Skip to main content
sharethis


รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ คณะกก.ชั่วคราวทีวีสาธารณะทั้ง 5 สามารถเป็นคณะกก.นโยบายได้ หากคณะกก.สรรหาคัดเลือก ด้านคดีทีไอทีวี ศาลปกครองจะประกาศผลว่าจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ในวันพรุ่งนี้ทางแฟกซ์ ขณะที่บิ๊กบอสเครือเนชั่นให้คำมั่น เนชั่นจะไม่ยื่นเสนอผังรายการทีวี และจะทำหน้าที่ตรวจสอบโดยไม่เว้น

 


 


"ทิพาวดี" ระบุ กก.ชั่วคราวทั้ง 5 คนมีสิทธิ์ได้รับเลือก


คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้แจ้งไปยังปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. เรื่อง การวางระบบการสรรหาคณะกรรมการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการนโยบายองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ทีพีบีเอส  15 คน โดยให้ทาง สปน.แบ่งคณะทำงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มแรกทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ และกลุ่มที่สอง เป็นฝ่ายเตรียมการดำเนินการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการ 9 คน


 


โดย สปน.ถือว่ามีประสบการณ์ในการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. มาแล้ว ก็น่าจะดำเนินการได้เป็นอย่างดี แต่ก็ได้ขอให้ดูปัญหาการสรรหาที่ผ่านมาในอดีตที่มีการฟ้องร้องกัน ซึ่งเมื่อได้ผู้ที่เป็นกรรมการสรรหาแล้ว ก็จะมีการประชุมเลือกตัวประธาน และหารือถึงวิธีการในการสรรหา ซึ่งการสรรหาในหลักการต้องเปิดกว้าง โดยคำนึงถึงคุณสมบัติ ประสบการณ์ของผู้สรรหาเป็นประสบการณ์ เพราะมาตรา 17 ระบุไว้ว่าคณะกรรมการสรรหา 9 คน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านใดบ้าง


 


รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของเงินที่จะใช้ในการเปลี่ยนผ่านขององค์กรนั้น กรมประชาสัมพันธ์ได้โอนเงินทั้งหมด พร้อมด้วยทรัพย์สินสัญญาต่างๆ และภารกิจทั้งหมดไปให้กับทีพีบีเอสทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่มีการรายงานให้ทราบว่าจำนวนเงินเท่าไหร่ เท่ากับว่าขณะนี้กรมประชาสัมพันธ์ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนนี้แล้ว


 


อย่างไรก็ตาม สำหรับคณะกรรมการทั้ง 5 คน จะสามารถกลับมาได้หากกรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือกกลับเข้ามา ส่วนหากศาลปกครองมีมติคุ้มครองพนักงานทีไอทีวี จะดำเนินการอย่างไร คุณหญิงทิพาวดี ปฏิเสธที่จะตอบคำถามโดยระบุว่า เรื่องนี้ตนไม่มีความคิดเห็น แล้วแต่การวินิจฉัยของศาล



 


 


ศาลปค.แจ้งผลคดีTITV ทางโทรสารวันนี้ (17 ม.ค.)


ด้านศาลปกครองกลาง นายชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนฉุกเฉินกรณีที่พนักงานบริษัททีไอทีวี ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่ง ที่ 25/2551 ลงนามโดยนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ยุติการแพร่ภาพ


 


ฝ่ายผู้ถูกฟ้องมีนายปราโมช เป็นผู้มาให้ถ้อยคำ ส่วนฝ่ายพนักงานฯ ส่งตัวแทน 5 คน ประกอบด้วย นายธีรวัฒน์ โชติธรรมโม บรรณาธิการข่าวเช้า นายจาตุรงค์ สุขเอียด บรรณาธิการข่าวเฉพาะกิจ นายอลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการบริหาร นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าว และ น.ส.ตวงพร อัศววิไล บรรณาธิการข่าวประจำวัน เข้าให้ถ้อยคำ


 


นายปราโมช กล่าวก่อนให้ถ้อยคำว่า ยืนยันว่าการสั่งให้สถานียุติการออกอากาศเป็นอำนาจตามกฎหมายของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพราะตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 มี.ค.50 สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ เข้าไปกำกับดูแลสถานี โดยมีการเสนอแก้ไขพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการให้ความถี่นี้อยู่ในความรับผิดชอบในกำกับดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ และเมื่อ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้น จึงต้องมีการประกาศยุติการออกอากาศของสถานีโดยกะทันหัน เพราะบทเฉพาะกาลมาตรา 57 ได้ระบุให้กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ได้ทันทีในการถ่ายโอนทรัพย์สิน ไม่มีเวลาเปลี่ยนผ่าน


 


นายฉัตรชัยชูแก้ว ทนายความพนักงานทีไอทีวี กล่าวว่า ในการไต่สวน คณะตุลาการได้ตั้งประเด็นคำถามต่ออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ถึงความเสียหายของหน่วยงานของรัฐ ว่า หากศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อรัฐ หากให้ยุติการเผยแพร่ภาพจะส่งผลต่อการดำเนินงานของรัฐอย่างไร ซึ่งศาลได้สอบถามนายณรงค์ ใจหาญ 1 ใน5 คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวซึ่งศาลออกหมายเรียกให้มาให้ถ้อยคำ นายณรงค์ ระบุว่า หากศาลสั่งคุ้มครองแล้ว จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการการผังรายการทีวีสาธารณะ รวมถึงการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการ


 


