Skip to main content
sharethis

วันนี้ (29 ก.ย.) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวในปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การเชื่อมประสาน...บูรณาการงานสร้างสุขภาวะ" ในการประชุมวิชาการสร้างสุขสบาย สบาย... กับเครือข่ายสุขภาพ โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ว่า


ปรากฏการณ์การวิจัยใหญ่สุดและสำคัญที่สุดคือ การวิจัยเพื่อพยายามตอบคำถามว่าชีวิตที่สมดุลและชีวิตที่ดีคืออะไร ซึ่งคำถามเหล่านี้หาคำตอบได้ด้วยการวิจัยวิถีชีวิตชาวบ้าน เพราะคำตอบจากการทำจริงในชีวิตประจำวันของชาวบ้านนั้นนอกจากจะสามารถเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายสมดุลที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แล้ว การเรียนรู้ที่ได้จากความจริงของการปฏิบัติยังดีกว่าการเรียนในหนังสือที่ไม่มีพลัง เพราะทำให้ทำไม่เป็น


"การเรียนรู้จากการกระทำเป็นการเรียนรู้ที่มีค่าสุด เพราะเป็นการปฏิวัติเงียบ (Silent revolution) ด้วยสันติวิธีและปัญญาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่ใช้ความรุนแรง การเรียนรู้เช่นนี้เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนคุณค่า เพราะไม่ได้ถามว่าจะทำอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุดตามแบบตะวันตกที่มักจะแก่งแย่งแข่งขัน สร้างความมั่งคั่งทางวัตถุนิยม ทุนนิยม จนนำมาสู่วิกฤตการณ์ต่างๆ แต่การวิจัยของชาวบ้านจะไม่ตั้งคำถามว่าทำอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด แต่ถามคำถามว่าจะมีชีวิตร่วมกันที่ดีได้อย่างไร เมื่อคำถามเปลี่ยนก็จะสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความสุข (Living together) เป็นการอยู่ร่วมกันกับมนุษย์และธรรมชาติที่เชื่อมโยงไปสู่สิ่งที่ดีงามได้"


ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า ถ้าตั้งคำถามถูกต้องก็จะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขสมดุลได้ ยิ่งถ้ามีการเรียนรู้ชื่นชมและสื่อสารกันในหมู่ผู้กระทำที่เป็นชาวบ้านด้วยแล้ว ก็จะปลดปล่อยพลังและศักยภาพของชาวบ้านออกมามากมายเพราะทำให้พวกเขาเห็นว่าตนเองก็สามารถทำได้ กลับมาเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเอง จากเดิมเคยถูกมายาคติกดทับว่าตนเองเป็นแค่คนชั้นต่ำที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่เท่ากับคนรวย ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้เป็นมายาคติทั้งสิ้น


"ในสัจจะที่สุด มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน ไม่แตกต่างกันแม้จะมีตำแหน่งหน้าที่การงานต่างกันก็ตาม มายาคติที่ไม่เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันทำให้ไม่เกิดระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรมพื้นฐานเช่นนี้จะกลายเป็นกลโกง เพราะประชาธิปไตยคือความเสมอภาคและภราดรภาพ ถ้าไม่มีศีลธรรมประชาธิปไตยก็เป็นแค่กลโกง สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาค ก็จะไม่เกิดภราดรภาพ ถ้าบางคนมีเงินแสนล้านกับอีกคนไม่มีเลย จะเกิดภราดรภาพได้อย่างไร"


ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า ประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ในรัฐสภา แต่อยู่ที่ประชาชนผู้มีจิตสำนึกประชาธิปไตย แล้วเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย มากกว่านั้นประชาธิปไตยต้องมาก่อนรัฐธรรมนูญ ทั้งสังคมจึงต้องเร่งวางกรอบการพัฒนาประชาธิปไตยที่มีความเสมอภาคและภราดรภาพเพราะจะเป็นตัวกำหนดองค์กรทางการเมืองให้ดำเนินบทบาทอยู่ในกรอบนี้ได้


ประชาธิปไตยเป็นของประชาชน ฉะนั้นประชาชนจำเป็นต้องปลดปล่อยตนเองจากมายาคติที่ไม่สำนึกในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะหากทำได้ก็จะนับเป็นสุขภาวะลึกล้ำที่สุด เมื่อปลดปล่อยแล้วก็จะมีความสุขในตัว เห็นคุณค่าตัวเองว่าสามารถทำอะไรดีๆ ได้


"การเคารพความรู้ในตำรา แต่ไม่เคารพความรู้ในตัวคนเป็นมายาคติ ความรู้ในตำรามาจากวิทยาศาสตร์ ขณะที่ความรู้ในตัวคนมาจากฐานวัฒนธรรมและประสบการณ์ ความรู้ทั้งสองด้านนี้สำคัญ แต่ปัจจุบันเรากลับไม่เคารพความรู้ในคน ทำให้ไม่ให้เกียรติกัน ในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผมได้เสนอให้ทำแผนที่มนุษย์ว่าใครเก่งอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทำกับข้าวเก่ง ทำนาเก่ง จักสานเก่ง ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเก่ง ท้ายสุดทุกคนจะเก่งและมีคุณค่าหมด เป็นเช่นนี้คนก็จะมีกำลังใจ เกิดพลังมหาศาลในสังคม เพราะการเคารพคนอื่นคือศีลธรรมขั้นพื้นฐานที่ทำให้เราสบายใจ เป็นการเปลี่ยนมุมมองใหม่ เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ไม่ให้คับแคบบีบคั้น ต้องเอาความรู้ในตัวคนเป็นฐาน ความรู้ในตำราเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่อย่างปัจจุบันที่เอาความรู้ในตำราเป็นฐาน"


