Skip to main content
sharethis

"องอาจ เดชา"


 



 


เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช  ได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งว่ากันว่า นโยบายรัฐบาล "สมัคร1" นั้นก็เป็นการถอดแบบมาจากนโยบายในยุคสมัยเมื่อครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง โดยได้หยิบเอาความเป็น "ไทยรักไทย"  ความเป็น "ประชานิยม" ให้กลับมารื้อฟื้นอีกครั้งหนึ่ง


 


โดยในส่วนของ "นโยบายการกระจายอำนาจ" ของรัฐบาลสมัคร 1 นั้น ได้ระบุในหนังสือคำแถลงไว้ว่า...ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนให้องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดบริการสาธารณะของท้องถิ่น เร่งรัดดำเนินการถ่ายโอนภารกิจของราชการส่วนกลางให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ


 


ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า เรื่องนโยบายการกระจายอำนาจ ที่จะมีการถ่ายโอนภารกิจให้กับท้องถิ่น ในหลายๆ พื้นที่ของแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ของภาคอีสานและภาคเหนือนั้น เราจะพบความเป็นจริงว่า ประชานิยม ที่ไทยรักไทย และรัฐบาลทักษิณได้โปรยหว่านเอาไว้ ยังคงครองใจคนชนบทส่วนใหญ่เอาไว้อย่างแน่นหนา จนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่า "ระบอบทักษิณ ประชานิยม การกระจายอำนาจ และความคาดหวังของคนท้องถิ่น" นั้นมีความสอดคล้อง แยกจากกันไม่ออก จนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันเลยทีเดียว


 


จนนำไปสู่การตั้งคำถามกันว่า...ทำไมระบอบทักษิณ หรือนโยบายประชานิยม จึงยังคงผูกขาดและกุมหัวใจชาวบ้านอยู่กระทั่งถึงทุกวันนี้ !?


 


ล่าสุด "ประชาไท" ได้ลงพื้นที่ของ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานวิจัยภายใต้ชื่อ "โครงการวิจัยการกระจายอำนาจกับโครงสร้างการเมืองท้องถิ่น" ที่มี "ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์" คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งแน่นอนว่า ในพื้นที่ภาคเหนือนั้นเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีพัฒนาการและจุดเปลี่ยนทางโครงสร้างการเมืองท้องถิ่นได้ชัดเจนที่สุด


 


เราลองมาฟังเสียงของชาวบ้าน เสียงของคนท้องถิ่นกันดูว่า พวกเขาคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง มีความคาดหวังกันอย่างไร กับนโยบายประชานิยม การกระจายอำนาจจากที่ผ่านมาและที่กำลังเป็นไปในปัจจุบันและอนาคต !?


 




สุนทร เทียนแก้ว


ผู้ใหญ่บ้านแม่ป๋าม ม.3 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่


 


เผยเกษตรกรส่วนใหญ่ ยิ่งทำงาน ยิ่งขยัน ทำไมยิ่งจน !?


มีรายงานบอกว่า นับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มดำเนินนโยบายกองทุนหมู่บ้านขึ้นมา พบว่าแต่ละครัวเรือนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากการสำรวจของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เดิมปี 2543 คนไทยมีหนี้สินรวม 9,051,573 ครัวเรือน แต่เมื่อมีการใช้นโยบายประชานิยมปี 2544 มีหนี้สินเพิ่มขึ้นถึง 1.1 ล้านครัวเรือน เป็น 10,189,798 ครัวเรือน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ระบุว่าปี 2545 หนี้สินครัวเรือนของคนไทยพุ่งสูงขึ้นถึง 20 % หรือเฉลี่ย 82,458 บาทต่อครัวเรือน จากเดิมปี 2544 มีหนี้สินพียงแค่ 69,500 บาทต่อครัวเรือน


 


ซึ่งต่อกรณีปัญหาดังกล่าว นายสุนทร เทียนแก้ว ผู้ใหญ่บ้านแม่ป๋าม ม.3 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้บอกเล่าสภาพปัญหาทั่วไปของชุมชนบ้านแม่ป๋ามว่า ก็เหมือนกับชุมชนชนบททั่วไปที่เป็นสังคมเกษตรกรรม ซึ่งนับวันจะเริ่มมีปัญหาพอกพูนเข้ามา อย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือปัญหาหนี้สิน เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุน แต่ก็ไม่คุ้มทุน คือ ลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ว่าราคาผลผลิตตกต่ำ


