Skip to main content
sharethis


 


ทางการจีนจับคนวิจารณ์กีฬาโอลิมปิก ข้อหายุยงให้มีการล้มล้างรัฐบาล


 


ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ทางครอบครัวและทนายความของ หยาง ชุนลิน กล่าวว่าเขาได้ถูกทางการจีนจับกุมและต้องโทษจำคุก 5 ปี ในข้อหายุยงให้เกิดการล้มล้างรัฐบาล โดยการเรียกร้องให้เห็นแก่สิทธิมนุษยชนมาก่อนกีฬาโอลิมปิก


 


หยาง ชุนลิน เป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังตกงาน อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง เจียมูเซ (Jiamusi) ในมลฑลไห่หลงเจียง (Heilongjiang) ได้ถูกจับสอบสวนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากที่เขาช่วยชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงร้องเรียนเรื่องปัญหาการครองดินแดน โดนประเทศว่า "พวกเราไม่ต้องการโอลิมปิก พวกเราต้องการสิทธิมนุษยชน"


 


หยาง ชุนปิง น้องสาวของเขา บอกว่าเหตุผลที่เขาถูกจับขังมาจากบทความที่เขาโพสท์ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐสภาจีน พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองประเทศอยู่ รวมถึงวิจารณ์ตัวระบอบคอมมิวนิสม์เอง


 


"เขาบอกว่า เขาไม่ได้มีความผิด เขาแค่ใช้อิสรภาพในการแสดงความเห็นและการเสนอข่าวสารเท่านั้น แต่เป็นเพราะทางศาลขาดความชอบธรรมทางกฎหมาย เขาบอกว่าอุทธรณ์ไปก็ไร้ประโยชน์"


 


ทนายความ ลี ฟางปิง ยืนยันในเรื่องคำตัดสิน แต่ก็ให้ข้อมูลว่า หยาง ชุนลิน ยังคงเชื่อว่าตนบริสุทธิ์


 


"เขาเชื่อว่าเขาไม่ผิด" ลี กล่าว "หลังจากมีคำตัดสินอย่างเป็นทางการออกมาแกพวกเรแล้ว เขามีเวลาอีก 10 วันในการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ดังนั้น พวกเราหวังว่าเราจะนั่งลงปรึกษากับเขาให้เขาได้ตัดสินใจเลือกอย่างจริงจัง ว่าจะอุทรณ์หรือไม่"


 


หารเรียกร้องได้ไปแตะต้องเรื่องละเอียดอ่อนของประเทศคอมมิวนิสต์ที่กำลังทุ่มเททุกอย่างให้กับการจัดเตรียมกีฬาโอลิมปิก มีความหวังว่าการนำของจีนจะทำให้กีฬาโอลิมปิกที่จะเริ่มในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ กลายเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและสังคมที่เป็นเอกภาพ


 


พนักงานอัยการ (ผู้ฟ้องร้อง) บอกว่าการเรียกร้องสิทธิในครั้งนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของจีนต่อนานาชาติด่างพร้อยและจะนำไปสู่การต่อต้านรัฐบาล


 


ในช่วงที่เลขาธิการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ นายเดวิด มิลลิแบงค์ ได้เข้าเยี่ยมกรุงปักกิ่ง ในช่วงปลายกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีน หยาง เจียชี ได้พูดปกป้องตัวเองในเรื่องสิทธิมนุษยชนของจีน


 


"ประชาชนในจีนกำลังสนุกสนานกับอิสรภาพทางการสื่อสารที่มีมากขึ้น" รัฐมนตรีหยางกล่าวแก่ผู้สื่อข่าว "จะไม่มีใครถูกจับกุมจากการที่บอกว่า "สิทธิมนุษยชนสำคัญกว่าโอลิมปิก" อย่างแน่นอน"


 


"ลองให้คนตามท้องถนนสักสิบคนไปเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แล้วบอกให้พวกเขาพูดว่า "สิทธิมนุษยชนสำคัญกว่ากีฬาโอลิมปิก" สักสิบครั้งหรือแม้กระทั่งร้อยครั้งดูสิ แล้วจะผมจะได้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนไหนจะจับเขาเข้าคุก"


