Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม : "นักรบกู้ชาติ" การเมืองอัตลักษณ์ (political identity) ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


 


สามชาย ศรีสันต์


 


 


นักวิชาการหลายคนได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการรวมกันของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นความขัดแย้งทางชนชั้น  ระหว่างชาวรากหญ้า, คนในชนบท กับ ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในเขตเมือง (ที่มีเคเบิ้ลทีวีดู)  ขณะที่นักมานุษยวิทยาอย่าง ยุกติ เสนอว่าเป็นความกระวนกระวายต่อภาวะไร้ถิ่นฐานของคนรุ่นก่อน ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกยุคหลังสมัยใหม่" (ยุกติ มุกดาวิจิตร, ประชาไท 2 ก.ย.51) ที่มีรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจต่อมาจากทักษิณเป็นผู้ขับเคลื่อน   ยุกติให้เหตุผลอย่างน่าสนใจว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรคือผู้สูงวัย หลากหลายอาชีพ ปนเปกันหลายชนชั้น แต่ล้วนเป็นคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ที่ไม่ใช่คนหนุ่มสาว  โดยมีจุดร่วมกันประการหนึ่งคือ อายุ และการเป็นคนรุ่นก่อน


 


แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ขบวนการเคลื่อนไหวแบบพันธมิตรไม่ใช่มีเพียงคนสูงอายุ วัยเกษียน หรืออาม่า อาซ้อ ที่รักชาติรักแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังมีคนหนุ่มสาว "ยังแพด"  (young-pad) มีกลุ่มชายฉกรรจ์ที่เรียกว่าตัวเองว่า "นักรบศรีวิชัย" พนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงคนหนุ่มสาววัยทำงานที่ควงคู่กันมาร่วมกิจกรรมยามเย็น เรื่อยไปจนถึงเด็ก ๆ ที่ถูกจับโพกผ้า "กู้ชาติ" ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก คนเหล่านี้อาจไม่ใช่ตกอยู่ในภาวะกระวนกระวายต่อการไร้ถิ่นฐานที่ถูกรุกรานด้วยนโยบายของระบอบทักษิณ เพราะกลุ่มนักรบศรีวิชัย แท็กซี่พันธมิตร พ่อค้าแม่ค้าที่จำหน่ายของที่ระลึกบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล หรือแม้แต่คุณน้า คุณอา คุณป้า ที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ รวมกลุ่มอยู่ในเต็นท์ ก็มีคุณลักษณะที่ไม่ต่างจากคนรากหญ้า ที่ย่อมได้ประโยชน์จากนโยบายทักษิณไม่ต่างจากคนที่เชียร์ทักษิณ ภาวะไร้ถิ่นฐาน  จึงไม่น่าจะนำมาอธิบายปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้ทั้งหมด เช่นเดียวกันความคิดเรื่องชนชั้น ที่หลากหลายปนเปในขบวนการพันธมิตรทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทั้งชาวรากหญ้าและชาวฟ้า


 


บทความนี้เริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้วิธีการอย่างไร ที่ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมตัดข้าม ชนชั้น วัฒนธรรม รุ่น (generation) ได้อย่างหลากหลายแต่ถูกประกอบสร้าง       อัตลักษณ์ให้เป็นหนึ่งเดียวคือ "นักรบกู้ชาติ" ขับไล่ทรราช


 


แบบแผนการรวมคนกล้าจากทั่วประเทศในขบวนการพันธมิตรทำได้อย่างไรนั้น สามารถพิจารณาได้ชัดเจนจาก แถลงการณ์ฉบับล่าสุด(24/2551) ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง ระดมมวลชนครั้งใหญ่เพื่อเผด็จศึกหยุดยั้งอำนาจรัฐบาลทรราชฯ ในแถลงการณ์มีเนื้อหาสาระสำคัญ 3 ประการ คือ


 


ประการแรก ยกย่องผู้เสียชีวิตในฐานะวีรชนคนที่ 3 ของพันธมิตร


"ขอประกาศอย่างเป็นทางการยกย่อง เชิดชู นายเจนกิจ กลัดสาคร ให้เป็นวีรชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและประชาชนตลอดไป ตลอดจนขอแสดงความเสียใจกับผู้บาดเจ็บทุกคนในความกล้าหาญครั้งนี้"


 


