Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา


 


ปัจจุบันนี้ มีข่าวการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น จนมีคำกล่าวว่า "แพทย์และผู้ป่วยมีปัญหาความขัดแย้งกันมาก"  อีกทั้งยังมีประชาชนบางกลุ่มได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือ "ผู้เสียหายทางการแพทย์"อื่น ให้มีความสามารถฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากแพทย์และโรงพยาบาล หรือฟ้องแพทย์เป็นคดีอาญาเพื่อจะนำผลการตัดสินจากคดีอาญามาฟ้องเรียกค่าเสียหายอีกต่อหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากคดีอาญามีอายุความยาวนานกว่าคดีแพ่ง จนทำให้มีการตัดสินจำคุกแพทย์ในความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทจากการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน ถึงแม้ว่าต่อมาศาลอุทธรณ์จะได้ตัดสินยกฟ้องไม่ให้จำคุกแพทย์


 


แต่การที่คดีความทางการแพทย์ได้รับการตัดสินลงโทษทางอาญาได้ก่อให้เกิดความหวาดเกรงในหมู่แพทย์ ทำให้แพทย์ส่วนมาก "ไม่กล้า" ที่จะรักษาผู้ป่วยในสาขาวิชาที่ตนเองไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะจะมีความเสี่ยงต่อการถูกตัดสินว่ารักษาผู้ป่วยโดยประมาท ทั้งนี้เพราะแพทย์ส่วของโรงพยาบาลชุมชนส่วนมากมักจะเป็นแพทย์ทั่วไป ทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอ(ชุมชน)ต้องส่งผู้ป่วยต่อไปให้โรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลระดับสูงเช่นโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยรักษาผู้ป่วยต่อไป


 


การส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นบางครั้งก็อาจก่อให้เกิดความล่าช้าซึ่งอาจเป็นผลเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วยได้เช่นกัน  นอกจากนั้นการส่งผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอำเภอไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลระดับสูงต้องทำผ่าตัดเล็กๆน้อยๆ(ที่ควรจะทำได้ในโรงพยาบาลอำเภอ) เช่นผ่าตัดไส้ติ่งหรือผ่าตัดทำคลอดมากขึ้น ทั้งๆที่แพทย์ในโรงพยาบาลเหล่านี้ก็มีการผ่าตัดใหญ่ๆมากมายอยู่แล้ว ทำให้แพทย์เหล่านี้มีภาระงานล้นมือ จนถึงกับผู้ป่วยต้องรอคิวผ่าตัดนาน ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ทำให้เกิดอันตรายเช่นไส้ติ่งแตก หรือเด็กในครรภ์สูญเสียโอกาสที่จะรอดชีวิตเนื่องจากใช้เวลามากเกินไปในการเดินทางจากโรงพยาบาลอำเภอไปโรงพยาบาลจังหวัด หรือบางทีไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยหรือไม่มีแพทย์เฉพาะทางโรคนั้น ก็ต้องส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นต่อๆไปอีก จนทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสที่จะรอดชีวิตเช่นเดียวกัน


 


จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า การฟ้องร้องแพทย์มีมากขึ้นหลังจากการประกาศใช้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2545 ทั้งนี้เนื่องจากมีบทบัญญัติในมาตรา 41 ของพ.ร.บ.นี้ว่าประชาชนที่มารับบริการทางการแพทย์สามารถไปร้องขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากการได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซึ่งนับเป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถเรียกร้องได้จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่ต้องนำคดีไปฟ้องศาล


 


แต่เงินช่วยเหลือเบื้องต้นนี้เองอาจเป็น "แรงผลักดัน" ให้ประชาชนนำคดีไปฟ้องร้องมากขึ้น เพราะเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนี้ทำให้ประชาชนคิดว่า "แพทย์และ/หรือโรงพยาบาล"ต้อง "ทำความผิด" อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่ จึงได้ยอมจ่ายเงินช่วยเหลือ และยังมีมาตรา 42 ที่กำหนดว่าถ้าพิสูจน์ได้ว่ามีผู้กระทำความผิดจนเกิดความเสียหาย ก็ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปไล่เบี้ยเอากับ "ผู้กระทำความผิด"นั้นๆ  จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ประชาชนคิดว่าความเสียหายจากการรักษาของแพทย์ต้องมีสาเหตุมาจากการทำผิดของแพทย์อย่างแน่นอน


 