ศ.นพ.ประเวศกล่าวต่อว่า ร่างกายมนุษย์คือความหลากหลายที่ทำงานร่วมกันเป็นเอกภาพมากสุด ชีวิตคือความเชื่อมโยง ชำแหละออกก็หมดชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับการพัฒนาในปัจจุบันก็จะพบว่าเหมือนการชำแหละโค การพัฒนาเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับเงินเท่านั้น การศึกษาก็ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิต ทั้งๆ ที่การพัฒนาคือความเชื่อมโยง


"ประเทศไทยมีกรมนั้นกรมนี้มากมาย แยกเป็นเรื่องๆ ผมเคยบรรยายครั้งหนึ่งที่มี พ.ต.ท.ทักษิณร่วมฟังอยู่ด้วยว่าต่อให้นายกฯ เร่งเครื่องอย่างไรรถก็ไม่ไป ต้องประกอบเครื่องเข้าหากัน เชื่อมโยงเข้าหากันก่อน และที่สำคัญต้องมีจิตใจกว้าง จะเอาแต่ประโยชน์ส่วนตนไม่ได้ เพราะการเห็นแต่เรื่องส่วนตัวเป็นการแยกส่วน การลดความเห็นแก่ตัวจะเพิ่มความเชื่อมโยง ชุมชนที่เกิดจากการรวมตัว ร่วมคิดร่วมทำเป็นการเห็นแก่ส่วนร่วม จะมีสุข เป็นการปฏิบัติธรรมในการทำงาน"


ศ.นพ.ประเวศกล่าวด้วยว่า การพัฒนาต้องบูรณาการเพราะการพัฒนาคือความเชื่อมโยง ดังนั้นต้องเอาพื้นที่ เช่น ตำบล หมู่บ้าน เป็นตัวตั้ง อย่าเอากรมเป็นตัวตั้ง เพราะการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งจะทำให้เชื่อมโยงได้ ต่างกับการใช้กรมเป็นตัวตั้ง เพราะเคยพยายามทำแล้วแต่ก็ล้มเหลว เช่น กองทุนยา และกองทุนสุขาภิบาล ขณะที่ถ้าใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง อย่างหนองกลางดง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีสภาผู้นำชุมชนที่เป็นการรวบรวมกลุ่มอาชีพของชาวบ้าน มีการรวมตัวระหว่างผู้นำทางการกับไม่เป็นทางการ รวมถึงยังมีสภาประชาชนที่ออกสำรวจข้อมูลหมู่บ้าน แล้วนำมาจัดทำแผนชุมชน ที่ชาวบ้านทั้งหมดร่วมกันทำ เป็นประชาธิปไตยชุมชนที่เกิดจากกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงที่ขับเคลื่อนได้จริง ผลที่ได้ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ความยากจนลดลง หนี้ลดลง สิ่งแวดล้อมก็ดีขั้น ขบวนการประชาธิปไตยชุมชน


"วิสัยทัศน์ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ แล้วก็เรียนรู้จากการกระทำ ทว่านักการเมืองมักไม่มีทั้งคู่ คือไม่มีทั้งวิชั่นและวิสัยทัศน์ และต้องพัฒนาจิตใจ ถ้าทำได้ก็จะเป็นสวรรค์บนดินเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สันติวิธีที่เป็นไปได้ในเมืองไทยโดยไม่เกิดความรุนแรง เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยร่มใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อการอยู่ร่วมกัน อันเป็นอารยะประชาธิปไตยที่เจริญเพราะเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้เหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง และไมโค่นล้มใคร เป็นการร่วมกันสร้างบ้านหลังใหญ่ ระบอบอารยะประชาธิปไตยที่ทุกคนร่วมกันสร้างและอยู่ด้วยกันอย่างผาสุก มีสันติวิธี มีศักดิ์ศรี สร้างโลกที่ดี ไม่เอาเปรียบกันดังโลกตะวันตกที่แก่งแย่งแข่งขันกันมาก"


ศ.นพ.ประเวศกล่าวทิ้งท้ายว่า คนไทยมีพื้นฐานจิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่แก่งแย่งชิงเช่นตะวันตก ดังนั้นคนไทยจำเป็นต้องหลุดจากมายาคติ แล้วกลับคืนมาสู่ความดีงามที่มีอยู่แล้วในสังคมไทยในตัวคนไทย เพาะเมล็ดพันธุ์นี้ให้เจริญงอกงามจนเจริญเติบโตปกคลุมร่มเย็น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net