Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม : ศิลปะมลายูที่กำลังจะถูกทำลายภายใต้ไฟสงคราม ตอนที่ 1


 


อภิศักดิ์  สุขเกษม


กรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)


 


สถานการณ์ไฟใต้ที่ยังคงโหมพัดกระพืออย่างไม่หยุดยั้งในรอบสี่ห้าปีที่ผ่านมา และยังไม่มีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ ได้สร้างคำถามและข้อท้าทายขึ้นมากมายให้กับฝ่ายความมั่นคง ว่าเมื่อไหร่สถานการณ์ไฟใต้จะสงบ..............????


 


หลายๆครั้งที่มีการวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อนำไปสู่หนทางแก้ปัญหา....แต่ก็ยังไม่พบทางออก  ผู้รู้หลายท่านมองว่าปัญหาชายแดนใต้คือปัญหางูกินหาง......จะด้วยเงื่อนไขใดก็ตาม    แต่สิ่งที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันนั่นก็คือความ ยุติธรรมเ ท่านั่นที่จะนำพาซึ่งการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน


 


เมื่อเร็วๆนี้ผู้เขียนได้มีโอกาศออกพบปะและเยี่ยมเยียนชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้มีโอกาศสนทนากับ ปราชญ์ชาวบ้านผู้ซึ่งมีองค์ความรู้มากมายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น  หลายท่านสะท้อนว่า ปัญหาอีกหนึ่งปัญหาที่ฝ่ายความมั่นคงมองข้ามและไม่สนใจหรืออาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องเล็กนั่นก็คือปัญหา "การพยายามพัฒนาท้องถิ่นของรัฐ" โดยขาดองค์ความรู้ในการจัดการ


 


เมื่อเร็วๆนี้ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอบต.)ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานของราชการที่เน้นหนักทางด้านการพัฒนา มีโครงการจะฟื้นฟูสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในแง่นี้อาจเดาได้ว่า ศอบต.คงจะหวังว่าการพยายามที่จะสร้างประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของคนปัตตานีขึ้นมาอีกครั้งจะช่วยบรรเทาเบาบางกระแสการต่อต้านรัฐสยามซึ่งคงไม่แปลกถ้าจะบอกว่าคนปัตตานีเองมีภูมิหลังทางความคิดเชิงลบต่อหน่วยงานราชการและหน่วยงานด้านความมั่นคงอยู่ อันเนื่องมาจากความไม่เป็นธรรมในอดีตที่เกิดขึ้นรวมถึงปัจจุบันด้วย   


 



 


สุเหร่าอาโหเป็นศาสนสถานอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ในเป้าหมายของรัฐในการฟื้นฟู ด้วยเห็นว่าเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์  ที่เป็นตัวบอกเล่ารากเหง้าของคนมลายูได้เป็นอย่างดี  สุเหร่าอาโห  ตั้งอยู่ที่ ม.1 ต.มะนังยง อ.ยะหริ่ง จ. ปัตตานี ประวัติความเป็นมาค่อนข้างยาวนานมีอายุกว่า 400 ร้อยปีจากการบอกเล่าของปราชญ์ท้องถิ่นเล่าว่า เดิมทีสุหร่าแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณริมคลองตันหยง และมีสุเหร่าอีกหนึ่งแห่งตั้งขนานกันริมฝั่งคลองชื่อ สุเหร่าสุไหงยาลอ  แต่สุเหร่าอีกแห่งหนึ่งได้ผุพังไปตามเงื่อนไขทางกาลเวลา สาเหตุที่สุเหร่าดังกล่าวตั้งอยู่ริมน้ำสันนิฐานได้ว่าน่าจะเป็นเพราะการคมนาคม ค้าขายทางน้ำเมื่อครั้งปัตตานีรุ่งเรืองมีการติดต่อระหว่าง ชวา และมะละกา


 


