Skip to main content
sharethis

วันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีวิชาการว่าด้วย ทุนนิยมที่มีหัวใจ : ทางเลือกใหม่แห่งการพัฒนา โดยเชิญ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการหน้าใหม่ ไฟแรง ผู้เขียนหนังสือ "To think well is good, to think right is better" และ "ตกน้ำไม่ไหล" เรื่องของคนดีที่ไม่ไหลไปตามโลกกระแสหลัก และเธอยังเป็นเจ้าของบล็อกชื่อดัง fringer.org หรือ คนชายขอบ อีกด้วย


สฤณีนำเสนอสิ่งที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะการถกเถียงเรื่อง "ทุนนิยม" ที่ผ่านมา หากนอกไปจากมุมมองของนักธุรกิจ นักลงทุนที่มองแง่งามของตัวเลขผลกำไรเป็นหลักแล้ว ส่วนใหญ่ "แว่น" อื่นๆ มักจะเห็นมันเป็นปีศาจร้ายโดยธรรมชาติ ซึ่งนำการพัฒนามาพร้อมการกดขี่ เอาเปรียบผู้ด้อยโอกาส ไร้อำนาจ


ท่ามกลางโครงสร้าง กฎเกณฑ์ของระบบทุนที่ดำรงอยู่ ท้ายที่สุดแล้วมันจะมีหัวใจได้อย่างไร การมีหัวใจนั้นหมายความลึกซึ้ง กว้างขวางเพียงไหน และจะเป็นทางเลือกได้จริงหรือไม่


ก่อนไปทำความรู้จักกับทุนนิยมมีหัวใจ เราอาจต้องถามให้ชัดว่ามันใช่หรือไม่ใช่ มันต่างหรือเหมือนกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" แค่ไหน


"โดยหลักของเศรษฐกิจพอเพียง มันมีเรื่องความพอประมาณ มีขีดจำกัดในการทำธุรกิจ แต่นี่จะไม่เป็นประเด็นเลยในกระบวนทัศน์ทุนนิยมที่มีหัวใจหรือทุนนิยมธรรมชาติ เพราะเป้าหมายในการทำธุรกิจที่แนวคิดนี้สนใจคือความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ทุนนิยมแบบนี้อาจทำกำไรมหาศาลก็ได้ ถ้าเขาเก่ง ในแง่ที่สามารถคิดค้นการผลิตแบบใหม่ๆ ที่ต้นทุนต่ำมาก พูดง่ายๆ แนวคิดมันอาจไม่ต่างจากทุนนิยมปกติที่ผ่านมาเพียงแต่ขยายขอบเขตของการคำนวณ เช่น เอามูลค่าทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเข้ามาอยู่ในกระบวนการให้ได้ ไม่ใช่มองแต่กำไร ขาดทุน ที่เป็นตัวเลขทางการเงิน"


รูปร่างหน้าตาของทุนนิยมมีหัวใจที่สฤณีอธิบายนั้นไม่ได้แตกต่าง หลุดไปจากกรอบเดิมที่ดำรงอยู่ แต่เพิ่มเติมมิติของความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการนำไปสู่ความเป็นธรรมในสังคม โดยมีลักษณะ


1. ต้องมีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม
2. มองทรัพยากรที่มีวันหมดต่างๆ รวมถึงเรื่อง externalities หรือผลกระทบภายนอกที่เกิดจากบุคคลภายนอกที่ไม่ได้ร่วมทำธุรกรรมนั้นด้วย เช่น การคอรัปชั่น ต้องมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนสังคมที่ต้องมีคนจ่าย เพราะที่ผ่านมาผลกระทบอะไรที่ไม่ต้องการรับผิดชอบบริษัท นักลงทุน ก็ปล่อยให้เป็นภาระของสังคม นอกจากนี้ยังต้องรองรับความหลากหลายของแต่ละวัฒนธรรมในท้องถิ่นทุกระดับได้ เพราะการบังคับให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรง และไม่อาจเรียกได้ว่าระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน


"ทุนนิยมที่มีหัวใจต้องสามารถสื่อสารในภาษาดั้งเดิมของธุรกิจได้ แต่ต้องให้ภาษานั้นไม่ได้มุ่งแต่กำไรเพียงอย่างเดียว แต่ให้สามารถตีค่าคุณค่าต่างๆ หรืออะไรที่เป็น externality ให้เป็นตัวเลขได้ด้วย ถ้าไม่สามารถย่อยคุณต่างๆ เป็นตัวเลขได้ ธุรกิจก็ไม่มีแรงจูงใจจะทำตามเท่าไรนัก เพราะธุรกิจเดินได้ด้วยตัวเลข" สฤณีกล่าว


