Skip to main content
sharethis


ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หาเสียงแบบเคาะประตูบ้าน ในย่านนอกกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลเมื่อ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา (AP Photo/Ed Wray)


 


ในวันนี้ (10 เม.ย.) ที่เนปาล จะมีการเลือกตั้งประวัติศาสตร์ครั้งแรกในรอบ 9 ปี เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ 601 ที่นั่ง อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายตามข้อตกลงเมื่อเดือน พ.ย. 2549 ระหว่างกลุ่มกบฏนิยมเหมาอิสต์กับพรรคการเมืองต่างๆ ของเนปาล เพื่อยุติสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มกบฎตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 13,000 คน


 


วานนี้ (9 เม.ย.) หนึ่งวันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในเนปาล กษัตริย์คเยนทราออกมาเชิญชวน "ประชาชนที่รัก" ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งคาดหมายกันว่าพรรครัฐบาลและกลุ่มเหมาอิสต์จะอาศัยการเลือกตั้งนี้เพื่อยกเลิกสถาบันกษัตริย์เนปาล


 


"นี่เป็นความปรารถนาของพวกเราเสมอ ในการสร้างความผาสุกและความมั่นคั่งของประเทศด้วยแนวทางประชาธิปไตย ในอันที่จะรักษาสิทธิเสียงแห่งอำนาจอธิปไตยของปวงชน" แถลงการณ์ของพระองค์ระบุ


 


"เราเรียกร้องให้ประชาชนออกไปแสดงสิทธิในระบอบประชาธิปไตยภายใต้บรรยากาศที่เสรีและยุติธรรม"


 


เป็นเรื่องชวนตลกอย่างยิ่ง ที่แถลงการณ์ของพระองค์ออกมาในช่วงที่ประเทศยากไร้ในเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้จะมีการเลือกตั้งขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ในวันพฤหัสบดีนี้ (10 เม.ย.) ซึ่งยากยิ่งที่จะมีใครยึดมั่นอยู่กับกษัตริย์ ขณะที่ชาวเนปาลเองก็ไม่มีโอกาสที่จะตัดสินอนาคตประเทศผ่านการเลือกตั้งเช่นนี้บ่อยครั้งนัก


 


ฝ่ายอดีตกบฎเหมาอิสต์ต่อสู้ในสงครามกลางเมืองมายาวนานกว่า 10 ปี เพื่อล้มเลิกสถาบันกษัตริย์เนปาลอันมีอายุกว่า 240 ปี ได้เลือกเอาหนทางการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญมาตัดสินอนาคตของสถาบันกษัตริย์


 


อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองหลักกับกลุ่มกบฎเหมาอิสต์ได้ตกลงกันในการประชุมภายในเมื่อปลายปีที่แล้วว่า จะยกเลิกสถาบันกษัตริย์ และเนปาลจะถูกสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้ง


 


การเลือกตั้งสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงเป็นเพียงตรายางเพื่อประทับรับรองการตัดสินใจล่วงหน้านั้น


 


ในการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของกษัตริย์คเยนทรากับหนังสือพิมพ์โยมิอุริของญี่ปุ่น พระองค์ตรัสว่าการตกลงของพรรคการเมืองหลักดังกล่าวไม่ใช่เสียงของคนส่วนใหญ่ "นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย" และพระองค์ตรัสว่าชาวเนปาลมีสิทธิที่จะตัดสินอนาคตของสถาบันกษัตริย์เอง


 


 


000


 


และคำถามต่อมาคือ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นไปด้วยเสรีภาพและความยุติธรรมเพียงไร


 


โดยสหประชาชาติได้จับตามองกระบวนการสันติภาพหลังการเลือกตั้ง ได้กล่าวหาว่ากลุ่มเหมาอิสต์มีการข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และขัดขวางการรณรงค์หาเสียงในบางพื้นที่ๆ กลุ่มเหมาอิสต์เคยตั้งฐานที่มั่น ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ ถูกกลุ่มเหมาอิสต์กล่าวหาว่าใช้กลไกของรัฐเพื่อจูงใจผู้สิทธิเลือกตั้ง


 


มีพลพรรคเหมาอิสต์ 8 รายเสียชีวิต หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนสลายฝูงชนสองกลุ่ม เมื่อคืนวันอังคารต่อกับช่วงเช้าตรู่ของวันพุธ โดยตำรวจกล่าวว่าทำไปเพื่อป้องกันตัวเอง


 


มีผู้สมัครสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากพรรคการเมืองพรรคหนึ่งถูกดึงตัวออกมาจากกลุ่มผู้สนับสนุนของเขาในเมืองเซอร์เค (Surkhet) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และถูกยิงเข้าที่ลำตัว ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล โดยสหประชาชาติกล่าวว่าความตายนี้เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจเป็นที่สุด


 


กลุ่มติดอาวุธในภูมิภาคเทไร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเนปาล ยังเรียกร้องและขู่ให้ประชาชนในแถบนั้นคว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยกลุ่มติดอาวุธกล่าวว่าไม่เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งจะทำให้พวกเขามีเขตปกครองตนเองอย่างแท้จริง


 


แต่ประชาชนจำนวนมากในภูมิภาคเทไร ศูนย์กลางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของเนปาลและมีประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศอยู่ที่นี่ ตัดสินใจว่าไม่ว่าอย่างไรก็จะตัดสินอนาคตด้วยการเลือกตั้ง


 


