Skip to main content
sharethis


องอาจ เดชา


 








"เมื่อดู ร่าง พ.ร.บ.น้ำ เราสรุปได้เลยว่า มันขัดต่อรัฐธรรมนูญ การจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ขัดต่อจารีตประเพณี ภายใต้แก่เหมือง แก่ฝาย ขัดต่อวิถีชาวบ้าน นอกจากนั้นมันยังไปเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนอีกด้วย"


 


"นี่เป็นลักษณะของการปล้นชาวบ้านในเชิงความคิด โดยไม่ใช้อาวุธ"


 


"ทุกวันนี้ ชุมชนเราสามารถฟื้นฟูและจัดการน้ำขึ้นมาเองได้ แต่หากเอากฎหมายน้ำมาใช้ ก็จะขัดต่อจารีตประเพณี ดังนั้นในพื้นที่ภาคเหนือ เรายินดีเข้าร่วมกันล่ารายชื่อคัดค้าน รณรงค์ และยินดีร่วมทุกกระบวนการในการคัดค้าน เมื่อกฎหมายน้ำจะออกมา..."


 

นั่น, เป็นบางส่วนของการถกวิพากษ์กันถึง ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.... ของตัวแทนชาวบ้านจากกลุ่มน้ำยม จ.แพร่, ลุ่มน้ำอิง จ.พะเยา, ลุ่มน้ำฝาง, ลุ่มน้ำแม่งัด, ลุ่มน้ำปิงตอนบน ที่ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงเสวนาโดยได้หยิบร่าง พ.ร.บ.น้ำ มาชำแหละกันทีละมาตรา ในวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้นำเกษตรกร อ.สารภี จ.เชียงใหม่


เมื่อย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ คือบ่วงกรรมจากวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศอย่างมหาศาล เพื่อนำมาพยุงฐานะทางการเงินและเศรษฐกิจการคลังของประเทศไม่ให้ล่มจม ซึ่งมาพร้อมกับเงื่อนไขการปรับโครงสร้างทางกฎหมายและนโยบายมากมายในประเทศไทย เงื่อนไขหนึ่งของเงินที่ได้มาจากธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คือ รัฐบาลไทยต้องสร้างกลไกของภาครัฐในการควบคุมการใช้น้ำของเกษตรกร


 


นั่นคือที่มาของการเสนอร่าง "พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ" เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการจัดสรรน้ำและเก็บค่าน้ำจากเกษตรกร จากแนวคิดการปรับโครงสร้างทางกฎหมายและความพยายามที่จะเก็บค่าน้ำจากเกษตรกร ด้วยการมองวิธีใช้น้ำของเกษตรกรว่า ไม่เกิดผลกำไรและสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ จึงจะแบ่งประเภทการใช้น้ำเป็น 3 ประเภท กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้น้ำ และติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำ (มิเตอร์) ในไร่นาของชาวบ้านเกษตรกร ให้เกิดการเก็บเงินค่าน้ำตามที่เกษตรกรใช้ไปกับพืชผลทางการเกษตรในแต่ละฤดูกาล


 


ตามเงื่อนไขดังกล่าวที่รัฐบาลหลายสมัยพยายามผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ทำให้เกิดการคัดค้านการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ของกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง การคัดค้านที่เข้มข้นมากที่สุดคือ เมื่อครั้งที่มีการประชุมประจำปี สภาผู้ว่าการธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เมื่อพฤษภาคม 2542 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และการผลักดันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำของภาครัฐยังไม่ได้ยุติแต่อย่างใดจนมาถึงปัจจุบันนี้


 


ในภาคของเกษตรกรทั่วประเทศตระหนักดีว่า หากพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำเกิดขึ้นจริง จะเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้กับเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะทำลายการใช้น้ำในรูปแบบจารีตประเพณีท้องถิ่น และที่สำคัญจะเปลี่ยนสถานะของน้ำจากเดิมเป็นสมบัติสาธารณะ ให้กลายเป็นของรัฐโดยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรทั่วประเทศได้ประกาศคัดค้านไม่เอาพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำโดยเด็ดขาด


 


โดยเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้นำเกษตรกร อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ตัวแทนเกษตรกรในเขตภาคเหนือตอนบน ได้ร่วมกันจัดวงเสวนาถก ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.... โดยมีตัวแทนชาวบ้านจากลุ่มน้ำยม จ.แพร่, ลุ่มน้ำอิง จ.พะเยา, ลุ่มน้ำฝาง, ลุ่มน้ำแม่งัด, ลุ่มน้ำปิงตอนบน เข้าร่วม โดยมีนายไพโรจน์ พลเพชร รักษาการตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรภาคเอกชน (กป.อพช.) และนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงเสวนานั้นด้วย โดยได้มีการหยิบร่าง พ.ร.บ.น้ำ มาชำแหละกันทีละมาตรา


 


