Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภัควดี วีระภาสพงษ์


เรียบเรียงจาก


MSF, "Top Ten Most Underreported Humanitarian Stories of 2007,"


http://www.doctorswithoutborders.org/publications/reports/topten/index.cfm?id=2260


 


 


 


0 0 0


 


ผู้ลี้ภัยสงครามในโซมาเลียกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งร้ายแรง


 



(ชาวโซมาเลียหลายหมื่นคนต้องอาศัยในค่ายดังที่เห็นในรูป


ค่ายนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของนครหลวงโมกาดีชู


ผู้ลี้ภัยต้องทุกข์ทรมานจากการขาดน้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย และการรักษาพยาบาล)


 


 


ขณะที่ความรุนแรงในโซมาเลียขยายวงกว้างขึ้นจนถึงระดับเลวร้ายที่สุดในรอบ 15 ปี ทว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากโลกภายนอกกลับเหือดหายไป สงครามที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งระหว่างกองทัพรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป กับกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม ซึ่งรวมถึงกลุ่มอิสลามด้วย การต่อสู้ของสองฝ่ายทำให้พลเรือนบาดเจ็บล้มตายนับไม่ถ้วน และประชาชนหลายแสนคนต้องอพยพหลบหนีออกจากเมืองหลวง


 


ในปีที่ผ่านมา องค์กรหมอไร้พรมแดนเข้าไปทำงานในหลายท้องที่ของกรุงโมกาดีชู และเปิดแผนกฉุกเฉินในเขตอัฟกูเยใกล้ๆ กับเมืองหลวง ซึ่งมีผู้ลี้ภัยอพยพไปอยู่ราว 200,000 คน ท่ามกลางสภาพอันเลวร้าย ประชาชนจำนวนมากที่ยังตกค้างในเมืองหลวงต้องมีชีวิตในกระโจมที่ทำจากเศษผ้าและพลาสติก ทั้งยังตกอยู่ท่ามกลางความรุนแรงที่รุมเร้ารอบตัว


 


ในประเทศที่มีความขัดแย้งยาวนานถึง 16 ปี ส่งผลให้โซมาเลียเป็นประเทศหนึ่งที่มีดัชนีด้านสุขภาพเลวร้ายที่สุดในโลก คนมีอายุยืนโดยเฉลี่ยเพียง 47 ปี และมีโครงการความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพไม่มากนัก


 


0 0 0


 






 


ความปั่นป่วนทางการเมืองและเศรษฐกิจ


ก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขในซิมบับเว


 



(ที่บ่อน้ำนอกเมืองหลวงฮาราเร ผู้หญิงชาวซิมบับเวต้องเข้าแถวตักน้ำ


ในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น


ชาวซิมบับเวกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง)


 


ปัญหาการว่างงาน เงินเฟ้ออย่างรุนแรง การขาดแคลนอาหาร และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ทำให้ชาวซิมบับเวถึงราว 3 ล้านคนจากประชากร 12 ล้านคน ต้องอพยพหนีเข้าไปในประเทศข้างเคียง


 


ระบบสาธารณสุขแห่งชาติที่เคยแข็งแกร่งที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาใต้ บัดนี้กลับพังทลายลงภายใต้น้ำหนักที่เกิดจากความปั่นป่วนทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีชาวซิมบับเวถึงราว 1.8 ล้านคนที่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 3,000 รายต่อสัปดาห์


 


องค์กรหมอไร้พรมแดนให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ประชาชน 33,000 คนที่ติดเชื้อเอดส์ แต่องค์กรต้องประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ อีกทั้งรัฐบาลยังสร้างเงื่อนไขจำกัดการทำงานขององค์กรต่างประเทศด้วย


 


นอกจากโรคเอดส์ ขณะนี้ชาวซิมบับเวกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำ มีการแพร่ระบาดของโรคท้องร่วงในเมืองหลวงฮาราเรและเมืองบูลาวาโย การหนีออกนอกประเทศก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้ เพราะมีรายงานว่าผู้ลี้ภัยถูกทำร้ายและข่มขืนตามชายแดนที่ติดกับประเทศแอฟริกาใต้


 


 


 


 


0 0 0


 


 


วัณโรคดื้อยาแพร่ระบาด ขณะที่ยาตัวใหม่ยังไม่มีการทดลอง


 



(แพทย์ขององค์กรหมอไร้พรมแดนกำลังตรวจผู้ป่วยวัณโรคในค่ายผู้ลี้ภัยแม่ลาที่ตั้งอยู่ใกล้แม่สอด)


