Skip to main content
sharethis


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มูลนิธิเกษตรยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิชีวิตไทย และกลุ่มปฏิบัติการท้องถิ่นไร้พรมแดน ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ "วิกฤติอาหาร วิกฤติเศรษฐกิจไทย" ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 เม.ย.51 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ เวทีฉลาดซื้อ "ข้าวแพง ชาวนาได้ประโยชน์จริงหรือ" ณ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข

เส้นทางการปลูก การขายข้าว ก่อนถึงมือผู้บริโภค


นายวิฑูรย์ ปัญญากุล มูลนิธิสายใยแผ่นดิน (กรีนเนท) กล่าวถึงวิกฤตการข้าวแพงว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาสภาวะโลกร้อน การเกิดภัยแล้ง การเกิดอุทกภัย ในประเทศต่างๆ จึงทำให้ประเทศผู้ส่งออกต้องลดปริมาณการส่งออก รวมทั้งสำรองข้าวเพิ่มมากขึ้น หรือสั่งห้ามการส่งออกชั่วคราว จึงทำให้ปริมาณข้าวในตลาดโลกลดน้อยลง เมื่อรวมกับปัญหาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง จึงส่งผลให้ราคาข้าวปรับสูงขึ้นประมาณร้อยละ 10


สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก คือประมาณ 9 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก รองลงมาคือเวียดนาม (5 ล้านตันต่อปี) อินเดีย และอเมริกา (ประเทศละ 3 ล้านตันต่อปี) วิกฤตดังกล่าวจึงส่งผลกระทบถึงประเทศไทย


การที่ทั่วโลกสั่งสำรองข้าวสารเพราะกลัวขาดแคลน ยิ่งส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นอีก และขณะนี้ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีการกักตุนข้าวสาร ทั้งในส่วนโรงสี ผู้ส่งออก และผู้บริโภค สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลก็ไม่กล้ากำหนดราคาข้าวให้ชัดเจนว่าจะให้สูงขึ้นตลอดไป หรือแก้ไขให้ราคาลดต่ำลง เพื่อให้ระดับราคาเป็นธรรมกับผู้บริโภค


อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า แม้ปัญหาขาดแคลนข้าวจะลดลงก็ไม่ได้ทำให้ราคาข้าวกลับไปมีราคาลดลงที่ราคาเดิม เพราะปัจจุบัน ต้นทุนในการผลิตปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะน้ำมัน ปุ๋ย รวมถึงปัญหาการจัดสรรน้ำให้นาข้าวสำหรับข้าวนาปรังซึ่งต้องใช้น้ำมากจะเกิดปัญหาการแย่งน้ำกับพืชชนิดอื่นๆ


ทั้งนี้ การแก้ปัญหารัฐบาลควรให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.พัฒนาเทคโนโลยีและการจัดการฟาร์มภายใต้ภาวะความผกผันของสภาพภูมิอากาศและต้นทุนการผลิต 2.นโยบายและแผนปฏิบัติเรื่องข้าวและอาหารอย่างเป็นระบบ โดยไม่ดูเฉพาะการส่งออกของผู้ประกอบการ แต่ดูถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค และ 3.ระบบการประกันราคาที่เป็นธรรมกับเกษตรกร


"ข้าวแพง" แต่ชาวนาไม่ได้ประโยชน์


นางกิมอั้ง พงษ์นารายณ์ ชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรัง จ.ชัยนาท กล่ายอมรับว่า เกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทานในภาคกลางได้ประโยชน์จากราคาข้าวสูงขึ้น เพราะนาปรังจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ทำให้ยังสามารถขายข้าวในช่วงที่ข้าวยังราคาดี แต่เชื่อว่าเกษตรกรจะได้ประโยชน์แค่ปีนี้ปีเดียว ปีถัดๆไป อาจจะต้องขาดทุน เพราะการปลูกข้าวมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะเรื่องโรคระบาด และสภาพภูมิอากาศหากเกิดพายุหรือมรสุมก็อาจเกิดความเสียหายซึ่งไม่มีอะไรมารับประกันในส่วนนี้ได้