นายสุทัศน์ ลือชัย ตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำแม่ฝาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้นำเอาเอกสารร่าง พ.ร.บ.น้ำ ไปอธิบายให้ชาวบ้าน ก็เข้าใจระดับหนึ่ง และไม่เห็นด้วย เพราะว่าตอนนี้ในพื้นที่ก็มีปัญหาในเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรน้ำกันอยู่แล้ว ระหว่างนายทุนสวนส้มกับชาวบ้าน และเมื่อดู ร่าง พ.ร.บ.น้ำ เราสรุปได้เลยว่า มันขัดต่อรัฐธรรมนูญ การจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ขัดต่อจารีตประเพณี ภายใต้แก่เหมือง แก่ฝาย ขัดต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน นอกจากนั้นมันยังไปเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนอีกด้วย


 


นายสมบูรณ์ บุญชู รองประธานเหมืองฝายพญาคำ ตัวแทนชาวบ้านจากลุ่มน้ำปิงตอนกลาง (ส่วนที่ 2 พื้นที่ อ.สารภี) กล่าวว่า จากการจัดประชุมชาวบ้านเพื่อถกกันถึงเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.น้ำ รวมไปถึงเรื่องการจัดการน้ำของชุมชน โดยคุยกันมาแล้วสองสามรอบ ซึ่งได้ข้อสรุปแล้วว่า ชาวบ้านไม่เอากฎหมายน้ำ โดยดูจากผลกระทบที่จะเกิดกับกลุ่มชาวไร่ชาวนา โดยเฉพาะการตั้งมิเตอร์ในที่นา และการวัดปริมาณน้ำของกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งการทำเช่นนี้ เป็นการไม่ให้ความสนใจกลุ่มชาวไร่ชาวนาแต่อย่างใดเลย


 


นายศรีโดย ใจเย็น ตัวแทนจากลุ่มน้ำอิงตอนบน จ.พะเยา กล่าวว่า สืบเนื่องจากการจัดประชุมครั้งที่ผ่านมา ได้ปรึกษาในระดับพื้นที่ว่าจะเอาหรือไม่เอา พ.ร.บ.น้ำ โดยได้นำเอกสารไปแจกจ่ายในที่ประชุมเพื่อศึกษา ซึ่งต่างก็ไม่เห็นด้วย เพราะ พ.ร.บ.นี้ มีปัญหาในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องการเปลี่ยนจากน้ำธรรมชาติมาเป็นสินค้า และยังขัดต่อจารีตประเพณี สิ่งที่เราเคยทำด้วย


 


"ทุกวันนี้ ชุมชนเราสามารถฟื้นฟูและจัดการน้ำขึ้นมาเองได้ แต่หากเอากฎหมายน้ำมาใช้ ก็จะขัดต่อจารีต ดังนั้นในพื้นที่ภาคเหนือ เรายินดีเข้าร่วมกันล่ารายชื่อคัดค้าน รณรงค์ และยินดีร่วมทุกกระบวนการในการคัดค้าน เมื่อกฎหมายน้ำจะออกมา และอยากบอกว่าพื้นที่ จ.พะเยาปฏิเสธที่จะไม่เอา ไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้"


 


ด้านนายสมาน สร้อยเงิน ตัวแทนจากลุ่มน้ำยม จ.แพร่ ก็ลุกขึ้นมากล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ จ.แพร่ ก็ไม่เอากฎหมายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่เข้าใจว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป หากมีกฎหมายนี้ขึ้นมา รู้แต่ว่า รัฐจะเอาเปรียบในการจัดการน้ำของชาวบ้านเท่านั้นเอง และการแก้กฎหมายในรายมาตรา ชาวบ้านก็คงไม่เอาด้วย


 


ในขณะที่นายสมบูรณ์ คำวัน ตัวแทนชาวบ้านจากลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน กล่าวว่า เรื่องกฎหมายน้ำ ปัญหาทั้งหมดมันจะตกอยู่ที่ชาวไร่ชาวนา จะเก็บหรือไม่เก็บค่าน้ำนั้นไม่สำคัญกับชาวบ้าน แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าหากเกิด พ.ร.บ.น้ำขึ้นมาจริงๆ คนมีเงินนั้นย่อมได้เปรียบ ถึงแม้จะไม่เก็บค่าน้ำชาวนาก็จริง แต่ปริมาณน้ำมันจะไม่เพียงพอสำหรับเกษตรกร หากนายทุนไปกว้านซื้อกักตุนน้ำเอาไว้หมด


 


"สมมติว่าไม่เก็บค่าน้ำชาวนา แต่ไม่มีน้ำไหลเข้ามาในพื้นที่นาของชาวบ้าน เราจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น หากกฎหมายนี้เกิดขึ้นจริง คงแก้ยาก พลังอาจไม่เพียงพอ จะหวังพึ่งตัวแทนที่เราเลือก คนที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาให้เรา คนที่เราคิดว่าจะเข้าไปเป็นตัวแทนเรา แต่ก็ไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่มันเป็นตัวแทนของระบบกลุ่มทุน นี่เป็นลักษณะของการปล้นชาวบ้านในเชิงความคิด โดยไม่ใช้อาวุธกันชัดๆ"


