Skip to main content
sharethis

วานนี้ (20 ต.ค.51) ชมรมสมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 จัดงานเสวนา "วิกฤต และโอกาสประชาธิปไตยไทย" ณ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี-รังสิต เพื่อหาทางออกความขัดแย้งในสังคมด้วยความปรองดอง โดยมีตัวแทนฝ่ายต่างๆ ร่วมพูดคุย อาทิ ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอาวุโสด้านรัฐศาสตร์ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น อดีตสมาชิกวุฒิสภา นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ม.ล.ณัฐกรณ์ เทวกุล สื่อมวลชน และรศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ โดยมีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 100 คน


 


นายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตประธานวุฒิสภา กล่าวเปิดการเสวนาว่า บ้านเมืองมีความเห็นแตกต่างแบ่งฝ่ายชัดเจน และเกิดเหตุการณ์รุนแรง 7 ต.ค. แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าจะแก้ปัญหาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้ จึงขอให้ช่วยกันคิดร่วมกันหาทางออก แต่ขออย่าใช้กำลังห้ำหั่นกัน


 


 


"จาตุรนต์" แนะอยากเปลี่ยนแปลงต้องทำตามกติกา


 


ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่าในขณะนี้ประเทศไทยมีที่สำคัญมากคือวิกฤตประชาธิปไตย ส่วนจะเป็นโอกาสหรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชนและสังคมไทย นอกจากนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอยู่ด้วย ซึ่งถ้าปล่อยให้วิกฤตประชาธิปไตยเป็นอยู่อย่างนี้ก็จะเข้าสู้การมีวิกฤติประเทศจริงๆ คือมีปัญหาทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง ที่ล้มเหว ล้าหลังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยกระบวนการตามปกติ โดยอธิบายว่า วิกฤตประชาธิปไตยหมายถึง สถานการณ์ประชาธิปไตยของไทยที่กำลังอยู่ในระว่างอาจถอยหลังไปอีกมากจนกลายเป็นระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย


 


โดยวิกฤตนี้เกิดขึ้นมาจากการมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แล้วไม่สามารถหรือไม่ใช้กระบวนการตามปกติเข้าแก้ปัญหา จึงทำให้ไม่สามารถหาจุดลงตัวกลายเป็นความขัดแย้งที่เป็นมิติ โดยความแตกต่างที่ว่านี้ในตอนเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนปี 2549 เป็นความไม่พอใจในตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ซึ่งไม่ได้มีการพูดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องระบบ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนนายกและรัฐบาล ด้วยการเสนอมาตราเจ็ด และข้อเสนอต่างๆ อันนำมาสู่การรัฐประหารล้มรัฐบาล ทำให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ไม่มีบัญญัติการอนุญาตให้ทำรัฐประหาร และเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่


 


ตรงนี้จึงกลายเป็นการเปลี่ยนระบบ ที่ไม่ใช่การเปลี่ยนเฉพาะนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ด้วยกระบวนการทีไม่เป็นไปตามกติกาของรัฐธรรมนูญเดิม และได้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเหมือนยาที่ออกฤทธิ์ทำลายระบบพรรคการเมือง ทำลายพรรคการเมือง ทำลายประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ และเกิดความต้องการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอีก


 


"ในที่สุดก็เปิดเผยออกมาว่าการเคลื่อนไหวนี้ต้องการเปลี่ยนระบบการปกครอง จึงเสนอแนวความคิดที่เรียกว่าการเมืองใหม่ขึ้น ซึ่งการเมืองใหม่นี้คือความคิดที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและล้าหลังอย่างยิ่ง" นายจาตุรนต์กล่าว


 


นายจาตุรนต์ กล่าวต่อมาอีกว่า การเมืองใหม่เป็นความคิดเห็นของคนส่วนหนึ่งที่มีสิทธิที่จะเสนอความคิดได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือความต้องการที่จะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐบาล และเปลี่ยนระบบการปกครองไม่ได้ใช้วิธีการในระบบ คือไม่ยึดถือ ไม่เคารพกติกา แต่ต้องการเปลี่ยนโดยวิถีทางนอกระบบ และเรื่องใหญ่ที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตในทุกวันนี้คือ การไม่ยึดหลักนิติรัฐ หรือรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย ยึดถือว่ากฎหมายเป็นใหญ่ และนิติธรรม คือการมีกฎหมายที่มีที่มาที่ชอบธรรม กฎหมายที่ดีที่เป็นธรรม ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ใช้กฎหมายคุ้มครองปกป้องประชาชน เมื่อไม่ยึดหลักนี้ปัญหาจึงตามมามากมาย