สฤณีสรุปง่ายๆ ว่าแนวคิดใหม่นี้จะมีลักษณะเป็นทุนนิยมจะอ่อนโยนมากขึ้น โดยไม่ต้องโยนมันทิ้งไปทั้งระบบ และเอาความเป็นธรรมทางสังคมเข้าไปอยู่ในระบบ โดยไม่ต้องทิ้งเรื่องประสิทธิภาพ และยกตัวอย่างสุนทรพจน์ของ บิล เกตส์ เจ้าพ่อนักธุรกิจด้านไอทีคนสำคัญ ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ (แต่คงต้องทำงานหนักเพื่อให้มันเป็นไปได้)


"ที่จริงแล้วพวกเราสามารถทำให้พลังของตลาดทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้มากขึ้น ถ้าเราสามารถพัฒนาทุนนิยมที่สร้างสรรค์กว่าเดิม ถ้าเราสามารถขยับขยายพรมแดนของระบบตลาดให้คนจำนวนมากขึ้นสามารถทำกำไรได้ หรืออย่างน้อยก็สามารถเอาตัวรอดได้ เพื่อรับใช้ผู้ที่เดือนร้อนจากความไม่เท่าเทียมอันร้ายกาจที่สุด นอกจากนั้นเรายังสามารถกดดันรัฐบาลให้ใช้เงินภาษีไปในทางที่สะท้อนคุณค่าต่างๆ ที่ผู้เสียภาษีให้ความสำคัญ" บิล เกตส์ กล่าวในงานสำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา


คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ หากมองในทางสังคมศาสตร์แล้วมันคงมีของหลายอย่างที่ไม่อาจตีมูลค่าได้ เช่น วิถีชีวิต สฤณีตอบคำถามเรื่องนี้ว่า


"กระบวนทัศน์ที่นำเสนอเป็นเรื่องใหม่ โดยส่วนตัวมันไม่มีทางจะตีทุกอย่างออกมาเป็นมูลค่าถูกต้อง 100% เพราะบางอย่างก็วัดไม่ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่ควรพยายามใช้พร็อกซี่ (proxy) หรือตัวแทน เพราะถ้าเราไม่พยายามมองมันให้เห็นเป็นตัวเลข มันก็เอาเข้ามาอยู่ในความคิดของภาคธุรกิจและเปรียบเทียบไม่ได้ มันต้องมีวิธีที่จะเข้ามาอยู่ในวิธีการทำธุรกิจของธุรกิจกระแสหลัก เพราะนั่นคือกระบวนการที่มีพัฒนาต่อเนื่องมาแล้ว 100-200 ปี พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก และยืดหยุ่นมาก ถ้าทุนนิยมไม่ยืดหยุ่นจริง แนวคิดแบบนี้ก็เกิดไม่ได้ ธุรกิจเพื่อสังคมก็เกิดไม่ได้ เราเห็นธนาคารอย่างกรามีน (Grameen Bank) เกิดขึ้น มันเป็นเครื่องสะท้อนว่ามันยืดหยุ่นพอที่เราจะสามารถใส่คุณค่าใหม่ๆ ลงไป"


สฤณียอมรับว่าแนวคิดนี้ไม่ได้เน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแต่เป็นแนวทางที่พยายามประนีประนอมเพื่อให้สิ่งที่ดำรงอยู่นั้นดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คงเป็นการยากหากจะทำให้ธุรกิจกระแสหลักที่ทำกิจการมาแล้วหลายสิบปีเปลี่ยนกระบวนทัศน์ สิ่งที่หวังได้มากที่สุดสำหรับธุรกิจกระแสหลักที่มีอยู่ก็คือ ทำให้เขารับผิดชอบมากขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มว่ากระบวนทัศน์ใหม่นี้จะเกิดขึ้นได้ในบริษัทเกิดใหม่ที่สามารถเริ่มต้นวิสัยทัศน์ กระบวนการทำธุรกิจได้อย่างมีหัวใจ โดยไม่ต้องไปรื้อระบบเก่า ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายอาจสูงจนไม่คุ้ม