 


ด้านนายดวงดำ ขันมอน ตัวแทนจากลุ่มน้ำแม่งัด อ.พร้าว กล่าวว่า จากการหารือคณะกรรมการเหมืองฝาย การเสียค่าธรรม ที่มี 3 ลักษณะ 1.เสีย 10 บาท 2.เสียค่าธรรมเนียม 10, 000 บาท 3.เสียค่าธรรมเนียม 30,000 บาท โดยขึ้นอยู่กับ กนช. (คณะกรรมการทรัพยากรน้ำ)เป็นผู้กำหนด ถือได้ว่าเป็นสร้างปัญหาให้กับชาวบ้าน เอาเปรียบพี่น้องชาวบ้าน เนื่องจากน้ำเป็นของธรรมชาติที่ใช้มาแต่เดิมในอดีต น้ำเป็นของสาธารณประโยชน์ ทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ แต่รัฐจะเอาไปดูแลคนเดียว เอาเป็นสินค้า โดยไม่ดูว่ามันไปกระทบต่อเกษตรกรหรือไม่


 


"นอกจากนั้น การเสียค่าธรรมเนียมในลักษณะที่ 3 หากกลุ่มทุนมีเงินมาก คิดจากระดับนี้แล้วไม่มากนัก แต่เกษตรกรต้องมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น สร้างปัญหาให้กับคนที่อยู่ข้างหลังมากขึ้น ดังนั้น เรื่อง พ.ร.บ.น้ำ อยากจะให้หน่วยงานรัฐ ออกมาทำประชาพิจารณ์ ในพื้นที่ภาคเหนือ ว่ามันจะมีปัญหา สาเหตุ ผลกระทบเป็นอย่างไร ชี้แจงเหตุผลให้เกษตรกรรับรู้ว่าจะเอาอย่างไรด้วย"


 


ตัวแทนลุ่มน้ำแม่งัด กล่าวอีกว่า หากมองในเรื่องกฎหมายน้ำ ที่ผ่านมาในเมื่อเราดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ทำไมเราจะต้องไปเสียค่าธรรมเนียมน้ำอีก กลุ่มเกษตรกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่เห็นด้วย ทุกวันนี้น้ำไม่เพียงพอ ต้องจัดการคิวให้กลุ่มเกษตรกรปลูกพืช รายละ 2 ชั่วโมง โดยอาศัยกฎระเบียบในชุมชมในการใช้น้ำไม่มีขัดแย้ง มีการจัดการ ควบคุมกันได้อยู่แล้ว แต่ถ้าหากจะเอาน้ำไปทำธุรกิจ พวกเราไม่เห็นด้วย"


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน ตัวแทนเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ (คทสน) และนายสุแก้ว ฟุงฟู ตัวแทนสมัชชาเหมืองฝายลุ่มน้ำภาคเหนือ พร้อมตัวแทนชาวบ้านได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยได้ขอเสนอยุทธศาสตร์และการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยจะต้องให้ความสำคัญแก่การบริหารจัดการอย่างบูรณาการระหว่างมิติของเศรษฐกิจ สังคมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบอย่างแท้จริง


 



 


ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านยังได้เสนอให้ ทส.ยกเลิกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำทั้งหมด ด้วยเหตุผล 9 ข้อ คือ


 


1. พ.ร.บ.น้ำ เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน กลุ่มกิจการใช้น้ำขนาดใหญ่ และบริษัทเอกชน


2. พ.ร.บ.น้ำ เปลี่ยนน้ำเป็นสินค้าและขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ


3. พ.ร.บ.น้ำ ให้อำนาจกับภาครัฐ เพิ่มอำนาจกรมทรัพยากรน้ำ


4. องค์กรผู้ใช้น้ำแบบจารีต (เหมืองฝาย) ไม่มีส่วนร่วมในกรรมการ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำ (กนช.) กรรมการลุ่มน้ำ และกรรมการต่างๆ ที่อยู่ในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ และการได้มาของกรรมการแต่ละชุดไม่มีที่มาอย่างชัดเจน


5. การแบ่งน้ำเป็นประเภทไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบชาวบ้านในภูมิภาคต่างๆ


6. เป็นกฎหมายที่ทำลายจารีตประเพณีแบบเหมืองฝาย


7. เป็นการเพิ่มภาระเรื่องการขออนุญาตใช้น้ำ และเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมากขึ้น


8. สร้างความขัดแย้งต่อชาวบ้านในลุ่มน้ำเดียวกันและพื้นที่ใกล้เคียงหรือลุ่มน้ำอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น


9. ขาดการมีส่วนร่วมจากเกษตรกร และภาคประชาสังคม


 


 


 


 


....................................................


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


ชำแหละ พ.ร.บ.น้ำ ผลประโยชน์ใคร?


เมื่อน้ำมีราคา เมื่อนามีมิเตอร์ หาก "พ.ร.บ.น้ำ" ผ่าน


รายงาน : ฟังเสียงเกษตรกร "หากในน้ำมีราคา ในนามีรัฐคอยควบคุม"


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net