 


"เกิดรัฐประหารก็สามารถฉีกรัฐธรรมนูญได้ คนคนเดียวสามารถเขียนกฎหมายหักล้างพระราชบัญญัติ หักล้างรัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธยไว้ได้ เขียนอะไรออกมากลายเป็นกฎหมายหมด นั่นคือไม่ใช่นิติรัฐ ไม่ยึดหลักนิติธรรม" นายจาตุรนต์กล่าว พร้อมยกตัวอย่างการเขียนรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ที่คุ้มครองรับรองโดยการนิรโทษกรรมเอาไว้โดยมีผลย้อนหลังและไปข้างหน้าว่าเป็นการไม่ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม


 


ส่วนการเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นที่เป็นวิกฤตมากในขณะนี้ นายจาตุรนต์กล่าวว่า เพราะเป็นการเคลื่อนไหวโดยวิธีการนอกระบบ ไม่เคารพกติกาบ้านเมือง เช่น ยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดล้อมสภาผู้แทนราษฎร บุกไปตามสถานที่ราชการ ปิดสนามบิน ยึดสถานีโทรทัศน์ ทำให้กลายเป็นปัญหาที่ใหญ่โตมากยิ่งขึ้น ล่าสุดยังมีการเรียกร้องให้กองทัพออกมาทำรัฐประหาร และที่ได้ผลแล้วคือให้ผู้นำเหล่าทัพออกมากดดันนายกให้ลาออกผ่านสื่อโทรทัศน์ นั่นเป็นการเคลื่อนไหวที่มักเกิดขึ้นในประเทศล้าหลัง และไม่เป็นประชาธิปไตย


 


"ถ้านายกรัฐมนตรียอมตามนั้นก็คือเป็นการยอมรับต่อคนไทยทั้งประเทศและชาวโลกว่านี่คือประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้เคารพกติกา ไม่ได้ยึดหลักนิติรับนิติธรรม ไม่ได้รู้ว่าใครมีหน้าที่อะไร กองทัพสามารถจะกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้แค่นั่งออกทีวีพูดหน่อยก็ต้องเปลี่ยนนายกตามแล้ว อย่างนี้มันก็คือไม่ใช่ประชาธิปไตยนั่นเอง" นายจาตุรนต์กล่าว


 


นายจาตุรนต์กล่าวต่อมาว่า ในวันนี้ผู้คนในแทบทุกวงการลุ้นกันว่าวันไหนนายกสมชายจะลาออก และถ้าไม่ลาออกวันไหนจะมีการรัฐประหาร ยึดอำนาจ แค่ผู้นำเหล่าทัพออกมาพูดก็สร้างความเสียหายแล้ว ด้วยการทำให้คนเห็นว่ารัฐบาลและระบอบประชาธิปไตยไม่มีเสถียรภาพ


 


ส่วนคำถามที่ว่าถ้ามีการรัฐประหารจะสามารถแก้ปัญหาหรือไม่นั้น นายจาตุรนต์กล่าวว่าการลาออก ยุบสภา ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่การแก้ปัญหา ส่วนการรัฐประหารยึดอำนาจเป็นการแก้ปัญหาให้แก่พันธมิตรฯ ที่ยึดทำเนียบ ไม่ได้แก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ แต่จะกลับกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า และจะทำให้ประเทศล้าหลังเสียหายยับเยิน


 


ถ้าจะให้เป็นโอกาสที่วิกฤตินี้จะได้รับการแก้ไขต้องกลับไปดูที่ต้นเหตุที่ว่า มีคนไม่พอใจนายก ไม่พอใจรัฐบาล ไม่พอใจระบบ ให้แสดงออกได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กติกา อยู่ภายใต้กฎหมาย หากต้องการเปลี่ยนนายกก็สามารถไปเข้าชื่อถอดถอน ให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อยากเปลี่ยนรัฐบาลก็มีกลไกลการฟ้องร้องที่ใช้ได้เต็มที่ หากจะชุมนุมแสดงความเห็นก็ทำได้แต่ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย หากอยากเปลี่ยนระบบก็ทำได้ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญว่ากันตามกติกา