 


"จริงๆ แล้ว คนในหมู่บ้านของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นคนขยัน ถ้าสภาพโครงสร้างทางสังคมนั้นดี โครงการของรัฐไม่เบียดบัง ไม่เข้ามากระทบคนในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านก็จะมีความสุข แต่ทำไม ชาวบ้านยิ่งขยันทำไมยิ่งจน คือยิ่งขยันก็ยิ่งขาดทุน ยกตัวอย่างปุ๋ยตอนนี้กระสอบละ พันกว่าบาท แต่ว่าเวลาขายสินค้าเกษตรได้ราคาเท่ากับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และราคาก็ขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างนี้ เราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร"


 


นายสวัสดิ์ อัศจรรย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ป๋าม บอกเล่าถึงสาเหตุของปัญหาของเกษตรกรในชนบทที่เห็นได้เด่นชัดในขณะนี้ว่า ปัจจัยการเร่งทำการผลิต การหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เป็นตัวสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ขึ้นในชุมชน


 


"คือเราไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ มันก็เลยเป็นวงจรอุบาทว์ และความคิดของคนในปัจจุบันนี้ คือ ยิ่งติดหนี้ ยิ่งคิดไกล คิดใหญ่ เลยลืมรากฐาน คิดแค่จะเด็ดยอดอย่างเดียว จนลืมฐานราก คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะเอาเงินมาโปะหนี้สิน บางครั้งเอากะหล่ำไปขาย แล้วก็ไปซื้อของอย่างอื่นมาบริโภค ทั้งๆ ที่เราก็ทำได้ ครั้นพอจะหันมาทำแนวคิดปรัชญาเกษตรพอเพียงที่ในหลวงดำรัสไว้ก็ไม่ได้ เพราะหนี้สินมันเยอะแยะ จะให้ปลูกผักมาขายกำละ 5บาท 10 บาทเอามาใช้หนี้เป็นแสนๆ มันก็คิดไม่ตก ก็หันกลับไปปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวต่อไปอีก..." ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ป๋าม บอกเล่าให้ฟัง


 


และแน่นอนว่า ทางออกของชาวบ้าน ของเกษตรกรส่วนใหญ่ เมื่อเจอกับปัญหาภาวะหนี้สิน จึงเหลือทางออกสองทางเท่านั้น นั่นคือ ทางหนึ่ง ต้องกู้เงินมาลงทุนทำการเกษตรต่อไป กับอีกทางหนึ่ง ต้องอพยพเคลื่อนย้ายแรงงาน เข้าสู่เมือง เพื่อหาเงินมาใช้หนี้ที่มีอยู่


 


"มีหนุ่มสาวออกไปทำงานข้างนอก ช่วงที่ออกไปทำงานข้างนอกกันเยอะที่สุดก็คือช่วงปีที่แล้วกับปีนี้(2550-2551)คนค่อนข้างจะออกไปเยอะ เพราะว่าเรื่องหนี้สินนั่นแหละ มันทำให้ต้องออกไปหาเงินใช้หนี้ ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูนก็มีอยู่หลายคน บางครั้งก็มีบางวัยไม่สมควรที่จะออกไปทำงานนอกพื้นที่ เช่น วัย 50 กว่าปี วัย 60ปี ที่ต้องออกไปรับจ้างต่างจังหวัด ไปถึง จ.สุราษฏร์ธานีก็มี นี่มันคือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่บ้านเรา"


 



 



สวัสดิ์ อัศจรรย์


ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ป๋าม


 


 


กองทุนเงินล้าน กลายเป็นหนี้สะสม


เป็นตัวเร่งให้ไปสู่หนี้นอกระบบ


เมื่อมีการสอบถามว่า โครงการกองทุนหมู่บ้าน หรือกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้นช่วยได้บ้างไหม


 


นายสวัสดิ์ อัศจรรย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ป๋าม บอกเล่าให้ฟังว่า กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ก็ช่วยได้บางส่วน แต่ก็กลับสร้างภาระเหมือนกัน คือเอาไปลงทุนแล้วเกิดขาดทุน ก็ต้องเป็นหนี้กองทุนอีก ส่วนใหญ่ก็เอาไปทำการเกษตร เช่นปลูกกะหล่ำ ผักกาดขาว แล้วเอาเงินไปลงทุนหมดเลย


 