แต่ในความเป็นจริงทางการแพทย์แล้ว ความเสียหายของผู้ป่วยที่ไปรับการรักษาจากแพทย์และ/หรือโรงพยาบาลนั้น อาจไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์เสมอไป ความเสียหายที่เกิดกับผู้ป่วยเช่น ตาย พิการ อาการหนัก รักษาไม่หายฯลฯ อาจเกิดเนื่องจากมีโรคแทรกซ้อน หรือผู้ป่วยมีโรคของอวัยวะอื่นๆอยู่ก่อนแล้ว หรือสภาพร่างกายผู้ป่วยอ่อนแอจนไม่สามารถตอบสนองต่อการรักษา  หรืออาการของโรคนั้นอยู่ในสภาพรุนแรงและลุกลามมากจนสุดที่จะรักษาเยียวยาได้ หรือผู้ป่วยแพ้ยาหรือเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากยาและการรักษาที่ได้รับ


 


ฉะนั้นสาเหตุของการเกิดความเสียหายต่อสุขภาพของผู้ป่วยในความเป็นจริงทางการแพทย์มีมากมาย แต่ผู้ป่วยและญาติมักจะเพ่งโทษไปที่แพทย์ว่าเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหาย(ซึ่งเป็นเรื่องปกติตามหลักจิตวิทยาที่ญาติและผู้ป่วยจะไม่สามารถทำใจต่อการยอมรับความสูญเสียได้) ผู้ป่วยและญาติจึงฟ้องแพทย์มากขึ้น ประกอบกับจำนวนประชาชนที่ไปรับการรักษาในโรงพยาบาลมีมากขึ้นถึงปีละ 200 ล้านครั้งแต่จำนวนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขมีเพียง 9,000 คน ทำให้แพทย์ต้องทำงานมากถึงสัปดาห์ละ 120 ชั่วโมงและต้องตรวจผู้ป่วยถึงวันละ 100-200 คน ทำให้แพทย์อาจไม่มีเวลาตรวจผู้ป่วยอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่มีเวลาเอาใจใส่อารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติ ไม่มีเวลาพอที่จะอธิบายจนผู้ป่วยเข้าใจถึงอาการและการรักษาของตนเองได้ ผู้ป่วยจึงคิดเอาเองว่าการที่ไม่หายป่วยหรือมีอาการรุนแรงขึ้น ก็เนื่องจากแพทย์ไม่ดี ไม่เก่ง ไม่เอาใจใส่และรุนแรงถึงขั้นกล่าวหาว่า "แพทย์ไม่มีหัวใจความเป็นมนุษย์" ทำให้เกิดความขัดแย้งและเพ่งโทษว่าแพทย์  "ชุ่ย" ไม่มีจรรยาบรรณไม่ใส่ใจในอารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติ ถ้ารักษาไม่หายก็จะร้องขอค่าช่วยเหลือและฟ้องร้องกล่าวโทษแพทย์ต่อไป


 


การฟ้องร้องและร้องขอเงินช่วยเหลือ(ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติม.41) มีมากขึ้น อย่างเห็นได้ชัด จากสถิติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพเองพบว่า ในช่วงปีแรกของการใช้พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 มีการร้องขอความช่วยเหลือเพียงเดือนละ 4-5 ราย  แต่มาในปัจจุบันนี้ มีการร้องขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้นถึงเดือนละ 75-80 ราย และมีข่าวเรื่องการกล่าวหาและฟ้องร้องแพทย์ในหนังสือพิมพ์บ่อยๆ  จนก่อให้เกิดคำกล่าวในสื่อมวลชนว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์และประชาชนที่เคยมีในสมัยก่อนกำลังสูญหายไปในปัจจุบัน  แต่กลับมีความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างแพทย์และผู้ป่วยมากขึ้น ประชาชนและสื่อมวลชนกล่าวหาว่าแพทย์ขาดคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาแพทย์  การฟ้องร้องแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขมีมากขึ้น ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องจ่ายเงินชดเชยมาก  จึงพยายามจะแก้ปัญหาการฟ้องแพทย์โดยได้ตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เพื่อยุติการฟ้องร้อง และยังมีแนวคิดจากกระทรวงสาธารณสุข องค์กรวิชาชีพเช่นแพทยสภา และ "เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์" ที่จะผลักดันให้เกิดกฎหมายเพื่อชดเชยความเสียหายแก่ประชาชนในการไปรับบริการทางการแพทย์ ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์และแก้ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์