 


 


ผู้ประท้วงเรื่องสิทธิมนุษยชน เล็ดรอดเข้าไปก่อกวนพิธีจุดคบเพลิง


 


วานนี้ (24 มี.ค.) มีการประท้วงเรื่องสิทธิมนุษยชนกับเรื่องที่จีนเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมในทิเบตอย่างรุนแรง ซึ่งได้เป็นการก่อกวนพิธีจุดคบเพลิงโอลิมปิกที่ประเทศกรีซ


 


มีชาวฝรั่งเศสสามคนจากกลุ่มสิทธิสื่อได้ฝ่าการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนารอบๆ เมืองโอลิมเปีย เพื่อที่จะเข้าไปโบกธงเพื่อเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิก ต่อมานักกิจกรรมชาวทิเบตอีก 10 คน ได้ทำการประท้วงด้วยตัวเองที่ถนนสายหลักของเมือง ก่อนที่จะถูกตำรวจไล่จับ


 


ชาร์กค์ รอจจ์ ประธานคณะกรรมการจัดงานกีฬาโอลิมปิก ยืนยันว่าจะไม่มี "แรงปะทะ" (โมเมนตัม) ที่จะทำให้เกิดการบอยคอตต์มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่จะเริ่มในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ได้


 


สมาชิกสามคนจาก รีพอร์ทเตอร์ ซานส์ ฟรอนเทียร์ส (นักรายงานข่าวไร้พรมแดน หรือ RSF) ก็ได้เริ่มการประท้วงเป็นครั้งแรกในช่วงที่ประธานการจัดงานโอลิมปิกของจีน หลิว ฉี ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มกล่าวสุนทรพจน์ก่อนจะมีการจุดคบเพลิง


 


มีคนหนึ่งกางธงออกมา โดยที่บนธงผืนนั้นมีข้อความว่า "คว่ำบาตรประเทศที่เหยียบย่ำสิทธิมนุษยชน" อีกคนหนึ่งพยายามจะคว้าเอาไมโครโฟนจากหลิวและตะโกนว่า "อิสรภาพ! อิสรภาพ!" ต่อหน้ารอจจ์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนที่นั่งดูอยู่


 


ก่อนที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะรี่เข้ามาดึงตัวทั้งสามออกไปอย่างรวดเร็ว ตำรวจกรีกก็ได้ให้การรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา โดยมีตำรวจติดอาวุธคอยสอดส่องอยู่บนที่ตั้งใกล้ๆ กับเนินเขา


 


โทรทัศน์ของรัฐบาลกรีกได้ตัดภาพการถ่ายทอดสดออกไปจากกลุ่มผู้ประท้วง ทางด้านสถานีของรัฐบาลจีนก็เปลี่ยนภาพอย่างรวดเร็วและไม่ได้เอ่ยถึงผู้ประท้วงอีกเลย


 


จากนั้น นักแสดงในชุดกรีกโบราณได้ทำพิธีกรรมตามประเพณีต่อไป มีการจุดคบเพลิงต่อโดยใช้กระจกพาราโบลิก (กระจกแบบเดียวกับที่ใช้ในกล้องส่องทางไกล) เพื่อที่จะสร้างจุดรวมแสงจากดวงอาทิตย์


 


แต่ขณะที่พิธีกรรมกำลังดำเนินไป ก็มีนักกิจกรรมชาวทิเบต 10 คน ทาตัวสีแดง แห่ออกมาจากโรงแรมในโอลิมเปีย มานอนอยู่ถนนสายหลักของเมือง ตะโกนสโลแกนต่อต้านการปกครองของจีนในทิเบต มีอยู่อย่างน้อยสองคนถูกตำรวจจับกุมและที่เหลือหนีไปได้


 


"ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องเศร้าทุกครั้งที่ได้เห็นการประท้วง แต่มันยังไม่เกิดความรุนแรง นั่นแหละสำคัญที่สุด" รอจจ์ประธาน IOC ออกกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวเหตุการณ์


