Skip to main content
sharethis

ฝ่ายแผนงานและการวิจัย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ อมธ. โพล ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คิดอย่างไรกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ"  โดยเก็บข้อมูลจากนักศึกษาระดับปริญญาตรี มธ.ศูนย์รังสิต จำนวน 800 คน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยผลการสำรวจสรุปว่า "อารยะขัดขืน" ของกลุ่มพันธมิตรมีความชอบธรรม ร้อยละ 23.4 ไม่มีความชอบธรรม ร้อยละ 33.0 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 43.7


 


ขณะที่การใช้กำลังบุกยึดสถานที่ราชการ นักศึกษาไม่เห็นด้วยที่บุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ร้อยละ 68.7 ไม่เห็นด้วยที่บุกยึดทำเนียบรัฐบาล ร้อยละ 60.7 และที่อื่นๆ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ ร้อยละ 35.9 ส่วนการที่รัฐบาลใช้กำลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมนั้น นักศึกษาเห็นด้วยในการล้อมจับร้อยละ 59.1 และไม่เห็นด้วยที่จะมีการล้อมปราบร้อยละ 70.2 สำหรับทิศทางการแก้ไขปัญหาการเมืองไทยในอนาคต นักศึกษาเห็นด้วยให้มีการเปิดการเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 85.5 และปรับเปลี่ยนรัฐบาล ร้อยละ 57.5 โดยวิธีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลนั้นให้นายกรัฐมนตรีลาออก มีร้อยละ 29.5 ยุบสภา ร้อยละ 29.4 และปฏิรูปการเมืองโดยใช้แนวคิดสัดส่วน 70 : 30 ของกลุ่มพันธมิตร ร้อยละ 13.2


 


 


อมธ.ออกแถลงการณ์ต้านรัฐประหาร
เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นำโดย น.ส.ณัชฎา คงศรี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้ออกแถลงการณ์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ระบุว่า เครือข่ายมีความเห็นเป็นห่วงต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงได้รวมตัวกันเพื่อแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องต่อการคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองในอนาคตในทิศทางดังต่อไปนี้ 1.รัฐบาลจะต้องรับฟังประชาชนในการทำงานให้มากกว่าที่เป็นอยู่ 2.รัฐบาลต้องเปิดพื้นที่ให้แก่ประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องทางการเมืองให้มากขึ้น 3.ระบบการเมืองแบบเลือกตั้งจะต้องดำรงอยู่ต่อไป 4.เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาฯ ไม่เห็นด้วยกับการคลี่คลายสถานการณ์โดยใช้วิธีการรัฐประหาร และหากมีการกระทำการดังกล่าวขึ้น เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาฯพร้อมที่จะเคลื่อนไหวและต่อต้านภายใต้กรอบของกฎหมาย


 


ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาฯขอแสดงจุดยืนที่จะไม่เลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเห็นความสำคัญของการมีความเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน, กรอบของกฏหมาย, ระบบการเลือกตั้ง, ประชาธิปไตย, และการปฏิรูปสังคมการเมือง และจะร่วมกันแสดงความคิดเห็นในฐานะนิสิตนักศึกษา เพื่อผลักดันประเด็นเหล่านี้ให้ยกระดับ มีความสำคัญ และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอันไพบูลย์ต่อไปในอนาคต


 


แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน


เนื่องด้วยสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ที่เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่น่ากังวลว่าจะก่อให้เกิดความรุนแรงในระดับสูง และส่งผลต่อความเป็นไปของบ้านเมืองและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในฐานะของนิสิตนักศึกษามีความ เห็นเป็นห่วงต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงได้รวมตัวกันเพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้


1.        พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองมีสิทธิ ที่จะทำการชุมนุมที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย คือการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการพูด การแสดงความคิดเห็นและการเสนอข้อเรียกร้อง โดยไม่ทำการบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการและสถานที่สำคัญด้วยข้ออ้างเพียงว่า เป็นเจ้าของประเทศและแผ่นดินร่วมกัน เพราะทุกคน กล่าวคือ  ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรก็เป็นเจ้าของแผ่นดินนี้เช่นเดียว กัน อีกทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังไม่สามารถที่จะทำให้ความเห็นของตนเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ของ ประเทศได้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่จะทำการอุกอาจในการชุมนุมเช่นที่ผ่านมา


