Skip to main content
sharethis


ธวัชชัย ชำนาญ - พิชญ์ รัฐแฉล้ม รายงาน


 

บรรยากาศของวันนี้ (18 ก.ย.) เต็มไปด้วยบุคคลจากหลากหลายองค์กรต่างๆ ทั้งสื่อมวลชน กลุ่มเอ็นจีโอ ประชาชนคนธรรมดา ที่เข้ามาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นต่างของคนในสังคมปัจจุบันทำให้ห้องเรียนคนธรรมดามีสีสันขึ้นมากกว่าเดิม และพื้นที่ทางความคิดก็เริ่มขยายใหญ่มากขึ้น ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีต่อการออกมาแสดงและเปิดเวทีทางความคิดต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยมากขึ้น


สำหรับในวันนี้เวทีห้องเรียนคนธรรมดาเริ่มขึ้น เมื่อเวลา 16.00 . ณ (สถาบันวิจัยสังคม) ชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโดย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม ม.มหิดล สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิส่งเสริมสันติวิธี (Peaceway Foundation)


เริ่มงานด้วย เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการในวันนี้ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งที่สองต่อจากงานครั้งที่แล้ว ว่าสำหรับครั้งนี้เป็นเรื่อง "ประชาธิปไตย" และจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 2 อาทิตย์ ที่ทุกคนทราบกันดี ทำให้เกิดห้องเรียนคนธรรมดานี้ขึ้นเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยมีวิทยากรทั้งหมด 5 ท่าน ในการพูดคุยจุดประเด็นเรื่อง "ประชาธิปไตย" วิทยากรท่านแรกคือ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, เอกราช ซาบูร์, อัภยุทธิ์ จันทรพา, บารมี ชัยรัตน์ และประทับจิต นีละไพจิตร


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ได้เกริ่นสั้นๆ ในตอนต้นถึงระบบประชาธิปไตยว่า ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นแค่การสร้างสถาบันทางการเมือง ประชาธิปไตยต้องนำไปสู่การสร้างชุมชนที่ดี โดยตั้งคำถามว่า การเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นการสร้างชุมชนการเมืองที่ดีหรือเป็นการสร้างชุมชนการเมืองที่เลวลง ส่วนการเมืองแบบที่พันธมิตรฯ ใช้ก็ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มอื่นเลย เป็นการเมืองที่เอาผู้แทนจากที่ไหนไม่รู้เข้ามาสู่ระบบการเมืองซึ่งมันไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย


ต่อมาก็เป็นการเปิดประเด็นของ เอกราช ซาบูร์ ได้อธิบายถึงความหลากหลายของประชาธิปไตยในเอเชีย ว่าแต่ละคนแต่ละประเทศมีมุมมองในเรื่องประชาธิปไตยที่แตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิหลังทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องยากในการให้คำจำกัดความกับ ประชาธิปไตย แต่ไม่เป็นการยากที่ประชาชนจะพูดคุยกันถึงเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถที่จะแยกออกจากประชาชนได้


เอกราช ซาบูร์ กล่าวต่อว่าเมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตยกับบุคคลที่หลากหลายก็จะได้ความหมายที่ต่างกัน เช่นประชาธิปไตยของคนยากจน ก็อาจจะเป็นเรื่องของปัจจัย 4 หรือแม้กระทั่งประชาธิปไตยของชาวนาก็ต้องการโอกาส ค่าแรง ซึ่งจะเห็นได้ว่าบุคคลเหล่านี้มองประชาธิปไตยที่ต่างกัน และต้องการสิ่งที่พวกเขาพึงจะมี และถ้าเรามาดูในหลายๆ ประเทศจะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตยก็มีธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ประชาธิปไตยที่ป้อนด้วยขวดนม อย่างในอัฟกานิสถานและอิรักที่เคยปกครองแบบเผด็จการมาก่อนและในที่สุดสหรัฐก็ได้หยิบยื่นประชาธิปไตยเข้าไปให้ประชาชนในสองประเทศนั้น