 


 


ทุกๆ ปี วัณโรคคร่าชีวิตมนุษย์ถึงราว 2 ล้านคนและมีอีก 9 ล้านคนติดโรคนี้ ทั้งๆ ที่มีการเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีความก้าวหน้าในด้านการรักษามาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 และวิธีการตรวจหาเชื้อที่ใช้กันทั่วไปก็ยังเป็นเทคนิคที่มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1882 ซึ่งตรวจพบเชื้อวัณโรคในผู้ป่วยเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น การวิจัยและพัฒนาการรักษาวัณโรคต้องใช้เงินประมาณ 900 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ทั่วโลกมีการลงทุนวิจัยเพียง 206 ล้านดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น


 


การรักษาและวินิจฉัยโรคในปัจจุบันยังไม่ได้ปรับปรุงให้เหมาะกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งมักตกเป็นเหยื่อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดวัณโรค สำหรับกลุ่มคนที่ติดเชื้อวัณโรคดื้อยา ซึ่งมีมากกว่า 450,000 คนต่อปี หรือสร้างเชื้อวัณโรคดื้อยาขึ้นมาในตัวเองสืบเนื่องจากไม่ได้รักษาให้หายขาด โอกาสในการมีชีวิตรอดยิ่งเลือนราง คนจำนวนน้อยที่สามารถเข้าถึงยารักษาวัณโรคดื้อยา ต้องกินยาแบบค็อกเทลที่มีราคาแพงและมีผลข้างเคียงรุนแรงเป็นประจำทุกวันนานถึง 24 เดือน


 


องค์กรหมอไร้พรมแดนมีโครงการเกี่ยวกับวัณโรคในประเทศอาร์เมเนีย, แอบเคเซีย, จอร์เจีย, กัมพูชา, เคนยา, ประเทศไทย, อูกันดาและอุซเบกิสถาน แม้แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ดีที่สุด ก็มีคนไข้วัณโรคดื้อยาเพียง 55% ที่รักษาได้ครบ 18-24 เดือน ส่วนที่เหลือเสียชีวิต อาการไม่ดีขึ้น หรือหยุดรักษาไปเพราะผลข้างเคียง


 


ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังไม่มีการทดลองยาตัวใหม่สำหรับคนไข้วัณโรคดื้อยา ไม่นานมานี้มีบทความที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ และตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ PLoS Medicine เรียกร้องให้ทดลองยาตัวใหม่ในคนไข้วัณโรคดื้อยา และกระตุ้นการพัฒนายาให้รวดเร็วขึ้น


 


0 0 0


 






 


อาหารสำเร็จรูปโภชนาการสูงกับการบรรเทาภาวะทุโภชนาการในเด็กเล็ก


 



(แม่กำลังป้อนอาหารสำเร็จรูปยี่ห้อ Plumpy'Doz


ที่ศูนย์โภชนาการขององค์กรหมอไร้พรมแดนในเมืองมาราดี ประเทศไนเจอร์)


 


ปัญหาทุโภชนาการในเด็กเล็กเข้าขั้นร้ายแรงในทวีปแอฟริกาและเอเชียใต้ ทำให้มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ถึง 5 ล้านคน เสียชีวิตทุกๆ ปี


 


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาโครงการอาหารสำเร็จรูปโภชนาการสูงที่สามารถช่วยชีวิตเด็กไว้ได้ ผลิตภัณฑ์อาหารประเภทนี้อยู่ในรูปของแป้งเหลวข้น ทำจากนมและถั่ว พร้อมด้วยวิตามินและสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นต่อการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว อาหารสำเร็จรูปพวกนี้ไม่ต้องแช่ตู้เย็น ไม่ต้องปรุงเพิ่ม สามารถแจกจ่ายให้นำกลับไปรับประทานที่บ้านได้ เพียงแต่เด็กที่มีปัญหาทุโภชนาการขั้นร้ายแรงจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอาหารดังกล่าว


 


เมื่อปีที่แล้ว ในประเทศไนเจอร์ องค์กรหมอไร้พรมแดนริเริ่มโครงการใช้อาหารสำเร็จรูปนี้ เพื่อช่วยป้องกันเด็ก 62,000 คน จากภาวะทุโภชนาการระหว่างช่วงฤดูกาลที่อาหารขาดแคลน


 


 


 


 


 


0 0 0


 


 


พลเรือนโดนลูกหลงมากขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งในศรีลังกา


 



(ผู้หญิงและเด็กที่ได้รับบาดเจ็บเข้ารับการรักษาในแผนกศัลยกรรมขององค์กรหมอไร้พรมแดน