 


"สุดท้ายการจะพ้นวิกฤติได้ทุกฝ่ายต้องตั้งหลัก ตั้งสติ ว่ากันตามกติกาโดยยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม เคารพยอมรับกฎหมายโดยทุกคนเท่าเทียมกัน หากจะแก้กฎหมายก็ให้เป็นไปตามกระบวนการในระบบ โดยใช้สันติวิธี การยึดอำนาจ การยึดสถานีโทรทัศน์ ปิดสนามบินล้วนไม่ใช่สันติวิธี ยิ่งการรัฐประหารแม้ไม่เสียเลือดเนื้อนั่นก็คือการใช้ความรุนแรงที่เลวร้ายแล้ว" นายจาตุรนต์กล่าว


 


 


"ดร.ปราโมทย์" ย้ำประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง


 


ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ กล่าวว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประชาธิปไตย และเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินการเข้าสู่อำนาจในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และกล่าวออกตัวว่าไม่ได้เป็นฝ่ายสนับสนุนการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ และโดยข้อเท็จจริงตนเองไม่ทราบถึงคำนิยาม "การเมืองใหม่" ของพันธมิตรฯ ในครั้งแรกที่ได้รับการเชิญเข้าร่วมประชุม แต่ที่ผ่านมาก็ได้เข้าร่วมรับเชิญเป็นวิทยากรในการประชุมของกลุ่มพันธมิตรฯ แล้ว 2 ครั้ง


 


"การคัดค้านระบอบทักษิณของผมเกิดขึ้นก่อนคดีซุกหุ้น เพราะข้อมูล หลักการ และหลักกฎหมายที่ผมยึดมั่น ทำให้เหตุผลสนับสนุนทักษิณของกัลยาณมิตรสำคัญ คือ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว และนายแพทย์ประเวศ วะสี ฟังไม่ขึ้น ผมเริ่มเขียนบทความในผู้จัดการเตือนให้ท่านผู้อ่านจับตาอันตรายของระบอบทักษิณตั้งแต่สนธิ ลิ้มทองกุล ยังเชียร์ทักษิณอยู่ ใครก็ตามที่คิดว่าผมหลงเชื่อสนธิ และอยู่ใต้อาณัติของพันธมิตรฯ นั้น ท่านคิดผิด"


 


"แต่คุณูปการของสนธิ ASTV และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการปลุกตื่นสังคมไทยส่วนหนึ่งให้มีจิตสำนึกเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์นั้น ผมปฏิเสธไม่ได้" ดร.ปราโมทย์กล่าวถึงคำตอบต่อคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขอบทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง ที่อาจแตกต่างกับความคิดเห็นของคนบางกลุ่ม


 


ดร.ปราโมทย์กล่าวต่อมาถึงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับนายจาตุรนต์ว่า มีอยู่หลายอย่างโดยเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำทฤษฎีและการปฏิบัติในจารีตประชาธิปไตยมาทำให้เกิดผลที่เป็นจริง ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้งแต่เป็นเรื่องความคิดและความรู้ในทางทฤษฎี


 


ทั้งนี้จากการที่ได้ไปเรียนรู้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเกือบจะครึ่งหนึ่งของอายุ ทำให้เห็นแนวความคิดที่ผิดอย่างมาก คือ หนึ่งแนวความคิดที่ว่าพระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองและต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้มีการนำอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีและใช้ในประเทศอังกฤษ คือ พระราชอำนาจพิเศษ และพระราชอำนาจสำรองออกไป ทั้งที่พระราชอำนาจพิเศษ คืออำนาจที่จะช่วยประเทศในยามคับขัน ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อสภาผู้แทนมีเสียงก่ำกึ่งกันตกลงกันไม่ได้ เมื่อประเทศชาติประสบอุบัติเหตุ หรือประสบภัยที่มาจากต่างประเทศ เช่น การคุกคามของประเทศคอมมิวนิสต์ที่อยู่เหนือขึ้นไปคือโซเวียต รัสเซีย ของอังกฤษ ในปี 1913 สมัยพระนางเจ้าอลิซาเบส


 


