Skip to main content
sharethis

 


 


งานเขียนชิ้นนี้ "มาตรการช่วยชีวิต: 5 เหตุผลทำไมต้องเดินหน้า "ซีแอล" " จัดทำขึ้นโดย จอน อึ๊งภากรณ์, รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ ประเทศไทย, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์


 


 


 


มาตรการช่วยชีวิต: 5 เหตุผลทำไมต้องเดินหน้า "ซีแอล"


 


 


1


 


การประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ หรือ ซีแอล มีความชอบธรรม เป็นมาตรการที่ถูกบรรจุไว้อย่างชัดเจนภายใต้คำประกาศโดฮาว่าด้วยความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา และมาตรา 51 ของพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ดังนั้น การประกาศบังคับใช้สิทธิของไทย เป็นการทำตามกฎหมายทั้งในและต่างประเทศทุกประการ


 


รัฐบาลทั่วโลกรวมทั้งประเทศร่ำรวยใช้การประกาศบังคับใช้สิทธิปกป้องประโยชน์สาธารณะ ประกันการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม สนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งใช้ควบคุมการผูกขาดราคา


 


ประเทศไทยมีสิทธิที่จะปกป้องพลเมืองของตัวเองจากโรคภัยไข้เจ็บ คำขู่ที่จริงหรือลวงของผู้แสวงผลประโยชน์ ไม่ควรมีบทบาทชี้นำการตัดสินใจของประเทศไทยในการปกป้องพลเมืองของตัวเองจากความตายและโรคร้ายผ่านการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ


 


 


2


 


การประกาศบังคับใช้สิทธิช่วยชีวิตผู้คน ถ้าไม่มีการประกาศบังคับใช้สิทธิประเทศไทยจะไม่สามารถให้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าไม่มีการประกาศบังคับใช้สิทธิ คนยากคนจนจะตาย ไม่ใช่เพราะไม่มีวิธีการรักษา แต่เพราะว่าพวกเขาไม่มีเงินมากพอ


 


งบประมาณที่ประหยัดได้จากการประกาศบังคับใช้สิทธิ สามารถขยายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การลดการผูกขาด ยังช่วยทำให้เกิดการแข่งขันด้านยา ซึ่งทำให้สามารถประหยัดงบประมาณรายจ่ายด้านยาได้อีกจำนวนมาก


 


การประกาศบังคับใช้สิทธิในยาสำคัญคือ ยาต้านไวรัส ยาโรคหัวใจ และยามะเร็ง ไม่เพียงทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพสามารถขยายการรักษาไปยังโรคดังกล่าว แต่ยังสามารถสนับสนุนงบประมาณเพื่อขยายการรักษาไปยังโรคอื่นๆ เช่น โรคไตวาย


 


 


3


 


ประเทศไทยสามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ โดยที่ไม่มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ที่ผ่านมานักธุรกิจไทยจำนวนมากได้รับประโยชน์จากจีเอสพีของสหรัฐอเมริกา แต่อีกไม่นานจีเอสพีจะสิ้นสุดลง ไม่ใช่เพราะการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิแต่เป็นเพราะระดับอำนาจการซื้อของไทยที่สูงขึ้น ทำให้ในที่สุดจะหมดสิทธิการได้รับจีเอสพี


 


บริษัทที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยามะเร็ง เป็นบริษัทของยุโรป ดังนั้น ยิ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ ในปีที่ประเทศไทยประกาศบังคับใช้สิทธิ 3 ตัวแรก การส่งออกไปสหรัฐก็เพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษจีเอสพี


 


 


4


 


การประกาศบังคับใช้สิทธิจะไม่ปิดโอกาสคนไทยในการเข้าถึงยาใหม่ๆ เมื่อบริษัทแอ๊บบอทปฏิเสธที่จะขึ้นทะเบียนยาอลูเวียร์ในประเทศไทย ยาชื่อสามัญ โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (ชนิดเม็ด) จากอินเดียก็มาขึ้นทะเบียนแทนที่ด้วยคุณภาพที่เท่ากันในราคาที่ถูกกว่ามาก อีกทั้งการที่บริษัทปฏิเสธที่จะขึ้นทะเบียนในยาตัวสำคัญ ก็สามารถเป็นเหตุให้รัฐสามารถบังคับใช้สิทธิได้


 