 


ในสหรัฐอเมริกาเองเป็นประเทศที่มีการฟ้องร้องแพทย์มากที่สุด และประชาชนก็เรียกค่าเสียหายแพงที่สุด  จึงได้ตระหนักถึงปัญหาความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ที่อาจจะมีสาเหตุจากโรคแทรกซ้อน /อาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา /ความผิดพลาดที่ไม่ได้เกิดจากความประมาทหรือการละเลยทอดทิ้งผู้ป่วย ได้กำหนดให้มีการจ่ายชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดของแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ (No Fault Compensation) เช่นการฉีดวัคซีน หรือการได้รับยาที่ทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์


 


แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องเงินชดเชยค่าเสียหายอย่างมากมายในสหรัฐอเมริกา การฟ้องร้องแพทย์อาจมีผลดีอยู่บ้างในการทำให้แพทย์ต้องระมัดระวังในการตรวจรักษาให้ได้มาตรฐานที่ดีที่สุด ถือว่าเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง แต่การที่มีการฟ้องร้องแพทย์อย่างมากมายและการฟ้องแต่ละครั้งก็มีการเรียกร้องหรือตัดสินให้ทางแพทย์จ่ายค่าชดเชยในราคาสูงมากๆจนทำให้เกิดระบบการประกันความผิดพลาดจากการทำงานของแพทย์ (malpractice insurance) โดยแพทย์ต้องจ่ายเงินเบี้ยประกันให้บริษัทประกันทุกปีเพื่อเป็นการประกันว่า บริษัทจะเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายแทนแพทย์ในกรณีที่ แพทย์ถูกฟ้องร้องและถูกศาลตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ป่วย แต่เมื่อบริษัทประกันต้องจ่ายเงินแล้ว บริษัทก็จะต้องมาขึ้นราคาค่าเบี้ยประกันแก่แพทย์ผู้นั้นต่อไป ซึ่งระบบประกันการประกอบวิชาชีพเวชกรรมนี้เองได้ทำให้แพทย์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการจ่ายเบี้ยประกัน และแพทย์ก็ต้องไปขึ้นราคาค่ารักษาผู้ป่วยให้มากขึ้น เพื่อจะให้ตัวเองมีรายได้พอเพียงกับรายจ่าย ซึ่งย่อมมีผลกระทบโดยตรงไปสู่ประชาชนหรือโครงการประกันสุขภาต่างๆที่จะต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น และยังมีมีคดีฟ้องร้องในศาลเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา จึงทำให้มีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาการฟ้องร้องและการพยายามที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายในทางการแพทย์ของประชาชน


 


ในการแก้ปัญหาการฟ้องร้องนี้ได้มีการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยขึ้นเรียกว่า "National Patients Safety Foundation" ซึ่งตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ.2542) เพื่อให้ผู้ทำงานทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย และสร้างวัฒนธรรมใหม่ในระหว่างผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพและประชาชนว่าเป็น "วัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย" แทนที่  "วัฒนธรรมแห่งการกล่าวโทษและตำหนิติเตียน" โดยมูลนิธินี้เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรและผู้บริจาคให้มูลนิธินี้จะได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมาย โดยมีผู้อุปถัมภ์ที่สำคัญคือ สมาคมแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Medical Association) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการแพทย์อื่นๆ เช่น โรงพยาบาลต่างๆ  บริษัทยา และองค์กรเอกชนอื่นๆ เนื่องจากมูลนิธิจะยึดถือตาม  Hippocratic Oath ที่ว่า "Above  all, Do no harm"  และโดยมูลนิธิยึดหลักการทำงานทุกวิถีทางเพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้ป่วย สร้างความเชื่อถือไว้วางใจให้แก่ผู้ป่วยและให้ความรู้แก่ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย หัวใจของความปลอดภัยของผู้ป่วยก็คือ "การป้องกันความผิดพลาดในการดูแลรักษาผู้ป่วย" โดยได้แบ่งแยกลักษณะความผิดพลาดในทางการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็น 4 แบบ ดังนี้คือ


 


1.ทำผิดในวิธีการรักษาที่ถูกต้อง (doing the right thing incorrectly)


2.ทำการรักษาผิดวิธี (doing the wrong thing)


3.ละเลยในการทำการรักษาที่ถูกต้อง (omission)


 