ประการที่สอง  ประณามว่าเป็นการกระทำของรัฐบาล ที่ทำได้แม้กระทั่งสตรี ผู้สูงวัย และเยาวชน


"การใช้อาวุธสงครามประเภทระเบิดในการเข่นฆ่าประชาชนผู้มาชุมนุมร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรี ผู้สูงวัย และเยาวชน นั้นมิได้เกิดครั้งแรก หากแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ครั้งแล้วครั้งเล่าจาก เจ้าหน้าที่ของรัฐและอันธพาลของรัฐบาลทรราชฆาตกรหุ่นเชิดทั้งสิ้น"


ประการที่สาม  เชิญชวน เรียกร้อง ให้ออกมาชุมนุม ด้วยถ้อยคำที่แสดงให้ว่าเป็นภารกิจครั้งสำคัญ ครั้งสุดท้าย


"จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้าร่วมชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์มาใช้สิทธิ โดยทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2551 มาตรา 70 ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่ง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จนกว่าสังคมไทยจะได้รับชัยชนะ"


 


สามประการข้างต้น เป็นแบบแผนการเคลื่อนไหวที่สำคัญของพันธมิตรทุกครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือ ยกย่องความเสียสละ รักชาติ รักแผ่นดิน ของมวลหมู่สมาชิก ซึ่งเป็นด้านดีงามของการทำหน้าที่ของคนไทย ขณะเดียวกันการสร้างความไม่ชอบธรรม ชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมทรามของภาวะจิตใจ พฤติกรรมของรัฐบาลทักษิณ และพวกด้วยรูปแบบต่าง ๆ และลงท้ายด้วยข้อสรุปว่า ต้องออกมารวมตัวกันครั้งใหญ่ ครั้งสำคัญ 


 


สิ่งที่ทำให้พันธมิตร ฯ มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ หลายวัฒนธรรม ทั้งภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ทั้งพ่อค้า แม่ค้า คนหนุ่มสาว นักศึกษา นักธุรกิจ ข้าราชการ ชนชั้นสูง ในเมือง ในชนบท คือ การสร้างอัตลักษณ์ร่วม (collective identity) ที่ทุกคนมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันว่า ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ในฐานะ "นักรบประชาชน" "ผู้กู้ชาติ" (ชาติในที่นี้หมายรวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย) อัตลักษณ์ร่วมกันของพันธมิตรไม่ใช่เรียบง่ายดังที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเรื่องชาติพันธุ์, เพศสภาวะ, สิ่งแวดล้อม หรืออาชีพ เพราะกลุ่มเหล่านี้มีสิ่งบ่งชี้ความแตกต่างจากลุ่มอื่นที่ชัดเจน ในด้านเชื้อชาติ ผิวสี การแสดงออกทางเพศ ท้องถิ่นที่อาศัย แต่สำหรับพันธมิตรแล้ว เป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย ให้มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ และอารมณ์ร่วมเดียวกัน คือ ความเคียดแค้นชิงชัง พร้อมจะเข้าปะทะโค่นล้ม "ระบอบทักษิณ"  ที่หมายรวมถึงรัฐบาลและบุคคลที่มาจากระบอบทักษิณ


 


 


1. พหุอัตลักษณ์ร่วม


คนหลากหลายกลุ่ม หลากหลายสาขาอาชีพ ถูกทำให้มีอัตลักษณ์ร่วมกันคือ การแบ่งหน้าที่ความชำนาญการพิเศษในอาณาบริเวณที่พันธมิตรยึดครองอยู่ ด้วยการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตนเองขึ้น แต่ทั้งหมดร่วมกันทำเพื่อเป้าหมายเดียวกัน "นักรบศรีวิชัย" เป็นแนวหน้าคอยปกป้อง และเข้าปะทะกับฝ่ายตรงข้าม ขณะที่นักธุรกิจ คนทำงาน ในเขตเมืองเรียกตัวเองว่า "ลูกจีนกู้ชาติ" มี อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นสตรีอายุ 40 ปีขึ้นไป ทำหน้าที่สนับสนุนเสบียงอาหารสิ่งของอำนวยความสะดวก เรียกว่า "แม่ยกพันธมิตร" ในบริเวณที่ชุมนุมนั้นเต็มไปด้วยผู้คนที่มาจากสถานที่ต่าง ๆ  แต่เขาเหล่านั้นจะมีตัวตน อัตลักษณ์ร่วมบางอย่างที่ถูกจัดให้ เป็นพยาบาลอาสา เป็นการ์ดอาสา หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็น "พันธมิตรจังหวัด..." ซึ่งมีที่พักเฉพาะของกลุ่มตนเอง แต่ทั้งหมดล้วนมีหน้าที่ตามอัตลักษณ์ที่ตนสวมทับอยู่เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้บรรลุเป้าประสงค์ที่ต้องการโค่นล้มระบอบทักษิณ 