อีกทั้งปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ยเคมี น้ำมัน และชาวนาส่วนใหญ่มีที่นาเป็นของตัวเองน้อยมาก เมื่อราคาค่าเช่าที่ทำนาสูงขึ้นตามราคาข้าว จากราคาไร่ละ 1,500 บาทต่อครั้ง เป็นไร่ละ 2,000 บาทต่อครั้ง ทำให้เกิดความกังวลว่าเมื่อราคาข้าวลดลงมาแล้วเจ้าของที่จะลดค่าเช่านาลงมาเหมือนเดิมหรือไม่


นางกิมอั้ง ยังกล่าวด้วยว่าการที่เกษตรกรต้องจ่ายหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งต้นทั้งดอกในเวลา 4 เดือน (เท่ากับระยะเวลาเก็บเกี่ยว) หลังจากที่กู้ยืมเงินมาซื้อปุ๋ยเคมีคราวละเป็นแสนบาท ทำให้เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็ต้องรีบขายข้าวเพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับ ธ.ก.ส.จึงไม่สามารถเก็บสต็อกข้าวไว้ขายในราคาที่สูงได้ นอกจากนี้ที่ผ่านมาเกษตรกรหลายรายต้องขายที่ทำกินเพื่อมาใช้หนี้ของ ธ.ก.ส. อีกทั้งยังถูกข่มขู่หากไปยื่นเรื่องขอผ่อนผัน ทั้งที่หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานของรัฐ


ในส่วนที่รัฐบาลพยายามลดราคาปุ๋ยเคมีนั้น นางกิมอั้งกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับที่รัฐบาลจะให้ขายปุ๋ยเคมีในราคาถูก แต่เห็นว่ารัฐบาลควรส่งเสริมปุ๋ยชีวภาพ เพราะมีราคาถูก ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายชั้นผิวดินเหมือนกับปุ๋ยเคมี


"รัฐบาลปกป้องผู้นำเข้าปุ๋ยมากกว่ากลัวว่าเกษตรกรจะล่มจม" นางกิมอั้งกล่าวถึงการดำเนินมาตรการของรัฐ


ด้านนางกัญญา อ่อนศรี ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาชีพทางเลือก บ้านทัพไทย จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นเกษตรกรปลูกข้าวนาปีแบบเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า แม้ราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่เกษตรกรที่ทำนาปีไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะเกษตรกรได้ขายข้าวไปหมดตั้งแต่ช่วงปลายปี ในราคาข้าวเปลือกขายหน้าโรงสีที่กิโลกรัมละ 7-8 บาท แต่ปัจจุบันราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่เกษตรกรก็ไม่ได้ประโยชน์จากราคาที่ปรับสูงขึ้นแม้แต่บาทเดียว มีแต่กลุ่มพ่อค้า นายทุน นักส่งออกและโรงสี เท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์


"ปีนี้ชาวนาใน จ.สุรินทร์ เจ็บหนักที่สุด เพราะขายข้าวเปลือกในราคาถูก แต่ต้องมาซื้อข้าวสารกินในราคากิโลกรัมละ 40 บาท" นางกัญญากล่าว


เธอระบุด้วยว่า ที่พูดกันว่าปีนี้ชาวนารวยขายข้าวได้ราคาก็ไม่จริงเพราะชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็รีบขายข้าวทันที ไม่ได้กักเก็บไวเพื่อเก็งกำไรหรือรอให้ราคาข้าวสูงขึ้น แม้ว่าอยากขายข้าวให้ได้ราคาเหมือนกัน แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าราคาข้าวจะพุ่งขึ้นสูงเมื่อไร ไม่มีใครมาบอก และชาวนาไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจโลกว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งรัฐบาลความมาให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรในส่วนนี้