ซึ่งผู้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสามารถที่จะรายงานความผิดพลาดเหล่านี้ไปยังมูลนิธิ เพื่อที่มูลนิธิจะพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายตามสมควร โดยจะมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลในการรักษาผู้ป่วยว่ามีความผิดพลาดบกพร่องในกระบวนการที่ไหนอย่างไร เพื่อเป็นกรณีศึกษา  โเพื่อเป็นแนวทางป้องกันความผิดพลาดไม่ให้เกิดซ้ำอีกในอนาคต ทั้งนี้การรายงานของแพทย์หรือโรงพยาบาลจะถือเป็นความลับ โดยไม่ถือเป็นความผิด แต่จะเป็นบทเรียนในการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดแบบเดิมซ้ำอีกในคราวต่อไป ทั้งนี้เป็นการรายงานโดยความสมัครใจ และเมื่อผู้ป่วยได้รับเงินชดเชยแล้วก็ไม่เสียสิทธิในการนำคดีไปฟ้องศาลอีก


 


วัตถุประสงค์สำคัญของมูลนิธิมีอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือเพื่อทำให้ผู้ป่วยมีความความปลอดภัยดียิ่งขึ้น ( to improve safety of patients) โดยผู้อุปถัมภ์ในการก่อตั้งมูลนิธิคือสมาคมแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา และผู้อุปถัมภ์รายใหญ่คือ บริษัท Schering-Plough Corporation ) ส่วนการรายงานความผิดพลาดในทางการแพทย์ต่อมูลนิธิเป็นเรื่องสมัครใจ ไม่มีการบังคับ


 


ต่อมาในปีพ.ศ. 2548(ค.ศ. 2005) สามาคมแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (AMA American Medical Association )ได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีการออกกฎหมายเพื่อเพิ่มพูนความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยเป็นผลสำเร็จคือกฎหมายที่มีชื่อว่า the Patient Safety and Quality Improvement Act of 2005 ทั้งนี้เพื่อจะให้แพทย์และโรงพยาบาลรายงานความผิดพลาดทางการแพทย์ (โดยสมัครใจ) เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์วิจัย เป็นกรณีศึกษาเพื่อเป็นบทเรียนในการพัฒนาการดูแลรักษาประชาชนให้ปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต และผู้ป่วยก็จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาผลเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดนี้ โดยไม่ต้องไปฟ้องร้อง


 


เปรียบเทียบกับประเทศไทยเราบ้าง เรามีความพยายามที่จะออกกฎหมายเรียกว่าพ.ร.บ.ชดเชยความเสียหายแก่ผู้ป่วย ถ้าเรานำเอากระบวนการแก้ไขเยียวยาการฟ้องร้องในประเทศสหรัฐอเมริกามาพิจารณาร่วมด้วย ก็น่าจะหาทางออกให้กับการฟ้องร้องและการเพิ่มพูนความปลอดภัยของผู้ป่วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดและความเสียหายในการดูแลรักษาประชาชน โดยการจัดระบบการบริหารจัดการให้แพทย์มีเวลาทำงานตรวจรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐาน มีเวลาดูแลรักษาผู้ป่วยนานพอที่จะสามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าใจเรื่องการเจ็บป่วยของตนและผลการรักษาที่จะเกิดต่อไป มีเวลาเอาใจใส่อารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติโดยไม่ต้องรีบเร่งไปตรวจผู้ป่วยอีกหลายสิบคนที่รอคิวตรวจมานานหลายชั่วโมงแล้ว ก็น่าจะป้องกันความผิดพลาดและความเสียหาย และป้องกันการฟ้องร้องได้อีกมากมาย


 


นอกจากนั้น การเปลี่ยนวัฒนธรรมจาก "การกล่าวโทษและการตำหนิติเตียน" มาเป็น  "วัฒนธรรมแห่งความปลอดภัยและห่วงใยเอื้ออาทร" โดยการมีมูลนิธิที่เป็นองค์กรอิสระในการจ่ายเงินชดเชยผู้ป่วย และยังมีงานทางวิชาการในการวิเคราะห์และหาทางป้องกันความผิดพลาดไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต เพื่อที่ประชาชนจะได้รับการบริการทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐานระดับดีที่สุดทุกๆคน ทั้งนี้คงจะช่วยให้ปัญหาความขัดแย้งและการฟ้องร้องแพทย์ลดลงได้อย่างรวดเร็วในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net