 


ซึ่งในช่วงก่อนจะมีพิธีการ รอจจ์บอกเอาไว้ว่า "ผู้นำทางการเมืองใหญ่ๆ ไม่ต้องการให้มีการบอยคอตต์หรอก" เขาเสริมอีกว่า "จะไม่มีแรงอะไรมาปะทะมากพอจนเกิดการบอยคอตต์ได้"


 


"บุชเองก็ไม่ต้องการให้มีการบอยคอตต์ ซาร์โคซี่ก็ไม่ต้องการให้มีการบอยคอตต์ บราวน์ก็ไม่ต้องการให้เกิดเช่นกัน" รอจจ์พูดถึง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู บุช, ประธานาธิบดี นิโคลาส ซาร์โคซี่ของฝรั่งเศส และ กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ


 


แต่เขาก็ยอมรับว่า ระหว่างการวิ่งส่งทอดคบเพลิงข้ามผ่าน 20 ประเทศ ซึ่งต้องผ่านเทือกเขาเอเวอร์เรสของทิเบตด้วยนั้น มีความเป็นไปได้ว่าคบเพลิงจะถูกไฮแจ๊กค์ไป


 


"แน่นอนว่ามันน่ากังวลกับเรื่องนี้" เขาบอก "ผมคงหวังว่านักประท้วงที่ฉลาดพอคงจะเข้าใจว่า ความเห็นของคนส่วนใหญ่คงไม่อยากให้การวิ่งส่งทอดคบเพลิงต้องถูกป้ายสีด้วยการประท้วงทางการเมือง มันจะเป็นส่งผลในทางลบกับพวกเขาเอง"


 


ในสุนทรพจน์ที่รอจจ์กล่าวที่พิธีจุดคบเพลิงโอลิมปิก เขาบอกว่า ปักกิ่งเกมส์ควรจะเป็นโอกาสให้กับประเทศจีนและโลกใบนี้ได้ "เรียนรู้ ค้นหา แล้วก็เคารพกันและกัน"


 


 


จีนดำเนินคดีผู้ประท้วงแล้ว ด้าน รบ.ทิเบตพลัดถิ่นรายงานผู้เสียชีวิตพุ่ง 130 ราย


 


รัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตที่อยู่ในประเทศอินเดีย รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในลาซาเพิ่มเป็น 130 คนแล้ว แต่เนื่องจากทางการจีนกันนักข่าวต่างประเทศออกจากพื้นที่ทิเบตและเขตใกล้เคียงแล้ว ทำให้ยากที่จะพิสูจน์ความจริง


 


ฉาน ฮุยมิน โฆษกหญิงของกรมตำรวจ ให้ข้อมูลว่า มีห้าคนถูกจับกุมในลาซา ในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพย์สินในช่วงการประท้วง เขาบอกว่ามีผู้หญิงชาวทิเบตสามคนจากที่ถูกจับยี่สิบคนออกมายอมรับข้อหาทำลายทรัพย์สินและสารภาพความผิด ในส่วนของอีกสองคนที่เหลือยังคงอยู่ในระหว่างการสอบสวน และยังไม่สามารถระบุข้อหาได้อย่างแน่ชัด


 


"คดีเรื่องทำลายข้าวของนี้ทำให้เห็นว่า เหตุการณ์ในวันที่ 14 ไม่ใช่การชุมนุมหรือการประท้วงอย่างสงบ มันเป็นแค่เหตุการณ์รุนแรงสาหัสหมดนั่นแหละ" เขาบอกในการประชุมข่าว


 


 


นานาชาติสนใจเรื่องความขัดแย้ง แต่ไม่บอยคอตต์โอลิมปิก


 


ผู้ที่สนับสนุนการปกครองตนเองของทิเบตในประเทศต่าง ๆ บอกว่าพวกเขาจะประท้วงต่อต้านโอลิมปิกในครั้งนี้ และโดยเฉพาะจะต่อต้านการวิ่งคบเพลิงผ่านพื้นที่ขัดแย้ง