 


 


2. อัตลักษณ์ร่วม "นักรบประชาชน กู้ชาติ"


การสร้างให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นนักรบประชาชนทำในหลายรูปแบบ  การเดินเข้ามาบริเวณหน้าเวทีปราศรัย พร้อมเสียงกล่าวต้อนรับเขย่ามือตบ ของบรรดาผู้เข้าร่วมชุมนุมที่แสดงต่อพันธมิตรจังหวัดต่าง ๆ ที่เดินทางมาถึง ดุจดังนักรบเดินสวนสนามประกาศตนพร้อมรบ หรือการแสดงอาการต้อนรับผู้ที่กลับมาจากยุทธการดาวกระจายเสมือนทหารกล้าผู้เพิ่งได้รับชัยชนะมาจากสมรภูมิ


 


ขณะที่ชุดออกศึกจรยุทธคือเสื้อเหลือง และมือตบ แต่ชุดสนามใหญ่เตรียมปะทะนั้นประกอบด้วยด้วยหมวกกันน๊อค  ผ้าเช็ดหน้า ขวดน้ำ แว่นดำน้ำ ย่ามหรือเป้ที่บรรจุอาวุธป้องกันตัวเองที่ยังคงกังขาว่า ปืนพก มีด ระเบิดปิงปอง ถูกใส่ไว้ด้วยหรือไม่


 


นักรบเมื่อเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม  จะปฏิบัติต่อกันตามธรรมเนียมนักการเมืองนั้นไม่ได้ หากแต่ต้องเป็นการเผชิญหน้า ท้าทาย และช่วงชิงพื้นที่  ด้วยอารมณ์โกรธแค้นฝ่ายความมั่นคงที่ฝังรากลึกหนักแน่นมาแต่การปะทะคราวก่อน ๆ การปฏิบัติต่อตำรวจจึงเสมือนเป็นคู่ต่อสู้ ศัตรู ที่เข้ามารุกราน  การระลึกรู้ว่าเหล่ามวลประชาพันธมิตรคือ นักรบ อาจพิจารณาได้จากถ้อยคำที่สะท้อนถึงการทำสงคราม การรบ เป็นคำที่ใช้แทนการเคลื่อนไหวของขบวนการ   ดังเช่นคำปลุกใจนักรบของแกนนำตอนหนึ่งที่ว่า


 


"ตอนนี้อารมณ์ของมวลชนขณะนี้เหมือน ทุบหม้อข้าวมา เหมือนยุทธการของพระเจ้าตาก แต่ไม่ใช่พระเจ้าตากที่สนามหลวง แต่ในวันที่ 23 นี้ เป็นอารยะขัดขืนขั้นสูงสุดซึ่งเป็นการยกระดับจากการชุมนุมใหญ่แต่เป็นการลุกขึ้นสู้อย่างถึงที่สุด"


            หรือ พาดหัวข่าวในเว็บไซต์ผู้จัดการ


"สมศักดิ์" ลั่น! 1ทุ่ม ยึดลานพระรูปฯ เตรียมพร้อมเคลื่อนพล บุกปิดล้อมรัฐสภา  


 


 


3. อารยะผู้สงบ สันติ ไม่ใช้ความรุนแรง


วิธีการที่พันธมิตรมักอ้างเสมอคือ "อหิงสา" การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และอารยะขัดขืน แต่สิ่งที่พันธมิตรปฏิบัตินั้นต่างจากในความหมายที่เข้าใจกัน แม้ว่าพันธมิตรจะไม่เคยเริ่มต้นความรุนแรงก่อน แต่แกนนำพันธมิตรทราบดี และใครที่ติดตามยุทธวิธีของพันธมิตรก็ย่อมทราบว่า ไม่มีการใช้กำลังความรุนแรงจากการชุมนุมของพันธมิตร (เมื่ออยู่ในที่ตั้ง) และพันธมิตรก็มักเป็นฝ่ายถูกกระทำก่อนเสมอ