"การเมืองที่อยากเห็นคือการเมืองที่เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน และพระมหากษัตริย์ต้องมีพระราชอำนาจตามจารีตและระบอบประชาธิปไตยอย่างน้อยก็ใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกับพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ ซึ่งประเทศไทยตั้งแต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา พระมหากษัตริย์ไม่เคยมีอำนาจตามจารีตประชาธิปไตยเลย เพราะถูกเผด็จการก็ดี หรือถูกลัทธิที่บอกว่าพระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองแต่ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ข้อเท็จจริงคือรัฐธรรมนูญอยู่เหนือการเมือง การเมืองมันมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเพราะฉะนั้นพระมหากษัตริย์จึงไม่ได้ใช้พระราชอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย" ดร.ปราโมทย์กล่าว


 


ดร.ปราโมทย์กล่าวต่อมาว่า ได้ทำการคัดค้านการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.2550 กับสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งในครั้งนั้นไม่พร้อม เพราะพรรคต่างๆ ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ครบถ้วน ไม่ว่าเรื่องสมาชิกพรรค การประชุมให้ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้ภายหลัง การยุบพรรคไทยรักไทยหากเคารพความคำวินิจฉัยของศาลจะต้องไม่ให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธ์ทั้ง 111 คนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดผู้สมัคร หาเงินหรือให้พรรค แต่จะต้องไม่ตัดโอกาสของผู้สมัครพรรคไทยรักไทยในการรวมตัว จัดสมาชิกพรรค


 


ในส่วนของรัฐธรรมนูญ ดร.ปราโมทย์ ไม่เห็นด้วยทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 และกล่าวว่าได้ทำการคัดค้าน รวมทั้งวิจารณ์และโจมตีคณมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.ว่า คมช.จะทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังไปยิงกว่าปี 2475 นั่นคือรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคมช. และคมช.จะเป็นผู้ทำลายประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข


 


"ท่านไม่เชื่อเข้าไปอ่านได้ในผู้จัดการออนไลน์ อย่าไปเกลียดสนธิจนไม่อ่านผู้จัดการออนไลน์ เพราะว่าข้อมูลและข้อเท็จจริงมันอยู่ในนั้นนะครับ ถ้าท่านไม่อ่านท่านก็จะไม่ทราบว่าในนั้น ในผู้จัดการนั้น ผมได้วิพากษ์วิจารณ์ คมช.ไม่ต่ำกว่าร้อยครั้ง ไม่ต่ำกว่าร้อยบทความ" ดร.ปราโมทย์กล่าว


 


นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า อย่าปล่อยให้ความขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญและรัฐบาลทำให้เกิดฆ่ากันตายเลือดนอง ขอให้ทุกฝ่ายฟังข้อมูลให้ครบถ้วนและตัดสินใจ เพราะวันนี้ต่างฝ่ายต่างฟังข้อมูลของตนเองซึ่งไม่ถูกต้องทั้งหมด และคิดว่าการตั้ง ส.ส.ร.เป็นวิธีไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง และเป็นการเสียเวลา โดยคิดว่าต้องสนับสนุนให้คนมีส่วนร่วม แสดงความเห็นและตัดสินใจ และการที่จะทำให้วิกฤติคลี่คลายได้ ก็ควรให้มีการประกาศกฎอัยการศึก


 


 


"ปลื้ม" ชี้สงคราวระยะยาว หากรัฐบาลแพ้บ้านเมืองอันตราย


 


ส่วน ม.ล.ณัฐกรณ์ เทวกุล กล่าวถึงเรื่องพระราชอำนาจว่า การใช้พระราชอำนาจในราชอาณาจักรไทยนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่แกนนำพันธมิตรจะตัดสินใจออกมาเพื่อจะผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อที่จะเพิ่มหรือลดพระราชอำนาจ ถ้าดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีบทบาทในการนำพาประเทศมาจนถึงตอนนี้ได้ แล้วก็ได้ทรงช่วยเหลือแก้วิกฤตหลายครั้งหลายครา เพราะฉะนั้นถือว่าการแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มหรือลดพระราชอำนาจไม่ได้อยู่ที่สิทธิของกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง


 


ในส่วนของหัวข้อเดิมที่ตั้งไว้ในเรื่อง "การเมืองใหม่" ของพันธมิตร มีปัญหาคือ คำว่า "การเมืองใหม่" เป็นเพียงวาทะกรรมของกลุ่มคนที่ต้องการจะช่วงชิงจังหวะในปัจจุบันเพื่อร่างรัฐธรรมนูญที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรที่ใหม่เลย


 