"ยกตัวอย่าง เช่น ชาวบ้านกู้เงินกองทุนหมู่บ้าน 20,000 บาท แต่กลับขายผักได้เงินแค่ 5,000 บาท แล้วอีก15,000 บาทจะหามาได้จากที่ไหนอีกละ? มันก็เลยเป็นหนี้สะสม แล้วเมื่อมันหมุนเงินไม่ทัน ก็ต้องไปกู้จากข้างนอกมา แล้วก็เป็นหนี้นอกระบบไปเรื่อยๆ"


 


เผย 95 เปอร์เซ็นต์ คนในหมู่บ้านเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ


ในขณะที่ นายสุนทร เทียนแก้ว ผู้ใหญ่บ้านแม่ป๋าม ได้ประเมินข้อมูลถึงภาวะการเป็นหนี้ของคนในชุมชนว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของหมู่บ้านแห่งนี้ จะเป็นหนี้กันเกือบทั้งหมด คือ เป็นหนี้ไปทุกระบบ คล้ายๆ กับเป็นปัญหาลูกโซ่ ซึ่งพบว่า คนส่วนใหญ่ที่เป็นหนี้ คือเกษตรกรที่มีที่ดินทำกิน มีหลักทรัพย์ แต่คนที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินสักแปลง ก็จะรอด เพราะว่าไม่มีหลักทรัพย์ที่ดินอะไรไปประกันเพื่อที่จะไปกู้ยืมเงิน


 


"ทุกวันนี้ นายทุนเงินกู้นอกระบบ มันก็ยังไม่หมดไป ส่วนมากจะกู้เงินนอกระบบ โดยมีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือน มีทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ อย่างพ่อเลี้ยงเมืองพร้าว(อ.พร้าว) ก็มีการปล่อยให้กู้โดยมีการคิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน"


 



 


 


 


ย้ำนโยบายกองทุนหมู่บ้านผิดพลาดตั้งแต่ต้น


โยนเงินให้ชาวบ้าน แต่ไม่ได้โยนความรู้


เมื่อนโยบายกองทุนหมู่บ้านมีผลดีผลเสียอย่างไร ผู้ใหญ่บ้านแม่ป๋าม บอกกับเราว่า จริงๆ แล้ว นโยบายกองทุนหมู่บ้านที่ผ่านมานั้นมีข้อผิดพลาด คือ รัฐบาลทักษิณโยนเงินอย่างเดียวแต่ไม่ให้การศึกษา ไม่ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร พอเอาเงินมา ชาวบ้านจะเอาไปทำอะไรก็ไม่สนใจ


 


"คือมันโยนมาอย่างเดียว ที่เรียกว่าประชานิยม โยนอย่างเดียว จะไปเหลวเหลกอย่างไร ไม่สน นี่คือข้อผิดพลาด นี่คือข้อผิดพลาดที่ว่า ชาวบ้านเอาเงินมาแล้ว แต่เอาไปประกอบอาชีพไม่ได้ คือยกสมมุติ ว่ารัฐเข้าส่งเสริมให้ปลูกผัก แล้วรัฐหรือว่าใครก็ควรเข้ามาหาตลาดรองรับผลผลิตตรงนี้ด้วย"


 


แต่เมื่อตั้งคำถามว่า ชาวบ้านหลายคนกลับบอกว่า กองทุนหมู่บ้านนั้นดี !


 


"แน่นอน กองทุนหมู่บ้านละล้าน คนทุกคนต้องเห็นดี เพราะเห็นเงิน เพราะตามหลักความจริง ก็คือเห็นเงินก็ต้องเห็นดี ตอนนี้อาจจะพอได้เงินแล้วก็อาจจะไม่ปลูกผัก แต่อาจจะเอาไปซื้อโทรทัศน์บ้าง อะไรบ้าง นี้คือกรอบกติกาที่ไม่ได้ยัดความรู้มาให้ชาวบ้านด้วย"


 


ชาวบ้านตั้งคำถาม มีกองทุนหมู่บ้านเพื่ออะไร


เพื่อแก้หนี้นอกระบบ หรือแก้ปัญหาเรื่องปากท้องชาวบ้าน!?


 


เมื่อตั้งคำถามว่า ถ้าไม่มีกองทุนหมู่บ้าน จะทำอย่างไร!?


