Skip to main content
sharethis

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


 



'มิวเซียมสยาม' มองจากข้างนอก


ที่มาภาพ Sanook.com


 


"มิวเซียมสยาม" หรือ "พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้" เปิดให้ไปเรียนรู้กันแล้วตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2551  หลังตั้งตาคอยกันมาตั้งแต่ปี 2547 และลุ้นสุดตัวว่าจะมีอะไรต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ "แห่งชาติ" ต่างๆ ที่เคยมีมาหรือไม่ เป็นอย่างไรไปเดินชมฟรีได้ในช่วงนี้ ณ ที่อาคารทำการกระทรวงพาณิชย์เดิม ย่านท่าเตียน เขตกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน


 


ส่วนตัวหลังไปดูมาแล้ว 2 รอบ ภายใต้คอนเซ็ป "เรียนรู้อย่างแตกต่าง" ดูเหมือนว่า "มิวเซียมสยาม" มีความแตกต่างออกไปจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทั้งหลายทั้งในแง่ "รูปลักษณ์" และ "เนื้อหา"


 


 


"ลักษณ์ใหม่" ใน "มิวเซียมสยาม"


"พิพิธภัณฑ์" หรือ "Museum" เดิมเป็นทำเนียมอย่างฝรั่งที่ "สยาม" เพิ่งรับมาใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการแสดงความยาวนานของรากเหง้าเผ่าพันธุ์อันน่าภูมิใจ ผ่านวัตถุทางวัฒนธรรมที่ผ่านกาลเวลามาอวดโฉมจากรุ่นต่อรุ่น ถือว่าเป็นคุณค่าที่แสดงถึงความมีอารยะอย่างหนึ่งที่ชนชั้นนำตะวันตกใช้อวดต่อกันระหว่างบ้านต่อบ้าน เมืองต่อเมือง อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์กลายมาเป็นหน้าต่างของการทำความรู้จักความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมในเวลาต่อมา ฝรั่งจึงมีวัฒนธรรมของการเข้าพิพิธภัณฑ์ เมื่อไปบ้านเมืองไหนแล้วอยากรู้จักคนและบ้านเมืองนั้นว่าเป็นอย่างไร ก็มักต้องเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ก่อนเป็นอันดับแรก


 


พิพิธภัณฑ์จึงเป็นทั้งหน้าตาและประตูที่เปิดออกให้คนมาทำความรู้จักเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมกัน ในขณะเดียวกัน สำหรับคนภายในประเทศ พิพิธภัณฑ์เป็นประโยชน์มากในการสร้างความรู้เพื่อให้คนในชาติหรือในท้องถิ่นนั้นรู้จักเรื่องราวตัวเอง หลายประเทศจึงให้ความสำคัญอย่างสูงมากกับพิพิธภัณฑ์ อีกทั้งพิพิธภัณฑ์ยังมีนัยย์สะท้อนออกมาถึง "ทัศนคติ" หรือ "รสนิยม" ของชาตินั้นๆ อยู่ในที


 


สำหรับพิพิธภัณฑ์ไทย หลังกำเนิดขึ้นผ่านรอบประมาณร้อยปีมานี้ หลายคนมักพูดกันว่ายังไม่มีพิพิธภัณฑ์ดีๆ ที่เปิดการเรียนรู้ของชาติได้จริงเลย อาจเป็นเพราะวิวัฒนาการพิพิธภัณฑ์ไทยคลี่คลายมาจาก "หอคองคอเดีย" ซึ่งเป็นห้องแสดงของสะสมของรัชกาลที่ 5 ที่เคยเอาไว้อวดต่อฝรั่งยุคอาณานิคม เพื่อแสดงความมีอารยะอย่างฝรั่ง ต่อมาจึงย้ายไปสร้างพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรมในวังหน้า (หลังการสวรรคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ตำแหน่งวังหน้าหรือพระมหาอุปราชถูกยกเลิกทำให้วังหลังนี้ถูกนำมาใช้จัดแสดงพิพิธภัณฑ์) และกลายเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ" ในปัจจุบัน