ประชาธิปไตยในรูปแบบต่อมาก็คือ ประชาธิปไตยภายใต้รองเท้าบูตหรือภายใต้ระบบเผด็จการทหารหรือพวกนายทุนด้วยเช่นกัน ประเทศที่เห็นได้ชัดคือ บังคลาเทศมีการทำรัฐประหารและได้เชิญเจ้าหน้าที่ธนาคารการค้าโลกมาจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา ทุกอย่างถูกควบคุมโดยทหารซึ่งถ้ามีบุคคลที่มีความคิดต่างจากรัฐบาลก็จะถูกจับกุม ประชาธิปไตย ต่อมาคือประชาธิปไตยที่ให้โดยชนชั้นปกครอง สองตัวอย่างที่เป็นได้คือในคูเวต ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ผู้หญิงเพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งหรือประเทศภูฎานที่เพิ่งมีการเลือกตั้งและตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายมืดเช่นสิงคโปร์หรือมาเลเซียที่มีการจัดการกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีกฎหมายที่ไม่ได้เป็นมิตรกับคนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล


ประเทศที่มีการปกครองระบบประชาธิปไตยแต่มีเผด็จการทหารเข้ามาเป็นระยะจะทำให้ประชาธิปไตยพัฒนาค่อนข้างช้า อย่างในประเทศอินเดียที่ไม่เคยมีการทำรัฐประหาร การพัฒนาทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจจึงพัฒนาไปในทางที่ดี


กลับมาดูการเมืองในไทย การเมืองที่พันธมิตรฯ เสนออาจจะเป็นแนวคิดใหม่ๆ แต่ว่าวิธีการที่ใช้อาจจะไม่นำไปสู่ความร่วมมือได้ เนื่องจากพื้นที่ทางการเมืองไปปิดกั้นคนอื่นๆ การเมืองไทยในตอนนี้ได้เกิดการแบ่งแยกอย่างชัดเจน แม้กระทั่งตัวนักวิชาการเองที่นำเสนอมุมมองทางการเมืองออกไปเป็นมุมมองที่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ตลอด เช่น การมองรัฐบาลก็ไม่ได้มองจุดอ่อนของรัฐบาลอย่างแท้จริงและในส่วนพันธมิตรก็ไม่ได้มองจุดอ่อนของพันธมิตรเช่นกัน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้นักวิชาการมีอิสรภาพนำเสนอความคิดเห็นในตรงนี้ได้ ท้ายที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยมีความจำเป็นอย่างมากในสังคมไทยที่เราจะต้องพัฒนากลไกทางการเมืองให้มีส่วนร่วมเป็นระบบที่ประชาชนสามารถที่จะตรวจสอบได้และควบคุมนักการเมืองไม่ให้ใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ต้องใช้อำนาจในการเติมเต็มสิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง


ต่อมาเป็นการอธิบายของ อัภยุทธิ์ จันทรพา เป็นเอ็นจีโอ ซึ่งทำงานกับพี่น้องสลัม เปิดประเด็นแรกเมื่อพูดถึงประชาธิปไตยของพี่น้องในสลัมก็เป็นเรื่องลำบากของพวกเขาเช่นกัน แต่วิถีชีวิตวิถีปฏิบัติของพี่น้องสลัมก็เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย ทั้งนี้ อัภยุทธิ์ ได้เล่าจากประสบการณ์การเคลื่อนไหวพี่น้องในสลัมที่สะท้อนถึงความคิดประชาธิปไตย ว่าคนสลัมเข้าใจแนวคิดประชาธิปไตยในการเคลื่อนไหวเป็นลักษณะอย่างไร


ตัวอย่างแรก ในปี 2526 ซึ่งช่วงนั้นน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ หลังจากชาวบ้านน้ำท่วมก็มีการไล่รื้อสลัมของเขตบางอ้อ โดยใช้กำลังคอมมานโด ซึ่งเป็นการใช้ความรุนแรงมากจนเป็นปรากฏการณ์รอยด่างของการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิผู้อยู่อาศัยที่สำคัญที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ ชาวสลัมในเขตบางอ้อถูกไล่รื้อหมด หลังจากนั้นในต้นปี 2527 บริเวณถนนที่ตัดเชื่อมระหว่างคลองเตยกับศูนย์ประชุมสิริกิติ์ที่ไปทะลุสุขุมวิท ถนนรัชดาตรงนั้นก็ถูกคอมมอนโดไล่สลัมออกไป ทำให้ชุมชนกระจัดกระจาย ทำให้ชุมชนบุบแตกสลาย ทำให้ชาวสลัมรวมตัวขึ้น เพราะไม่รู้จะไปเรียกร้องอะไรกับใคร ในสมัยนั้นรัฐบาลและผู้ว่า กทม.ก็มาจากการแต่งตั้งซึ่งไม่ได้ฟังเสียงของคนยากคนจน