แต่ความรุนแรงเกิดจากการเดินเข้าสู่พื้นที่ปิดกั้น หวงห้าม โดยพื้นที่ที่มักถูกเลือกของวิธีการสงบ สันติ อารยขัดขืน มักจะเป็น พื้นที่เขตอำนาจที่จำเป็นต้องดูแลรักษาอย่างเข้มงวด เป็นสัญลักษณ์ของการเมือง การปกครอง เป็นที่ ที่หากเกิดความวุ่นวาย ไม่สงบขึ้นแล้ว จะแสดงถึงความเสียหน้า ไร้น้ำยาของฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร  เริ่มที่การบุกสถานีโทรทัศน์ NBT ต่อมาเป็นทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา  กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งแต่ละครั้งล้วนเกิดการบาดเจ็บ จากการตอบโต้ของตำรวจ  การเดินเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามปิดกั้นเช่นนี้พันธมิตร อาจเรียกว่า อารยะขัดขืน แต่เมื่อเกิดการปะทะกันขึ้น แกนนำจะยกเหตุผลว่าควบคุมอารมณ์ความคับแค้นของมวลชนไม่ได้ จนทำให้มีการตอบโต้ตำรวจเพื่อป้องกันตัวเอง วิธีการแบบนี้ทำให้พันธมิตรมีความชอบธรรมของการชุมนุมโดยสงบ เพราะไม่เคยเป็นฝ่ายเริ่มก่อน และภาพความรุนแรงที่ออกมาหากไม่ใช่การป้องกันตัว ก็เป็นมือที่สาม หรือฝ่ายตรงข้ามแฝงตัวเข้ามา ความรุนแรงจึงเกิดขึ้นได้เกือบทุกครั้งภายใต้ "การชุมนุมโดยสันติ" ที่เรียกว่า "ยุทธการดาวกระจาย"


 


 


4. วีรชนผู้กล้า


ภายหลังการเสียชีวิตของผู้เข้าชุมนุมเมื่อคืนวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 พิธีกรบนเวทีได้ประกาศในวันต่อมาว่า "พี่น้องสอนลูกหลานที่บ้าน เวลากลางคืนเมื่อแหงนหน้ามองท้องฟ้าจะเห็นดาว 3 ดวงบนท้องฟ้า ดาวดวงแรกคือ น้องโบ ดาวดวงที่สองคือน้าจ๊าบ และดวงที่สามพี่เจนกิจ"  (ASTV, 21 พ.ย.2551) นี่คือดาวศรัทธาของพันธมิตร ที่ส่องแสงเบื้องบน ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย การตายของนักรบกู้ชาติไม่เพียงได้รับการยกย่อง สรรเสริญจากมวลหมู่สมาชิก แต่ยังได้รับพระกรุณาธิคุณ พระราชทานเพลิงศพและเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธี   (ผู้จัดการออนไลน์, 13 ต.ค.2551)


 


แต่แม้ไม่ใช่วีรชนผู้เสียชีวิต หรือทำงานอาสาให้กับขบวนการ เพียงแวะเข้ามาร่วมรับฟังการอภิปรายบนเวที หรือแวะมาเยี่ยมเยือน ผู้มาเยี่ยมเยือนก็ได้รับความสำคัญยกย่องได้เช่นเดียวกัน ในฐานะผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชดำเนิน  ด้วยเงินค่าลงทะเบียนตั้งแต่ 25-100 บาท ขึ้นอยู่กับของที่ระลึกที่ใช้จารึกข้อความประกาศนียบัตร มหาวิทยาลัยราชดำเนิน


 


 


5. ฉะ แฉ ฉุดพราก


หนังสือ "ฉะ แฉ ฉาว นักการเมืองไทย" เป็นหนังสือขายดีอันดับต้น ๆ ของสำนักพิมพ์มติชน แนวทางการดำเนินเรื่อง บทตอน คล้ายกันคือ การล้วงเรื่องลับ ๆ ที่เจ้าของเรื่องไม่ประสงค์จะเปิดเผยออกมาเปิดเผย แต่กลุ่มเป้าหมายต่างกัน ในฉบับหนังสือกลุ่มเป้าหมายคือนักการเมือง แต่ฉบับพันธมิตร คือบุคคลที่ทีไม่เห็นด้วยกับฝ่ายพันธมิตรเป็นเป้าหมาย นอกจากนั้นสิ่งที่แตกต่างอีกประการก็คือ ลีลา โทนเสียง ของหนังสือดูว่าจะไม่ดุดันเท่าลีลาของพิธีกร-แกนนำบนเวที ที่ใช้สำนวนเผ็ดร้อน เปรียบเปรย และลดสถานะให้ต่ำลง