คำถามสำคัญต่อมาคือ เราจะไปถึงทุนนิยมที่หัวใจได้อย่างไร


สฤณีกล่าวว่า ต้องเป็นส่วนผสมของแนวคิดใหม่ๆ ที่จะสร้างแรงจูงใจที่จะให้คนทำตาม ภาคธุรกิจมองว่าเป็นประโยชน์สำหรับเขา และต้องมีเครื่องมือใหม่ๆ ที่ทำให้แรงจูงใช้เหล่านั้นมันใช้ได้กับโลกความเป็นจริง ท้ายที่สุดต้องมีโครงสร้างเชิงสถาบันใหม่ๆ ที่ทำให้เราใช้แนวคิดกับเครื่องมือนี้อย่างมีประสิทธิภาพ


ในเรื่องแนวคิดใหม่ เธอยกตัวอย่างกระแสของอินเตอร์เน็ตที่มีคนใช้ราว 1.1 พันล้านคน เป็นสิ่งที่มีพลัง จิตสำนึกร่วมของสังคมในโลกไซเบอร์ไม่มีผู้นำ แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน


"กลไกประชาธิปไตยทางตรง หลายประเทศกำลังทดลองให้คนโหวตในอินเตอร์เน็ตในทุกระดับ กำลังเป็นที่จับตาดูว่ากลไกแบบนี้จะใช้ได้จริงไหม ถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ต แนวคิดนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก"


หรือแนวคิดนิเวศอุตสาหกรรม ก็บอกว่าขั้นต่อไปของทุนนิยมเสรีคือทุนนิยมธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้จริง เพราะมันคิดถึงความเป็นธรรมในสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุนนิยมกระแสหลักยังคิดไม่ถึง ประเด็นของนิเวศอุตสาหกรรมคือ ทุนทางธรรมชาติเป็นต้นทุนแบบหนึ่งในการทำธุรกิจ เป็นการขยายพรมแดนของปัจจัยการผลิต
 
ในส่วนของประเทศไทย สฤณีระบุว่า กระแสใหม่ที่ค่อนข้างแรงขึ้นเรื่อยๆ คือ Cooperate Social Responsibility (CSR) หรือความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากหน้าที่ หรือถ้าจะคิดถึงมันก็จะเป็นในมุมผลประโยชน์จากการประชาสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ภาคสังคมตอนนี้เริ่มเรียกร้องแล้วว่าบริษัทต่างๆ ควรมี CSR มากกว่าเดิม สะท้อนได้จากการสำรวจของ มิเลเนียมโพลล์ ซึ่งทำในหลากหลายประเทศ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย อเมริกา จนถึง อุรุกวัย เม็กซิโก จะเห็นว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบกว่า 30% ขึ้นไปบอกว่า CSR ต้องเป็นบทบาทของบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ใช่แค่จ้างงานและจ่ายภาษีเท่านั้น


CSR มีหลายมิติ ตอนนี้เป็นวงการที่มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องที่จะหาวิธีวัดว่ามิติหลายๆ มิติมีอะไรบ้าง มันกำลังค่อยๆ เป็นกระบวนทัศน์และความเชื่อมั่นของคนจำนวนมากว่าเรื่องความเป็นธรรมและการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของบริษัท


แล้วประชาชนธรรมดามีส่วนร่วมได้อย่างไรในการสร้างหรือส่งเสริมกระบวนทัศน์แบบนี้ สฤณียกตัวอย่างถึงสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่เกิดขึ้นก็คือ ขบวนการที่เรียกว่าโอเพนซอร์ส (open source) ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟแวร์ที่เป็นลักษณะเปิด มีแนวคิดว่าทุกคนควรมีส่วนร่วมในการสร้าง เป็นแนวคิด prosumer (producer + consumer) หรือผู้บริโภคที่เป็นผู้ผลิตด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจได้


ในส่วนของโครงสร้าง เธอกล่าวว่า มันมีความพยายามที่จะกำหนดมาตรฐานหรือสร้างวิธีคิดที่จะให้เอาปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมาคำนวณเกิดขึ้นจริง ในวงการบัญชีมีคนเสนอแนวคิด Triple Bottom Line (สามมิติของธุรกิจที่ยั่งยืน ได้แก่ ผลการดำเนินงานทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม -ประชาไท) สมัยก่อนในทางบัญชีของบริษัทดูแค่มุมเศรษฐศาสตร์ แต่แนวคิดนี้ให้มีการประเมินมูลค่าทางสังคมของกิจกรรมบริษัท รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปในบัญชีด้วย นี่เป็นสิ่งที่กำลังพัฒนา มีหลายคนพยายามคิดตัววัดออกมา ซึ่งต้องคอยจับตามองว่าอันไหนจะเป็นที่ยอมรับมากที่สุด