ขณะที่ฝ่ายทีไอทีวีมอบหมายให้นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม บรรณาธิการข่าวเช้า เป็นผู้ชี้แจง โดยยืนยันต่อศาลว่า การยุติการออกอากาศส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถรับชมข้อมูลข่าวสารตามนโยบายที่ให้มีการบริการนโยบายทีวีสาธารณะ โดยการให้การครั้งนี้ ฝ่ายทีไอทีวีได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเป็นสัญญาการจ้างงาน ข้อ 12 ที่พนักงานทีไอทีวีไม่เห็นด้วยที่ระบุว่า เมื่อ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้จะทำให้สัญญาสิ้นสุดลง รวมทั้งวีซีดีบันทึกภาพจอดำหลังยุติการออกอากาศเมื่อเวลา 00.00 น. วันที่15 มกราคม


 


จากนั้นผู้ร้องอีก 4 คนร่วมเสริมประเด็นข้อสงสัย และได้สอบถามตัวแทนประชาชน ซึ่งเป็นผู้ร้องสอด โดยมีนางประทีบ อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เป็นตัวแทน จึงเสร็จสิ้น โดยใช้เวลาไต่สวนนานประมาณ 4 ชั่วโมง30 นาที


 


จากนั้นศาลปกครองได้นัดฟังคำสั่งว่า จะกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวคดีที่พนักงานทีไอทีวี ฟ้องขอให้ยกเลิกคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ ที่ให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ยุติการแพร่ภาพ หรือไม่ในวันพรุ่งนี้ (17) โดยศาลจะแจ้งคำสั่งให้ทราบทางโทรสาร ในช่วงเวลา 13.00 น.


 


นายณรงค์กล่าวว่า ศาลได้สงสัยถึงประเด็นความเดือดร้อนเสียหายของคณะกรรมการ หากปล่อยให้มีการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ว่า ได้เรียนศาลไปว่า หากให้มีการออกอากาศต่อไปจะมีปัญหาด้านการจัดผังรายการ รวมทั้งมีข้อถกเถียงด้านกฎหมาย เพราะตามกฎหมายสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีถือว่าไม่มีอยู่แล้ว พนักงานของสถานีก็ไม่มี แต่ทุกอย่างโอนกลับมาอยู่กับสถานีไทยพีบีเอส ทั้งอุปกรณ์ สำนักงาน หากให้ออกอากาศก็จะมีประเด็นคำถามว่า ใครจะเป็นคนดำเนินการ ใช้พนักงานที่ไหนมา และอุปกรณ์ออกอากาศใช้ที่ไหน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดอยู่ที่ดุลพินิจของศาล หากมีผลอย่างไรตนจะนำคำสั่งศาลไปปรึกษากับคณะกรรมการทั้ง 5 คนอีกครั้งหนึ่ง


 


นายณรงค์กล่าวอีกว่า การประชุมของคณะกรรมการขณะนี้ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นไปใช้สำนักงานที่ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะกลับไปใช้สำนักงานของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเดิม ที่ตึกชินวัตร 3 เพราะยังมีสัญญาเช่าสำนักงานอยู่จนถึงเดือนพฤศจิกายน2551 รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆก็มีพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งอีกวันหรือสองวันคงจะสามารถเข้าไปทำงานได้ทันที


 


 


เนชั่นฯ สัญญา ไม่ร่วมยื่นผัง กันครหา


นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า เครือเนชั่นขอแสดงจุดยืนเพื่อไม่ให้เกิดประเด็นข้อกล่าวหาผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) กับกรณีนายเทพชัย อดีตบรรณาธิการเครือเนชั่น ไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวทีวีสาธารณะ ด้วยการสละสิทธิ์จะไม่เสนอรายการใดๆ ให้คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวทีวีสาธารณะพิจารณาในช่วงการเปลี่ยนถ่ายจากทีไอทีวีเป็น Thai PBS หรือ "ทีพีบีเอส"


 


นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า เนชั่นบรอดแคสติ้งฯ จะสนับสนุนและตรวจสอบการเกิดขึ้นของทีวีสาธารณะ และจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวทีวีสาธารณะอย่างเข้มข้น และจะตรวจสอบการแทรกแซงจากอำนาจรัฐ และอำนาจทุน


 


 


เปิดรับสมัครพนักงานชั่วคราวTPBS วันแรก 236 ราย


วานนี้ (16) เป็นวันแรกของการเปิดรับสมัครพนักงานชั่วคราวขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดยมีการเปิดรับสมัคร 13 ตำแหน่ง มีผู้สนใจเดินทางสมัครรวม 236 ราย


 


ทั้งนี้ ยังไม่มีพนักงานไอทีวีมาสมัคร มีเพียงมาขอใบสมัครไปประมาณ 400 ชุด และบอกว่าถ้าจะมาสมัครจะมาพร้อม ๆ กัน แต่วันนี้ ขอรอฟังคำตัดสินของศาลปกครองกลางก่อน


 


อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งที่มีผู้สมัครมากที่สุด คือ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป รองลงมา คือ ผู้สื่อข่าว และพิธีกร ทั้งนี้ การเปิดรับสมัครจะมีไปจนถึงเวลา 16.30 น. ของวันที่ 19 มกราคมนี้ มีข้อสังเกตว่า ทุกตำแหน่งจะระบุคุณสมบัติว่า สามารถทำงานภายใต้ความกดดันและเวลาที่ไม่แน่นอน และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี ลงชื่อประกาศรับสมัครโดยนายเทพชัย หย่อง รักษาการผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net