Skip to main content
sharethis


เก็บตกจากการพูดคุยเรื่องเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง "วิกฤตแม่น้ำโขง วิกฤติคนแคมของ" ในวงเล่าสู่กันฟังจากพี่สู่น้องโดยมี เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และปีเตอร์ สวิฟท์ (Peter Swift) นักพัฒนาชาวอเมริกาจาก South East Asia Development Program (SEDP) ประเทศกัมพูชา ซึ่งทำงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและเครือข่ายชาวบ้านในเรื่องที่ดิน น้ำ ป่า มาร่วมให้ข้อมูล เมื่อวันที่ 18-19 ก.ย.ที่ผ่านมา


 

 


ทำความรู้จักแม่น้ำโขง


 


เปรมฤดี: หัวข้อที่ให้มา "วิกฤติแม่น้ำโขง วิกฤติคนลุ่มน้ำ" สังเกตว่าในช่วงหลังๆ ที่ใครชวนไปพูดเรื่อง "แม่น้ำโขง" มักจะใช้คำว่า "วิกฤติ" ดูเหมือนเราก็คิดว่าแม่โขงกำลังตกอยู่ในวิกฤต อย่างที่ทราบกันว่าแม่น้ำโขงผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มามากมาย จะบอกว่าเคยเป็นแม่น้ำสีเลือดหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ แต่มีคนเคยเล่าว่าสมัยสงครามอินโดจีนจะเห็นศพลอยอยู่ในแม่น้ำโขง คนถูกฆ่ามัดมือแล้วโยนทิ้งแม่น้ำ แล้วก็ลอยล่องมาตามสายน้ำ แม่น้ำโขงให้ภาพเช่นนั้นกับคน


 


แต่สิ่งหนึ่งที่รู้ในฐานะคนที่รณรงค์เรื่องเขื่อน คือ แม่น้ำโขงยังปลอดภัย อย่างน้อยในน้ำโขงสายหลักทางตอนล่างยังปลอดภัยจากโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงเรื่องเขื่อน มาจนกระทั่งไม่นานมานี้ เมื่อภูมิภาคนี้เปิดหลังสงครามอินโดจีนสิ้นสุด แม่น้ำโขงก็เปลี่ยนไป ซึ่งนี้เองทำให้คนไทยจำนวนมากที่มีอายุช่วง 40 กว่าปี มีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับเรื่องแม่น้ำโขง เชื่อว่าคนในรุ่นใหม่ในที่นี้จะมีความรู้มากกว่าในเรื่องแม่น้ำโขง เพราะหลายคนมีโอกาสดีที่จะไปเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้าน และหลายคนก็เป็น "คนแคมของ" หรือ "คนที่มีวิถีชีวิตอยู่ติดริมแม่น้ำโขง" อยู่แล้ว


 


เมื่อพูดเรื่องภูมิภาคแม่น้ำโขง มีการแบ่งเป็น 2 ส่วน แม่น้ำโขงตอนบน คือ ภาคใต้ของจีนในเขตมณฑลยูนาน โดยไหลมาจากทิเบต ส่วนแม่น้ำโขงตอนล่างเริ่มต้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ผ่านสามเหลี่ยมทองคำรอยต่อประเทศไทย ลาว พม่า ไหลผ่านประเทศลาว กัมพูชา และไหลลงทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม


 


แผนที่ภูมิภาคแม่น้ำโขง


 


ความมหัศจรรย์ของแม่น้ำโขงเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย มีพื้นที่บุ่ง (1) ที่กว้างใหญ่มีน้ำท่วมถึงซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของปลา อันนี้เป็นลักษณะทางนิเวศน์ที่สำคัญมากของแม่น้ำโขง ในทะเลสาบเขมร (2) ที่เรียกว่าเป็นเมืองหลวงของปลาน้ำจืด ในช่วงดูแล้งและฤดูฝนขนาดต่างกันมาก และการที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงตรงนี้เองเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เป็นจุดกำเนิดของปลา ของการเป็นแหล่งประมงน้ำจืด


 


เพราะฉะนั้นหากสนใจเรื่องแม่น้ำโขง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสนใจเรื่องนิเวศน์ ตั้งแต่ตอนบนลงมาถึงตอนล่าง จะเห็นว่านิเวศน์แม่น้ำโขงเปลี่ยนไปตลอด มีความหลากหลายอย่างยิ่ง และมีความสัมพันธ์โดยตรงกับวิถีชีวิตคนแม่น้ำโขง


 


แม่น้ำโขงเกิดขึ้นจากบนเทือกเขาในทิเบต โดยเป็นน้ำที่ละลายจากหิมะซึ่งจุดเดียวกันนี้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ 3 สายหลัก คือแยงซีเกียง สาละวิน และแม่น้ำโขง จากหิมะละลายไหลลงมาเป็นธารน้ำเล็กๆ ซึ่งเมื่อเห็นความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขงตอนล่างหลายคนอาจคิดว่ามันใหญ่มาแต่ไหนแต่ไร แต่ความจริงเป็นธารน้ำเล็กๆ ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อลงมาทางใต้ เพราะแม่น้ำสาขาจากประเทศต่างๆ ได้ไหลมารวมกัน สร้างให้เกิดตัวลำน้ำโขง และแน่นอน แม่น้ำโขงได้กลายเป็นศูนย์รวมของชนเผ่าเชื้อชาติต่างๆ ตั้งแต่ด้านบนลงมาถึงด้านล่างของลำน้ำ


 



ภาพของธารน้ำแข็งต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญ ที่หล่อเลี้ยงผู้คน


 


นิเวศน์ลำน้ำในช่วง อ.เชียงแสน อ.เชียงของ เต็มไปด้วยแก่ง (โขดหินใหญ่น้อยที่โผล่ขึ้นกลางลำน้ำ) ลักษณะนิเวศน์เช่นนี้ทำให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลาบึก เพราะเวลาน้ำไหลผ่านแก่งขนาดใหญ่ บางอันใหญ่เท่าตึก 2-3 ชั้น ทำให้เกิดน้ำวน เมื่อปลาบึกตัวเมียมาวางไข่น้ำวนก็จะทำให้ไข่ของปลาติดกับอยู่ก่อนหินเพื่อให้ตัวผู้ตามมาปล่อยน้ำเชื้อทีหลังได้ เป็นระบบวงจรชีวิตอย่างนั้น


 