 


ต้นกำเนิดพิพิธภัณฑ์ไทยที่มาจากการแสดงของสะสม คงทำให้แนวความคิดทางพิพิธภัณฑ์ดูจะหยุดนิ่งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจึงมักจัดวางวัตถุแสดงให้ผู้มาชมรู้สึกราวกับเดินไปในห้องเก็บของหรือกรุสมบัติ สิ่งของที่จัดแสดงก็มักให้ความสำคัญกับข้าวของเครื่องใช้ชั้นสูง เครื่องยศ พระพุทธรูป เกียรติประวัติด้านสงคราม หรือพระมหากรุณาธิคุณเมื่อไปยึดหัวบ้านเมืองไหนไว้ ของทุกอย่างถูกกั้นขวาง แตะต้อง หรือถ่ายภาพ เสมือนเป็นวัตถุกับคนที่อยู่กันคนละช่วงเวลา ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจึงดูคล้าย "หอเกียรติยศ" เสียมากกว่าสถานที่เรียนรู้ และเป็นทางเลือกท้ายๆ หากคิดจะหาที่ท่องเที่ยวพักผ่อนสักที่ในยามว่าง


 


อย่างไรก็ตาม ความจริงจังที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางพิพิธภัณฑ์ไทยดูเหมือนมีมาเป็นระยะ แต่มาเป็นรูปธรรมชัดเจนในปี 2547 เมื่อสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกาศจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 ซึ่งสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์มาลงตัวที่อาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม อาคารนี้เป็นอาคารแบบยุโรปที่ดัดแปลงเป็นไทยในบางส่วน สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 มีความโอ่โถงและมีพื้นที่รอบนอก ที่ตั้งนี้เชื่อมไปกับบริบทโดยรอบซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ และเค้าลางที่เห็นผ่านรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมยังทำให้มองจุดเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลาที่สำคัญซึ่งส่งต่อพัฒนาการมาเป็นยุคปัจจุบัน


 


"มิวเซียมสยาม" แม้จะใช้อาคารเก่าในอดีตเป็นที่ตั้งเช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอื่นๆ แต่เหมือนมีความตั้งใจปรับรูปลักษณ์ให้ดูทันสมัย เพราะเพียงปรายตามองจากภายนอกจะมองเห็นประติมากรรมที่เป็น "ศิลปะแบบร่วมสมัย" (มักดูไม่รู้เรื่องแต่เท่ห์) ชิ้นใหญ่สองสามชิ้นวางประดับที่ลานสนามหน้าพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นความใหม่ตัดกับฉากหลังเป็นอาคารเก่าอย่างมีสีสันที่ให้อารมณ์ไปอีกแบบ 


 


สำหรับการจัดแสดง "มิวเซียมสยาม" มีท่าทีในการแสดงออกแตกต่างไปจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอย่างเห็นได้ชัด การจัดวางแบบกรุสมบัติที่มีเจ้าของทำให้ไปดูทีสองทีก็เบื่อ เพราะไม่รู้ว่าไอ้หม้อรามชามไหที่โชว์ในตู้มันสำคัญไปกว่าโถส้วมสุขภัณฑ์กระเบื้องอย่างไร ป้ายที่บอกว่าเป็นอะไรก็เล็กเสียจนขี้เกียจอ่าน หรือมักบอกเพียงว่าเป็นอะไรสร้างในยุคสมัยไหนซึ่งเป็นชื่อแปลกๆ แต่ไม่รู้ว่ามีความเป็นมาเชื่อมโยงสัมพันธ์อะไรกับเรา เมื่อจะหันไปถามเจ้าหน้าที่ก็คล้ายกับเป็นของแสดงอันสงบนิ่งอีกชิ้นจนไม่กล้าที่จะเดินเข้าไปถามเพราะกลัวจะล่วงเกินมรดกแห่งกาลเวลาเข้าให้