การประกาศบังคับใช้สิทธิไม่ได้หยุดยั้งนวัตกรรม การประกาศบังคับใช้สิทธิสร้างโอกาสการเข้าถึงยาสำหรับคนที่ไม่มีปัญญาเข้าถึงยาเหล่านั้นมาก่อน บริษัทยายังสามารถหากำไรจากตลาดหลักในประเทศที่ร่ำรวยและคนรวยในประเทศยากจนได้ต่อไป โดยสามารถใช้เงินที่ได้จากตลาดเหล่านั้นในการวิจัยและพัฒนา


 


แน่นอนว่า การประกาศบังคับใช้สิทธิไม่ได้ฆ่าอุตสาหกรรมยา จนถึงขณะนี้ประเทศประกาศบังคับใช้สิทธิในยาช่วยชีวิตที่มีราคาแพงแค่ 7 ตัวเท่านั้น ในระหว่างปี 2512-2536 แคนาดาประกาศบังคับใช้สิทธิกับยา 613 ตัว ทำให้เป็นประเทศที่มียาราคาถูกมากที่สุดในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว และมีอุตสาหกรรมยาที่เข้มแข็งยิ่งเสียกว่าในสหรัฐ


 


 


5


 


การคัดค้านการประกาศบังคับใช้สิทธิของไทยโดยอุตสาหกรรมยาและพวกที่สมประโยชน์กัน ตั้งอยู่บนคำโกหก การชี้นำที่ผิดๆ หรือการเพิกเฉยต่อความเป็นจริงและข้อสมมติฐานบนอคติ ความลวงเหล่านี้รวมถึงการอ้างว่าสิทธิบัตรเป็นระบบที่ปกป้องการเข้าถึงยาของคนยากจน เพราะนักวิจัยยาจะได้มีแรงจูงใจในการวิจัยยาจากการผูกขาด แต่จากประวัติศาสตร์แล้วแสดงให้เห็นว่า ข้อความที่อ้างเหล่านี้เป็นความลวงทั้งสิ้น


 


 


.......


 


 


 


งานเขียนชิ้นนี้ เขียนโดย ภก. ธีระ ฉกาจนโรดม นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งประเทศไทย (พรีมา) ที่แถลงถึง เหตุผล 5 ประการที่การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศไทย และผู้ป่วย


 


 


 


 


 


26 กุมภาพันธ์ 2551


 


แถลงการณ์จากนายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีมา)


เหตุผล 5 ประการที่การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร
ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศไทย และผู้ป่วย


 


 


ข้อมูลอ้างอิง: การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ในอุตสาหกรรมยานั้นคือ การที่ภาครัฐใช้อำนาจบังคับให้บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยา ยินยอมให้รัฐหรือองค์กรที่ได้รับมอบหมายจากรัฐผลิตหรือจัดหายาเลียนแบบยาต้นแบบภายใต้สิทธิบัตรของเขาได้ ก่อนที่สิทธิบัตรจะหมดอายุการคุ้มครอง กฏหมายระหว่างประเทศนั้นยอมให้มีการทำซีแอลก็ต่อเมื่อมีภาวะฉุกเฉินในระดับชาติ และไม่มีจุดประสงค์ในเชิงการค้า


 


ยาต่างจากสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ตรงที่ยาจะได้รับระยะเวลาการคุ้มครองที่มีเวลาจำกัด คือเพียงประมาณ 10 ปี หลังการออกจำหน่ายในตลาดยา


 


เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิดังกล่าว ผู้คิดค้นยาจะต้องเปิดเผยข้อมูลสูตรยา และวิธีการผลิตหลังจากสิ้นอายุการคุ้มครองตามสิทธิบัตรเพื่อให้ผู้อื่นสามารถผลิตลอกเลียนแบบได้


 


อย่างไรก็ตาม สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่รัฐให้กับเจ้าของสิทธิบัตรยานั้น ไม่ใช่สิทธิในการผูกขาดทางการตลาด เนื่องจากมิได้มีข้อห้ามไม่ให้ผู้อื่นคิดค้นวิจัยสูตรยาตัวอื่นๆ ที่ใช้รักษาโรคเดียวกัน ในช่วงเวลาที่ความคุ้มครองยังไม่สิ้นสุด ผู้อื่นสามารถคิดค้นและผลิตยาที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันหรือดีกว่าออกสู่ตลาดได้