ในปัจจุบันวีถีชีวิตของคนหาปลายังมีให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะในแถบแม่น้ำโขงตอนล่าง หลังจากประเทศจีนลงมา ไม่ว่าในประเทศลาว กัมพูชา หรือไทย เราต่างมีวิถีชีวิตในการหาปลา และหลายจุดก็มีทัศนียภาพที่สวยงามมาก เช่นริมแม่น้ำโขงที่โขงเจียม (อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี) บ้านผาชัน (อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี) น้ำตกคอนพะเพ็ง (3) และนอกจากจะมีปลาบึกในแม่น้ำโขงยังมีโลมาอิระวดีอยู่ทางตอนใต้ของลาวต่อกับทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคเหนือของกัมพูชาด้วย


 



บ้านผาชัน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี


 



น้ำตกคอนพะเพ็ง น้ำตกไนแองการ่า แห่งเอเซีย


 



โลมาอิระวดี หรือโลมาหัวบาตรมีครีบหลัง


ถูกค้นพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิระวดีในประเทศพม่า จึงเป็นที่มาของชื่อ


 


นอกจากนั้น ที่กัมพูชา ในหน้าน้ำกัมพูชาดูเหมือนจะเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยน้ำ เกือบไม่เห็นแผ่นดินเลย และอาหารที่นั่นจะมีส่วนประกอบมาจากพื้นที่ชุ่มน้ำ อย่างเช่น บัว ที่นำแทบทุกส่วนมาทำเป็นอาหารไม่ว่ารากหรือใบ


 



ภาพถ่ายพื้นที่จากมุมมองบนเฮลิคอปเตอร์


 


ถามถึงความตื่นตัวของผู้คนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อการพัฒนาที่กำลังมาเยือน


 


เปรมฤดี: คิดว่าต้องมีความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ของภูมิภาค เวลาถามว่าคนตื่นตัวหรือเปล่า คือตื่นตัวหรือเปล่า บางทีถามกันง่ายๆ "เขารู้หรือเปล่า" ถามว่ารู้หรือเปล่าก็แล้วแต่แต่ละประเทศ อย่างที่ทราบว่าประเทศในแม่น้ำโขงส่วนใหญ่เป็นสังคมนิยม ยกเว้นไทยที่ตามก้นอเมริกันมานานกว่า 40-50 ปี นอกนั้นเขาปิดประเทศหลังจากปฏิวัติกลายเป็นสังคมนิยม


 


ราว 20 กว่าปีที่ผ่านมาประเทศแม่น้ำโขงเปิดขึ้น ทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว กัมพูชา จีน ประกาศว่ายังคงเป็นสังคมนิยมแต่จะใช้หลักเศรษฐกิจแบบทุนนิยม "เราจะให้ทุนนิยมนี่แหละทำให้สังคมนิยมของเราเข้มแข้งขึ้น" เชื่อและคิดอย่างนั้นจริงๆ เพราะว่าหลังจากโซเวียตหัวหน้าใหญ่ของสังคมนิยมล่มสลายลง หลายอย่างก็ได้ถูกลบล้างไป


 


แต่ปัญหาเกิดขึ้นคือว่า ยังเป็นสังคม รัฐบาลยังคงมีลักษณะพ่อปกครองลูกในทางการเมือง แต่เศรษฐกิจทุนนิยมมันเอาคนอื่นเข้ามา เอาบริษัท เอาโครงการ เอาแนวคิดแบบตลาดเสรีเข้ามา เพราะฉะนั้นสิ่งที่พบคือตลอดเวลามีความขัดแย้ง ในขณะที่จะพัฒนาแบบทุนนิยม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเป็นประชาธิปไตยด้วย คือต้องตรวจสอบการพัฒนาเหล่านี้ได้


 


อย่างการที่ในประเทศไทยมีการประท้วง การตั้งคำถามเรื่องเขื่อนเรื่องการพัฒนาเต็มไปหมดตลอดเวลา 40 ปีที่ผ่านมา แต่ในประเทศแม่น้ำโขงไม่เกิดอันนั้น อาจเพราะยังใช้วิธีพ่อปกครองลูก พ่อบอกว่าเขื่อนมันดีลูกจะมาเถียงได้ยังไง แต่ปัญหาคือบางทีพ่อไม่ได้บอกลูก ถ้าบอก... ลูกก็อาจจะตั้งคำถาม


 



การชุมนุมเรียกร้องของชาวบ้านปากมูน


 


ตรงนี้คิดว่ามันอาจจะยากหากจะใช้คำว่ายอมหรืออะไร พูดยาก ตัวอย่างนอกจากไทยก็คือกัมพูชา อาจจะเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างดี เพราะในกัมพูชามีการเคลื่อนไหว เป็นประเทศที่ นอกจากไทย ที่มีการเคลื่อนไหวของประชาชน เวียดนามกำลังจะเกิด แต่ลาวยังเงียบ ส่วนจีนคิดว่าคงมีการเคลื่อนไหวพอสมควรแต่เป็นอีกบริบทหนึ่ง


 


ปีเตอร์: ตอนที่ผมเริ่มทำงานเรื่องน้ำในประเทศกัมพูชาเรื่องการประมง ตอนนั้นมีการสัมปทานประมงที่รัฐบาลกัมพูชาให้กับทางบริษัท โดยมีการกั้นพื้นที่ไม่ให้ชาวบ้านเข้าทำการประมงในทะเลสาบเขมร แล้วชาวบ้านไม่ยอม เพราะทำให้เขาเดือดร้อนจึงเกิดการต่อต้าน รัฐบาลจึงได้ยกเลิกสัมปทาน 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตอนนี้ชาวบ้านไม่กลัวเรื่องสัมปทานประมง แต่กลัวเรื่องเขื่อน ตอนนี้ที่จีนมีการสร้างเขื่อนไปกี่เขื่อนแล้ว ในแม่น้ำโขงตอนบน


 


เปรมฤดี: 3 เขื่อน กำลังจะสร้างอีก 5 เขื่อน


 


ปีเตอร์: เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกัมพูชาที่เคยชาวบ้านต่อต้านเรื่องการสัมปทานการประมงบอกว่าไม่ต้องต่อต้านเพราะวันหน้าจะไม่มีปลาอีกแล้ว จะมีแต่น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาได้ แต่จะไม่มีปลาธรรมชาติอีกแล้ว ให้เอาน้ำมาเลี้ยงปลา เพราะที่จีนได้มีการทำเขื่อนปิดทางน้ำโขงแล้ว และตอนนี้ไม่ใช่เฉพาะที่จีน ชายแดนไทยลาว และชายแดนลาวกับกัมพูชาก็มีการเตรียมจะสร้างเขื่อน


 


