Skip to main content
sharethis





ประภัสส์ ชูวิเชียร


 


นักศึกษาปริญญาเอกในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่นิยามตัวเองสั้นๆว่า เป็น "พลเรือนชั้นประทวน"  รักงานวิชาการที่เกี่ยวเรื่องเก่าๆ มักหาเวลาเดินทางด้วยสองขาและรางเหล็กตามไปดูสิ่งสวยงามในดินแดนไทย


           



 



 


 


 


คราวที่แล้วได้เจอนักโบราณคดีร่ายยาวเกี่ยวกับเรื่องความเป็นมาของการที่เรารู้จัก "กินข้าว" กันมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าถ้าไม่มีคนปลูกข้าวหรือ "ชาวนา" จะมีข้าวกินกันได้อย่างไร นักโบราณคดีคนเก่งยังอยู่กับเรา เขาจะสืบสาวความเรื่องชาวนาให้ฟังกันต่อ


 


ก็ในเมื่อมีหลักฐานของข้าวในดินแดนไทยอยู่ทั่วไป ก็จะต้องมีคนปลูกข้าว หรือ "ชาวนา" อยู่ด้วย ท่านเหล่านั้นก็คงไม่ใช่ใครอื่น คงเป็นบรรพบุรุษของพวกเราหน้าดำๆที่เดินไปมาอยู่นี่เอง


 


เรื่องราวเกี่ยวกับชาวนาในสมัยโบราณไม่ค่อยได้รับความสนใจเหมือนชาวนาในสมัยนี้เปี๊ยบเลย ข้อมูลต่างๆจึงไม่มากพอที่จะประมวลให้เห็นได้ว่าเขากิน เขาอยู่และทำไร่ไถนากันอย่างไร แต่ก็ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องอยู่บ้างแหละครับ


 


ที่จังหวัดสุโขทัย เราพบแหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งชื่อว่า บ้านบึงหญ้า อยู่ในอำเภอคีรีมาศ เมื่อทำการขุดค้นไป เราพบโครงกระดูกถูกฝังในท่านอนราบ ที่บริเวณลำตัวมีวัตถุทำด้วยหินเป็นแผ่นบางๆรูปใบมีดหรือเคียวฝังรวมอยู่ด้วย คราวนี้เนี่ย คนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เขานิยมที่จะวางสิ่งของของผู้ตายไว้กับร่างในหลุมศพเพราะเขาเชื่อในการที่คนตายจะได้เอาของของตัวเองไปใช้ในโลกอื่นด้วย ไม่ใช่ไปแต่ตัวเปล่าๆ ก็ในเมื่อของที่วางอยู่มันเป็นเคียวที่ทำจากหิน ร่างที่นอนอยู่ก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นชาวนาแห่งท้องทุ่งหลวงสุโขทัยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั่นเอง ส่วนแกจะชื่อตาสี ตาสา บุญมา บุญมีก็สุดที่จะรู้ได้


 


สำหรับชาวนาที่บ้านบึงหญ้านี้ กำหนดอายุของท่านว่าเคยมีชีวิตอยู่เมื่อราว ๒,๐๐๐ ถึง ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนของชาวนาในดินแดนไทยที่เก่าที่สุดที่รู้จักกันมา


 


นอกจากนั้น เคียวหินแบบนี้เรายังได้พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศกัมพูชาและประเทศจีนด้วย ทั้งสองประเทศนี้ปัจจุบันก็ยังคงกินข้าวเป็นอาหารหลักเหมือนไทยเรา


 


ส่วนในภาคอีสาน ได้มีการขุดค้นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมาก แต่ก็ระบุไม่ได้ว่าใครเป็นชาวนาหรือเปล่า เพราะโครงกระดูกพูดไม่ได้อย่างหนึ่ง แล้วก็เครื่องไม้เครื่องมือที่พบในหลุมฝังศพเป็นเครื่องมือโลหะแบบกลางๆ ใช้งานได้สารพัดประโยชน์ เช่น ขวานโลหะหรือใบมีดโลหะ แต่ก็เชื่อว่าระบบสังคมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้นผู้คนคงจะดำเนินกิจกรรมหลักๆของตัวเองได้หลายอย่าง ดูแต่ชาวนาเดี๋ยวนี้พอหมดหน้านาก็ตีเหล็กบ้าง ทอผ้าบ้างหรือไม่ก็ลงมาขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ กันเกลื่อนไป"


 


ที่น่าสนใจคือเราพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นภาพของคนกำลังจูงวัวหรือควายเดินอยู่ในทุ่งที่มีต้นคล้ายๆ ข้าว ดูไม่ต่างจากภาพของทิดเรืองที่จูงไอ้ทุย อีเผือกเดินลัดคันนาเมื่อเย็นวานนี้สักเท่าไหร่หรอก


 


ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีรูปวัวรูปควายนี้ยังพบอยู่ทั่วไปในประเทศไทย เพียงแต่บอกไม่ได้ว่าเป็นภาพของสัตว์ที่ถูกนำมาใช้ในการกสิกรรมหรือเปล่า


 