เหตุการณ์ที่ 2 ปี 2533-34 เป็นยุคของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และบรรหาร ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย มีการไล่ยุบสลัมแถวสุขุมวิท ตรงซอยอ่อนนุช ชื่อสลัมพร้อมใจ เกิดการต่อสู้และขับไล่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง ในการสลายการชุมนุมของตำรวจ แต่ว่าท้ายสุดชุมชนพร้อมใจมีพื้นที่ในการเจรจาได้  บรรหารต้องลงพื้นที่และเชิญเจ้าของพื้นที่มาเจรจา สุดท้ายก็ยุติการไล่รื้อและเปิดให้ชาวบ้านมีเวลาในการรื้อถอน และรัฐบาลก็ให้เงินแก่ชุมชน 250 ล้านบาท เพราะฉะนั้นสิ่งที่พี่น้องสลัมสรุปเหตุการณ์ในครั้งนั้น ก็มองว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งน่าจะดีกว่ามาจากการแต่งตั้งแน่ๆ นักการเมืองต้องฟังเสียงคนจนบ้าง สมัยเปรมรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งประชาชนไปเรียกร้องไม่มีการฟังเลย ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้บรรหารยังต้องลงพื้นที่ อาจจะเป็นเพราะการหาเสียงหรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ แต่ท้ายสุดแล้วเขาต้องฟังเสียงคนจนบ้าง


อีก 2 ปีถัดมาเกิด รสช. 2534 ชุมชนพี่น้อง อจก.ที่ชนบทภาคอีสานถูกไล่ในโครงการจัดสรรที่ทำกินให้กับประชาชนในภาคอีสาน แต่ทหารไปยึดบ้านชาวบ้าน คนสลัมในสมัยนั้นก็ได้พาพี่น้องไปเชื่อมโยงกับพี่น้องชนบท ก็ไปช่วยพี่น้องที่ อจก. และอจก.พี่น้องที่ปากช่องก็เริ่มเรียนรู้ คือเขามีประสบการณ์อยู่แล้วสมัยเปรม พอไปเจอเหตุการณ์ที่ชนบทก็เห็นเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเพราะฉะนั้น ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยพี่น้องในชนบทไม่น่าจะถูกขับไล่ออกจากป่า ถึงต้องมีศูนย์อพยพแห่งชาติในสมัยนั้น คนไทยต้องมาอยู่ในศูนย์อพยพเพราะถูกขับไล่ออกจากผืนป่า ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยไม่น่าจะมีการขับไล่ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารนั้นกล้าทำ


พี่น้องบางคนก็ได้ข้อสรุปว่า อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง น่าจะต้องเคารพสิทธิเสียงของคนยากคนจน ท้ายที่สุดเราก็เข้าร่วมกับองค์กรภาคประชาชนในสมัยนั้นต่อต้าน รสช. มีคนสลัม 300 กว่าคนเป็นแกนนำสลัมที่เข้าร่วมในเหตุการณ์ โดยเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2534 ที่อดข้าวกับนักศึกษา ที่มหาลับธรรมศาสตร์ มีผู้นำสลัมอดข้าว 2 คนนะครับที่ร่วมอดข้าวกับคณะนักศึกษาในชุดนั้น ถามว่าทำไมคนสลัมถึงต้องอดข้าว เพราะเขารู้สึกว่า รัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งมันน่าจะดีกว่าในแง่หลักประกันพื้นฐาน และมีโอกาสในการเรียกร้องได้ดีกว่า