 


"ยาสามัญ" คือยาเลียนแบบที่ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายหลังจากที่สิทธิบัตรยารายการหนึ่งๆ หมดอายุความคุ้มครอง


 


ดังนั้น บริษัทที่มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาและคิดค้นสร้างตัวยาใหม่ๆ จึงไม่ได้ต่อต้านการผลิตยาสามัญ


 


สิทธิบัตร นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นและจูงใจให้ผู้วิจัยยาพยายามค้นคว้าและพัฒนาให้ได้ยาใหม่ที่สำคัญในการรักษาโรค การอนุญาตให้ผู้คิดค้นหรือนักประดิษฐ์มีสิทธิแต่เพียง


ผู้เดียว ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดด้วยการให้สิทธิบัตรคุ้มครอง เพื่อให้ทำธุรกิจและจำหน่ายผลงานนวัตกรรมที่ตนคิดค้นพัฒนาขึ้นมานั้น นับเป็นการกระตุ้นให้ผู้คิดค้นหรือนักประดิษฐ์อยากลงทุนด้านการค้นคว้าวิจัยต่อไป


 


1.       การที่รัฐบาลยึดเอาทรัพย์สินของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อเหตุผลใดๆ ก็ตาม การกระทำดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะการกระทำดังกล่าวจะทำลายโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจของประเทศ เช่น หากมีนักการเมืองประกาศว่า "เราต้องการผลิตภัณฑ์ของท่าน แต่เราไม่มีงบประมาณพอที่จะซื้อ ฉะนั้นเราจะใช้อำนาจรัฐดำเนินการลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของท่าน" เมื่อรัฐบาลเริ่มการกระทำดังกล่าว รัฐบาลได้ทำลายความมั่นใจของผู้ลงทุนไทยและต่างชาติในประเทศของเรา เงินลงทุนจากต่างประเทศนับเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ และเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ คนไทยทั้ง


63 ล้านคนจะต้องเผชิญภาวะยากลำบาก


 


2.       การประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาจะทำลายชื่อเสียงของประเทศบนเวทีโลก ช่วงที่ไทยประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ชื่อเสียงของประเทศไทยได้รับความเสียหายอย่างมาก


สื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ทามส์ (Financial Times) และวอลสตรีท เจอนัล (Wall Street Journal) เขียนพาดหัวข่าววิจารณ์ว่า ประเทศไทยเป็น "ผู้ขโมย" ไม่ว่าคำพูดดังกล่าวจะจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ พาดหัวข่าวนั้นได้ทำลายความน่าเชื่อถือของต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย หากจะพูดว่าการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาจะช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณ เราจะต้องถามว่าการประหยัดงบที่ว่าจะคุ้มค่ากับการกระทำหรือไม่ ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัยด้านสุขภาพได้อย่างไร หากผู้คิดค้นขาดความมั่นใจได้ว่านวัตกรรมของเขาจะได้รับการคุ้มครองในประเทศไทยอย่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์


 


3.       ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเสียผลประโยชน์ทางด้านการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเนื่องจากประวัติการไม่ให้ความคุ้มครองในทรัพย์สินทางปัญญา การประกาศใช้สิทธิเหนือ-สิทธิบัตรยาของรัฐบาลที่ผ่านมาอาจทำให้ถูกมองเป็นเช่นนั้น หากเราเสียผลประโยชน์ทางการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา ความเสียหายดังกล่าวจะส่งผลต่ออุตสากรรมมากมาย ทั้งยังส่งผลต่อแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตสิ่งทอ รองเท้า และผลิตภัณฑ์ส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกาอื่นๆ อีกมากมายเกินกว่าจะนับ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาคการเกษตรกรรมที่พึ่งการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มูลค่ากว่า 131,500 ล้านบาทไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาภายใต้โครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไป (Generalized System of Preference : GSP) ปีที่แล้วรัฐบาลได้ประหยัดงบประมาณ การซื้อยาได้เพียง 15 ล้านบาทจากการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรสำหรับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวแรก แทนที่จะสร้างความเสี่ยงให้เกิดผลกระทบกับคนไทยเป็นล้านๆ คน ทำไมรัฐบาลไม่พยายามลงทุนเพิ่มในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ด้วยการจัดหายาโดยไม่ต้องใช้ซีแอลภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายค่ายาเอง


