฝ่ายตนเองยึดครองเป็นสัดส่วน ซึ่งสภาวะทางการเมืองของไทยเราก็เริ่มมีเค้าลาง  ขึ้นบ้างแล้วหากปัญหาในขั้นที่ 1 ไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว


 


3) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ในขั้นที่รุนแรงที่สุดก็คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังเช่นที่เกิดขึ้นในรวันดา หรือที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือในกัมพูชายุคเขมรแดงครองเมือง ซึ่งเหตุการณ์ในกัมพูชานี้เราสามารถนำมาเป็นเป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดีเพราะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีสาเหตุมาจากเหตุผลทางการเมืองล้วนๆเหมือนของไทยในปัจจุบันโดยไม่มีปัจจัยทางศาสนาเช่นสงครามครูเสด และไม่เหมือนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวโดยนาซีหรือที่รวันดาที่มีเหตุผลเรื่องชาติพันธุ์


 


สมควรแล้วล่ะหรือที่เราจะต้องเอาชีวิตที่มีค่าของเรามาสังเวยเพื่อสนองตัณหาให้แก่  แกนนำทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพันธมิตรหรือฝ่ายรัฐบาล ก่อนที่เราจะเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผมขอนำแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นแถลงการณ์ที่ออกมาเพื่อเตือนสติคนไทยให้ฉุกคิดได้ดีที่สุดฉบับหนึ่ง ดังนี้ครับ


 


แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


เรื่อง คืนความเป็นมนุษย์และนำหลักนิติรัฐกลับสู่สังคมไทย


                        ท่ามกลางความขัดแย้งที่กำลังขยายตัวออกอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ดังปรากฏให้เห็นจากการเข่นฆ่าและการทำร้ายกันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านพันธมิตรฯ ทั้งที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพและในต่างจังหวัด และจนบัดนี้ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะยุติลงได้อย่างไร แต่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น


                        ไม่ว่าความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลและพันธมิตรจะดำเนินไปหรือยุติลงในลักษณะเช่นไร แต่สิ่งที่มีความหมายสำหรับสังคมไทยและจะเป็นหนทางหนึ่งในการธำรงรักษาให้สังคมไทยไม่ให้บอบช้ำไปมากกว่านี้ นั่นคือต้องร่วมผลักดันและเรียกร้องดังต่อไปนี้


                        ประการแรก นำหลักนิติรัฐมาบังคับใช้อย่างเป็นธรรม


                        สภาวะความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาของหน่วยงานรัฐรวมถึงการเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้สังคมตกอยู่ในสภาวะของการทำสงครามระหว่างผู้คน หากยังปล่อยให้สภาพดังกล่าวดำเนินต่อไปก็จะมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของผู้คน


                        จำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายโดยองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อผู้ที่กระทำผิดกฎหมายไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม หากหน่วยงานรัฐใดไม่กระทำตามหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดต้องดำเนินไปตามกรอบของความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมตามมาตรฐานของอารยะประเทศ มิใช่เป็นการใช้อำนาจด้วยความรุนแรงตามอำเภอใจเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก


ประการที่สอง คืนความเป็นมนุษย์ให้กับสังคมไทย


ในห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งที่ผ่านมา ได้มีการปลุกเร้าและสร้างความหมายให้ฝ่ายที่คิดต่างจากตนกลายเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด จึงทำให้สามารถที่จะลงมือต่ออีกฝ่ายได้เมื่อเผชิญหน้ากัน สังคมไทยเคยมีบทเรียนของการแบ่ง "ซ้าย/ขวา" จากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อมาถึงบัดนี้การแบ่งแยกระหว่าง "แดง/เหลือง" กำลังนำพาสังคมไทยย้อนกลับไปสู่โศกนาฏกรรมแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง


ควรตระหนักว่าไม่ว่าจะมีความเห็นไปในทิศทางใดก็ตาม แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตนก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเฉกเช่นเดียวกับเรา อุดมการณ์ทางการเมืองที่ทั้งสองฝ่ายกำลังยึดมั่นและปลุกปั่นอยู่ในขณะนี้ ล้วนแต่ไม่มีคุณค่าพอต่อชีวิตและเลือดเนื้อของผู้คน ต้องเรียกร้องให้หวนกลับมาตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมสังคมให้มากขึ้น รวมทั้งประณามการกระทำที่มีผลต่อการสร้างความเป็นศัตรูให้เกิดขึ้นระหว่างผู้คนในสังคมไทยด้วยกันไม่ว่าการกระทำนั้นจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม


                        เงื่อนไขทั้งสองประการจะเป็นสิ่งที่ช่วยประคับประคองสังคมไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงใคร่ขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการคืนความเป็นมนุษย์และนำหลักนิติรัฐกลับสู่สังคมไทยโดยเร่งด่วนที่สุด


                                                                                    มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


                                                                                    29 พฤศจิกายน 2551


----------------------


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 3 ธันวาคม 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net