 



ห้อง 'ไทยแท้' คำถามแรกๆ ก่อนเดินไปสู่ห้องอื่นๆ


 


ส่วน "มิวเซียมสยาม" แม้ไม่อาจพูดได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สุดยอดเลิศเลอ แต่มองเห็นความพยายามที่มุ่งเป้าในการทำให้ผู้มาชมได้เข้าถึงเนื้อหาที่สุด แม้บางส่วนจะติสต์แตกดูไม่รู้เรื่องเหมือนศิลปินร่วมสมัยกำลังแสดงงานศิลปะก็ตาม (คงเป็นความตั้งใจเพื่อแสดงรสนิยมบางอย่างที่บอกว่าไม่เชยล้าสมัย) แต่ก็กล่าวได้ว่าสำหรับการเริ่มต้นใหม่ของวงการพิพิธภัณฑ์  "มิวเซียมสยาม" เป็นเครื่องมือเล็กๆ ที่สามารถพาเราย้อนทวนกลับมามองดูตัวเองได้ "ไทยแท้" มีความหมายและถูกประกอบสร้างขึ้นมาอย่างไร


 



เล่นเกมส์ สนุกดี ได้ความรู้


 


ที่สำคัญ ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ คือ ในการค้นหาและเรียนรู้ ผู้ชมไม่ถูกกันออกไปจากวัตถุแต่สามารถเข้าไปร่วมสนุกได้ตั้งแต่การอ่านเนื้อหา การสัมผัส การถ่ายรูปที่ระลึก การเล่นเกมส์ การชมหนังที่จินตนาการขึ้นใหม่จากหลักฐานและข้อมูลทางวิชาการ เป็นชักนำให้อยากเรียนรู้และนึกคิดกับมันได้เองอย่างจริงจัง แม้แต่เด็กๆ ยังบอกเพื่อนมันว่า (แอบฟังมา) มาแล้วสนุก มาหลายรอบแล้ว หนังห้องแรกดูไม่รู้เรื่องแต่ข้ามๆ ไปเล่นเกมส์ห้องอื่นได้


 



เจ้าหน้าที่ประจำตามจุดต่างๆ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม  


 


ส่วนใครดูแล้วอยากได้ข้อมูลหรือคำบรรยายเพิ่มเติม "มิวเซียมสยาม" ค่อนข้างให้ความสำคัญกับ "ผู้ช่วย" มากกว่า "ผู้เฝ้า" ด้วยการจัดคนไว้ (มากมาย) เพื่อให้ข้อมูลได้อย่างใกล้ชิด แม้บางทีจะใกล้ชิดเกินไปจนน่าอึดอัด เพราะเหมือนกำลังเดินช้อปปิ้งแล้วมีคนมาถามมาอธิบายตลอดเวลา ทำให้ไม่กล้าดูอะไรนานๆเพราะ "คนไทย" ต้อง "ขี้อาย" และอยากเรียนรู้ของใหม่ด้วยตัวเองบ้างจึงทำให้ต้องเลี่ยงๆ บางจุดไปบ้าง แต่สำหรับการเริ่มต้นเพื่อปรับตัวก็อาจเป็นเรื่องที่จำเป็น


 


 


"เนื้อใหม่" ใน "มิวเซียมสยาม"


"หอเกียรติยศ" มักมีเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวที่ไม่ได้เป็น "ประวัติศาสตร์สังคม" แต่เป็นการผูกขาดการนำเสนอไว้เฉพาะประวัติศาสตร์ของสถาบันพระมหากษัตริย์หรือชนชั้นบนเป็นส่วนใหญ่และเป็นเช่นนี้เสมอมา


 



ตราสัญลักษณ์ 'ท่ากบ'


 