 


แต่ทางคณะกรรมการโอลิมปิกของเยอรมนีตัดสินใจที่จะไม่บอยคอตต์มหกรรมกีฬาครั้งนี้ แม้ว่าพวกเขาจะแสดงออกว่ารู้สึกเป็นห่วงเกี่ยวกับเหตุรุนแรงในทิเบตก็ตาม


 


ในส่วนของคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ก็มีนาย เปาตง (Bao Tong) อดีตเจ้าหน้าที่จีนที่ถูกปลดออกจากเหตุการณ์ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 บอกว่าดาไล ลามะ เป็น "ผู้นำทิเบตคนเดียวที่มีความหวังในการเป็นตัวแทนเจรจาไกล่เกลี่ยข้อตกลง"


 


เปาได้เขียนอีเมลล์ถึงสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งข้อความส่วนหนึ่งคือ "ถ้าหากเพียงแค่รัฐบาลกลางยอมนั่งลงสนทนากับดาไล ลามะ และแสดงให้เห็นถึงสติปัญญา การตัดสินใจที่เฉียบคม และวิสัยทัศน์ที่องอาจ ก็จะสามารถจัดการเรื่องเหตุการณ์ในได้เป็นอย่างดี"


 


ด้านนางคอนโดลีซซ่า ไรซ์ ก็หนุนให้รัฐบาลจีนยอมพูดคุยกับดาไล ลามะ และยังได้แสดงความเห็นในการประชุมข่าวที่วอชิงตันว่า "พวกเราเชื่อว่าคำตอบสำหรับเรื่องทิเบต คือการมีนโยบายที่ยั่งยืนกว่านี้ ในการที่รัฐบาลจีนจะแสดงความเป็นห่วงในเรื่องทิเบต"


 


ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส นิโคลัส ซาร์โคซี่ ก็ได้เรียกร้องให้มีการหยุดใช้ความรุนแรงในทิเบต และบอกว่าทางประเทศฝรั่งเศสยินดีจะช่วยเหลือให้มีการพูดคุยระหว่างกับฑูตของดาไล ลามะ


 


ขณะเดียวกัน ในวันที่ 24 มี.ค. มีโพลสำรวจความคิดเห็นสองแหล่งได้เผยให้เห็นว่า ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่สนับสนุนการบอยคอตต์พิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก


 


 


ตำรวจเนปาลสลายผู้ประท้วงชาวทิเบต จับกุมได้กว่า 400 คน


ด้านสำนักข่าวไทยรายงานว่า วานนี้ (24 มี.ค.) ที่กรุงกาฐมาณฑุประเทศเนปาล ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานของสหประชาชาติหรือยูเอ็น ทำเนียบรัฐบาลและสถานที่ราชการหลายแห่ง ได้มีกลุ่มชาวทิเบตพลัดถิ่นรวมถึงพระสงฆ์ พยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจปราบจลาจลเข้าไปยังสำนักงานของสหประชาชาติ พร้อมกับถือป้ายผ้าที่มีข้อความประณามรัฐบาลจีนที่ปกครองทิเบต แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดไว้ และใช้กระบองทุบตีผู้ประท้วงก่อนจับกุมไว้ได้กว่า 425 คน ในจำนวนนี้หลายคนเป็นนักเคลื่อนไหวชาวเนปาลที่เข้าร่วมในการประท้วงด้วย


ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์แสดงความกังวลที่กลุ่มผู้ประท้วงถูกจับกุม ขณะที่รัฐบาลเนปาลที่เผชิญกับการประท้วงของชาวทิเบตพลัดถิ่นหลายครั้งนับตั้งแต่เกิดเหตุปราบปรามชาวทิเบตที่เมืองลาซาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ยืนยันไม่ยอมให้เกิดการประท้วงต่อต้านประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมถึงจีน


 


ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก


 


Tibet officials vow tight security for Games torch, Reuters, 25/3/2551


China jails man who urged rights over Olympics, Reuters, 24/3/2551


China's Olympic flame lit amid protests, John Hadoulis,  AFP, 24/3/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net