คิดว่าการหาปลาที่กัมพูชาและไทยไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ กัมพูชาเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กกว่าไทยไม่รู้กี่เท่า แต่ในแต่ละปีสามารถหาปลาได้เป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากอินเดีย บังกลาเทศ และจีน ถือเป็นประเทศที่เล็กแต่มีปริมาณปลามากเพราะมีทะเลสาบเขมร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของปลา และอาหารของชาวบานไม่มีอะไรดีเท่าปลา ทุกคนไม่ว่าจนหรือมีก็ต้องกินปลา แต่ตอนนี้กำลังหวาดกลัวกันว่าในวันข้างหน้าต่อไปจะไม่มีปลาอีก


 


 



ภาพวิถีชีวิตของคนแคมของ


 


ถามว่ายอมหรือไม่ยอม คิดว่าชาวบ้านไม่ยอมอยู่แล้ว แต่ไมรู้ว่าจะทำอะไร เพราะตัวเองไม่ใช่คน


ที่ทำเขื่อน ไม่มีใครอยากให้เป็นแบบนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร


 


เปรมฤดี: คิดว่ามันมีความซับซ้อน เวลาดูเรื่องนี้มันเรื่องการเมือง มีเรื่องระบบเศรษฐกิจ มีความต้องการในการพัฒนา คือ ในกัมพูชาอย่างน้อยเขามีมากกว่า 1 พรรค คือมีพรรคฝ่ายค้าน มีพรรครัฐบาล มีการต่อสู้กันในทางการเมือง คนก็มักจะพูดว่าการที่รัฐบาลยอมให้ชาวบ้านใช้ทะเลสาบเขมรได้เป็นครั้งคราว มักจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งคือจะมีการอนุญาตมากหน่อย โดยให้ชาวบ้านได้มีสิทธิมีเสียง ได้เข้าไปทำประมงพื้นบ้านในพื้นที่ทะเลสาบได้ ก่อนหน้านั้นก็จะมีข่าวนายทุนที่ฆ่าชาวบ้าน หากมีการล้ำเข้าไปหาปลาในเขตสัมปทานก็จะโดนฆ่า โยนลงทะเลสาบ คนหายหาไม่เจอก็มี มันมีความซับซ้อนอะไรต่าง ๆ เหล่านี้


 


แต่ก็เหมือนกับที่ปีเตอร์พยายามพูด คือชาวบ้านไม่รู้จะทำยังไง ไม่รู้จะคัดค้านอย่างไร ในเมื่อยังมีการปราบชาวบ้าน ยังใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน คล้ายๆ กับประเทศไทยก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นก็มีพัฒนาการ มีความล้มเหลว มีเหตุการณ์ แต่ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียงกันคือ "เขื่อน" เป็นตัวแทนของสถานการณ์ คือเกิดขึ้นทุกประเทศในแบบเดียวกัน คือถูกเสนอเป็นชุด รัฐบาลในแต่ละประเทศกำลังสนับสนุนให้บริษัทเอกชนเข้าไปทำเขื่อน


 


ในกัมพูชาก็น่าสนใจ ชาวบ้านจำนวนมากไม่เคยเห็นเขื่อน เขื่อนที่เดือดร้อนมาแล้วเป็นเขื่อนที่อยู่ในเวียดนามแล้วมีผลกระทบกับคนกัมพูชา แต่ว่าในกัมพูชาเองยังไม่มีเขื่อนมาก มีเพียงเขื่อนเล็กๆ อยู่ภายใน ชาวบ้านส่วนมากที่พยายามจะสู้เรื่องเขื่อนยังไม่เคยเห็นเลยว่าเขื่อนหน้าตาเป็นอย่างไร การพยายามชวนพวกเขามาดูเขื่อนบ้านเรา จึงเป็นงานของเราส่วนหนึ่ง


 


คิดว่าที่ปีเตอร์พูดก็น่าสนใจ อย่างที่บอกว่ายอมหรือไม่ยอม มันก็อยู่ที่ว่าจริงๆ รู้หรือไม่รู้ ชาวบ้านเขาต้องเสียปลาไปทั้งหมด เสียที่ดิน เสียสิ่งที่เขาต้องกินต้องอยู่ทุกวัน ใครจะไปยอม เมื่อมันคือชีวิต คือชาวบ้านไม่ยอมอยู่แล้ว ไม่มีชาวบ้านที่ไหนยอม แต่ว่าจะสู้กันอย่างไรใครจะตายไปก่อน อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


 


นอกจากปัญหาเรื่องเขื่อนแล้ว เรื่องอะไรที่ส่งผลกระทบหลักๆ ต่อคนริมโขงอีกบ้าง?


 


เปรมฤดี: จริงๆ มันส่งผลกระทบถึงกันหมด เรื่องเขื่อนกับเรื่องที่ดิน เช่นในประเทศไทย พื้นที่ชุมน้ำหรือพื้นที่น้ำท่วมถึง ป่าบุ่งป่าทามของน้ำสงครามในประเทศไทย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงก็เคยถูกบริษัทเข้ายึดครองเพื่อนำไปใช้ปลูกต้นยูคาลิปตัส ในประเทศแม่น้ำโขงก็เป็นเช่นกัน ลามเรื่อยไป ตอนนี้การยึดที่ดินในรูปแบบคล้ายๆ กันก็ควบคู่มากับเรื่องเขื่อน


 


ในกัมพูชาเองคนก็ใช้ตัวเลขโดยคร่าวๆ ว่าครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมดในประเทศเล็กๆ นี้ อยู่ภายใต้สัมปทาน ถูกให้สัมปทานที่ดินไปกับบริษัทเอกชน มีคำพูดที่คิดว่าน่าสนใจว่า ถ้าหากบริษัททั้งหมดที่กำลังได้สิทธิในการใช้ที่ดินซึ่งขณะนี้มีชาวบ้านอาศัยอยู่บนที่ดินดังกล่าว ถ้าทุกบริษัททำได้ทั้งหมดพร้อมกันคงเกิดสงครามแน่ เพราะนั่นหมายถึงที่ดินราวครึ่งประเทศนี้จะตกอยู่ในมือเอกชนเพียงไม่กี่ราย ตอนนี้ชาวบ้านก็ไม่กล้าทำอะไรมาก เช่นที่เพิ่งพูดคุยกับปีเตอร์ก็เกี่ยวกับบริษัทใหญ่ที่ชื่อว่าเพียบพิเมก (Pheapimex) ที่กำลังไปทำสวนป่า (Plantation) ขนาดใหญ่มากในพื้นที่ภาคกลางของประเทศ และมีปัญหามากกับชาวบ้าน