ในส่วนการทำเกษตรอินทรีย์ นางกัญญากล่าวว่า ขณะนี้ก็เกิดปัญหาตามมรสุมราคาข้าวทำให้หลายรายต้องการเลิกปลูกข่าวอินทรีย์ เพราะมีความยุ่งยากกว่าในการเพาะปลูก และราคาต้นทุนต่างๆ เช่น น้ำหมัก กากน้ำตาล และน้ำมัน ต่างขึ้นราคา อีกทั้งเกษตรอินทรีย์ปลูกตามฤดูกาล ซึ่งได้ทำสัญญาค้าขายข้าวไว้ล่วงหน้ากับคู่ค้าแล้วเพราะต้องนำเงินมาหมุนเพื่อทำการเพาะปลูก ทำให้ต้องส่งข่าวตามราคาที่ตกลงไว้ล่วงหน้าคือ กิโลกรัมละ 12 บาท และไม่สามารถขึ้นราคาตามราคาตลาดที่สูงขึ้นได้ ทำให้ราคาข้าวที่สูงขึ้น กลายเป็นความหวังของเกษตรกรแม้ว่าต้องปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงมากก็ตาม


"รัฐไม่เคยลงไปถามเกษตรอินทรีย์ว่าเป็นทางออกของสังคมไทยหรือเปล่า ไม่เคยส่งเสริมระบบการทำงานอย่างจริงจัง พูดเพียงทำอย่างไรจะสามารถเปิกจ่ายงบประมาณได้ รัฐเข้าใจศักยภาพองค์กรชาวนาอย่างผิวเผินไม่เคยมองมองเห็นศักยภาพในการทำงาน จึงไม่เคยจัดสรรงบประมาณมาให้ดำเนินการ" นางกัญญากล่าวถึงความอัดอั้นที่มีต่อการทำงานของภาครัฐ


"ข้าวแพง" ทางแก้ต้องให้ชาวนาอยู่รอด


นายปราโมทย์ วานิชชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาราคาข้าวคือ การคิดต้นทุนการผลิตข้าวที่ให้ชาวนาอยู่รอด แล้วค่อยคิดถึงโรงสีและพ่อค้าทีหลังให้ได้กำไรพออยู่ได้ เมื่อคำนวณต้นทุนได้จึงให้ประชาชนผู้บริโภคทั้งหลายเข้าใจว่า ต้องยอมกินข้าวแพงในราคาที่รับได้ เพื่อให้อาชีพชาวนายังอยู่ได้ต่อไป


สำหรับราคาข้าวที่พุ่งสูงอยู่ในขณะนี้ ปราโมทย์ตั้งคำถามกลับว่า ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์ เพราะข้าวที่อยู่ในตลาดขณะนี้ล้วนเป็นข้าวนาปีที่เก็บเกี่ยวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพราะข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวช่วงเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นนั้นจะต้องเก็บไว้อีก 4 เดือน โรงสีจึงจะขาย มิฉะนั้นจะเป็นข้าวแฉะ ข้าวที่อยู่ในตลาดขณะนี้ซื้อจากชาวนาราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 20 บาท แต่ขณะนี้ราคาขาย 30 -40 บาท


"ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าราคาข้าวจะพุ่งขึ้นสูงขนาดนี้ หากโรงสีรู้ก็คงจะรอขาย ดังนั้นในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.จึงเป็นการตั้งหลักใหม่ของทุกฝ่าย คาดว่าอนาคตราคาข้าวจะยังคงสูงขึ้นเป็นลักษณะขั้นบันไดไปตลอด ราคาลงคงไม่มี ถือเป็นการปรับฐานครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ และเป็นข้ออ่อนของประเทศไทยที่ไม่มีการให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูล หรือทำความเข้าใจเรื่องหลักการตลาด ดังนั้นเกษตรกรที่ทำนาปีอาจจะได้ประโยชน์ไม่ถึง 20%" นายปราโมทย์ กล่าว