 


ฉะ คือลักษณะของแกนนำ และพิธีกรบนเวที มีท่าที โทนเสียง ไปในทางเดียวกันเมื่อกล่าวถึงฝ่ายตรงข้าม หรือบุคคลผู้มีท่าทีไม่เห็นด้วย คือ ฉุนเฉียว เหยียดหมิ่นว่าไม่รักชาติ นิ่งเฉยไม่ทำอะไร และแสดงให้เห็นว่าเป็นคนไม่ได้เรื่อง ไม่เอาไหน เห็นแก่ผลประโยชน์เข้าภักดีกับระบอบทักษิณ  


 


แฉ พฤติกรรมที่กระทำควบคู่ไปกับ การฉะ คือการหยิบยกเรื่องส่วนตัว ประวัติความเป็นมา ในด้านลบขึ้นมาพรรณนาให้เห็นถึงความเป็นคนไม่น่าวางใจ มีพฤติกรรมส่อในทางทุจริต คอรัปชั่น มีชีวิตส่วนตัวที่แปดเปื้อน ขาดจริยธรรม 


 


ฉุด คือการฉุดพรากออกจากอัตลักษณ์เดิม และใส่ฉลากอัตลักษณ์ให้ใหม่ เป็นการลดรูปย่อส่วนเพื่อให้ภาพประทับแก่บุคคลผู้ถูก ฉะ แฉ ให้อยู่ในใจของมวลหมู่สมาชิก เช่น เมื่อพูดถึง ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ภาพประทับที่สมาชิกรับรู้คือ "เป็ดเหลิม" ไม่ใช่ ดร.เฉลิม หรืออดีตรัฐมนตรี เช่นเดียวกันเมื่อกล่าวถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ จะมีคำนำหน้าชื่อระบุสถานะว่าเป็น น.ช. ทักษิณ 


 


ขณะที่ทำการฉุด ออกจากอัตลักษณ์เดิม และประทับอัตลักษณ์ใหม่ให้ สิ่งที่ทำควบคู่กันไปด้วยได้แก่ การหยิบยก ตัวแบบของอัตลักษณ์ที่ดีงามกว่า ใช้ได้กว่า และเป็นสิ่งที่ควรให้การสนับสนุนมากกว่าขึ้นมาจับคู่เปรียบเทียบ  สื่อมวลชนสายพันธมิตรกับสื่อสายรัฐบาล, นักวิชาการสายพันธมิตร, ศิลปิน ดารา, ข้าราชการ (เดิมแยกตำรวจกับทหารเป็นคนละฝ่ายปัจจุบันกำลังจะทำให้เป็นฝ่ายเดียวกัน) เรื่อยไปจนกระทั่งพระสงฆ์


 


กระบวนการฉุดจึงกระทำในสองด้านควบคู่กันไป คือประทับตราฝ่ายตรงข้ามเป็นภาพดำมืด ขั้วลบ อธรรม ขณะเดียวกันก็เลือกชูสมาชิกขบวนการ เป็นภาพขาว ขั้วบวก และธรรมะ เป็นการฉุกพรากและประทับอัตลักษณ์ไปพร้อมกันกับการเกิดขึ้นของการแบ่งฝักฝ่าย และหมิ่นเหยียด ชิงชังซึ่งคนไทยด้วยกันในทุก ๆ พื้นที่แม้กระทั่งในครอบครัว


 


 


6. มหกรรมการเมืองบันเทิงเริงใจ


พลันที่เสียงเพลง "นักรบมือตบ" ดังขึ้น


พร้อมกันพวกเรา หยิบของเราออกมา ทหารพระราชา


พร้อมกันพวกเรา หยิบของเราออกมา ทหารพระราชา หยิบขึ้นมาเดี๋ยวนี้"
           