เหตุการณ์ต่อมาประมาณปี 2538 รวมกับสมัชชาคนจน 99 วันชุมนุมในการเรียกร้องให้รัฐบาลชูนโยบาย ทะเบียนบ้านชั่วคราว ถามว่าการใช้สิทธิในการชุมนุมร่วมกับสมัชชาคนจนบ่งบอกความหมายอะไร ความหมายก็คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจไม่เพียงพอแล้วถ้าแค่การเลือก ส.. ใช่ไหมครับ ถ้าไม่ใช่ลงถนนไปเรียกร้องสิทธิอย่างเป็นรูปธรรมอาจจะไม่พอ งั้นก็ร่วมกับพี่น้องสมัชชาคนจนเรียกร้องรัฐบาลให้ออกทะเบียนบ้านชั่วคราว เพราะทะเบียนบ้านนั้นเป็นประตูเบิกทางไปสู่สิทธิทางด้านอื่น เด็กจะเรียนหนังสือในโรงเรียน กทม. ได้นั้นต้องมีทะเบียนบ้าน จะขอน้ำประปา ขอไฟฟ้า ก็ต้องมีทะเบียนบ้าน ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า เราเลือกตั้ง ส.. ไม่พอ บางเรื่อง ส.. อาจจะไม่สนใจ ถ้างั้นจะทำให้สนใจนั้นก็จะต้องแสดงพลังทางการเมืองด้วย


ถัดมาก็เป็นเรื่องของในสมัยผู้ว่าพิจิตร นี่ก็เป็นเหตุการณ์ใน กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง วันนั้นผู้ว่าพิจิตรก็ออกมาโฆษณาหาเสียงนะว่า เกี่ยวกับนโยบายการศึกษาฟรี บอกว่ามาตัวเปล่าเข้าเรียนได้เลย หมายถึงว่าเด็กนักเรียนมาตัวเปล่าก็จะเรียนหนังสือได้เลย จะมีสมุด เอกสาร กระเป๋า มีอุปกรณ์การเรียนให้ครบครัน แต่ปรากฏว่าเด็กในสลัมไปเรียนได้ครึ่งปีก็ได้ข้อสรุปว่ามาตัวเปล่ากลับบ้านได้เลย เพราะมันไม่ฟรีจริงอย่างที่ว่า งั้นทำให้พี่น้องในสลัมโดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้หญิง รวมตัวกันไปเรียกร้องกับผู้ว่าพิจิตรว่า ที่คุณหาเสียงไว้ ทำไมไม่ทำ พร้อมกับเอาหลักฐาน เอาใบเสร็จไปด้วย ซึ่งในตอนหาเสียงบอกว่าไม่ต้องจ่าย แต่ทางปฏิบัติกลับต้องจ่าย เอาไปโชว์จนผู้ว่าพิจิตรต้องเปิดการเจรจา และกล่าวว่าถ้าคุณไม่มานั้นผมก็จะสั่งราชการลำบากเพราะมันเป็นประเพณีของระบบราชการที่ครูจะไปเก็บอะไรต่างๆ แต่ยังไงก็ตามก็ต้องจำยอมที่ปรับนโยบายให้ไม่เก็บ อันนี้สิ่งที่พี่น้องกำลังเรียนรู้ก็เหมือนกันว่าบางเรื่องมันไม่ใช้แค่เลือกใครไปแล้วเขาหาเสียงดีแล้วมันจะโอเค มันต้องไปติดตามตรวจสอบด้วย


ซึ่งโดยหลักๆ แล้วการเคลื่อนไหวของคนสลัมมีการเชื่อมโยงกับประชาธิปไตย พวกเขาเคลื่อนไหวในรูปแบบประชาธิปไตย ซึ่งพวกเขาคิดว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีการกำกับและตรวจสอบจากภาคประชาชน และสุดท้ายแล้วคนจนมองประชาธิปไตยในแง่สิทธิมนุษยชน


ต่อด้วย ประทับจิต นีละไพจิตร นักศึกษาปริญญาเอก ม.มหิดล เล่าเรื่องของเพื่อนๆ สี่กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นชาวลาหู่เป็นชาวดอยที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว มีข่าวลือไกลจากกรุงเทพฯ ว่าคนชาวเขาเผ่าลาหู่ค้ายาเสพติด หลังจากนั้นไม่กี่วันที่ข่าวลือออกมาจากปากผู้นำคนหนึ่ง คนในหมู่บ้านกว่า 50 คนโดนกวาดจับเข้าไปในค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่รวมทั้งตัวเขาเองด้วย หลังจากถูกจับไปนั้น