แต่ "มิวเซียมสยาม" ตั้งใจทำเนื้อให้ต่างออกไปด้วย ตั้งแต่การเลือกสัญลักษณ์ เป็น "คนเต้นกบ"  สีน้ำตาลแดง สัญลักษณ์นี้เหมือนคนนอนแผ่ กางแขน กางขา เหมือน "กบ" เป็นการสื่อความหมายทางรากเหง้าของ "คน" และ "พื้นที่" ที่ต้องการพูดถึงประวัติศาสตร์กันใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น


 


ทำไมต้องเป็น "คนสีแดง" ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาพนี้คล้ายกับภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ สื่อความหมายว่าคนเราเกิดมาตัวเปล่าเล่าเปลือยกันทั้งนั้น เสื้อผ้าแม้แต่บิกินี่ตัวน้อยสักชิ้นติดตัวมาก็ไม่มี ยิ่งยุคแรกๆ คนที่นี่ยังไม่รู้จักการทำเครื่องนุ่งห่ม เมื่อคนที่อารยธรรมสูงกว่า เช่น อินเดีย มาแถวนี้สมัยคนพื้นถิ่นยังเปลือย เขาเรียกคนพื้นถิ่นที่เปลือยว่า "นาค" ที่หมายถึง สัตว์จำพวกงู ไม่มีขน ไม่มีเกล็ด แต่ลอกคราบได้ตามกำหนด นาคยังเป็นสัญลักษณ์ของน้ำใต้บาดาลและน้ำฟ้าจากสวรรค์ เป็นปัจจัยสำคัญของการเพาะปลูก  "คน" จึงอยู่ในตราสัญลักษณ์โดยไม่ระบุเพศและเผ่าพันธุ์


 


ส่วนทำไม่ "คน" ต้องทำท่า "กบ" นั่นก็เพราะกบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ที่คนถิ่นนี้ยึดถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มาก่อน บนเครื่องประโคมในพิธีกรรมเพื่อขนฝนฟ้ามาอำนวยการเกษตรและความสมบูรณ์ เช่น บนกลองมโหระทึกก็จะมีรูปกบ (ปัจจุบันกลองนี้ยังใช้ในพิธีกรรมแรกนาขวัญ ไปดูได้ในวันพืชมงคลที่จะถึงนี้) คนโบราณพื้นถิ่นนี้อาจเต้นท่ากบในพิธีกรรมด้วยดังจะเห็นได้จากภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่เขตมณฑลกวางสีในจีนมาถึงไทยมีภาพลักษณะนี้จำนวนมาก ในขณะที่บางกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคนี้ในปัจจุบันยังมีพิธีกรรมที่เต้นท่ากบหลงเหลืออยู่


 


จากตราสัญลักษณ์ มาสู่เนื้อหาของการจัดแสดงภายใต้นิทรรศการที่ชื่อ "เรียงความประเทศไทย" ซึ่งให้ความสำคัญมากกับการตั้งคำถามว่า "เราคือใคร" และ "ความเป็นไทยหมายถึงอะไร"


 


เนื้อหาการจัดแสดงไม่แบ่งตามยุคสมัย ไม่เริ่มชาติไทยตั้งแต่สุโขไทย ไปอยุธยา มากรุงรัตนโกสินทร์ หรือแบ่งเนื้อหาตามแว่นแคว้นอาณาจักร แต่เริ่มด้วยการให้ดูหนังสั้นแนวศิลปะร่วมสมัยเรื่องหนึ่งที่เสมือนการเกริ่นคำถาม ถึงดูไม่รู้เรื่องตามแบบหนังสั้นแนวติสต์ๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะสามารถไปหาคำตอบที่รู้เรื่องได้ในห้องต่อๆ ไป


 


คำว่า "สุวรรณภูมิ" ถูกให้ความสำคัญค่อนข้างมาก มีห้องนิทรรศการใหญ่คือ "เปิดตำนานสุวรรณภูมิ" เริ่มเล่าตั้งแต่พื้นที่ภูมิศาสตร์สมัยกรุงเทพฯ ยังเป็นทะเลตม ไม่มีคนอยู่อาศัย ไม่มีชื่ออยู่ในช่วงเวลานั้นไปจนถึงการแสดงหลักฐานที่นักโบราณคดีขุดพบตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรียกง่ายๆ ก็คือพูดกันตั้งแต่เรื่องยุคหิน


