Skip to main content
sharethis


ปราโมทย์  ผลภิญโญ 


เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย


 


 







บทความขนาดยาวหลายตอนจบที่จะบอกเล่าปัญหาของพี่น้องเกษตรกร อันเนื่องมาจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม โดยมีรูปธรรมทางออกคือการปฏิรูปที่ดินเป็นเป้าหมายสำคัญ ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยเกิดจากการตื่นตัวและมีส่วนร่วมขององค์กรชาวบ้านที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งแม้ว่ารูปแบบอาจดูใกล้เคียงกับข้อเสนอเรื่องการเมืองใหม่ แต่เนื้อหาและกระบวนการในการต่อสู้ให้ได้มามีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรโปรดติดตาม


 


 


 


ปัญหาและสาเหตุของความขัดแย้งเรื่องที่ดิน


มูลเหตุความขัดแย้งในการจัดการที่ดินสามารถวิเคราะห์ปัญหาได้จากปัจจัยสำคัญ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งเกิดจากการขาดความยุติธรรมในการกระจายผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของคนในสังคม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์โครงสร้างการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก ทั้งนี้ ปัญหาการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับแรกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง


 


การกระจายผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ หมายถึง ระบบการจัดสรรผลประโยชน์จากสินค้าและบริการต่างๆ ที่สังคมได้ผลิตขึ้นมา รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรของสังคมนั้นๆ ด้วย การขาดความเสมอภาคในการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนในสังคม จึงเป็นต้นเหตุของความแตกต่างในฐานะความเป็นอยู่ หรือช่องว่างของคนในสังคม โดยทั่วไปโครงสร้างการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ กลไกทางด้านเศรษฐกิจ และกลไกทางการเมือง


 


1) กลไกทางด้านเศรษฐกิจ  สินค้าและบริการต่างๆ ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อการซื้อขาย แลกเปลี่ยนกันในสังคมนั้นจะถูกแจกจ่ายหรือกระจายแก่ประชาชนโดยอาศัยกลไกทางด้านเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือสำคัญ ทั้งนี้ จะต้องวัดจากรายได้ของคนในสังคม ผู้มีรายได้มากย่อมเข้าถึงสินค้าและบริการมากกว่าคนมีรายได้น้อย ดังนั้น ถ้าหากเราต้องการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือสร้างความเป็นธรรมทางสังคมแล้ว เราจะต้องทำการกระจายรายได้ของสังคมแก่ประชาชนทุกคนอย่างยุติธรรม โดยการกระจายรายได้ สามารถทำโดยวิธีการจัดเก็บภาษีอากร และการใช้จ่ายของรัฐบาลเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ ซึ่งวิธีการกระจายรายได้ที่ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับการจัดสรรรากฐานในการก่อให้เกิดรายได้ให้ประชาชนแต่ละคนอย่างมีความยุติธรรม ได้แก่ การกระจายความเป็นเจ้าของในปัจจัยการผลิต และการกำหนดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่ปัจจัยการผลิต อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงในปัจจุบันได้บอกเราอย่างชัดแจ้งแล้วว่า ในสังคมทุนนิยม นายทุน ผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตจำนวนมาก ได้เข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการทางการเมือง การจัดการรายได้ของสังคม ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวข้างต้น


 


2) กลไกทางการเมือง  กลไกทางการเมืองถือเป็นเครื่องมือสำคัญอีกส่วนหนึ่ง  ที่มีผลกระทบต่อการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนในสังคม เนื่องจากการบริหารจัดการทางการเมือง ย่อมส่งผลต่อความเป็นไปทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ หากผู้กุมอำนาจทางการเมืองเป็นเพียงคนชั้นนำเพียงหยิบมือเดียว ก็ย่อมจะกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ชนชั้นของตนเองเท่านั้น


 


ปัญหาเรื่องความยากจน และความเดือดร้อนของเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด และมีแนวโน้มจะเกิดวิกฤตขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ในช่วงระยะที่ผ่านมาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งปวง ไม่ได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าในบางกรณีเท่านั้น ทั้งนี้ จะเห็นว่าต้นเหตุของความขัดแย้งดังกล่าว เกิดจากการที่ชาวนาหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนส่วนน้อยในสังคม ดังจะเห็นได้จากในช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การต่อสู้ของชาวนา ชาวไร่ มีข้อเรียกร้องสำคัญคือ การกระจายสิทธิในการถือครองที่ดิน ซึ่งได้แก่ การปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นการกระทำหรือตัดสินใจทางการเมือง เพื่อหวังผลประโยชน์ในการรักษาหรือช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเป็นสำคัญ


 


อย่างที่กล่าวแล้วว่า ความไม่พอใจ หรือความเดือดร้อนที่ชาวนาได้รับนั้น สืบเนื่องมาจากความยากจน และการเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเรียกร้องความเป็นธรรมและเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ดีกว่า มูลเหตุข้างต้นจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งมีประเด็นพิจารณาดังต่อไปนี้


 