ที่เมืองวาวูนิยา ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้แนวรบระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังฝ่ายกบฏ)


 


 


พลเรือนชาวศรีลังกาในเขตภาคตะวันออกและภาคเหนือต้องมีชีวิตอกสั่นขวัญผวา เพราะพวกเขาตกอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ประเทศศรีลังกาตกอยู่ในวังวนการต่อสู้เป็นระยะๆ มาเกือบ 25 ปีแล้ว แต่ความขัดแย้งนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก โดยเฉพาะความตายของประชาชนที่อาศัยในเขตสู้รบ


 


การโจมตีด้วยระเบิด การฆ่า ระเบิดพลีชีพ การลักพาตัว การเกณฑ์ทหาร การห้ามเคลื่อนย้ายและการจับกุมตามอำเภอใจ ทำให้ชีวิตประจำวันของชาวศรีลังกาเหล่านี้หมิ่นเหม่ตลอดเวลา มีประชาชนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหลายแสนคนนับตั้งแต่การสู้รบปะทุขึ้นอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2006


 


สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลงจากบรรยากาศไม่เป็นมิตรและหวาดระแวงที่มีต่อองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทำให้ความช่วยเหลือดำเนินไปได้จำกัดและประชาชนได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือฉุกเฉิน พื้นที่ตามแนวสู้รบแทบไม่มีบุคลากรทางการแพทย์เหลืออยู่อีกแล้ว


 


0 0 0


 






 


สภาพการณ์เลวร้ายลงในภาคตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก


 



(หญิงพลัดถิ่นคนหนึ่งเพิ่งฟื้นจากการตัดแขนในโรงพยาบาลขององค์กรหมอไร้พรมแดนที่เขตคิวูเหนือ)


 


 


ข่าวพาดหัวเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกใน ค.ศ. 2007 ไม่ค่อยให้ความสนใจวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เขตคิวูเหนือในภาคตะวันออกของประเทศ มีการสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งในภูมิภาคนี้


 


ประชาชนหลายแสนคนต้องทิ้งบ้านเรือนหลบหนี มีจำนวนมากที่พลัดถิ่นฐานมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง ผู้อพยพมักต้องเข้าไปหลบซ่อนในป่า ขาดแคลนอาหาร และตกเป็นเป้าโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่ม ผู้หลบหนีเหล่านี้ต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งภาวะทุโภชนาการ มาลาเรีย โรคทางเดินหายใจ และโรคแทรกซ้อนจากการคลอดบุตร รวมทั้งมีอหิวาตกโรคแพร่ระบาดด้วย


 


องค์กรหมอไร้พรมแดนพยายามเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ แต่การสู้รบทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถเข้าถึงประชาชน มีพื้นที่จำนวนมากที่เข้าไปไม่ได้ เพราะถนนหลายสายถูกตัดขาด


 


ท่ามกลางความขัดแย้งทางอาวุธในคองโก เรื่องที่น่าสะเทือนใจคือความรุนแรงทางเพศที่สูงมากขึ้นอย่างน่าตกใจ ในเขตคิวูเหนือ เพียงช่วงระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ค.ศ. 2007 องค์กรหมอไร้พรมแดนต้องดูแลรักษาเหยื่อความรุนแรงทางเพศถึง 2,375 ราย นอกจากนี้ ยังมีโรคระบาดจากเชื้ออีโบลาแพร่กระจายในเขตกาไซตะวันตกที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศด้วย


 


 


 


0 0 0


 


 


ชีวิตบนเส้นด้ายในพื้นที่ความขัดแย้งของโคลอมเบีย


 



(กราเซียลาและครอบครัวคือหนึ่งในชาวโคลอมเบียหลายล้านคนที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิด


เพื่อหลบเลี่ยงการต่อสู้ระหว่างรัฐบาล ฝ่ายกบฏและกองกำลังกึ่งทหาร)


 


 


สงครามกลางเมืองของโคลอมเบียที่เกี่ยวข้องกับการชิงความเป็นใหญ่ในการค้ายาเสพย์ติด มักเป็นข่าวพาดหัวบ่อยครั้ง แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจผลกระทบที่เกิดแก่พลเมืองในประเทศนี้มากนัก


 