ม.ล.ณัฐกรณ์ กล่าวเกี่ยวกับการเมืองใหม่ ที่สนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งถือว่าผู้นำทางความคิดหรือผู้นำทางจิตวิญญาณของพันธมิตร เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ ซึ่งสรุปคร่าวๆ ได้ว่า ข้อแรกสภาแบ่งเป็น 50:50 ลดลงจาก 70:30 โดยครึ่งหนึ่งเลือกผ่านสาขาวิชาชีพ และเลือกตั้งแบบตรงจากแต่ละจังหวัดอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งในส่วนสาขาวิชาชีพจะเป็นกลุ่มก้อนของเอ็นจีโอที่อยู่ข้างฝ่ายพันธมิตรที่จะได้มีส่วนเป็นตัวแทนเข้าไปอยู่ในสภา แต่ที่ห่วงคือส่วนที่หลังลดลงจาก 400 กว่าที่นั่งที่มีอยู่เดิม ทำให้คอนเซ็ปต์ไม่เป็นประชาธิปไตย


 


คอนเซ็ปต์ประชาธิปไตย สมาชิสภาผู้แทนราษฎรโดยความหมาย ต้องเป็นผู้แทนของราษฎร แต่ว่าในสูตรที่เสนอนี้คลายกับสูตรในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒสภา (สว.) ที่เรามีอยู่ คือ สว.จะเป็นตัวแทนของเขตปกครอง ส่วนตัวงานของประชาชนในแต่ละเขตเลือกตั้งที่สามารถเข้าไปดูแลประชาชนในเขตเลือกตั้งได้ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีความสนิทสนมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างคนที่เป็นผู้แทนกับคนที่เป็นราษฎร ความสัมพันธ์อันนั้นเป็นแกนหลักของจิตวิญญาณประชาธิปไตย จะไม่เกิดขึ้นหากได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนของเขตปกครองใหญ่ๆ อย่างจังหวัด


 


ยกตัวอย่าง คุณสนธิได้เคยพูดไว้ว่า ส.ว.ก็สามารถทำได้ อย่างคุณรสนา ซึ่งเป็น ส.ว.ของกรุงเทพฯ โดยความคิดของม.ล.ณัฐกรณ์ มองว่าหากเป็น ส.ว.สามารถรับได้ เพราะบทบาทของสมาชิกวุฒสภาคือการเข้าไปคานอำนาจของคนที่เป็นผู้แทนราษฎรจริงๆ แต่ถ้าในที่สุดแล้วได้คนที่เป็นตัวแทนของจังหวัด จะไม่ได้มีโอกาสเข้าไปพัฒนาในแต่ละเขตลงพื้นที่เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นได้ เพราะ ส.ว.ไม่สามารถเจาะลึกลงพื้นที่ได้อย่าง ส.ส.


 


"คุณจะไม่ได้คนที่เป็นตัวแทนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คุณจะลดความสัมพันธ์ที่ต้องมีระหว่าง ส.ส.กับราษฎร ถ้าคุณไม่มีความสัมพันธ์ตรงนั้นในที่สุดแล้วนักการเมืองจะไม่สามารถมีบทบาทได้มากจริงๆ ในการพัฒนาพื้นที่" ม.ล.ณัฐกรณ์ ปัญหาข้อที่หนึ่งเรื่องโครงสร้างของสภาที่ร่างกันอยู่ในทำเนียบ


 


กรณีถัดมา นอกเหนือจากเรื่องภายในสภาที่น่าเป็นห่วงตามการให้สัมภาษณ์ของสนธิ คือ จะให้มีการเขียนเข้าไปในรัฐธรรมนูญว่าสถาบันทหารจะสมารถเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองได้โดย 1.ถ้ามีการบริหารราชการแผ่นดิน แล้วมีการช่อราษฎรบังหลวง โกงกินกันแบบที่รับไม่ได้ 2.ถ้าปล่อยให้มีการจาบจ้วงพระมหากษัตริย์แล้วรัฐบาลไม่ทำอะไร 3.ถ้ามีการบริหารราชการแผ่นดินแล้วทำให้ประเทศไทยเสียอธิปไตย


 