ทหารบอกว่าให้แต่ละคนลุกขึ้นมาแล้วเตะตัวเขาคนละ 2 ทีใน 50 คนนั้นถ้าไม่เตะหรือเตะไม่แรงนั้น คนที่ไม่เตะหรือเตะไม่แรงนั้นจะโดนเตะซะเอง เขาโดนเพื่อนทั้ง 49 คนในหมู่บ้านของเขาเองเตะ โดยการบังคับของทหาร ในค่ายที่จังหวัดเชียงใหม่ ทหารทำอย่างนี้กับทุกๆ คน เขาโชคดีที่หลุดออกมาได้ แต่บางรายที่มีลูก มีพ่อมีแม่อยู่บ้าน ทั้งๆ ที่ยังไม่ตายโดนลากตัวไปโดยเพื่อน 49 คนนั้นทหารสั่งให้ฝังทั้งเป็นใกล้บ้าน  ในหลุมศพใกล้บ้านจนทุกวันนี้ไม่มีคนลาหู่คนไหนกล้าที่กล้าที่จะไปขุดหลุมตรงนั้น เพราะกลัวมีเรื่องกับทหาร ซึ่งในตอนนี้เขาก็พยายามที่จะตั้งสมาคมที่ชื่อว่าวัฒนธรรมชาวลาหู่ แต่ว่าทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชน เขายังคงทำงานต่อไปถึงแม้ว่าบางครั้งบางวันทหารเข้ามาข่มขู่ และบังคับขอใช้สำนักงาน คอมพิวเตอร์ ในสำนักงานของเขาโดยที่ตัวเขาเองเหมือนกับไม่ใช่เจ้าของ และยังมีการขู่บังคับอีกหลายอย่าง


เพื่อนกลุ่มที่ 2 เป็นเพื่อนรุ่นพี่ วันศุกร์ที่แล้ววันที่ 12 กันยายน ได้โทรไปชวน พี่กรอุมา พงษ์น้อย ที่อำเภอเมืองบ้านกรูด ประจวบคีรีขันธ์ พี่กรอุมา ตอบมาว่าไม่เอาไม่อยากคุยเรื่องการเมือง ไม่สนใจแล้วเพราะว่าเรื่องที่บ้านก็จะแย่อยู่แล้ว ล่าสุดที่ไปเจอเขา พี่กระรอกได้เล่าถึงสถานการณ์ที่บ้านเขาแล้วมันเป็นเหตุที่ทำให้เรารู้ว่าทำไมคนกรุงเทพฯ ทะเลาะกันในเรื่องไร้สาระ เพราะว่าเขาบอกว่าทุกวันนี้บริษัทสหวิทยาฯ เป็นบริษัทถลุงเหล็กที่นั่น ที่มีเรื่องขัดแย้งกัน คุกคามอย่างหนัก โดยเขาต้องปิดไฟทั้งๆ ที่อยู่ในบ้านของตัวเอง ต้องปิดไฟกินข้าว เพราะถ้าเมื่อไรก็ตามที่คนของบริษัทสหวิทยาผ่านมาเห็นว่ามีคนอยู่ในบ้านก็จะยิงลูกหินเข้ามาไปในบ้าน บางครั้งปามีดเข้าไปในบ้านหลบกันแทบไม่ทันทั้งๆ ที่อยู่ในบ้านตัวเอง และเขาก็เล่าให้ฟังว่าตำรวจยศใหญ่ขึ้นต้นด้วย "ภ" เกี่ยวข้องทั้งคดีทนายสมชายและคุณเจริญ วัดอักษร ยังคงอยู่ในพื้นที่นั้น และยังทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยมาโดยตลอด ทำหน้าที่เป็นนายหน้ากับบริษัทสหวิทยาในการให้ชาวบ้านประนีประนอม


ต่อไปเป็นเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้มีโอกาสได้รู้จัก รู้จักกันได้มา 2-3 ปีที่แล้ว ที่หมู่บ้านตากใบ ซึ่งอีกไม่กี่วันที่ 25 ตุลาคม นี้ก็จะเป็นวันครบรอบการสลายการชุมนุมที่หน้า สภอ.อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ชาวบ้านที่นั่นจนถึงวันนี้ก็ยังยืนยันอยู่ว่าไม่เคยมีใครตายเพราะถือศีลอด แต่ถ้าถือศีลอดและโดนโยนขึ้นไปบนรถและก็ทับกันอย่างนี้ก็ตายได้ไม่ต้องถือศีลอดหรอก เขาเล่าให้ฟังว่ารู้ไหมว่าชีวิตปีนี้เขาเป็นยังไง ความคืบหน้าก็คือว่าลูกสาวมีงานทำ ลูกชายมีงานทำเดือนละ 4,500 บาท เป็น อรบ. ชรบ. หรือเรียกว่าเป็นหน่วยกองทัพประชาชน นี่คือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น สุดท้ายชาวบ้านบอกว่าถ้าไม่ทำแบบนี้แล้วจะให้ทำยังไง ให้ลูกไปเป็นคนใช้ความรุนแรงยังดีเสียกว่าที่เราจะไม่มีกิน ตนเองแค่สงสัยว่าทำไมถึงทำกับเหยื่ออย่างนี้