เหล่านักรบมือตบที่ส่วนใหญ่เป็นสตรีวัยกลางคน ก็ลุกขึ้นจากเก้าอี้ ออกลีล่าร่ายรำ ชูมือตบขึ้นเคาะตามจังหวะ บ้างจับคู่อยู่เรียงเป็นแถวเผชิญหน้าระหว่างชายหญิง สีหน้า แววตา ยิ้มแย้มยั่วเย้า ตามจังหวะเพลงกระชั้น เขย่า กิจกรรมบันเทิงเฉกเช่นงานเฉลิมฉลองถูกจัดให้มีขึ้นทุกวัน อาหารการกินที่สมบูรณ์หลากหลายรสชาติ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาบำรุงทัพนักรบพันธมิตร ด้วยการสนับสนุนของกลุ่ม "แม่ยก" ทั้งยังมีโรงบุญพันธมิตรให้บริการอาหารมังสวิรัติที่ทั้งอิ่มได้บุญ และได้บรรยากาศความเป็นไทยจากภาชนะบรรจุ รวมทั้งร้านข้าวแกงปักษ์ใต้ที่บอกกันปากต่อปากว่าหากแวะผ่านมาแถวทำเนียบต้องไม่พลาดแวะมาชิม 


 


รอบบริเวณทำเนียบรัฐบาลยังเต็มไปด้วยความสิ่งแปลกใหม่น่าสนใจ ทั้งสถาปัตยกรรมที่ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปน้อยคนนักจะได้ใกล้ชิดสัมผัส ความแตกต่างของฐานะทางชนชั้นทางสังคมของผู้ปกครองกับประชาชนถูกย่นย่อลงจนไม่เหลือช่องว่างเชิงพื้นที่ เพราะประชาชนทุกคนสามารถเสพย์สถาปัตยกรรมทำเนียบได้ทั้งในด้านร่างกาย และจิตใจ ไม่ว่าในอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ทำงาน หรือแม้แต่ขับถ่ายได้ไม่ต่างจากรัฐมนตรีผู้ทรงเกียรติ์  นอกจากนั้นยังมีร้านค้าของที่ระลึก งานแสดงศิลปะการเมือง และมิตรภาพจากพี่น้อง ทั้งพี่น้องร่วมอุดมการณ์ และพี่น้องภูมิลำเนาเมื่อเดินเข้าไปเยี่ยม เยือน ทักทายในเต็นท์จังหวัด รอบบริเวณทำเนียบจะพบการแลกเปลี่ยนพูดคุย ประสบการณ์จากคนหลากหลายสาขาอาชีพ  รอยยิ้ม การแสดงความเห็นอกเห็นใจ เต็มแน่นไปทั่วพื้นทางการเมือง ที่แทบจะหาพื้นที่ทางสังคมแบบนี้ไม่ได้แล้วในชีวิตจริง


 


 


7. เรียลลิตี้โชว์ทางการเมือง


การอภิปรายบนเวทีผ่านการถ่ายทอด ASTV  เสมือนติดตามการแสดงความจริง (reality shows) มันทำหน้าที่เชื่อมประสานเข้าด้วยกันระหว่างละครน้ำเน่าไร้สาระที่นางอิจฉาอารมณ์ร้าย แผดเสียงกรีดร้อง โวยวายฟูมฟาย ทั้งที่เธอสะดุดลื่นขาแพลง เพราะวิ่งเข้าไปทำร้ายนางเอง กับการอภิปรายการเมืองเชิงวิชาการของบรรดาผู้นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ที่น่าเบื่อ ทั้งยังได้เสพย์ความภาคภูมิใจของการติดตามข่าวสารบ้านเมือง อันเป็นเรื่องที่บรรดาผู้เชียวชาญด้านสังคมศาสตร์ของบ้านเมืองนี้ยกย่องนักหนาว่าเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่พึงกระทำ การมีส่วนร่วมไม่เพียงแสดงความเห็นต่อตัวแสดง กำกับบท ด้วยการส่ง sms ติดตามความเคลื่อนไหวผ่านหน้าจอ หากแต่ยังสามารถกำกับ ชี้แนะ ซ้ำยังเข้าไปร่วมแสดงด้วยตนเอง  ผ่านการถามความคิดเห็นและขอมติผู้เข้าร่วมชุมนุมของแกนนำบนเวที ขณะที่ผู้ชุมนุมชมการอภิปรายบนเวทีเขาได้เห็นการสวมบทบาทของตัวแสดงที่ก้าวร้าว ฮึกเหิม ภาคภูมิใจในตนเองของสนธิ  สุขุมนุ่มนวล แต่หนักแน่นมั่นคง ของลุงจำลอง  ลีลาช้าชัด และรัวเร็วกระชั้นพร้อมยกมือขึ้นลงตามจังหวะพูด ก่อนลงท้ายประโยคด้วยคำว่า ... ครับพี่น้อง อันเป็นแบบฉบับของสมศักดิ์  เหน็บ กัด ด้วยลีลาเร่าร้อน เน้นย้ำด้วยถ้อยคำเสียดแทง ประกอบคำสบถด่า  ของสมเกียรติ และที่จะละไว้ไม่กล่าวไม่ได้ ก็คือ อัญชลี ที่ยกเหตุยกผล เปรียบเปรย โต้ตอบได้ในทุกประเด็น นี่คือลักษณะของตัวแสดงบนเวทีพันธมิตร  กระชาก เร้า อารมณ์ความรู้สึกได้ไม่ต่างจากการชมละครโทรทัศน์