 


ส่วนเนื้อหาที่จัดแสดงค่อนข้างละเอียด หากตั้งใจอ่านและอ่านไปทุกห้อง ทุกถ้อยความ จะมีประโยชน์มากแต่คงต้องใช้เวลามาก อย่างไรก็ตาม ถ้าเวลาน้อยและเบื่อกับการอ่าน ห้องนี้มีนักโบราณคดี (ในจอโทรทัศน์) คอยตอบคำถามที่มักถูกถามไว้อธิบายอยู่แล้ว


 



ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช นักโบราณคดีในทีวีคอยตอบคำถาม


 


การให้ความสำคัญกับ "สุวรรณภูมิ" คือการให้ความสำคัญกับความหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์ซึ่งพื้นถิ่นนี้มีมากมาย รวมไปถึงความเชื่อก็มีมากมายทั้งผีที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มมาจนถึงศาสนานำเข้าอย่างพุทธหรือพราหมณ์ ในขณะที่สภาพทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมการเกษตรกรรมและข้าว เทคโนโลยีอย่างการโลหะกรรมที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการค้าขายที่ไม่ได้เป็นแค่การค้าแต่เป็นการแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมในหลายด้าน ทั้งหมดรมกันเป็น "สุวรรณภูมิ" ที่มีพัฒนาการต่อมากลายเป็นรัฐหรืออาณาจักรต่างๆในเวลาต่อมา และ "สยาม" ก็มีกำเนิดมาจากความหลากหลายนี้


 



ถ่ายภาพที่ระลึก 'วิวัฒนาการมนุษย์'


 


"มิวเซียมสยาม" มอง "สยาม" และ "ความเป็นไทยอย่าง" แตกต่างไปประวัติศาสตร์ชาติที่เคยร่ำเรียนกันมานาน จึงจัดนิทรรศการทั้งเรื่อง "กำเนิดสยามประเทศ" และ "อยุธยามาจากไหน" ใครที่เคยเรียนมาว่าเป็นเมืองหลวงที่เกิดหลังจาก "สุโขทัย" ล่มสลาย แต่ดูเหมือนที่นี่จะบอกว่าไม่ใช่เสียแล้ว เป็นอย่างไรก็คงต้องไปเรียนรู้อย่างแตกต่างกันเอาเอง


 


ในส่วนขอบเขตหรือดินแดนในแผนที่ "มิวเซียมสยาม" บอกว่าก่อนนี้ "สยาม" ไม่มีแผนที่และขอบเขต ฝรั่งเคยอยากรู้ไปถามพระเจ้าแผ่นดินก็ตอบเพียงว่าให้ไปถามคนแถวนั้นเอาเอง เขาจะรู้ว่าขอบเขตที่ดินอยู่ตรงไหน ความคิดเรื่อง "ดินแดน" ที่ชัดเจน มีเส้นแบ่งเป็นแผนที่จึงเป็นเรื่องมาทีหลังโดยเฉพาะช่วงอาณานิคม แต่เรื่อง "แผนที่" และ "ดินแดน" เป็นมายาคติที่เกาะกุมความเป็นชาติไทยมานาน ห้ามใครเหยียบและเกลียดพม่า "มิวเซียมสยาม" มีความแตกต่างในทางเนื้อหามุมนี้มาให้เรียนรู้กันใหม่ด้วย


 


ไปจนถึงห้องท้ายๆ "แปลงโฉมสยามประเทศ" และ "กำเนิดประเทศไทย" เป็นเรื่องใหม่ที่พิพิธภัณฑ์ไทยและหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไทยมักไม่พูดถึงหรือพูดถึงคล่าวๆแล้วผ่นเลย โดยเฉพาะเรื่องราวหลัง พ.. 2475 หรือหลังสิ้นสุดของ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" แต่ที่นี่จำลองบรรยากาศและการสร้างชาติ "ไทย" นับแต่นั้นมาซึ่งยังส่งอิทธิพลมาจนปัจจุบัน