ล่าสุดนี้เป็นเพื่อนเพราะว่าฟังข่าวเขาตลอด ก็คือผู้ที่เสียชีวิตวันที่ 2 กันยายน ระหว่าง นปช.กับพันธมิตรฯ ตีกัน ภายหลังจาการเสียชีวิต วันเดียวเท่านั้นญาติของเขามาที่กรุงเทพฯ และพี่สาวเขาให้สัมภาษณ์ ว่าผู้ตายเป็นพวกที่ชอบการชุมนุม เป็นคนที่ไม่ว่าใครไปชุมชุมที่ไหน ก็ไปชุมนุมเป็นพวกไทยมุง เหล่านี้ดิฉันคิดว่ามันเรื่องที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย ไม่ทราบว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่นั้นคือคำถามที่หนึ่ง


"แต่ที่ดิฉันเห็นว่าวันนี้ที่จะคุยก็คือว่าสำหรับดิฉันแล้วเห็นว่าในฐานะที่เป็นนักเรียน พยายามแล้วที่จะกลับไปหาหนังสือหนังหาว่าพอมีอะไรบ้างที่พอจะมาช่วยกันคิดหาทางออกได้ และถึงพบแล้วก็ยังไม่เข้ากับชีวิตของเพื่อนทั้ง 4 คนนี้และไม่สามารถที่จะตอบเพื่อนได้ว่ามันคืออะไร แต่ดิฉันเข้าใจว่าประชาธิปไตยมันเลยกว่าจุดที่จะพูดว่าเราจะอยู่ร่วมกันไหม เพราะจุดนั้นก็คือการมีรัฐ ซึ่งพอมีรัฐแล้วปัญหานั้นก็กลืนไป แต่ประเด็นก็คือว่าจะอยู่กันยังไง ดิฉันเข้าใจว่าประชาธิปไตยก็คือเพื่อจะบอกว่าเราจะอยู่กันยังไง มันพูดถึงความสัมพันธ์ 1. คือระดับรัฐกับประชาชน และ 2.ระหว่างประชาชนกับประชาชน คราวนี้อยากตั้งข้อสังเกตสำหรับ 4 กรณีที่พูดขึ้น ดิฉันเห็นว่าอย่างหนึ่งที่ทำให้ทุกกรณีเกี่ยวกันก็คือ ความเกลียดชัง"


นอกจากนี้แล้ว ถ้าสังคมเป็นประชาธิปไตย ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่สังคมการเมือง จะทำให้ความเกลียดชัง ไม่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน มีงานวิจัยในรวันดา พบว่า ความเกลียดชังระหว่างคนธรรมดานั้นไม่ใช่สาเหตุให้เกิดการฆ่ากัน แต่มาจากการสร้างบรรยากาศของความเป็นศัตรูและความเกลียดชังขึ้น ทำอย่างไรที่จะควบคุมการเถียง ด่า ที่ไม่ให้รู้สึกว่า ต้องมีอาวุธติดตัว ออกมาฆ่าเพื่อนบ้าน ซึ่งถ้าประชาธิปไตยมีพื้นฐานของความมีเหตุผลแล้ว ต้องตอบประเด็นเหล่านี้ได้


ต่อมาเป็นประเด็นของ บารมี ชัยรัตน์ ซึ่งทำงานร่วมกับสมัชชาคนจน ได้พูดถึงการทำงานกับสมัชชาคนจน ถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่าเป็นความขัดแย้งของชนชั้นปกครองไม่ได้ประโยชน์อะไรกับคนจนโดยตรง เป็นความขัดแย้งในการแย่งมวลชนเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเพื่อที่จะมากดขี่คนจนอีกครั้งหนึ่ง คนจนเสนอว่า ควรปฏิรูปการเมืองใหม่เพราะว่าสิ่งที่มีอยู่ในขณะนี้ถึงแม้จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแต่ก็เป็นประชาธิปไตยของชนชั้นปกครอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 40หรือ 50 ก็ดีนั้น มันแก้ที่รูปแบบไม่ได้แก้ที่เนื้อหา