เมื่อดูแล้วทั้ง 3 ข้อต่างเป็นสิ่งที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการยึดอำนาจแทบจะทุกๆ ครั้งในประเทศไทยก็เป็นประเด็นเหล่านี้อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่การเมืองใหม่เสนอจึงเป็นการเขียนบัญญัติฝังไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยแนวคิดที่จะเปิดโอกาสให้มีการทำรัฐประหารตามที่ผู้บัญชาการกองทัพคิดว่าเหมาะสม จะถูกฝังรากลึกของการยอมรับการรัฐประหารลงไปเลยอย่างถาวรในสังคมไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายและไม่มีทางจะยอมให้เกิดขึ้นได้


 


ม.ล.ณัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอในส่วนขอเสนออื่น เช่น การให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลขึ้นตรงกับผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ซึ่งดูแล้วอาจเป็นสิ่งที่ดีแต่หากจะทำก็ต้องทำในทุกจังหวัด แบบสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ผู้ว่าในแต่ละมลรัฐหรือในแต่ละจังหวัดของไทยใหญ่และคุมตำรวจได้ มีหลายคนเคยเสนอรูปแบบนี้แต่ว่ายังไม่เหมาะสมกับเมืองไทยตอนนี้ ส่วนการเสนอให้เลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจากสภา ดูเป็นประชาธิปไตย แต่ในสภาตามรูปแบบของการเมืองใหม่ในที่สุดก็จะได้ ผบ.ตร.ที่เป็นคนของสนธิ


 


การเมืองใหม่ในสูตรที่พันธมิตรเสนอมา มีปัญหาที่การใช้คำอธิบายที่ฟังแล้วติด "New politic" ทำให้มองเห็นภาพของประชาธิปไตยแบบใหม่ แต่ที่แท้เป็นเพียงวาทกรรมที่ถ้าไปดุในแกนสารของสิ่งที่พยายามจะทำมันไม่ใหม่เลย เพราะฉะนั้นในช่วงเวลานี้การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ต่อสู้กับแกนนำเพียงบางคนที่คอยกุมบังเหียน กำหนดทิศทางในการเคลื่อนไหว ไม่ใช้มวลชนพันธมิตรทั้งหมดเพราะในการชุมนุมผสมผสานไปด้วยผู้ที่มีความหวังดีกับการพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในราชอาณาจักรไทย


 


"การต่อสู่ครั้งนี้แพ้ไม่ได้ ยอมได้ในบางประเด็นแต่ว่าแพ้ไม่ได้ เพราะว่าถ้าแพ้เบ็ดเสร็จคุณจะได้เห็นรัฐธรรมนูญการเมืองใหม่แน่นอน" ม.ล.ณัฐกรณ์กล่าว


 


ม.ล.ณัฐกรณ์ กล่าวต่อมาว่าบทเรียนในครั้งนี้เป็นบทเรียนของของสงครามระยาว ซึ่งจะจบลงและในอนาคตต้องไม่ปล่อยให้มีการใช่สื่อมวลชนปลุกระดมผู้คนโดยที่สื่อมวลชนสามารถถูกควบคุมโดยคนไม่กี่คน นอกจากนี้บทเรียนที่สอง นวัตกรรมใหม่ๆ ในการฆาตกรรม ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นักการเมืองที่ไม่ว่าจะมีทักษะในการทำมาหากินจากตำแหน่งที่มีอยู่มากขนาดไหน ไม่สามารถจะเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมในประเทศที่ต้องมีความยุติธรรมได้ จากเดิมจะเห็นการยึดอำนาจจากนักการเมืองโดยทหารเป็นเพียงการแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราว


 


ต่อมาถึงยุคนี้นวัตกรรมที่ตามมาคือ "ตุลาการปฏิวัติ" ซึ่ง "ตุลาการภิวัฒน์" ในรูปแบบที่คานอำนาจฝ่ายบริหารเป็นสิ่งที่ควรจะมี แต่รูปแบบของกระบวนการที่เกิดในประเทศไทยเหมือนเป็น "ตุลาการปฏิวัติ" มากกว่า "ตุลาการภิวัฒน์" เพราะในบางครั้งได้กลายเป็นการลดอำนาจฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไปเลย ซึ่งทั้งนี้ไม่ได้ชี้ว่าตุลาการดีหรือไม่ดี ส่วนนวัตกรรมที่สาม "การปฏิวัติโดยรัฐธรรมนูญ" ซึ่งหากปฏิวัติโดยทหารและปฏิวัติโดยตุลาการไม่สำเร็จ ก็ยังมีร่างกฎหมายที่เป็นแม่แบบของร่างกฎหมายทั้งหมด ดังนั้นหลังจากสงครามครั้งนี้หมดสิ่งที่กลัวก็คือนวัตกรรมที่สาม คือ รัฐธรรมนูญที่ฝังรากแห่งการยึดอำนาจจากฝ่ายบริหารอย่างถาวร