1) ความยากจนและความอยุติธรรมในสังคม  ในชีวิตสังคมแบบทุนนิยม ชาวนา ชาวไร่มักจะตกเป็นเบี้ยล่างให้คนอื่นดูถูกและเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ หากพิจารณาในด้านเศรษฐกิจ การที่ครอบครัวหนึ่งๆมีรายได้น้อยหรือยากจนนั้น การออมและการลงทุนของเขาก็จะมีน้อยหรือไม่มีเลย เพราะรายได้ส่วนใหญ่ที่ได้มาจะใช้จ่ายหมดในการบริโภคของครอบครัว เมื่อขาดการลงทุนปรับปรุงผลผลิต กำลังความสามารถในการผลิต หรือประสิทธิภาพในการผลิตย่อมลดลง ซึ่งเป็นเหตุต่อเนื่องให้รายได้น้อยลง และหากสังคมนั้นเต็มไปด้วยการแข่งขัน คนยากคนจนก็จะเสียเปรียบในการแข่งขัน ในที่สุดจะถูกทำลายและเป็นผู้รับใช้ของผู้ที่มีกำลังทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า ดังจะเห็นได้จากชาวนาที่ยากจนมักจะสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตน เปลี่ยนฐานะจากการเป็นเจ้าของที่ดิน กลายเป็นผู้เช่าที่ หรือเป็นกรรมกรรับจ้างนายทุนในที่สุด


 


2) ความไม่ยุติธรรมทางเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการผลิตโดยรวมของสังคมแล้ว คนร่ำรวยสามารถช่วงชิงส่วนเกินของสังคมได้มากกว่าคนอื่น จึงทำให้เขาเหล่านั้นได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่ากำลังความสามารถที่เขาผลิตขึ้นมา ตรงกันข้ามชนชั้นที่ยากจน นอกจากจะมีความสามารถในการผลิตต่ำแล้ว ยังมีผลสืบเนื่องโดยตรงกับการเอารัดเอาเปรียบของชนส่วนน้อย  การถูกเอารัดเอาเปรียบของชาวนานั้น สามารถพิจารณาได้จากลักษณะการถือครองที่ดินในประเทศนั้นๆ ทั้งนี้ ที่ดินถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสังคมเกษตรกรรม การถือครองที่ดินเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถานภาพของบุคคล คนที่มีที่ดินมากย่อมมีอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการเมืองมากด้วย ดังนั้น ผู้ที่ร่ำรวยและมีอำนาจจะแสวงหาที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน ชาวนาก็จะสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปเรื่อยๆเช่นกัน 


 


ความไม่พอใจและความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นขัดสนของชาวนา จะเป็นปัจจัยสำคัญในการลุกขึ้นสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของชาวนาจะต้องอาศัยการสนับสนุนจากภายนอก เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านความรู้ และประสบการณ์ ทั้งบรรดานักวิชาการนักเคลื่อนไหวทางสังคม และนักพัฒนา เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อยกระดับทั้งในด้านทักษะการต่อสู้ การจัดตั้งองค์กรชาวนา ทฤษฎีและอุดมการณ์ทางสังคมให้เกิดความชัดเจน เป็นเอกภาพต่อไป


 


 


 


โปรดติดตามตอนที่ 2 เร็วๆ นี้


 


 


 


 


หมายเหตุ ข่าวความเคลื่อนไหวในช่วงปี พ.ศ. 2551 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานได้มีการปรึกษาหารือ เพื่อพัฒนาแนวทางนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์การทำงานของเครือข่ายให้มีความเป็นจริงมากขึ้น โดยจัดระบบการทำงานเป็น 9 โซน มีคณะประสานงานเครือข่ายเป็นกลไกหลักในการผลักดัน และสนับสนุนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายหลักคือ การพัฒนารูปธรรมการปฏิรูปที่ดินภาคประชาชนให้ปรากฏเป็นจริงในพื้นที่ต่างๆของเครือข่าย ทั้งนี้ พวกเราได้ให้นิยาม ความหมายการปฏิรูปที่ดิน คือ การปฏิรูประบบการถือครองที่ดินและระบบการผลิตที่เป็นธรรมและยั่งยืนโดยประชาชน  ซึ่งจะมีนัยยะรวมไปถึงการจัดการที่ดินอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม การสร้างความเสมอภาคทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งกล่าวให้ถึงที่สุดคือ การสร้างความเป็นธรรมทางสังคมนั่นเอง


 


ในด้านความเคลื่อนไหวของประชาชนพื้นที่ต่างๆ มีมากมายหลากหลาย ทั้งการติดตามปัญหาให้เกิดความคืบหน้าไป เช่น พี่น้องเลยร่วมติดตามปัญหากับผู้ว่าราชการจังหวัด พี่น้องชัยภูมิ ยื่นหนังสือต่อรัฐบาล กรณีปัญหาที่ดินทั้งหมดที่ไม่มีความคืบหน้า พี่น้องเพชรบูรณ์ร่วมกันรังวัดพื้นที่ และจัดกิจกรรมรณรงค์วันคืนกล้วยไม้สู่ป่า โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าร่วมกิจกรรมด้วย พี่น้องภูผาเหล็กรังวัดจำแนกพื้นที่ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่มีปัญหาบางส่วนในเขตบ้านภูตะคาม อำเภอส่องดาว สกลนครที่เจ้าหน้าที่อ้างว่ามีแหล่งโบราณวัตถุ ทำให้ยังคงทับซ้อนกับที่ดินของพี่น้องอยู่ พี่น้องร้อยเอ็ด ช่วงนี้เน้นการจัดตั้งทางเศรษฐกิจ ทำนารวมไปแล้ว 56 ไร่ ปีหน้าส่งขายให้พี่น้องชุมชนแออัดได้อย่างแน่นอน ส่วนทางโซนบุรีรัมย์ เตรียมการสำหรับการปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ภายหลังหมดอายุสัญญาเช่า ล่าสุดพวกเราได้มีการประชุมกันที่ร้อยเอ็ด เพื่อร่วมแลกเปลี่ยน ติดตาม วางแผนงานในระยะปี พ.ศ. 2551 ซึ่งมีพี่น้องจากกรุงเทพฯเข้าร่วม นับว่าเป็นเวทีที่ได้สาระความรู้ตามสมควร


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net