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีประชาชนถึง 3.8 ล้านคน ต้องพลัดพรากจากบ้าน เพราะความรุนแรงที่เกิดจากกองทหารรัฐบาล กองกำลังกึ่งทหารและกองกำลังฝ่ายกบฏ ที่สู้รบกันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ในดินแดน ทำให้โคลอมเบียกลายเป็นประเทศที่มีประชาชนพลัดถิ่นภายในประเทศของตนเองมากที่สุดเป็นอันดับสามในโลก รองจากประเทศซูดานและคองโก


 


กลุ่มติดอาวุธมีอำนาจควบคุมในพื้นที่ชนบทเกือบครึ่งหนึ่ง กลุ่มเหล่านี้ทำให้ถนนหนทางถูกตัดขาด บังคับเด็กให้เข้าร่วมในกองกำลัง และสังหารใครก็ตามที่ถูกสงสัยว่าร่วมมือกับฝ่ายตรงข้าม ส่วนกองทัพรัฐบาลเองก็หวาดระแวงว่าพลเรือนทุกคน "สมรู้รวมคิด" กับกองกำลังติดอาวุธ


 


ด้วยความสิ้นหวัง หลายครอบครัวจึงอพยพมาอยู่ตามสลัมในเมือง มีเสื้อผ้าติดตัวเพียงไม่กี่ชิ้น แต่ก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้ เพราะสภาพในเมืองก็ไม่ดีไปกว่าสักเท่าไร เมื่อไม่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและการรักษาพยาบาลที่เพียงพอ ประชาชนจึงผจญกับโรคทางเดินหายใจและโรคท้องร่วง ยังอีกนานกว่าชาวโคลอมเบียจะได้ลิ้มรสชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกคุกคามด้วยปืนและความหวาดสยอง


 


0 0 0


 






 


ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมถูกจำกัดในพม่า


 



(พ่อพาลูกชายมารอรักษาที่คลินิกขององค์กรหมอไร้พรมแดน)


 


 


นับตั้งแต่รัฐบาลทหารครองอำนาจใน ค.ศ. 1962 พม่าก็ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ประชาชนชาวเมียนมาร์หรือพม่าต้องประสบกับการกดขี่และการทอดทิ้ง


 


การปราบปรามพระสงฆ์ที่เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทำให้นานาชาติหันมาสนใจประชาชนที่ทุกข์ยากมายาวนานในประเทศนี้ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยมากเพียงพอว่า ชาวพม่าทั่วไปต้องเผชิญอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นโรคมาลาเรีย โรคเอชไอวี/เอดส์ที่มีอัตราเพิ่มมากขึ้น แต่ประชาชนที่ยากจนกลับได้รับความช่วยเหลือเพียงน้อยนิด เพราะรัฐบาลให้งบประมาณด้านสาธารณสุขเพียง 1.4% เท่านั้น


 


แม้จะมีความขาดแคลนมาก แต่มีกลุ่มช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพียงไม่กี่องค์กรที่สามารถเข้าไปทำงานในพม่า ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำงานอย่างอิสระและเป็นกลาง อีกทั้งรัฐบาลและองค์กรในต่างประเทศมักไม่เต็มใจให้ทุนสนับสนุนโครงการที่อาจช่วยค้ำจุนรัฐบาลเผด็จการทางอ้อม การเดินทางภายในประเทศยังต้องทำวีซ่าที่ใช้เวลายาวนาน ความช่วยเหลือฉุกเฉินจึงเป็นไปไม่ได้ ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยกระเหรี่ยงและมอญ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศไทย รัฐบาลเข้มงวดและจำกัดการเข้าไปให้ความช่วยเหลือมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อองค์กรต่างๆ รวมทั้งองค์กรหมอไร้พรมแดนด้วย


 


พื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาร้ายแรงด้านสาธารณสุขคือ พื้นที่ด้านตะวันตกของรัฐ Rakhine ใน ค.ศ. 2006 องค์กรหมอไร้พรมแดนเข้าไปรักษาโรคมาลาเรียให้ประชาชนถึง 210,000 คนในรัฐนี้ ชาวมุสลิมในรัฐ Rakhine ที่เรียกว่าชาวโรฮิงยา ต้องมีชีวิตในสภาพที่ล่อแหลม รัฐไม่ยอมรับรองสิทธิความเป็นพลเมืองให้ชนกลุ่มนี้ ทั้งยังต้องเผชิญกับการคุกคามต่างๆ


 


การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอชไอวี/เอดส์อย่างเชื่องช้าไม่ทันการณ์ ทำให้โรคนี้มีความรุนแรง สหประชาชาติประเมินว่ามีประชาชน 360,000 คนที่ติดเชื้อเอชไอวี เชื่อว่ามีราว 10,000 คนเท่านั้นที่ได้รับยารักษา โดยในจำนวนนี้ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรหมอไร้พรมแดนถึง 8,000 คน สหประชาชาติประเมินว่า มีประชากร 20,000 คนเสียชีวิตจากโรคเอชไอวี/เอดส์ในแต่ละปี