 


อัตลักษณ์ร่วมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงรวมกันเป็นหนึ่งเดียว คือการโค่นล้มระบอบทักษิณ และทุกคนที่มาจากระบอบทักษิณ ซึ่งรวมถึงใครก็ตามที่อาจเป็นเพื่อนบ้าน คนในที่ทำงาน เพื่อนสนิทที่คบกันมานานปี หรือแม้กระทั่งสามี ภรรยา เพราะคนเหล่านี้คือกำลังที่ค้ำประกันความคงอยู่ของระบอบทักษิณ  พันธมิตรได้รับบทเรียนความเจ็บปวดจากการปะทะกับฝ่ายตรงข้าม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ บทเรียนความเจ็บปวดที่ต้องสูญเสียชีวิต อวัยวะ ถูกกดเหยียด รังแก ไล่รื้อ จากฝ่ายตรงข้ามและเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันนี้ ได้ฝังลึกในจิตใจของนักรบทุกคน เพราะถูกปลุกเร้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผ่านจอทีวี ซ้ำพวกเขาและเธอยังมีส่วนร่วมก่อร่างสร้างฐาน ให้กับขบวนการพันธมิตรในฐานะที่เป็นเจ้าของ เป็นญาติ มิตร จึงไม่น่าแปลกที่ความรักความสามัคคีของคนในกลุ่ม จะสะท้อนออกมาถึงการตอบโต้ประดุจจะกระทำสงครามล้างเผ่าพันธุ์ (ดูถ้อยคำประเภทนี้ได้ในกระดานสนทนาของผู้จัดการ)  ขบวนการพันธมิตรเป็นบทเรียนของความสำเร็จที่ทำให้อัตลักษณ์ของคนกลุ่มต่าง มาร่วมอยู่ในที่เดียวกันได้อย่างมีพลัง ผสานละครน้ำเน่า เข้ากับความรู้ทางวิชาการ ผสานเสียงกู่ร้องชิงชัง เข้ากับจังหวะลำวง ผสานคนทุกภาค ทุกอาชีพ เข้าด้วยกันภายใต้สัญลักษณ์เสื้อเหลือง 


 


แต่สำหรับวันนี้ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นได้ก็แต่เพียงการเมืองใหม่ในแง่กระจายการ "บริโภคการเมือง" ให้กับผู้กระหายหิว ที่ถูกปลูกฝังความรักชาติ รักสถาบัน และคลั่งไคล้วีรกรรมของวีรชน 14 ตุลา ประชาธิปไตย ที่ไม่ใคร่ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านลึกของการเมือง ไม่เคยพานพบ หรือเคยแต่สูญเสียไป  ของความน่าตื่นตาตื่นใจทางการเมือง ที่เต็มไปด้วยอำนาจ สิทธิพิเศษ ภูมิคุ้มกันการถูกรังแก สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ที่สังคมไทยได้เก็บกั้นสงวนไว้เฉพาะสำหรับชนชั้นผู้ปกครอง เสมือนเขื่อนกั้นน้ำได้พังทลายลงด้วยความโกรธแค้นชิงชัง  ประชาภิวัตน์ การเมืองใหม่ สำหรับนักรบกู้ชาติ (ที่ไม่ใช่แกนนำ) จึงมีสถานะเป็นเพียงการบริโภคการเมืองแบบเสพย์ด่วนชั่วครั้งชั่วคราว แลกกับชีวิตเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกันเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net