 


นั่นเป็นการคุกคาม ซึ่งทั้งหลายทั้งมวลกลับมาสู่ประเด็นเรื่องสิทธิของประชาชน เพราะในประเทศเพื่อนบ้านของเรายังขาดตรงนี้ สิทธิชองชาวบ้านเป็นสิทธิแห่งการใช้ แต่ว่าสิทธิโดยเบ็ดเสร็จถึงที่สุดแล้วยังอยู่ในมือรัฐบาล ชาวบ้านเข้าใจว่ารัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดิน เป็นเจ้าของแม่น้ำ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่มีอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วทำได้ทุกอย่าง เพราะในความเป็นจริงชาวบ้านเป็นผู้ใช้ทรัพยากรอยู่ อันนั้นเป็นประเด็นซึ่งเป็นประเด็นหลัก 2 เรื่องที่พวกเราทำงานอยู่ ซึ่งแค่ 2 เรื่องก็มีรายละเอียดมากมายมหาศาลที่ต้องเข้าใจ


 


เรื่องเขื่อนบนลุ่มน้ำ ในประเด็นที่ถูกจับตามอง


 



โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง


 



เขื่อนแบบขั้นบันได


 


เปรมฤดี: ในจีนมีกำหนดที่จะสร้างเขื่อน 8 แห่งเป็นอย่างน้อยบนแม่น้ำโขงสายหลัก สร้างเสร็จแล้ว 3 เขื่อน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 เขื่อน และจะสร้างต่อให้ครบ 8 เขื่อน คือปิดแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งตอนนี้ก็ทำให้เกิดผลกระทบในประเทศไทยแล้ว อย่างประเด็นน้ำท่วมที่เชียงแสน แม้รัฐบาลของประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างจะไม่มีใครพูดว่าสาเหตุมาจากจีน แต่ก็เป็นที่สงสัยว่าเป็นเพราะจีนใช้เขื่อนกักน้ำไว้ไม่เมื่อเกิดน้ำท่วม จึงปล่อยให้มาท่วมประเทศทางตอนล่าง


 


ความขัดแย้งอันนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะนี้กำลังมีการเสนอเขื่อนอย่างน้อย 8 เขื่อนที่จะมากั้นแม่น้ำโขงทางตอนล่าง คือ 5 เขื่อนในลาว 2 เขื่อนในไทย และอีก 1-2 เขื่อนในกัมพูชา เป็นสิ่งที่กำลังติดตามกันอยู่อย่างสยองขวัญ ลักษณะของเขื่อน 8 เขื่อนที่เสนอในทางตอนล่างตรงนี้จะเป็นแบบขั้นบันได คือตีนเขื่อนกับหัวเขื่อนตัวล่างจรดกัน


 


เริ่มจากในลาวคือ เขื่อนปากแบ่ง (1,350 เมกกะวัตต์ สร้างโดยบริษัทจีน) หลวงพระบาง (อยู่ตอนบนของเมืองหลวงพระบาง 1,400 เมกกะวัตต์ สร้างโดยบริษัทเวียดนาม) ไซยะบุรี (1,200 เมกกะวัตต์ อาจลงทุนโดยบริษัท ช.การช่างของไทย) ปากลาย (1,320 เมกกะวัตต์)


 


ลงมาที่ไทย ตอนนี้มีเขื่อนปากชมซึ่งเดิมคือเขื่อนผามอง ท่าอุเทนนี่ยังเงียบๆ บ้านกุ่มที่กำลังเป็นข่าวกันอยู่และคึกคักมากในการรณรงค์ ต่อด้วยภาคใต้ของลาวคือดอนสะโฮง (240 เมกกะวัตต์ สร้างโดยบริษัทเมกกะเฟิร์สทคอเปอร์เรชั่น ของมาเลเชีย) (4) เขื่อนสตึงเตร็งและซำบอ (3,000 เมกกะวัตต์) ในกัมพูชา เขื่อนทุกเขื่อนจะผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ก็ไม่ทราบว่าเมื่อสร้างครบทุกเขื่อนแล้วจะมีน้ำเหลือพอให้ปั่นไฟหรือเปล่า แต่ว่าชาวบ้านริมโขงก็อาจจะตายสนิทถ้าสร้างกันหมด ซึ่งถึงขณะนี้ก็ยังไม่เชื่อว่าจะสร้างทั้งหมดได้


 


ลำน้ำช่วงระหว่างเขื่อนดอนสะโฮงถึงเขื่อนซำบอ เป็นช่วงที่มีโลมาอิระวดี เป็นวังโลมาขนาดใหญ่ เพราะด้านล่างเป็นทะเลสาบเขมร ปลาจะว่ายผ่านเขตดอนสะโฮง สีพันดอน ซึ่งเป็นเขตวางไข่ของปลาขึ้นไปถึงประเทศไทย แล้วว่ายกลับลงมาที่ทะเลสาบเขมร


 


ปลาในทะเลสาบเขมรที่ว่ามากมายมหาศาลนั้น 70 เปอร์เซ็นต์เป็นปลาอพยพ หมายถึงว่าเป็นปลาที่อยู่ในแม่น้ำโขงสายหลักอพยพลงไป เพราะฉะนั้นหากเกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำโขงสายหลัก ทะเลสาบเขมรก็จะมีปัญหาแน่นอน และตอนนี้มีข้อมูลจากกลุ่มที่ทำเรื่องประมงให้ข้อมูลว่า เด็กๆ รอบทะเลสาบเขมรเริ่มเกิดภาวะขาดอาหาร ทั้งที่อาศัยอยู่รอบทะเลสาบที่มีปลามากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกเป็นโรคขาดอาหาร หมายความว่ามันเริ่มมีปัญหาเรื่องทรัพยากรที่ลดลง


 


เพราะฉะนั้น ถึงแม้ใครจะไม่อยากพูดเรื่องเขื่อนหรืออะไรก็ตาม แต่ก็ต้องมีการตั้งคำถามว่าถ้ามีการไปปิดตรงนี้ทำเขื่อนดอนสะโฮง แค่ 240 เมกกะวัตต์ และใช้ได้จริงถึง 50 เมกกะวัตต์หรือเปล่าไม่รู้ ใช้กับห้างใหญ่ๆ ได้เพียง 2-3 ห้างตลอดหนึ่งปี คุณจะปิดเส้นทางของปลาตรงนี้จริง ๆหรืออ คุณจะฆ่าชาวบ้านไม่รู้กี่ล้านคนที่ทะเลสาบเขมรหรือ


 


เขื่อนอาจยังสร้างไม่เสร็จแต่จะมีสงครามในการแย่งชิงน้ำและทรัพยากรขึ้นในเร็วๆ วันนี้?