เขาเล่าว่า ในปี 2538 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรรายย่อยและสมัชชาคนจนเสนอว่าประชาธิปไตยต้องเป็นประชาธิปไตยที่กินได้การเมืองก็ต้องเป็นการเมืองที่เห็นประโยชน์ของคนจน สมัชชาคนจนเชื่อว่าประชาธิปไตยที่กินได้นั้นหมายถึงทุกคนมีสิทธิ์มีส่วนร่วม ส่วนในเรื่องกฎหมายนั้นกฎหมายมันทำร้ายประชาชน กฏหมายเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองในการตีกรอบให้คนในรัฐนั้นต้องยินยอมสยบอยู่ภายใต้กฏหมายนั้นและอ้างว่านี่คือนิติรัฐนี่คือประชาธิปไตย


คนจนเห็นว่านี้คือไม่ใช่ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยคือการที่คนมีสิทธิ์มีเสียงข้างมากดูแลคนที่มีเสียงน้อย ดูแลคนที่ด้อยโอกาส คุณค่าของประชาธิปไตยไม่ใช่ทำให้ทุกคนเท่ากันหมด แต่ทำให้ทุกคนในสังคมมีชีวิตอยู่ร่วมกันแบบได้รับการยอมรับ ไม่ใช่คนแบบเจ้าสัวซีพีเข้าทำเนียบไปมีคนเปิดประตูรับ ส่วนคนจนต้องมาสักสองหมื่นคนและยึดทำเนียบฝ่าแก๊สน้ำตาถึงจะมีใครสักคนยอมลงมาคุยด้วย ซึ่งนี่ไม่ใช่ความเท่าเทียมและไม่ใช่ประชาธิปไตย


การเมืองที่สมัชชาคนจนเสนอคือการเมืองที่เขามีส่วนร่วมมีอำนาจในการตัดสินใจว่า ถ้าหากคุณไปทำอะไรคุณต้องฟังเขาบ้าง ถ้าเกิดเขาไม่เห็นด้วยก็ต้องรับฟังเขาอย่างชัดเจนว่าทำไมเขาไม่เห็นด้วย ถ้าการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นสิ่งหนึ่งที่ควรต้องทำคือลดอำนาจรัฐสร้างอำนาจประชาชน


ช่วงแลกเปลี่ยนและเสนอความคิดเห็น


ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ตั้งคำถามไว้ว่าประชาธิปไตยที่ฝ่ายปกครองหยิบยื่นให้เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่าและเป็นประชาธิปไตยแบบใด


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้บรรยากาศทางการเมืองที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ ภาพของความขัดแย้งใหญ่ๆ อยู่ 2ฝ่ายทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพันธมิตร ซึ่งประเด็นหนึ่งที่เราต้องพูดกันมากขึ้นในความเป็นประชาชนที่มีความคิดทางการเมืองเองได้ ก็คือการเผชิญหน้าของทั้ง 2 ฝ่ายในระยะเวลา 3 ปีนี้ ประชาชนของฝ่ายพันธมิตรและรัฐบาลไม่สามารถที่จะเข้าไปกำหนดวาระทางการเมืองได้เลย พื้นที่ของประชาชนคนธรรมดาไม่มีอยู่เลยในทางการเมือง


