Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 8 ธันวาคม 2550 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการและองค์กรประชาชนภาคเหนือ ได้จัดเวทีภาคประชาชนเหนือต่อ สถานการณ์การเมืองการเลือกตั้ง


 


โดยในช่วงเช้าเป็นการพูดคุยในหัวข้อ วิพากษ์นโยบายด้านสังคมของพรรคการเมือง: ประชานิยม วาระประชาชน รัฐสวัสดิการและทำไมต้อง เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า? ซึ่งมีวิทยากรนำเสวนาคือ จอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช., รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัย เที่ยงคืน, รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย, สมศักดิ์ โยอินชัย แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ


 


จอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช. ได้ถึงการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ว่าตนเองรู้สึกท้อแท้ เพราะพรรคการเมืองที่เสนอตัวในครั้งนี้เหมือนเป็นพรรคกึ่งสำเร็จรูป ตั้งขึ้นมาแบบเฉพาะกิจเพื่อชนชั้นนำ ไม่ได้มีประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ โดยนโยบายส่วนใหญ่นั้นเป็นเพียงการเสนอเอาใจผู้ลงคะแนนที่ไม่ละเอียดถี่ถ้วน


 


จากนั้นจอน ได้กล่าวถึงความหมายของรัฐสวัสดิการ คือ ไม่ใช่เป็นการสร้างสวัสดิการให้แก่คนจนเท่านั้น แต่เป็นสวัสดิการของทุกคน ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ให้ปัจจัยแก่ทกคนอย่างเสมอภาค เหมือนเป็นการประกันชีวิตอย่างหนึ่ง โดยการเป็นการรับประกันคุณภาพชีวิต จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน


 


ทั้งนี้ตัวอย่างสวัสดิการสำหรับสังคมไทยได้แก่ การประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เกิดจากการผลักดันของภาคประชาชน แต่ทั้งนี้จอนมองว่าในปัจจุบันนั้นยังไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในประเทศ เพราะให้ความครอบคลุมแค่คนที่มีบัตรประชาชนเท่านั้น


 


รัฐสวัสดิการจะต้องครอบคุลมถึงเรื่องการศึกษาที่ให้เปล่าจริงๆ, ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน, มีการประกันการว่างงาน, มีการดูแลผู้สูงอายุ, การเลี้ยงดูบุตร, ระบบคมนาคม เป็นต้น --- ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาชนรู้สึกมีหลักประกันในการดำเนินชีวิต


 


ทั้งนี้ในต่างประเทศ สวัสดิการมักจะรวมศูนย์อยู่ที่รัฐส่วนกลาง แต่ในกรณีประเทศไทย NGO บางส่วนมักจะผลักดันให้เกิดสวัสดิการขึ้นในท้องถิ่นและชุมชน แต่ทั้งนี้รัฐสวัสดิการจะจัดเฉพาะในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งไม่ได้ เพราะในแต่ละท้องที่มีทรัพยากรและสภาพเศรษฐกิจต่างกัน การสร้างรัฐสวัสดิการจะต้องสร้างจากส่วนกลางเฉลี่ยงงบประมาณให้เหมาะสม แต่ทั้งนี้ในแต่ละชุมชนนั้นจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการบริหารเพื่อให้เข้ากับชุมชนของตนเอง


 


และรัฐสวัสดิการจะสามารถอยู่ได้ด้วยการเก็บภาษีก้าวหน้า หรือภาษีที่เป็นธรรม รวยต้องจ่ายมาก คนจนต้องจ่ายน้อย มีการเก็บภาษีมรดก เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม


 


"ระบบรัฐสวัสดิการต้องเป็นวาระร่วมอันหนึ่ง ในการต่อสู้ของภาคประชาชน" --- จอนกล่าว


 