 


เปรมฤดี: สงครามคงเริ่มจากความขัดแย้งอย่างสุดขั้วระหว่างบริษัทเอกชนกับชุนชน โดยที่รัฐบาลไปอยู่ฝ่ายบริษัทเอกชน หลังจากที่ไม่มีทรัพยากรใช้แล้วจะอยู่กันอย่างไรเป็นปัญหาที่แต่ละประเทศต้องคิดกันเอง แต่ว่าตอนนี้ปัญหาเช่นที่ไทยอยากจะสร้างเขื่อนเอาไฟฟ้ามาใช้ที่ไทย ไทยอยากผันน้ำจากลาวมาใช้ในอีสานแต่โครงการนี้ชาวบ้านลาวเห็นด้วยหรือเปล่าแต่รัฐบาลลาวตกลงไปแล้ว คงเป็นปัญหาพวกนี้ และก็จริงที่มันคงเป็นปัญหาความขัดแย้งด้วย


 


แต่ก่อนไทยเคยมีการประท้วงญี่ปุ่น ประท้วงสินค้าญี่ปุ่น ถือว่าญี่ปุ่นมารังแกเราทำให้เศรษฐกิจเราล่ม คนลาววันหนึ่งเองวันหนึ่งก็อาจลุกขึ้นมาประท้วงไทยเพราะเราได้ไปแย้งชิงทรัพยากรของเขา เอาน้ำเขามาปลูกพืชพลังงานในอีสาน เราก็คงต้องสู้เรื่องนี้ด้วยเรา เพราะเราไม่อยากเป็นที่เกลียดชัง เพราะเราอยู่ในทุนนิยมมาก่อนชาวบ้านเขา มือยาวกว่า เรามีทุนมากกว่า เรามีบริษัท ช.การช่าง มีบริษัท อิตาเลียน-ไทย ซึ่งลงทุนได้


 


เรากลายเป็นญี่ปุ่นน้อยในภูมิภาคควบคู่ไปกับจีน อันนี้ต้องยอมรับว่าเราต้องการเป็นอย่างนั้น แล้วก็รัฐบาลไทยต้องการเป็นอย่างนั้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ก็คือว่าเราต้องการเป็นศูนย์รวมของภูมิภาคนี้ โดยอยากจะเดินจูงมือไปกับจีนถล่มลาว ถลมกัมพูชา ถล่มใครๆ เวียดนามก็บอกว่าฉันอยู่ของฉันเองก็ได้ ก็อยู่ล่างสุด


 


อนาคตที่เป็นรูปธรรมของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง


 


เปรมฤดี: มันน่าจะเกิดความขัดแย้งอย่างที่ว่าในหลายๆ มิติ ความขัดแย้ง ความไม่ลงตัวและการจู่โจมอย่างไม่ทันตั้งตัว จากการที่เคยทำงานอยู่ที่ลาวมากว่า 5 ปี ทำให้รู้ว่ารัฐบาลลาวเองก็เหมือนชาวบ้านลาว ในช่วงปฏิวัติคนได้หนีออกนอกประเทศมาก อาจทำให้คนที่เป็นปัญญาชนเลือกที่จะออกไปอยู่ในต่างประเทศ ดังนั้นเขาจึงยังขาดเครื่องมือ ขาดความเข้าใจ พูดง่ายๆ คือ อาจจะยังตามทุนนิยมไม่ทัน


 


เวลาที่เขาเปิดประเทศแล้วในทันทีก็บอกว่ายินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติ ในอีกแง่หนึ่ง มันก็อาจจะเหมือนกับการที่ไม่มีเสื้อผ้าแล้วไปเดินอยู่ในป่า ถูกเหลือบ ริ้น ยุง กัดเต็มๆ ดีไม่ดีเสือตัวใหญ่ๆ มาก็เหลือแต่กระดูก นั่นคือสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วง


 


แต่เราไม่ได้ใช่ทัศนคติเดียวกับทุกประเทศ เมื่อเข้าไปที่ลาว ที่กัมพูชาเราเข้าใจว่าทุกประเทศไม่เหมือนกัน มีบริบทต่างกัน ทุกคนต้องการความรู้มากขึ้น และทุกคนไม่ใช่จะชั่วร้ายโดยกำเนิด เป็นคนที่เหมือนกัน คือยังไงก็ต้องการการพัฒนา ต้องการความเข้าใจ แต่ว่าสิ่งที่เห็นก็คิดว่ามันรวดเร็วไปจริง ๆ


 


สิ่งทีเกิดขึ้นกับไทย นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกและทำให้เกิดเขื่อน เกิดถนน เกิดหายนะมากมาย และเกิดสมัชชาคนจน แต่ว่าในกัมพูชา ในลาวไม่ได้มีโอกาสนั้น ใช้ทางลัดการพัฒนาตูมเดียวภายใน 10 ปี ทรัพยากรหายไปอย่างรวดเร็วมาก คิดว่าเราจะต้องมีความเข้าใจตรงนี้ และต้องมีการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งนี้ร่วมกัน เพราะผลกระทบต้องเกิดขึ้นแน่


 


พวกเรายังไม่เคยสร้างสิ่งที่เรียกว่าภูมิภาค ความคิดแบบภูมิภาค แต่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องสร้างมัน โดยเริ่มจากการเข้าใจ ทั่วโลกมีภูมิภาคมากมายและเขาได้ทำอะไรในเรื่องภูมิภาค แต่เรากับโครงสร้างแม่น้ำโขง เราต้องเริ่ม โดยเฉพาะพวกเรา (เยาวชน) เข้ามามีบทบาทได้เพราะต้องถือว่าเราเคยผ่านมาหมดแล้ว เรามีเขื่อน มีสวนป่าเต็มไปหมด ต้องเอาอันนี้แหละไปช่วยบอกเพื่อนๆ ทางเลือกที่มีก็คือต้องช่วยกันเท่านั้น


 


ความหวัง ความฝัน อยากเห็นอะไรในภูมิภาค ในฐานะคนทำงาน?