 


ในช่วงท้ายม.ล.ณัฐกรณ์กล่าวว่า ในการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยจะต้องต้องดูแลอย่างน้อย 4 อย่าง คือ1.ต้องดูเขตแดนของตัวเองได้ 2.การบริหารประเทศต้องสามารถทำให้ประชาชนไม่อยากจนถึงขนาดให้ต่างประเทศเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือดูแลดีกว่ารัฐบาลประเทศนั้นดูแลประชาชน


 


ส่วนอีกสองอย่างที่ไทยไม่มีและเป็นปัญหาคือ 3.การเคารพ ปฏิบัติตาม บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ และ4.ผูกขาดการใช้กำลังโดยรัฐบาล โดยใช้กำลังนั้นได้เมือมีการกระทำผิดกฎหมายเพื่อบังคับให้คนปฏิบัติตามกฎหมาย แต่สังคมไทยรัฐการใช้กำลังโดยรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีการยอมรับมา และที่แปลกใจคือการใช้กำลังนั้นกลับไปผูกขาดอยู่ที่กองทัพ ซึ่งการที่รัฐไม่สามารถใช้กำลังอาจเป็นสิ่งที่ดีในระดับสังคม แต่ในแง่การปกครองบริหารยาก ทำให้การกระทำผิดสามารถดำเนินการต่อไปได้


 


 


"พนัส" ย้ำหัวใจประชาธิปไตยอยู่ที่หลักนิติธรรม


 


นายพนัส ทัศนียานนท์ กล่าวว่าการเมืองไทยปัจจุบันวิกฤติยิ่งกว่าวิกฤต โดยอยู่ในระบอบกึ่งประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย เพราะหัวใจประชาธิปไตยอยู่ที่หลักนิติธรรม ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ปัจจุบันมีการตั้งคำถามถึงกฎหมายที่มีการปฏิบัติ 2 มาตรฐาน กฎหมายสมารถใช้บังคับได้กับคนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น ตรงนี้ทำให้รู้สึกเป็นห่วงว่าผ่านจุดนี้ไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากไม่มีการยึดหลักคุณค่าของระบบประชาธิปไตยคือการรู้จักระงับยับยั้ง หาทางสมานสามัคคีปรองดองกัน หาทางพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา


 


ตามความคิดของมหาตมคานธีร์ การไม่ระงับยับยั้ง สะกดความโกรธ ความเกลียด แท้ที่จริงก็คือความรุนแรงอย่างหนึ่ง จิตวิญญาณประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าในสังคมยึดแต่ความคิดตัวเองเป็นที่ตั้งและบังคับให้คนอื่นปฏิบัติตามโดยไม่ฟังเหตุผล


 


นายพนัส กล่าวต่อมาถึงแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ที่ได้ระถึงสาเหตุที่ต้องเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงจากการเมืองปัจจุบันไปสู่การเมืองใหม่ นั้นเป็นเพราะการเมืองปัจจุบันเป็นการเมืองอุบาท ที่ทำให้เกิดระบอบคณาธิปไตย เพราะมีการซื้อสิทธิขายเสียง มีอิทธิพล มีการโกงการเลือกตั้ง และมีระบอบอุปถัมภ์ ในส่วนตัวที่เป็น สสร.มาตั้งแต่ พ.ศ.2540 ก็ไม่ได้ยืนยันที่จะต้องให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นยังมีบางส่วนที่เป็นอำมาตยาธิปไตย


 


หากต้องการประชาธิปไตยที่ดีขึ้นกว่านี้และไม่ใช้ประชาธิปไตยอุบาท ทุกฝ่ายจะต้องถอนตัวกลับฐานที่มั่นของตนเอง เลิกตั้งแง่ ตั้งเงื่อน และช่วยกันคิดอ่านแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ไม่ใช่มาปะทะกันเหมือนบ้านเมืองป่าเถื่อนการเอากำลังเข้าหากัน ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้


 