ทางด้าน รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัย เที่ยงคืน ได้เปรียบรัฐสวัสดิการเหมือนเป็นตู้กับข้าวของประชาชน โดยได้ชี้ให้เห็นว่าการที่ประเทศไทยจะต้องนำแนวทางรัฐสวัสดิการมาใช้เพราะไทยกำลังก้าวสู่ยุคโลกาภิวัตน์ของเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ซึ่งมีการแก้กฎระเบียบให้เข้ากับการลงทุนของโลก ขโมยทรัพยากรธรรมชาติไป รวมถึงนักการเมืองและสื่อมวลชนในปัจจุบันยังทำหน้าที่เหมือนนายหน้าของระบบทุนนิยมโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ถูกเบียดตกเวทีไป ดังนั้นการสร้างรัฐสวัสดิการจึงเหมือนเป็นการนำมาคานสิ่งเหล่านี้


 


ทั้งนี้รัฐสวัสดิการจะต้องไม่ดูแลแค่เรื่องปัจจัยสี่ แต่ต้องรองรับมาตรฐานขั้นต่ำของสังคม (social minimum) ซึ่งรวมไปถึงเรื่องจินตภาพ มีการรับรองสิทธิ์ในการนับถือศาสนา ความเชื่อ และอุดมการณ์ ประกันสิทธิเสรีภาพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและที่สำคัญคือการประกันสิทธิเสรีภาพพื้นฐานทางการเมือง


 


ส่วน รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกพรรคแนวร่วมภาคประชาชน กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีประเพณีของฝ่ายก้าวหน้าสามอย่างคือ การเสนอรัฐสวัสดิการ การต่อต้านรัฐประหาร และการตั้งพรรคของภาคประชาชน


 


โดยในอดีตมีการเสนอรัฐสวัสดิการนับตั้งแต่การปฏิวัติ พ.ศ.2475 โดยนายปรีดี พนมยงค์ภายใต้เค้าโครงเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลือง แต่รัชกาลที่ 7 ไม่เห็นด้วย หรือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีขบวนการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรียกร้องความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ในที่สุดขบวนการเรียกร้องความเป็นธรรมนี้ก็ถูกปราบปรามในเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลาคม 2519 ที่ ม.ธรรมศาสตร์


 


ทั้งนี้การเสนอรัฐสวัสดิการนั้นต้องยึดหลักสามอย่างก็ คือ ..


 


ถ้วนหน้า - เป็นระบบเดียวกันเท่าเทียมกัน


ครบวงจร - สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การศึกษา ไม่ใช่เศษสวัสดิการที่เป็นแนวคิดของนายทุน


เก็บภาษีก้าวหน้า - เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า


 


การที่พรรคไทยรักไทยเอง ทั้งๆที่เป็นพรรคนายทุนเพื่อนายทุน แต่ได้เสนอสวัสดิการเกี่ยวกับการประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้แย่งชิงมวลชนของภาคประชาชนไป ทั้งนี้เองนายทุนและนักวิชาการเสรีนิยมก็ยังคัดค้านรัฐสวัสดิการแบบเด็มระบบ มักเน้นให้เสนอมีวินัยทางการคลัง แต่กลับซื้ออาวุธ และอุ้มสถาบันทางการเงิน


 


ส่วนการต้านรัฐประหารนั้น หลัง 19 .. ที่ผ่านมาภาคประชาชนที่ไม่ได้เชียร์ทักษิณก็ออกมาต่อต้านรัฐประหารเช่นเดียวกัน และเราไม่ควรคาดหวังกับทหาร เพราะมันได้พิสูจน์แล้วว่าทหารไม่ใช่คำตอบของสังคม


 


และประเด็นประเพณีการสร้างพรรคการเมืองนั้น ข้อสรุปหลังจากที่ พคท. ล่มสลายไป ทำให้พบว่าแนวทาง พคท. มีปัญหา แต่มาถึงจนวันนี้เราได้บทเรียนแล้วว่าเราต้องมีพรรคการเมืองของภาคประชาชนเอง ซึ่งการไม่มีพรรค มีแต่เครือข่ายเคลื่อนไหวประเด็นเดียว จะกลายเป็นเพียงกบขอนาย ซึ่งพรรคการเมืองของภาคประชาชนต้องเคลื่อนไหวมุ่งไปสู่การสร้างรัฐสวัสดิการ


 


โดยการสร้างรัฐสวัสดิการนั้นนอกจากการสร้างพรรคการเมืองแล้ว จะต้องมีขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเข้มแข็งควบคู่ไปด้วย


 


นอกจากนี้ใจยังได้กล่าวถึงคำถามที่ถูกถามเกี่ยวกับการสร้างพรรคการเมืองภาคประชาชน


 


Q : สร้างพรรคภาคประชาชนจะต้องใช้เวลานานจริงหรือ?