ต่อมาเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงผู้คนเริ่มสัญจรทางน้ำน้อยลงและหันมาใช้ถนนหนทางมากขึ้นทำให้ ชาวบ้านในขณะนั้นได้ย้ายสุเหร่าดังกล่าวที่อยู่ริมน้ำมาตั้งไว้ในพื้นที่ปัจจุบัน โดยมีชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ได้วะกัฬที่ดินส่วนตนให้เป็นที่สาธารณะและตั้งสุเหร่าดังกล่าว  จากการบอกเล่าของชาวบ้านว่า ตอนย้ายสุเหร่าดังกล่าวมานั้นมิได้ทำการรื้อถอนสุเหร่าแล้วนำมาประกอบใหม่แต่ใช้วิธีการยกมาทั้งหลัง จากการพูดคุยกับชาวบ้านและการสำรวจพบว่า สุเหร่าอาโห นั้นถูกสร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลังโดยไม่มีการใช้ตะปูแม้แต่ดอกเดียว  ศิลปะการก่อสร้างเป็นแบบชวาดั้งเดิม มีลวดลายที่บ่งบอกที่มาที่ไปและอายุของสุเหร่าโบราณนี้ได้อย่างดี  หลังคาทำด้วยกระเบื้ยงโบราณ เสาทุกต้นใช้วิธีการเข้าสลักแบบโบราณ  ชาวบ้านเล่าว่าผู้ที่ก่อสร้างสุเหร่าแห่งนี้คือ โต๊ะลางิอีแต เป็นผู้นำช่างจากชวามาก่อสร้าง หลักฐานที่ยืนยันข้อมูลนี้คือหลุมฝังศพ(กุโบว์)ของโต๊ะลางิอีแต ที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านที่ตั้งสุเหร่า และอายุของสุเหร่าน่าจะมีอายุใกล้เคียงกับ มัสยิดตะโล๊ะมาเน๊าะ แต่ชาวบ้านบางคนก็มองว่าน่าจะเก่าแก่กว่านั้น


    



 


เมื่อประมาณเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศอบต.มีโครงการบรูณะฟื้นฟูสุเหร่าดังกล่าว โดยได้ส่งสัญญาณการริเริ่มโครงการผ่านทาง เทศบาลตำบล เพื่อให้ทางเทศบาลตำบลประชาสัมพันธ์ผ่านทางชุมชน ว่าจะมีโครงการพัฒนาดังกล่าว  โดยมีการอนุมัติงบประมาณจำนวน 3,200,000 บาทในการบรูณะ ผ่านการประมูลโครงการจากเทศบาล


 


คำถามที่เกิดขึ้นในใจของชาวบ้านก็คือ  คนที่จะมาประมูลซ่อมทำมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ และองค์ความรู้ในเรื่องศิลปะดั้งเดิมมากน้อยขนาดไหน.......???


 


สิ่งที่ชาวบ้านหลายคนสะท้อนออกมาเต็มไปด้วยความวิตกกังวลว่า "เราไม่อยากให้ภาครัฐมาซ่อมเพราะเราอยากให้การซ่อมเป็นเรื่องของการที่ชาวบ้านในชุมชนจะช่วยกันซ่อมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม เพราะนี่คือบ้านของพระเจ้า เป็นที่ประกอบศาสนกิจของชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมชาวบ้านก็จะไม่เห็นคุณค่าของสุเหร่านี้"  ชาวบ้านซึ่งเป็นปราชญ็ท้องถิ่นสะท้อนผ่านผู้เขียน


 


"เราไม่อยากได้เงินของภาครัฐ ไม่ใช่ว่าเราจะปฎิเสธภาครัฐนะ แต่เงินที่จะเอามาซ่อมเป็นเงินภาษีของรัฐ ซึ่งที่มาของรายได้เงินภาษีของรัฐบางครั้งมันค่อนข้างขัดกับหลักการศาสนามันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน"    เสียงสะท้อนดังขึ้นท่ามกลางเสียงชาวบ้านที่ตั้งวงสนทนาทุกคน พยักหน้าตอบรับกับคำพูดดังกล่าว


 


ติดตาม รายงานพิเศษ  : "ศิลปะมลายู" ภายใต้ไฟสงคราม ตอนที่ 2 ในวันพรุ่งนี้


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net