เอาเป็นว่า ถ้าเราพบหลักฐานของข้าวที่มันเก่าไปจนถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ก็แสดงว่า ชาวนาก็ต้องมีอยู่ในสมัยนั้นแล้ว อาชีพชาวนาก็คงสามารถขึ้นทะเบียนได้ว่าเป็นอาชีพเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยได้เหมือนกัน เราก็ควรจะภูมิใจนะครับที่การ "ทำนา" เป็นงานหลักของบรรพชนไทยเรามาแต่โบร่ำโบราณ จนกระทั่งก่อนหน้านี้ไทยเราเองก็ยังเป็นประเทศที่ครองสถิติการส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ถึงแม้ว่าแชมป์ที่ส่งออกได้มากที่สุดอย่างจีนหรืออินเดียจะมีพื้นที่การเกษตรกรรมมากกว่าเรานับสิบนับร้อยเท่าก็ตาม


 


พอเข้ามาถึงสมัยประวัติศาสตร์เนี่ย หลักฐานของชาวนาดูเหมือนจะหายไป แต่ก็อย่างว่าละนะครับว่าเราได้พบหลักฐานของแกลบข้าวที่ปะปนอยู่ในอิฐที่ใช้สร้างโบราณสถานมาตลอดตั้งแต่ราว ๑,๕๐๐ มาแล้ว แน่นอนว่าจะต้องมีคนทำนาเพื่อให้ได้ข้าวเหล่านั้นมาเป็นอาหารและได้แกลบเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการนั้นและจำนวนแกลบข้าวมากๆ เนี่ยแสดงแล้วว่าชาวนาในสมัยโบราณได้พัฒนาการทำนาให้เจริญขึ้นจากเดิมจนเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ชาวนาในสมัยนั้นก็คงจะไม่ได้ทำนาแต่อย่างเดียว แต่คงจะทำการทำงานอย่างอื่นๆ ตามความถนัดของตัวเองไปด้วยและคงจะเป็นอยู่อย่างนี้ทั้งในสมัยทวารวดี สุโขทัยและอยุธยา


 


ระบบการปกครองของไทยโบราณ อย่างน้อยในสมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นระบบที่ใช้ที่ดินกำหนดระดับทางสังคมของคน ก็ที่เรียกว่า "ศักดินา" ไงครับ นั่นแหละยิ่งมั่นใจได้ว่า อาชีพชาวนาจะต้องเป็นอาชีพที่สำคัญในการผลิตอาหารเลี้ยงดูราชอาณาจักรจนต้องจัดสรรพื้นที่เพื่อควบคุมทรัพยากรให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ยังสามารถควบคุมระบบกำลังคนในราชอาณาจักรได้ สมกับคำที่นักวิชาการบางท่านเรียกกำลังทหารของกรุงศรีอยุธยาว่า "กองทัพชาวนา" นั่นเองละครับ


 


เรื่องศักดินาและพระไอยการกำหนดเกี่ยวกับที่ดินและประชากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาของกรุงศรีอยุธยายังมีอีกมากมาย เล่าวันเดียวไม่จบหรอกครับ


 


ชาวนาในสมัยอยุธยามีบทบาททางสังคมอย่างเงียบๆ แต่บทจะดังขึ้นมาก็เอาเรื่องอยู่เหมือนกันครับ ในสมัยอยุธยามีการลุกฮือของไพร่สามัญชนอย่างน้อยสองถึงสามครั้งที่เป็น "กบฏชาวนา" ทั้งนี้เพราะเป็นเวลาที่บ้านเมืองไม่สงบสุขหรืออ่อนแอจากการสงครามภายนอก ตัวอย่างชัดๆ ก็คือ "กบฏธรรมเถียร" ในสมัยสมเด็จพระเพทราชาช่วงอยุธยาตอนปลายครับ


 


พงศาวดารบันทึกไว้ชัดเจนเลยว่ากองกำลังส่วนใหญ่ของกบฏธรรมเถียรนี้ใช้คันหลาวหาบข้าวและเคียวต่างอาวุธ โถ...ก็ใครเล่าจะมีอาวุธเป็นเคียวเป็นคันหลาว ก็ชาวนาตาดำๆ นี่แหละครับ ตอนนั้นสมเด็จพระเพทราชาถึงกับทรงเตรียมเสด็จหนีแล้ว ดีแต่ว่ากรมพระราชวังบวรฯ ในขณะนั้น หรือพระเจ้าเสือของเรานี่แหละออกไปปราบปรามได้ก่อน ดูกันก็แล้วกันว่ากบฏชาวนามีพลังมวลชนมากมายขนาดไหนกัน เอ้อ...กบฏชาวนาในสมัยอุธยานี่เขาคงไม่ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นราคาข้าวหรอกนะครับ แต่คงเป็นเรื่องของความล้มเหลวด้านระบบควบคุมกำลังคนและความเหลื่อมล้ำด้านฐานันดรมากกว่า


 


ที่เล่ามาก็คงพอจะทำให้เห็นว่าชาวนาในอดีตมีความสำคัญอย่างไร สรุปได้ว่าชาวนาเป็นอาชีพเก่าแก่ที่สุดอาชีพหนึ่งที่พบในดินแดนไทยเลยทีเดียว แล้วคุณละครับ บรรพบุรุษคุณเป็นชาวนาหรือเปล่า?


           


ในเมื่อความสำคัญของชาวนามีมากขนาดนี้แล้ว เรื่องของการทำนาล่ะ มีความเป็นมาอย่างไรถึงปลูกข้าวกันได้? งานหลักของชาวนาในอดีตกับปัจจุบันเหมือนหรือต่างกันหรือเปล่า?


 


มาติดตามได้ในตอนหน้า


 


เรื่องที่เกี่ยวข้อง


รายงานชุด "ข้าว" ทางวัฒนธรรม [1] : "กินข้าว" กันมาเมื่อใหร่? ใครรู้บ้าง?

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net