2.        รัฐบาลจะต้องไม่ลดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชนลง รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีพื้นที่ที่ประชาชนสามารถพูดและแสดงออกซึ่ง ความคิดเห็นทางการเมืองได้โดยไม่ปิดพื้นที่นั้นลงไป และเมื่อภาคประชาชนฝ่ายใดก็ตามทำเกินขอบเขตที่เหมาะสม รัฐบาลจะต้องไม่ใช้กำลังในการสลายการชุมนุมอย่างอุกอาจทันทีเช่นเดียวกับที่ ทำเมื่อวันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม 2551 แต่ต้องพยายามทุกวิถีทางด้วยความอดทนอดกลั้นในการผลักดันให้ผู้ชุมนุมกลับไป อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมดังเดิม ไม่ว่าจะด้วยการเจรจาพูดคุย หรือการป้องกันพื้นที่สำคัญของการชุมนุมเอาไว้โดยไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง


ทั้งนี้ การเมืองไทยจะสามารถคลี่คลายออกไปไม่ได้ หากทุกคนทุกฝ่ายในสังคมยังคงกระทำเช่นที่ผ่านมา  เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจึงมีความคิดเห็นต่อการคลี่คลาย สถานการณ์บ้านเมืองในอนาคตในทิศทางดังต่อไปนี้


1.        รัฐบาลจะต้องรับฟังประชาชนในการทำงานให้มากกว่าที่เป็นอยู่ จะต้องไม่ผ่านเพียงกลไกการบริหารและนิติบัญญัติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น รัฐบาลจะต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าตนเองเป็นผู้ที่ประชาชนเลือกให้เข้ามาทำงาน ตามที่ประชาชนเห็นชอบ ไม่ใช่ตามที่รัฐบาลเห็นชอบอย่างเดียว การเลือกพรรคการเมืองขึ้นมาเป็นรัฐบาล ไม่ได้หมายถึงว่าประชาชนเห็นชอบกับทุกสิ่งที่พรรคการเมืองรัฐบาลทำเสมอไป


2.        รัฐบาลจะต้องเปิดพื้นที่ให้แก่ประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้อง ทางการเมืองให้มากขึ้น การกระทำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ผ่านมาไม่ใช่เหตุผลและข้อ อ้างที่รัฐบาลจะปิดพื้นที่ของการเมืองภาคประชาชนได้ การเมืองภาคประชาชนจำเป็นจะต้องมีต่อไปภายในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์เป็นประมุข


3.        ระบบการเมืองแบบเลือกตั้งจะต้องดำรงอยู่ต่อไป เพราะเป็นวิถีทางเดียวที่ประชาชนจะลงเสียงรับรองให้ความชอบธรรมแก่ผู้ที่จะ เข้ามาทำงานได้ การซื้อสิทธิขายเสียงและการโกงการเลือกตั้งไม่ใช่เหตุผลและข้ออ้างที่จะทำ การล้มระบบเลือกตั้งลงไปแล้วใช้ระบบแต่งตั้งเข้าแทนที่ หากภาคประชาชนต้องการป้องกันไม่ให้การซื้อเสียงเกิดขึ้น หรือต้องการที่จะให้เกิดแนวนโยบายในทางที่ตนต้องการ ภาคประชาชนควรจะลงไปให้การศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ อย่างใกล้ชิดและมีความอดทน หรือไม่เช่นนั้นก็เข้าสู่การช่วงชิงอำนาจรัฐผ่านการให้การรับรองความชอบธรรม โดยประชาชน คือผ่านการเลือกตั้ง นำแนวนโยบายลงไปหาเสียงโฆษณาให้การศึกษาให้ประชาชนมาเห็นด้วย หากประชาชนเห็นด้วยประชาชนจะเลือกนโยบายและผู้สมัครของภาคประชาชนเอง ไม่ใช่การใช้เสียงของตนเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจประชาชนส่วนใหญ่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่  มิเช่นนั้นก็จะไม่ต่างกับรัฐบาล


4.        เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับการคลี่คลายสถานการณ์โดยใช้วิธีการรัฐประหารและหากมีการกระทำ การดังกล่าวขึ้น เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยพร้อมที่จะเคลื่อนไหวและต่อต้าน ภายใต้กรอบของกฎหมาย


ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยขอแสดงจุดยืนที่จะไม่เลือกข้าง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเห็นความสำคัญของการมีความเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน, กรอบของกฎหมาย, ระบบการเลือกตั้ง, ประชาธิปไตย, และการปฏิรูปสังคมการเมือง และจะร่วมกันแสดงความคิดเห็นในฐานะนิสิตนักศึกษา เพื่อผลักดันประเด็นเหล่านี้ให้ยกระดับ มีความสำคัญ และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอันไพบูลย์ต่อไปใน อนาคต 


ด้วยความสมานฉันท์


เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย


(องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,สภานัก ศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม,องค์การนัก ศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น,องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตน โกสินทร์,องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา,องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร,สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเกริก,สโมสรนัก ศึกษามหาวิทยาลัยสยาม,องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต,องค์การนัก ศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา,องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ อุบลราชธานี,องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย,องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ,องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กรุงเทพ,องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net