 


ตัวแทนชาวบ้าน บอกว่า ถ้าไม่มีเงินก็ลำบาก เพราะว่าชาวบ้านก็ไปติดหนี้นอกระบบบ้าง ดังนั้น มันขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะมองว่ากองทุนหมู่บ้าน นั้นมีเป้าหมายอย่างไร เอาเงินมาเพื่อแก้ระบบนายทุนอย่างเดียว หรือเอาเงินมาให้ชาวบ้านเพื่อมาแก้ไขปัญหา ให้ชาวบ้านทำมาหากิน ทำการประกอบอาชีพได้


 


"ฉะนั้น กองทุนหมู่บ้าน มีก็ดี แต่ต้องให้รัฐให้ความรู้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้เงิน ดังนั้น สุดท้าย กองทุนหมู่บ้าน ก็เป็นได้เพียงแค่ แก้ไขแต่หนี้นอกระบบได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องได้"


 


ชี้กองทุนกู้ยืมเรียน เดินพลาดตั้งแต่ต้น


เพราะรัฐบาลไม่ทำประชาพิจารณ์ก่อน


ในขณะที่ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ป๋าม กล่าวเสริมอีกว่า นโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ผ่านมา มันมีความผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น คือรัฐบาลไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ก่อน อย่างกองทุนให้กู้เรียนนี้(กองทุนกู้ยืมเรียนเพื่อการศึกษา-กยศ.) เมื่อเรียนไปแล้ว เมื่อเขาจบมาแล้วไม่ได้ทำงานแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปใช้ ไปยื่นฟ้อง ฟ้องแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ มันเป็นนโยบายที่ผิดพลาด


 


นอกจากนั้น กองทุนกขคจ.(โครงการแก้ไขความยากจน)หรือว่ากองทุนต่างๆ ก็ล้วนเป็นกองทุนที่ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นดินพอกหางหมูมาโดยตลอด ไม่ใช่คนในหมู่บ้านรอแต่จะกู้เงินมาใช้นะ  เมื่อเขากู้มาแล้วก็จะต้องไปลงทุน ก็จะเอาไปลงทุน แล้วการลงทุน ผลกลับมาก็ล้มเหลวอีก คือการรองรับบางสิ่งบางอย่างนี้ รัฐไม่ได้มีการวางแผนไว้ก่อน


 


"คือประชานิยม ผมว่ามันก็เป็นสิ่งที่ดีนะ แต่ต้องมองในมุมกลับบ้าง ถ้าเราไม่มองมุมกลับมันก็จะเป็นแบบนี้คือ โอกาสเกิดไม่มีหรอกนะครับ บอกตรงๆเลย ตลอดชีวิตนี้ชาวบ้านจะมองเห็นแค่ฟ้ากับดินเท่านั้นเอง จะบอกว่าดวงดาวอยู่ทางโน้นไปให้ถึงนะ..ไม่ถึงหรอกครับ จะย่ำเท้าอยู่กับที่เลยหรือว่าถอยหลังก็แค่นั้นแหละ"


 


เมื่อถามว่า นโยบายประชานิยม มันดี-ไม่ดีอย่างไร ?


 


ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ป๋าม บอกว่า นโยบายประชานิยมบางอย่างมันก็ดี แต่บางอย่างมันก็ต้องทบทวนกันด้วย เช่นว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ที่ทำให้คนเข้าถึงสาธารณะสุขมูลฐาน คนเข้าถึงการรักษาโรค อันนี้ถือเป็นสิ่งดี ขอสนับสนุน


 


"แต่ถ้าเป็นกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.นี้ตนไม่สนับสนุน หรือว่ากองทุนหมู่บ้าน แต่ว่าจะมีกองทุนหมู่บ้าน ก็ต้องให้ความรู้กับชาวบ้านก่อน แต่ถ้าไม่มีกองทุนหมู่บ้าน ผมเห็นชาวบ้านเขาก็อยู่ได้ตามสภาพของชุมชนอยู่แล้ว" 


 


นั่นเป็นบางมุมมอง บางความเห็นของตัวแทนชาวบ้าน เสียงของคนท้องถิ่นที่มีความคาดหวังกันอย่างไรกับ "นโยบายประชานิยม" ที่รัฐบาลในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา และรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชกำลังดำเนินการสานต่อ...


 


ในตอนหน้า...เราจะพาไปฟังความเห็นของคนท้องถิ่น ในเรื่อง "การกระจายอำนาจ" ว่าพวกเขาคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง กับการกระจายอำนาจจากที่ผ่านมามันไปถึงไหนและสะดุดตรงไหน และที่กำลังเป็นไปในปัจจุบันและอนาคต !?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net