 


ปีเตอร์: คิดว่าเรื่องที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ทำได้ อย่างเรื่องการสร้างเขื่อนในจีนที่ทำได้เพราะ 1 คือชาวบ้านไม่มีสิทธิ ส่วน 2 คือเป็นเพราะประชาชนคิดว่าการสร้างเขื่อนเป็นเรื่องที่ดี ต่อไปข้างหน้าคิดว่าถ้าชาวบ้านมีสิทธิก็จะมีการลุกขึ้นมาต่อสู้ สำหรับชาวบ้านทั่วไปก็ต้องทำให้เขารู้ว่าเรื่องเขื่อนไม่ใช่เรื่องดีอย่างเดียว คือยังมีความหวัง


 


ตอนนี้มองว่าประชาชนทั่วไปยังคิดว่าการมีไฟฟ้าใช้ดี การสร้างเขื่อนไม่ได้สร้างปัญหาอะไร แม่น้ำโขงมันไกลมากจากกรุงเทพฯ จึงมองไม่เห็นปัญหา คิดว่าสร้างก็ดีจะได้ไฟฟ้าใช้ในราคาถูก ประชาชนทั่วไปยังคิดว่าการสร้างเขื่อนดีก็อยากให้มีการสร้างอีก ในพื้นที่ที่ไม่มีการต่อสู้เขื่อนก็ถูกสร้างขึ้น


 


ส่วนความร่วมมือกัน หากเขื่อนจะถูกสร้างขึ้นในประเทศหนึ่งแล้วประเทศที่อยู่ใกล้เคียงร่วมมือกันตรงนี้ก็อาจช่วยได้ ที่ผ่านมาเคยมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสายหนึ่งของเวียดนามที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง แต่ว่าคนกัมพูชาก็ไม่รูว่าจะทำอย่างไรเพราะมันเป็นการก่อสร้างในเวียดนาม ต่อให้มีการช่วยเหลือระหว่างประชาชนในเวียดนามและกัมพูชา แต่ถ้าหากประชาชนในประเทศเวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา จีน ไทยที่มีอาณาเขตติดต่อกันร่วมมือกันก็อาจช่วยได้


 


เรื่องที่มีการขัดแย้งกันเป็นเรื่องนโยบาย เวียดนามกับกัมพูชาก็เป็นความขัดแย้งกันในเรื่องนโยบาย ไม่ใช่เรื่องประชาชนได้ประโยชน์ เขมรแดงก็ว่าเวียดนามไม่ดี เขมรแดงดี มันเป็นเรื่องของนโยบายไม่ใช่เรื่องประชาชนกับประชาชน เพราะฉะนั้นประชาชนที่ต้องการใช้แม่น้ำโขงถ้าช่วยกันไม่ต้องคิดเรื่องเส้นแบ่งความเป็นรัฐที่มาพร้อมกับนโยบายก็ต้องช่วยกัน


 


เปรมฤดี: อย่างรุ่นพวกเราก็ปลงใจที่จะทำงานจนกระทั่งแก่ เพราะฉะนั้นอาจเห็นสิ่งที่เรียกว่าความหวังในคนรุ่นใหม่ คงต้องทำงานกันอีกยาว อย่าลืมว่าการสู้ของชาวบ้านปากมูน ตอนนี้พ่อแม่ที่ปากมูนเสียชีวิตกันไปอย่างน้อยรุ่นหนึ่งแล้ว เมื่อคุณก้าวเข้าสู่การต่อสู้เมื่ออายุสี่สิบต้นต้นๆ สู้จนเจ็ดสิบแล้วก็เสียชีวิตไป คือคนเวลาต่อสู้เรื่องเขื่อนต้องสู้กันเป็นรุ่น ๆ เพราะฉะนั้นเราต้องการคนที่จะสู้ต่อไปได้ กว่าที่จะสู้ได้คงต้องเสียอะไรไปเยอะ แต่ก็ยังดีกว่าการไม่สู้


 


มันไม่มีอะไรที่เป็นทางลัด บางเรื่องมันลัดไม่ได้ เราลัดไม่ได้มันต้องค่อยๆ ว่ากัน ปีหน้าเห็นผลเลยพวกเราก็ไม่เคยคิดอย่างนั้น


 


มิติทางวัฒนธรรม ความเชื่อ สร้างความรู้สึกร่วมในการต่อสู่เรื่องเขื่อนได้ไหม?


 


เปรมฤดี: จะทำให้มีความรู้สึกร่วมหรือเปล่าต้องช่วยกันตอบ เพราะบอกคนภาคใต้ว่าสร้างเขื่อนแล้วไม่มีบั้งไฟพญานาคก็ไม่รู้ว่าคนภาคใต้จะรู้สึกเป็นห่วงร่วมด้วยไหม ซึ่งเรื่องเขื่อน ที่กลุ่มรักเชียงของจะเน้นแนววัฒนธรรมแม่น้ำโขง และประเด็นพวกนี้มักจะขายได้ในเมืองไทยเพราะคนไทยคิดเรื่องคุณค่า เรื่องวัฒนธรรม แต่อย่างที่ปีเตอร์ว่าในกัมพูชา ในลาว ชาวบ้านสนใจเรื่องการพัฒนาอยากได้ไฟฟ้า บางที่อาจจะยอมเสียก็ได้เพราะไม่รู้ว่าเสียแค่ไหนไม่เคยเห็น ต้องค้นหา หน้าที่ที่มีคือพยายามค้นหาว่าอะไรกันแน่ที่จะเป็นคำตอบเพื่อให้สังคมแม่น้ำโขงมีคำถามในประเด็นการพัฒนา ซึ่งไม่ง่าย


 


เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหมดเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าถ้าสร้างในประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็สร้างไฟฟ้าเพื่อใช้ในเขตนั้นๆ เช่น ภาคเหนือของลาวก็ใช้ในเขตนั้นถ้าเหลือเอาไปขายให้จีน ถ้าบริษัทจีนมาลงทุน จีนก็อยากซื้อ บริษัทจีนก็มาสร้างให้แล้วขายไฟให้จีน ส่วนที่สร้างในเขตแดนไทยลาวก็ขายไฟให้ลาวและไทยแบ่งกัน


 


เขื่อนทั้งหมดเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าและมีบริษัทเอกชนเป็นผู้สร้าง อีกทั้งได้ประโยชน์ก่อนจากการขายไฟฟ้า 30 ปีแรก หลังจากนั้นก็อาจจะยกให้รัฐบาล


 


หลังจากรณีเขาพระวิหารหนังสือพิมพ์ก็ถามรัฐบาลไทยมากว่า เขื่อนบ้านกุ่มสร้างตรงชายแดนไทย-ลาว จะมีการทำเรื่องชายแดนให้เสร็จก่อนสร้างหรือจะสร้างไปเลยไม่สนเรื่องชายแดน เพราะข้อมูลที่ผ่านมาเรื่องชายแดนในแม่น้ำยังไม่เคยตกลงกันได้ระหว่าง 2 ประเทศ เช่นเดียวกับกรณีเขาพระวิหาร