"การเมืองของเราเท่าที่มีปัจจุบัน เราคงต้องยอมรับว่ามีข้อบกพร้อง และมันจะเป็นแค่นักการเมืองที่จะต้องเป็นผู้แก้หรือกลับเนื้อกลับตัวไม่ซื้อสิทธิซื้อเสียงแต่เพียงข้างเดียวไม่ได้ สิ่งที่เป็นบทเรียนล้ำค่าที่สุดของประชาชนคนไทยทั้งประเทศคือการจะต้องตระหนักว่าการเมือง คือสิ่งที่เราต้องพยายามทำให้เป็นการเมืองที่ดี เป็นการเมืองที่บริสุทธิ์ ชอบธรรม และทุกกลุ่มทุกคนมีสิทธ์มีเสียงในการจะเลือกผู้แทนของเราขึ้นมาปกครองบริหารประเทศตามหลักการปกครองประชาธิปไตยที่เป็นธรรม" นายพนัสกล่าว


 


 


"ดร.วิบูลย์" เชื่อแก้กฎหมายจะเป็นทางออก


 


ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น กล่าวว่าวันนี้อยู่ในวิกฤติประชาธิปไตยที่อาศัยพี่น้องประชาชนทั้งประเทศช่วยกันแก้ปัญหา เพราะวิกฤติไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการที่เราทำกันมาปกติ และการเมืองใหม่ที่ถูกนำเสนอโดยพันธมิตรเป็นเพียงวาทะกรรมที่ไม่มีอะไรที่เป็นการเมืองใหม่ แต่ประชาธิปไตยเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง หากไม่ช่วยกันวันนี้อาจไม่มีประชาธิปไตยเหลืออยู่ และจะนำไปสู่ระบอบใดก็ไม่อาจทราบ


 


ปัญหาที่ถูกกล่าวมาตั้งแต่ต้นที่เกิดมาจากวิกฤติจริงๆ ก็คือมาจากประชาธิปไตย คำว่าประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนมี 3 อำนาจหลัก คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ที่ขณะนี้มีคนบอกว่าอำนาจที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมดจอมปลอม มีการกล่าวหาว่าปัญหาเกิดจากประชาชน และนักการเมือง ที่ซื้อสิทธิขายเสียง จึงไม่อยากใช้อำนาจนิติบัญญัติและการบริการที่มาจากสิ่งเหล่านี้ จึงมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาโดยการใช้กฎหมาย โดยการอยู่บนหลักนิติธรรม ที่พันธมิตรฯ ปฏิเสธ สสร.ปฏิเสธรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะสิ่งที่พันธมิตรอยากได้จะเอาไปเขียนไว้กลางอากาศไม่ได้ จะต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะต้องเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน


 


ทั้งนี้การตั้ง สสร.3 เป็นตัวแทนจำนวน 120 คน น่าจะเป็นทางออก และหากพันธมิตรจะตั้งพรรคการเมืองเข้ามาสู้สภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ย่อมได้ เพราะถ้าเป็นประชาธิปไตยก็ไม่มีทางอื่นเดิม ซึ่งลำพังแต่ สสร.3อาจยังไม่พอ และจะต้องขอประชามติจากประชาชนร่วมด้วย


 


ทางเลือกวิกฤตมี 2 ทางสองคือ หนึ่งไปนำสู่สงคราม ไปสู่การนองเลือด การต่อสู้ และสองคือทางเลือกแห่งสันติ ไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่ที่ชอบธรรมกว่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนักการเมืองหรือฝ่ายประชาชนขอให้ยืนอยู่บนกติกาที่ถูกต้อง คุยกันหันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันคิดแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของประเทศ


 


ดร.วิบูลย์ ยังกล่าวถึง ส.ว.40 ท่าน ซึ่งทำการหักห้ามประสบสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาคนปัจจุบัน ไม่ไปประชุมหลายฝ่าย ว่าเป็นการไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อสันติภาพ แต่เป็นเป็นการส่งเสริมไปสู่การนองเลือด ขอให้ ส.ว.ทั้ง 40 ท่านไม่ว่ามาจากการสรรหาหรือการแต่งตั้งขอให้คำนึงถึงความสงบสุขของบ้านเมือง และพรรคการเมือง รวมทั้งนักการเมืองคนใดก็ตามหากคำนึงถึงประชาชนจริง ต้องคิดถึงผลประโยชน์ของประชนชนเป็นตัวตั้ง อย่าเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net