 


 


สิ่งที่ยังไม่ได้เรียนรู้อย่างแตกต่าง


คงไม่ได้มีคำชมอย่างเดียว เดินจนจบแล้วเหมือนยังนึกเสียดาย "มิวเซียมสยาม" ยังไม่ได้ทำให้ได้เรียนรู้อย่างแตกต่างในเป็นเรื่องสำคัญของสังคมไทยไปเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นปัญหามากที่สุดในเวลานี้ และต้องการการเรียนรู้อย่างเร่งด่วน


 


ในความเป็นสยามการเรียนรู้ความแตกต่างในทางชาติพันธุ์ และความเชื่อก็พูดไปพอสมควรแล้ว แต่หลังเป็นไทยมี "ความแตกต่างทางความคิด" ซ่อนอยู่อย่างเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ถูกพูดถึงและไม่เคยถูกพูดถึงเลยในพิพิธภัณฑ์หรือในการเรียนรู้แบบแห่งชาติ


 


"มิวเซียมสยาม" หยุดประวัติศาสตร์ไว้ที่ พ.. 2575 แล้วข้ามมาถึงวิถีชีวิตของชนชั้นกลางในเมืองยุคสงครามเย็นที่โลกแบ่งเป็นขั้วประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ช่วงเวลานั้นมีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทย แล้วจึงข้ามอุโมงค์เวลามาสู่โลกปัจจุบัน


 


แต่มีประวัติศาสตร์ระยะใกล้ช่วงหนึ่งหายไปทั้งที่เป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติ และมันถูกทำให้หายไปเสมอมา


 


ในสังคมไทยตั้งแต่ยุคสงครามเย็นหรือก่อนหน้านั้นซึ่งอาจนับไปได้ตั้งแต่ยุคล้มล้างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีแนวความคิดที่แตกต่างจำนวนหนึ่งสะสมอยู่ในสังคมไทยเสมอมามีการเคลื่อนตัวจนกลายเป็นประวัติศาตร์อีกชุดหนึ่งที่ต้องการการเรียนรู้และศึกษาอย่างแตกต่าง นั่นคือ "ประวัติศาสตร์ของประชาชน" ที่ผูกโยงกับประวัติศาสตร์ของ "ประชาธิปไตย"


 


พลวัตรทางของความแตกต่างทางความคิดที่ว่านี้สามารถนำไปสู่การเคลื่อนตัวของนักศึกษาและประชาชนครั้งประวัติศาสตร์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2514 แต่ก็ยังไม่มีเรื่องนี้ให้เรียนรู้อย่างแตกต่างแม้แต่ใน "มิวเซียมสยาม"


 



เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประวัติศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้แต่หายไป


 


ยิ่งหลังจากนั้น "ความแตกต่างทางความคิด" ที่ไม่เคยได้รับการเรียนรู้อย่างแตกต่างและทำให้ยอมรับในความแตกต่างเลยก็นำมาซึ่งการปราบปรามความแตกต่างอย่างนองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และการไม่ยอมให้เรียนรู้นี้กำลังทำให้วงล้อในครั้งนั้นหมุนรอบกลับมาอีกครั้ง..ไม่รู้อะไรจะเกิดในปัจจุบันอันใกล้และไม่รู้ว่าวงล้อแบบนี้จะหมุนไปอีกรอบ


 


เรื่องแบบนี้หาก "มิวเซียมสยาม" ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติยังไม่มีให้เรียนรู้ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรประวัติศาสตร์ชาติที่หายไปเรื่องนี้จะได้ถูกนำมาให้เรียนรู้อย่างแตกต่างกันเสียที 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net