ปูม มาลากุล อาจารย์คณะสาธารณสุข ม.มหิดล ได้เสนอแนวคิดว่า ประชาชนที่มาเข้าร่วมกับพันธมิตรฯพวกเขาคงทนไม่ได้กับการเมืองเก่า เริ่มจากคนเมืองและมีฐานะระดับหนึ่ง และไม่ได้เริ่มกลุ่มชนชั้นนำ อาจมีกลุ่มนำบ้างที่พยายามสื่อสารผ่านสาธารณะว่ามีข้อเสียอะไรบ้าง แต่จุดอ่อนของพันธมิตรฯ ก็มีอยู่บ้างในระยะแรกที่มองปัญหาไม่ทะลุ แต่ตอนนี้เขามองทะลุแล้ว ว่าต้องมี "การเมืองใหม่" เพราะเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็กลัวว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกคนผิด ถ้าไล่รัฐบาลไปแล้ว ก็กลัวจะถูกเลือกกลับมาอีก ระบบการเมืองเก่าจึงเป็นต้นเหตุรากเหง้าของปัญหา ทั้งนี้ พันธมิตรฯ ไม่ได้ผูกขาดเรื่องการเมืองใหม่ แต่ได้พยายามเสนอว่าตอนนี้น่าจะมีการปฎิรูปการเมือง 70/30 นั้นเป็นตุ๊กตา สังคมต้องคุยกัน ส่วนคำว่าประชาธิปไตย ในความคิดของตนเองก็คือการปกครองการใช้อำนาจรัฐโดยประชาชน


บ้านเมืองเราไม่ได้มีอยู่เฉพาะคนจนหรือคนรวย เราอยู่ด้วยกันและที่สำคัญ เราอยู่บนเรือลำเดียวกันด้วย ถ้าเราสามารถที่จะลดอำนาจรัฐให้น้อยที่สุดๆ เช่นไม่เก็บภาษีทุกคนรับผิดชอบกันเอง รัฐไม่มีเลย เราอยู่อย่างนั้นได้ แต่ถ้าเราอยู่ในฐานะที่รัฐมีอำนาจมาก รัฐมีการเก็บภาษีที่สูง รัฐมีอำนาจสูงในการจัดการทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นที่ดิน น้ำ มันแยกไม่ได้ ถ้าอีกคนตัดสินใจไม่ดี จะทำให้เขาจมน้ำตายกับเรือไปด้วย เคยได้ยินว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ประชาธิปไตยคือระบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุดและเสี่ยงน้อยที่สุด หรือแม้กระทั่งเผด็จการเราไม่อาจจะบอกได้ว่าเผด็จการดี ประชาธิปไตยไม่ดี เราไม่สามารถบอกได้อย่างนั้น อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าเนื่องจากเราอยู่ด้วยกันเป็นสังคมทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหมดแต่ ถ้าใครตัดสินใจไม่ดีคนอื่นก็จะตายกันหมดไม่ใช่เฉพาะคนที่ตัดสินใจในตรงนั้น


สมบัติ บุญงามอนงค์ เสนอว่าประชาธิปไตยต้องเริ่มจากอำนาจสูงสุดเกิดจากราษฎร์ทั้งหลายก่อนเปรียบเสมือนเลขฐานสองในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเราจะต้องเริ่มจากรากฐานของมันก่อน ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นแค่การที่ประชาชนได้รับผลประโยชน์ แต่เขามีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของประชาธิปไตย


วิกฤตศรัทธาต่อประชาธิปไตยที่พันธมิตรฯ พูดและโดนใจเขาคือ ระบบการเมืองห่วย แต่ที่บอกว่าวิกฤตนั้นไม่รู้ว่าพูดกันจนมันวิกฤตและพร้อมจะทำลายมันหรือไม่ เมื่อปี 2535 ที่มีการรณรงค์อย่างหนักไม่เอาพรรคมาร เราไม่ใช้กันแล้วหรือ กลับรณรงค์หารัฐประหาร นี่คือวิกฤตศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครมีสิทธิบอกว่าต้องมีการเมืองใหม่ คนที่มีสิทธิคือมหาชน ไม่ใช่บุคคลที่ฉลาดหรือมีคุณธรรมสูง


สุลักษณ์ หลำอุบล นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เสนอว่าแง่คิดของอาจารย์มหิดลกล่าวไว้ว่ารัฐควรมีอำนาจให้น้อยลง การไม่เก็บภาษี ซึ่งการลดอำนาจรัฐไม่ใช่เป็นการที่รัฐไม่เข้ามาทำอะไรให้กับประชาชนเลย ถ้าเป็นลักษณะแบบนั้น อาจจะทำให้เกิดภาวะไร้รัฐเป็นภาวะอนาธิปัตย์หรือเปล่า


…โปรดติดตามห้องเรียนคนธรรมดาครั้งที่ 3 วิชา "ภาคประชาชน" เร็วๆ นี้


 


เกี่ยวข้อง
เก็บความมาเล่าจากห้องเรียน "คนธรรมดา" วิชา "ความรุนแรง 101" 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net