นายราจีป ชาฮาย พ่อค้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในเมืองชนัคปุร์กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มติดอาวุธในภูมิภาคเทไรว่า "นี่เป็นการขู่ชัดเจน, แต่เราจะไปที่คูหาเพราะเราเชื่อว่ากระสุนและปืนไม่มีวันชนะสงคราม การเลือกตั้งเท่านั้นที่จะประกันสิทธิเสรีภาพของเรา"


 


แม้กษัตริย์คเยนทรา แห่งเนปาล ผู้ยึดอำนาจและทำให้เนปาลกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2548 และจำต้องสละพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์กลับสู่ระบอบรัฐสภาในเดือนเมษายนปีถัดมา จะถูกอธิบายบ่อยครั้งว่า พระองค์เป็นผู้ที่ไม่ได้รับความนิยมในเนปาล อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าสถาบันกษัตริย์เนปาลจะถูกยกเลิก หากมีการลงคะแนนเพื่อชี้ชะตาอนาคตของสถาบันกษัตริย์


 


ผลการสำรวจความคิดเห็นหรือโพลล์ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนกว่าครึ่งของเนปาลสนับสนุนให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจแต่เพียงสัญลักษณ์ และมีจำนวนน้อยมากที่สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์


 


นายคุนดา ดิซิท (Kunda Dixit) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เนปาลีไทม์กล่าวว่า "ประชาชนต้องการสถาบันกษัตริย์ แต่พวกเขาไม่ต้องการกษัตริย์พระองค์นี้และไม่ต้องการมกุฏราชกุมารของพระองค์ คุณจะยอมได้อย่างไร ในเมื่อผู้คนส่วนใหญ่รวมทั้งพวกนิยมสถาบันกษัตริย์ไม่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา


 


กบิล เชษฐา อาจารย์รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยตรีภูวันในกรุงกาฐมาณฑุ บอกว่า ชาวเนปาลส่วนใหญ่ไม่ชอบกษัตริย์คเยนทรา แต่ยังเคารพนับถือสถาบันกษัตริย์และราชวงศ์อยู่


 



สุชาดา โคอิราลา บุตรสาวและทายาทการเมืองของนายกรัฐมนตรีกิริยา ปราสาท โคอิราลา ของเนปาล บอกว่า อยากให้มีราชวงศ์สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศต่อไป เนื่องจากเนปาลเป็นประเทศฮินดู แต่กษัตริย์ต้องไม่ใช่พระองค์นี้


 


การตกต่ำลงของกษัตริย์จากการได้รับความเคารพ จึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นกันอย่างน่าตื่นเต้น


 


 


000


 


คเยนทราขึ้นเป็นกษัตริย์เนปาล ใน พ.ศ.2544 หลังเหตุสังหารกษัตริย์พิเรนทร์เทพและสมาชิกในพระราชวงศ์ชาห์ 8 ราย โดยพระโอรสของ "พิเรนทร์เทพ" เอง ก่อนที่พระโอรสผู้นั้นจะสังหารพระองค์ตาม


 


กษัตริย์คเยนทราได้ปกครองประเทศผ่านรัฐบาลหุ่นเชิดของพระองค์ ก่อนที่จะทรงยึดอำนาจการปกครองมาเป็นระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ ซึ่งไม่นานก็ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี้ก็ต้องพังลงหลังการออกมาประท้วงของประชาชนในเดือนเมษายนปี 2548


 


ก่อนที่คเยนทราจะขึ้นเป็นกษัตริย์ เขาประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจมาก่อน โดยกิจการของเขาคือการทำไร่ชา ยาสูบ และบ่อนกาสิโน มีการคาดเดากันว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ชะตากรรมของเขาจะเป็นอย่างไร แต่ฝ่ายเหมาอิสต์กล่าวว่าเขาจะได้รับอนุญาตให้อยู่อย่างเป็นอิสระ หากเขายอมรับ "คำพิพากษาของมวลชน"


 


ฝ่ายนิยมสถาบันกษัตริย์เรียกร้องการลงประชามติต่อประเด็นสถาบันกษัตริย์ และพยายามท้าทายด้วยประเด็นกฎหมาย โดยตั้งคำถามถึงความชอบธรรมทางกฎหมายของการตัดสินใดๆ ก็ตาม ที่จะยกเลิกสถาบันกษัตริย์ แต่ฝ่ายนิยมสถาบันกษัตริย์ ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้มากไปกว่าซื้อใจกษัตริย์ในช่วงเวลาสั้นๆ


 


รายงานล่าสุดในคืนก่อนการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีเนปาล นายกิริยา ปราสาท โคอิราลา เชิญชวนให้ประชาชนเนปาลลงคะแนนโดยปราศจากความกลัว และเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองเคารพผลการเลือกตั้ง


 


"นับเป็นวันที่สำคัญแห่งช่วงชีวิตหนึ่งของประเทศ นี่จะเป็นการเปิดประตูไปสู่เนปาลยุคใหม่" เขากล่าวในแถลงการณ์


 


บนท้องถนนในกรุงกาฏมาณฑุ ยามนี้ ความรู้สึกในการสร้างประวัติศาสตร์ได้ผสมกับการเยาะเย้ยถากถาง ว่าผู้นำทางการเมืองจะสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เนปาลต้องการได้หรือไม่


 


ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก


Nepal king, facing ouster, urges people to vote, By Simon Denyer, Reuters, 9 April, 2008.


(Additional reporting by Gopal Sharma in Kathmandu and Bappa Majumdar in Janakpur; Editing by Krittivas Mukherjee and Jerry Norton)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net