A : จริง แต่ในระยะเวลาสร้างพรรคนั้น ก็สามารถมีมีการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ และกดดันให้พรรคในกระแสนำนโยบายของเราไปใช้ได้


 


Q : เราจะเอาทุนมาจากไหน?


A : เก็บเงินกันเอง โดยใช้อัตราก้าวหน้า


 


Q : เราจะคุมผู้นำพรรคอย่างไร?


A : เราจะต้องไม่มีผู้นำ แต่ต้องมีคณะกรรมการ และมีคณะกรรมการอิสระตรวจสอบพรรคด้วย


 


ส่วน สมศักดิ์ โยอินชัย แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ ได้กล่าวถึงการเมืองในปัจจุบันชาวบ้านได้หลงประเด็นคอยลุ้นกับข่าวการเมืองรายวันด้วยความเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นนักการเมืองที่ต่อสู้กันแต่ข้างบน และทำให้ชาวบ้านลืมปัญหาของตนเอง ซึ้งภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทุนศักดินาหรือนายทุนย่อมเป็นผีตัวเดียวกัน เราจะต้องเสนอแนวคิดของภาคประชาชนต่อสังคม ไม่อยากให้ไปฝากความหวังกับพรรคการเมืองน้ำเน่า


 


ส่วนในภาคบ่ายมีการอภิปราย วิพากษ์การเมืองไทย: บทบาททหาร กลุ่มทุนพรรคการเมือง และทำไมต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50? ทำไมต้องยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน กฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกฎหมายที่ล้าหลัง โดยตัวแทนจาก เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายวิทยุชุมชน เครือข่ายน้ำ เครือข่ายที่ดิน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายชุมชนเมือง เครือข่ายชาติพันธุ์ และตัวแทนนักศึกษา เชียงใหม่ ม.นอกระบบ


 


โดยในวงเสวนาได้ข้อสรุปว่าทั้งนายทุนและอำมาตยาธิปไตยคือตัวการปัญหาที่เกิดกับชาวบ้าน และในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ ภาคประชาชนควรร่วมมือกันคัดค้านกฎหมายทุกฉบับที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร เพราะเป็นการตัดสินใจของคนกลุ่มเดียว ประชาชนไม่มีส่วนร่วม


 


โดยหลังจากเสวนา เครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือได้ออกแถลงการณ์แสดงท่าทีต่อการเลือกตั้งที่จะถึงนี้


 






แถลงการณ์


ต่อสถานการณ์การเมืองการเลือกตั้ง


            วันที่ 23 ธันวาคมนี้ สังคมไทยจะมีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากทหารที่ได้รับการสนับสนุนจากขบวนการอนุรักษ์นิยมก่อการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลทักษิณเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา
            รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคใดจะเป็นพรรคนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตามแต่ สังคมไทยคงได้รัฐบาลผสม        รัฐบาลผสมในอนาคตนั้นจะมีความอ่อนแอ ไม่มีประสิทธิภาพ


                อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกฎหมายอีกหลายฉบับยุครัฐบาลสุรยุทธ์  ที่ให้อำนาจกับระบบราชการ เช่น  พ.ร.บ.ป่าชุมชน     พ.ร.บ.น้ำ     พ.ร.บ.วิทยุและโทรทัศน์    ฯลฯ    ตลอดทั้งพ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติที่สร้างอำนาจให้รัฐทหาร โดยมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากคณะความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)ได้จัดให้ไว้แล้ว  รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี และนโยบายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น  การอนุญาตให้ทดลองจีเอ็มโอ   การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์   ฯลฯ 
            และแน่นอนว่าสังคมไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 50 นั้น อำนาจรัฐที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกกำกับโดยระบอบราชการที่มีศาลเป็นใหญ่ โดยการหนุนหลังของอำนาจทหาร หรือ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" ครอบงำสังคมไทย
            ขณะเดียวกัน   ทางด้านการเมืองการเลือกตั้งนั้น พรรคการเมืองของนายทุนต่างๆได้มีข้อสรุปร่วมแล้วว่า ต้องมี "นโยบายประชานิยม"  "วาระประชาชน"   เช่น การศึกษาฟรี รักษาพยาบาลฟรี ฯลฯ
            นโยบายดังกล่าวนั้น ล้วนเป็นเพียงนโยบายโฆษณาชวนเชื่อ หรือสามารถทำได้จริงก็เพียงทำนองการสังคมสงเคราะห์ ไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีคุณภาพ ไม่ทั่วถึง ถ้วนหน้า เหมือนเช่นแนวคิดรัฐสวัสดิการ เนื่องจากไม่มีงบประมาณของรัฐเพียงพอที่จะทำได้อย่างแท้จริง
            เรามีความคิดเห็นและข้อเสนอต่อ สถานการณ์การเมืองการเลือกตั้งในครั้งนี้ ดังนี้


            1.ขอเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญํติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการพิจารณากฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสิทธิมนุษยชนทุกฉบับ     และขอให้รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ดำเนินกระบวนพิจารณาการยกเลิกกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสิทธิมนุษยชนทุกฉบับที่ได้ผ่านการพิจารณาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วโดยเร่งด่วน


            2. แม้ว่า สังคมไทยเพิ่งจะมีรัฐธรรมนูญ 50 มาได้ไม่นานก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญ 50 นั้นเกิดจากอำนาจเผด็จการระบบราชการที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใดเลย รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงให้อำนาจกับระบบราชการโดยเฉพาะอำนาจศาลอย่างเบ็ดเสร็จ แม้ว่าจะมีบทบัญญัติให้ดูเหมือนให้เสรีภาพกับประชาชน ยอมรับสิทธิชุมชน แต่กลับหมกเม็ดและบิดเบือนเนื้อหาและรูปธรรมที่จะปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
            ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์การเมือง แต่กลับสร้างเงื่อนไขให้พรรคการเมืองนายทุนผูกขาดอำนาจ
            เรามีข้อเสนอว่า พรรคการเมืองต้องมีสัตยาบันร่วมกันเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมา โดยแต่งตั้งคณะกรรมการหลายฝ่าย จัดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ทำนองเดียวกับสมัยนายกรัฐมนตรีบรรหาร ที่ได้สร้างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี40 โดยมีหลักการที่สำคัญคือ "ลดอำนาจระบบราชการ และอำนาจกลุ่มทุนพรรคการเมือง เพิ่มพื้นที่ภาคประชาชน"
            3. นโยบายประชานิยม หรือทำนองเดียวกับประชานิยม ของพรรคการเมืองต่างๆนั้น
ถ้าปฏิบัติได้จริง ก็ล้วนเป็นนโยบายแบบสังคมสงเคราะห์เท่านั้น ขณะที่ช่องว่างความแตกต่างทางชนชั้น ความแตกต่างของรายได้ ความแตกต่างด้านทรัพยากรในสังคมไทยมีช่องว่างมากขึ้น และถ้าตราบใดที่สังคมไทยไม่มีนโยบายการเก็บ"ภาษีอัตราที่ก้าวหน้า" ในด้านต่างๆ เช่น รายได้ มรดก ที่ดิน เป็นต้น สังคมไทยก็จะไม่มีความเสมอภาค ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
            4. ในช่วงเวลาภายในหนึ่งสัปดาห์นับจากนี้เป็นต้นไป   เราคาดหวังว่าจะมีพรรคการเมืองได้ทบทวนนโยบายและประกาศจะดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นต่อสาธารณชนอย่างชัดเจน   และถ้าไม่มีพรรคการเมืองใดเห็นด้วย  เราจะรณรงค์ให้ประชาชนกาช่องไม่เลือกพรรคการเมืองใด


 


ด้วยความเชื่อมั่น


 


เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ   


เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)


เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ       


แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.)


เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ       


สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์


มหาวิทยาลัยถนนคนเดิน 


กลุ่มนักศึกษาปริญญาโทเพื่อประชาธิปไตย 


กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ปรส.)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net