 


 


 


0 0 0


 


 


พลเรือนตกอยู่ระหว่างความขัดแย้งของกลุ่มติดอาวุธ


ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง


 



(แม่นั่งกอดลูกในหมู่บ้านมาสซาบิอู หมู่บ้านนี้ถูกกองกำลังติดอาวุธโจมตีในเดือนเมษายน


ทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องหลบหนีไป


กลุ่มคนที่อพยพกลับมาต้องเผชิญกับความแร้นแค้น ขาดแคลนอาหาร น้ำและที่พักอาศัย)


 


 


การต่อสู้ระหว่างกองทหารรัฐบาลกับกลุ่มกบฏหลายกลุ่มในสาธารณรัฐแอฟริกากลางเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2005 ทำให้ประชาชนต้องพลัดถิ่นเป็นจำนวนมาก ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ มีหลายหมู่บ้านถูกโจมตี ปล้นและเผาทิ้ง ทำให้ชาวบ้านต้องหนีไปอยู่ตามป่า หรือตกเป็นเหยื่อของโจร


 


ใน ค.ศ. 2007 องค์กรหมอไร้พรมแดนเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ในเดือนมิถุนายน เอลซา เซอร์ฟาส ผู้ปฏิบัติงานขององค์กรหมอไร้พรมแดน ถูกกลุ่มกบฏยิงเสียชีวิต ทำให้องค์กรต้องลดผู้ปฏิบัติงานในภาคตะวันตกเฉียงเหนือลง ความรุนแรงในพื้นที่นี้ทำให้ประชาชนราว 30,000 คนต้องลี้ภัยเข้าไปในประเทศแคเมอรูน และมีกว่า 45,000 คน อพยพเข้าไปในประเทศชาด


 


0 0 0


 






 


ความขัดแย้งในเชชเนีย


ทวีขึ้นพร้อมกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ขาดแคลน


 



(กลุ่มแม่ของชาวเชชเชนที่ถูกลักพาตัวรวมกันประท้วงในสวนสาธารณะที่กรุงกรอซนืย)


 


 


เกือบสี่ปีแล้วที่การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับกองกำลังกบฏในเชชเนียผ่อนคลายความรุนแรงลง ประชาชนหลายหมื่นคนที่ต้องหนีจากบ้านเกิดเริ่มหวนกลับมาที่เชชเนีย ในกรุงกรอซนืย เมืองหลวงของเชชเนีย มีการบูรณะตึกรามที่ถูกระเบิดถล่ม และสนามบินก็เปิดทำการอีกครั้ง


 


กระนั้นก็ตาม การต่อสู้นอกเชชเนียกลับรุนแรงขึ้น การลักพาตัว การ "อุ้ม" หาย การลอบสังหารและการวางระเบิดยังมีอยู่ในภูมิภาคโดยรอบ แม้แต่ในเชชเนียเอง สถานการณ์ด้านความมั่นคงก็ยังล่อแหลม อันตรายมีตั้งแต่การตกอยู่ท่ามกลางการยิงตอบโต้กัน ไปจนถึงอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดจากยวดยานขนาดใหญ่ของกองทัพ


 


สาธารณสุขพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านสูตินรีเวช ยังขาดแคลนอย่างยิ่ง และหากมีอยู่บ้าง ก็ไม่มีทางที่คนจนจะเข้าถึงได้ มีประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับปอด ไตและหัวใจ นอกจากนี้ องค์กรหมอไร้พรมแดนพบว่า ประชาชนต้องการการดูแลด้านจิตวิทยาด้วย อันเป็นผลกระทบจากความรุนแรงและการพลัดถิ่นฐาน คนเหล่านี้เป็นโรคกระวนกระวาย นอนไม่หลับ หรือซึมเศร้า


 


สงครามในเชชเนียทำลายระบบควบคุมวัณโรค ทำให้มีประชาชนต้องเข้ารับการรักษาโรคนี้ในโรงพยาบาลถึงราว 400,000 คน ผู้รอดสงครามจำนวนมากต้องการการดูแลด้านปัญหาบาดเจ็บทุพพลภาพ ซึ่งองค์กรหมอไร้พรมแดนดำเนินโครงการผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูในโรงพยาบาลที่กรุงกรอซนืยมาตั้งแต่ ค.ศ. 2006


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net