 


4.       ผู้ป่วยไทยควรได้รับยาที่มั่นใจในคุณภาพได้มากกว่ายาเลียนแบบ ผู้ป่วยควรได้รับยาต้นแบบ และรัฐบาลควรหาจัดตั้งโครงการที่จะจัดหายาที่เชื่อถือได้และมีคุณภาพสูงแก่ผู้ป่วย


 


5.       การประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยานับเป็นการสร้างภาพ การแก้ปัญหาสุขภาพ เชิงประชาสัมพันธ์ แต่การกระทำดังกล่าวทำให้เรามองข้ามการแก้ปัญหาที่แท้จริงเกี่ยวกับระบบการรักษาสุขภาพของประเทศไทย การบังคับใช้สิทธิเพื่อการใช้ยาเลียนแบบไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ แต่กลับสร้างปัญหาเพิ่มให้กับคนไทยอีกมากมาย ประเทศต้องจัดงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น เพื่อให้สามารถหาซื้อยาคุณภาพและยาที่ดีที่สุดของโลกมาบริการประชาชน ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยจัดสรรงบประมาณให้กับการรักษาสุขภาพน้อยมาก เพียงแค่ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ ซึ่งแม้แต่ประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ในลิเบอร์เรีย โมแซมบิค ระวันดา ซูดาน และเซเนกัล ยังจัดงบประมาณด้านสุขภาพเทียบกับค่าจีดีพีมากกว่าประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังมีจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งในประเทศอย่างปากีสถาน มาเลเซีย และอิรัก มีสัดส่วนจำนวนแพทย์ต่อประชากรมากกว่าประเทศไทย ในขณะที่อัลจีเรีย เม็กซิโก และเอควาดอร์มีจำนวนสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรมากกว่าไทยถึงสามเท่า มีเพียง บางประเทศในโลกที่มีสัดส่วนจำนวนแพทย์ต่อประชากรใกล้เคียงกับประเทศไทยซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่แพทย์ 4 คนต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน


 


พรีม่าเป็นองค์กรตัวแทนของอุตสาหกรรมวิจัยพัฒนายาที่ประกอบการอยู่ในประเทศไทย เราเชื่อว่าการบังคับใช้สิทธิกับยาที่มีสิทธิบัตร (ซีแอล) จะไม่เกิดประโยชน์และผลดีในระยะยาวต่อผู้ป่วย และไม่ใช่ทางออกที่ดีต่อระบบสุขภาพของประเทศไทย แต่จะทำให้เราหลงทางในการแก้ปัญหาระยะยาวด้วยวิธีของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า


 


การแก้ปัญหาในระบบสุขภาพของไทยที่เป็นอยู่จะใช้วิธีการง่ายๆ ไม่ได้ การพัฒนาเสริมสร้างระบบสุขภาพให้มีคุณภาพและยั่งยืนจะบรรลุได้ด้วยการปรับปรุงแก้ไขปัญหาพื้นฐานต่างๆ เช่น การมีแพทย์เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยในชนบท การให้ความรู้แก่ประชาชนในการใช้ยาอย่างถูกต้อง


 


การจัดสรรงบประมาณการสาธารณสุขที่เพียงพอ และการเพิ่มพูนประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ ปัจจุบัน ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนระหว่างแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออก และได้จัดสรรงบประมาณการสาธารณสุขคิดเป็นร้อยละของรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ต่ำที่สุด พรีม่าตระหนักดีถึงความสำคัญของการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และได้ผลักดันจนเกิดคณะกรรมการทำงานร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคอุตสาหกรรมยาขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการร่วมแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในระบบสุขภาพของไทย


 


พรีม่าและบริษัทวิจัยพัฒนายาในประเทศไทย ยืนหยัดและทุ่มเทเพื่อการเป็นภาคีกับรัฐบาลและผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ ในระบบสุขภาพ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพในระบบสุขภาพที่มั่นคงและยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นองค์รวม


 


กระผมและผู้ร่วมงานในพรีม่าจะรอโอกาสการเข้าพบและหารือกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านใหม่ เพื่อร่วมกันสร้างประโยชน์สูงสุดให้เกิดกับระบบสุขภาพของไทยอย่างยั่งยืน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net