 


มันมีความซับซ้อนอยู่มาก แต่ที่ผ่านมาก็ได้พยายามทำทุกวิถีทาง ตั้งคำถามทุกๆ มิติเพื่อที่จะบอกว่าอยู่ดีๆ จะลุกขึ้นมาสร้างเลยไม่ได้ เพราะการสร้างเลยนั้นทำให้เกิดปัญหาตามมากมาย ต้องมีการพูดกันให้ชัดเจนก่อนถึงการแก้ปัญหา ซึ่งถึงที่สุดก็รู้อยู่เต็มอกว่าไม่มีทางแก้ได้ คือหากต้องตอบคำถามเราให้ได้ถ้าไม่ได้ห้ามสร้างก็จะไม่ได้สร้างกันสักเขื่อน ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริง อันนี้เป็นการต่อสู้เพื่อให้มีความตระหนัก และก็หวังว่าการที่ไทยสู้จะทำให้เพื่อนบ้านเข้ามาร่วมด้วย


 


ตัวอย่างเช่น เขื่อนบ้านกุ่ม ตอนนี้ในลาวที่ประชาชนไม่ได้สามารถทำอะไรได้ แต่ว่าคนลาวได้ดูข่าวโทรทัศน์ การรณรงค์ในเมืองไทยก็น่าจะมีผลไปถึงลาวด้วยแน่นอน


 


การพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีฐานะอย่างไรในการประชุมอาเซียน?


 


เปรมฤดี: คิดว่าภูมิภาคแม่น้ำโขงยังใหม่ และกำลังเป็นเป้าหมาย อย่างที่ทราบกันว่าอาเซียนโฟกัสเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ถูกตั้งขึ้นเพื่อที่จะทำการตกลงระหว่างกัน โดยที่ก็ทราบว่าการต่อสู้ทางการเมืองเรื่องการค้าย่อมมีอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ในระหว่างประเทศ


 


ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีกรอบที่เรียกว่า GMS (Greater Mekong Sub region: กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง) ซึ่ง ADB (Asian Development Bank: ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย) ตั้งขึ้นมา กรอบนี้ตั้งมาไม่นานยังปรับเปลี่ยนยาก ส่วนอาเซียนตั้งขึ้นมาเก่าแก่หลายสิบปี เพราะฉะนั้นจะไปเขยื้อนอะไรในส่วนของความเป็นอาเซียนคงยาก คงต้องมองลึกลงไปในนั้น


 


อาเซียนพยายามเสนออะไรมาโดยตลอด และตลอดนี้ภูมิภาคแม่น้ำโขงเป็นตลาดใหม่ ประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกำลังจะกลายเป็นสมาชิกอาเซียน และกำลังจะกลายเป็นพื้นที่ในการลงทุนทางการค้า แนวคิดแบบกระแสหลักกำลังเข้ามาในภูมิภาค ซึ่งคิดว่าแยกกันยากระหว่างภูมิภาคแม่น้ำโขงกับอาเซียน แต่คนในภูมิภาคแม่น้ำโขงต้องเข้าใจว่าอาเซียนจะมีผลอย่างไรกับตัวเอง ที่ไม่ใช่เพียงผลบวกทั้งหมด


 


ตอนนี้ที่น่าสนใจเรื่องกรอบการค้าด้านพลังงาน ของอาเซียน และ GMS แทบไม่ต่างกัน คือการสร้างเขื่อนในลาว ลาวขายไฟให้ไทย ไทยก็เคนยอยากเป็นศูนย์กลาง (Hub) ที่จะส่งไปขายที่มาเลเซีย ที่สิงคโปร์ กรอบนี้กำลังถูสร้างมาโดยที่ปราศจากความรับรู้ของชาวบ้าน และจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางการค้าที่มันวุ่นวายเต็มไปหมด ซึ่งคิดว่ามันคลายกันมากและข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาในภูมิภาคแม่น้ำโขงหรือในอาเซียนไม่ควรต่างกัน เพียงขึ้นอยู่กันการนำเสนอ


 


ในฐานะกลุ่มเยาวชนจะมีบทบาทในส่วนของวิกฤตินี้อย่างไร?


 


เปรมฤดี: อันนี้เป็นสาเหตุว่าทำไมที่มาวันนี้ เพราะมีความหวัง คือช่วงหลังได้มีโอกาสคุยกับกลุ่มนักศึกษาหลายกลุ่มทั้งในจุฬาและในธรรมศาสตร์ซึ่งมีการเรียนการสอนในวิชาว่าด้วยเรื่อง "การเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม" และนักศึกษาสนใจเรื่องแม่น้ำโขงมากขึ้น คิดว่าสำคัญมากที่คนในรุ่นนี้จะเข้ามามีบทบาท


 


ตอนนี้การสู้เรื่องเขื่อนบนลำน้ำโขงสายหลักคือเขื่อนบ้านกุ่มที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นเขื่อนบนชายแดนไทย-ลาว ที่ให้ชื่อว่าเป็นฝายที่มีขนาด 1,800 เมกกะวัตต์ ทั้งที่เขื่อนปากมูลมีขนาด 135 เมกกะวัตต์ โดยมีการประกาศว่าเขื่อนบ้านกุ่มเพียงเขื่อนเดียวจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่กำลังผลิตได้ในประเทศไทยปัจจุบัน นั่นคือคำโฆษณาของรัฐบาล


 


ในกระบวนการการทำงานเรื่องเขื่อนบ้านกุ่มนักศึกษาเข้ามามีบทบาทที่ชัดเจน โดยตอนนี้กลุ่มนักศึกษาได้ทำการเก็บข้อมูลทุกหมู่บ้านที่อยู่แคมของ (อยู่ติดแม่น้ำโขง) ร่วมกับทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยและองค์กรในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี


 


รู้สึกว่าเยาวชนคนหนุ่มสาวคึกคักขึ้นในช่วงหลัง โดยส่วนตัวอยากให้ทุกคนมีส่วนในการรณรงค์


ถ้าไปดูเยาวชนในกัมพูชา ในเวียดนาม หรือในลาว จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ของเขาจะมีความกระตือรือร้นและมีพลังมาก พูดได้หลายภาษา และมีลักษณะของประเทศที่ผ่านการต่อสู้มา คือมีความยืดหยุ่นสูง สามารถกระโดดเข้าไปในงานรณรงค์ได้เต็มที่ แต่คิดว่าพวกเราอาจยังขาดตรงนั้น คือขาดประวัติศาสตร์ตรงนั้น เพราะไม่ได้มีการผ่านประวัติศาสตร์ที่จะต้องสู้ที่จะต้องผ่านอุปสรรค์ เป็นรุ่นที่โตขึ้นมาของเราเฉยๆ