"ข้าวแพง" และจะไม่ถูกลง


นายวิโรจน์ เหล่าประภัสสร กรรมการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวแสดงความมั่นใจว่า ราคาข้าวจะไม่ปรับตัวลงภายใน 2-3 ปีนี้ เพราะปัจจัยเสริมต่างๆ เช่น น้ำมัน ปุ๋ยเคมี ทองคำ และสินค้านำเข้ายังมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ การทำให้ราคาข้าวลดลงอาจยิ่งแย่


ส่วนความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าว เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) มีนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะสภาพสินค้าที่มีความแตกต่างกันมากรวมทั้งมีปัญหาเรื่องการเก็บสต็อก อีกทั้งหากจัดตั้งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการเมืองระหว่างประเทศได้ ทั้งนี้หากจะรวมกลุ่มผู้ค้าข้าวระหว่างประเทศ ควรจะเป็นเรื่องความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารมากกว่า


ด้านความหวาดกลัวว่าข้าวจะไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ เพราะมีการส่งออกถึงเดือนละ 1 ล้านตัน เป็นเวลาติดกันกว่า 6 เดือนแล้วนั้น นายวิโรจน์กล่าวว่าจะมีการควบคุมให้การส่งออกอยู่ที่ 9.6 ล้านตันต่อปี เพราะตามกลไกลตลาดแล้วหากราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นมากปริมาณการซื้อก็จะลดลง และในช่วงเดือนหลังคาดว่าปริมาณการส่งออกน่าจะลดลงไปอยู่ที่ 7-8 ล้านตัน ทั้งนี้สต็อกข้าวในประเทศมีอยู่กว่า 2.1 ล้านตันจะทำให้เราพ้นไปถึงเดือนตุลาซึ่งจะมีการเก็บเกี่ยวข้าว แต่หากปริมาณข้าวที่จะบริโภคในประเทศไม่เพียงพอ รัฐบาลก็ยังคงมีไม้เด็ดคือการห้ามส่งออก ซึ่งรัฐบาลนำมาใช้ได้หากคับขันจริงๆ


ทั้งนี้ การเสนอให้กำหนดราคาข้าวในประเทศและราคาข้าวส่งออกให้แตกต่างกันนั้น นายวิโรจน์ กล่าวว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้เกิดตลาดมืดการซื้อขายข้าว และทำให้การจัดการลำบาก ทั้งนี้ในส่วนของผู้ที่มีรายได้น้อยรัฐบาลได้จัดทำนโยบายข้าวถุงธงฟ้าจำนวนเดือนละ 2 แสนตันเป็นระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งคาดว่าน่าจะเพียงพอต่อความต้องการ


นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิชีววิถี กล่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมครั้งนี้ว่า เวทีใหญ่เพื่อนำเสนอข้อมูล แนวคิด แนวทาง ในการแก้ปัญหาวิกฤตการอาหารอย่างเป็นรูปธรรมสู่สาธารณะ รวมถึงเปิดประเด็นและข้อถกเถียงสู่สังคม ครั้งนี้เป็น 1ใน 3 เวที ซึ่งเวทีครั้งต่อไปในชื่อ "อนาคตเกษตรกรไทย ภายใต้วิกฤตการอาหาร" จะจัดขึ้น ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในวันที่ 18 พ.ค. เวลา 13.00-16.30 น.โดยจะมีพลเมืองอาวุโสและนักวิชาการร่วมพูดคุย อาทิ ศ.ระพี สาคริก นพ.ประเวศ วะสี นายเดช ศิริภัทร และนางรสนา โตสิตระกูล


ส่วนเวทีครั้งที่ 3 "สมัชชาความมั่นคงทางอาหาร" จะเป็นเวทีวิเคราะห์สถานการณ์การเกษตรและอาหารทั้งระบบ จัดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คาดว่าจะเป็นเวทีใหญ่ที่มีบุคคลจากองค์กรด้านความมั่นคงทางด้านอาหารเข้าร่วมกว่า 500 คน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net