 


ถ้าสังเกตอาจเห็นว่าพวกเราอาจจะสนใจความสวยงามของแม่น้ำโขง คุณค่า วิถีชีวิต ซึ่งเป็นมุมมองที่บางคนบอกว่าโรแมนติก แต่จริงๆ มันมีอะไรหลายอย่างที่เป็นแง่มุมที่เจ็บปวดอยู่มากด้วย


 


ดังนั้น สิ่งที่พวกเราควรจะทำอย่างแรกสุด คือการทำความเข้าใจบริบทต่างๆ ก่อนที่จะรู้ว่าต้องช่วยอะไร และถ้าจะต้องช่วยในขณะนี้ สิ่งที่ต้องการที่สุดก็คือความเข้าใจในบริบทภูมิภาค ในความเห็นส่วนตัว เราควรสร้างเครือข่ายภูมิภาค และทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "เราต้องรักษาแม่น้ำโขงไว้ร่วมกัน"  "Save our Mekong" พวกเราควรจะอยู่ในกระบวนการรณรงค์นั้นร่วมกับเพื่อนๆ ในประเทศอื่นๆ ในลุ่มน้ำโขงในทุกวิถีทาง มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน คิดว่าเป็นความหวังของเราที่ทำงาน


 


รู้สึกว่าแม่น้ำโขงนี้เหมือนมีกรรมเวรอยู่โดยเฉพาะทางตอนล่าง ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม ในทางการเมือง ในทางความสัมพันธ์มีปัญหากันมาโดยตลอด ถ้าจะมีการรวมกลุ่มตั้งคำถามกับจีนที่กำลังสร้างเขื่อน ก็ต้องมีความสามัคคีกันก่อน แต่เราก็พบว่าในทางการเมือง ไทยก็อาจไม่ใช่มิตรประเทศของลาว และคนลาวยังไม่ลืมว่าไทยร่วมกับอเมริกาถล่มเขาอย่างไร เพราะฉะนั้นลึกๆ ไทยอาจไม่ไดถูกมองว่าเป็นมิตรประเทศทางการเมืองของลาว หรือกัมพูชาเพื่อนบ้านเราก็ได้


 


เพราะฉะนั้นจะต้องออกให้พ้นจากบริบทพวกนี้ และคนที่จะเป็นความหวังได้ก็คือคนรุ่นใหม่เท่านั้น เพราะว่าเป็นคนรุ่นหลังความขมขื่นของสงคราม และน่าจะปลอดจากแนวคิดที่ถูกโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยองค์กรรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ อันนี้เป็นความสำคัญที่จะต้องลุกขึ้นมาช่วยกันให้ได้ ลดความขัดแย้งที่เคยมีอยู่ลงให้ได้


 

 



โครงการเขื่อนบ้านกุ่ม


 



บริเวณแม่น้ำโขงหัวงานเขื่อนบ้านกุ่ม


 


....................................


 


ทั้งนี้การพูดคุย เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องอาเซียนของคนรุ่นใหม่ ครั้งที่1 "การมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในเวทีอาเซียน" จัดโดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา Action Aid ประเทศไทย และมูลนิธิชีวิตไท (RRAFA) เพื่อเป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในเรื่องอาเซียนและความสัมพันธ์ของผู้คน วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ในประเทศภูมิภาคแม่น้ำโขง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วม "มหกรรมประชาชนอาเซียน" หรือ APF ที่จะมีขึ้นในประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 51 เพื่อทำกิจกรรมคู่ขนานกับการประชุมอาเซียน (ASEAN Summit) และสานต่อความร่วมมือกันในกลุ่มเยาวชนในอนาคต


 


 


..............................................................................


 


ที่มาภาพ: จากไสลด์ โดยเปรมฤดี ดาวเรือง โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA)


 


เพิ่มเติม


 


(1) "ป่าบุ่งป่าทาม" เป็นเป็นคำพื้นถิ่นของภาคอีสานที่ใช้เรียกพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ลำน้ำ และลำห้วย ในฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก พื้นที่แห่งนี้จะมีน้ำเอ่อท้นล้นตลิ่งเจิ่งนองแผ่เป็นบริเวณกว้าง และเป็นระยะเวลาหลายเดือน ด้วยเหตุที่ในทุกปี จะมีตะกอนดินที่ถูกน้ำพัดพามาทับถม ทำให้ป่าบุ่งป่าทามเป็นแหล่งสะสมของธาตุอาหาร จนกลายเป็นถิ่นที่อยู่ของพืชพรรณป่าไม้ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยหากินและแพร่ขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด


(2) ทะเลสาบเขมร เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อในภาษาเขมรว่า "โตนเลสาป" (Tonle Sap) ตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของประเทศกัมพูชา มีพื้นที่ ประมาณ 7,500 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ประมาณ 7 เท่า) เกิดจากแม่น้ำโขง ซึ่งแม่น้ำโขงไหลผ่านมีความยาวถึง 500 กิโลเมตร และเป็นทะเลสาบที่มีปลาน้ำจืดชุกชุมมากแห่งหนึ่ง


(3) น้ำตกคอนพะเพ็ง หรือ เรียก อีกอย่างหนึ่งคือ  ตาดคอน เป็น น้ำตกลาวใต้ที่ใหญ่ที่สุดในเขตแม่น้ำโขงตอนล่าง มีความสวยงามและยิ่งใหญ่จนได้สมยานามว่าเป็น น้ำตกไนแองการ่า แห่งเอเซีย


(4) เขื่อนดอนสะฮองจะสร้างกั้นช่องฮูสะฮองของสี่พันดอน เมืองโขง แขวงจำปาสัก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวังโลมาอิระวดีประมาณ 1 ก.ม. ซึ่งเป็นจุดชมโลมาที่มีชื่อเสียงและนำเงินจากการท่องเที่ยวเข้าประเทศปีละประมาณ 8.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี พ.ศ.2548) เขื่อนดอนสะฮองมีกำลังการผลิต 240 เมกกะวัตต์ โดยบริษัทเมกกะเฟิร์สทคอเปอร์เรชั่น ของมาเลเชียได้ลงนามตกลงสร้างเขื่อนในเดือน มี.ค.2550 ที่ผ่านมา กับรัฐบาลลาว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net