ในเรื่องกฎหมายปัจจุบันมีกฎหมายระหว่างประเทศที่ส่งเสริมแนวคิดทำนองนี้ เช่น ในด้านสังคมมีกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล เรื่องสิ่งแวดล้อมก็มีหลายฉบับ และยังมีมาตรฐานอื่นๆ ที่ในภาคธุรกิจเองก็พยายามจะพัฒนาขึ้นมา เช่น ISO 14000


อีกมิติหนึ่งสำหรับทุนนิยมที่มีหัวใจคือ ตลาดการลงทุนเพื่อสังคม ซึ่งสฤณีระบุว่ามันครอบคลุมตั้งแต่บริษัทที่ลงทุนในธุรกิจเพื่อนสังคม ไปจนถึงธุรกิจเพื่อธุรกิจในกระแสหลักที่ผ่านมา แต่ใช้ตัววัดต่างๆ ด้านสังคมในการตัดสินใจลงทุน กองทุนที่ใช้ตัววัดด้านสังคมในการตัดสินใจลงทุน ก็มีชื่อเรียกว่า Social Responsible Investing (SRI)


ปัจจุบันกองทุนเหล่านี้มีเม็ดเงินลงทุนรวมกัน 3 ล้านล้านเหรียญ และตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งประชาชนสนับสนุน CSR เท่าไรเขายิ่งสนใจลงทุน


หลักเกณฑ์หลักๆ ที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนมี 3 ส่วน คือ ดูว่าบริษัทอะไรบ้างที่จะไม่ลงทุนเด็ดขาด เช่น บริษัทแอลกอฮอล์ การพนัน การผลิตอาวุธ มีการทดลองในสัตว์ในสัดส่วนสูง เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม มีมาตรฐานสิทธิมนุษยชนต่ำ มีมาตรการคุ้มครองแรงงานที่ไม่ดี หรือการจ้างงานคนกลุ่มน้อยที่ไม่เป็นธรรม


มิติที่สองคือ การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้น กองทุนเหล่านี้แม้ไปลงทุนไม่มาก แต่ก็พยายามมีส่วนร่วมให้ได้ในการพยายามบริหารบริษัท แตกต่างจากนักลงทุนทั่วไปที่เน้นการเก็งกำไร ไม่ได้สนใจการบริหารงานของบริษัท


อีกเกณฑ์คือ จะดูว่าบริษัทที่ไปลงทุนทำงานในชุมชนใด แล้วปีๆ หนึ่งมีมาตรการคืนกำไรให้กับชุมชนอย่างไรหรือไม่


"นี่เป็นวงการใหม่ คงต้องใช้เวลาอีกซักพัก ตัวเลขผลตอบแทนจะชัดขึ้น จะมีการทำวิจัยออกว่าการลงทุนแบบนี้ในทางเศรษฐกิจแล้วดีกว่าการลงทุนปกติหรือไม่" สฤณีกล่าว


ส่วนสุดท้ายคือ โครงสร้างเชิงสถาบัน สฤณีชี้ว่า ในระยะหลังเริ่มมีหลายบริษัท หลายองค์กรที่เชื่อในมิติด้านสังคม เป็นตัวอย่างรูปธรรม เช่น one world health ที่เป็นเอ็นจีโอแห่งแรกที่ผลิตยาเพื่อขายให้คนจน ยาตัวแรกที่ผลิตสำเร็จและวางจำหน่ายแล้วคือ ยารักษาไข้กาฬ ซึ่งคนอินเดียเป็นกันเยอะ เขาคิดโมเดลใหม่ๆ โดยไปขอสูตรยากำพร้าจากสถาบันการศึกษา จากบริษัทเอกชน โดยอาจขอใช้ฟรีหรือซื้อในราคาถูก แล้วนำไปพัฒนาต่อจนได้เป็นยา ส่วนกระบวนการในการขายก็ติดต่อกับเอ็นจีโอในพื้นที่ต่างๆ ทำให้เขาสามารถในราคาถูก ให้คนจนสามารถซื้อได้


ในแง่ตลาดการเงิน สฤณีเห็นว่า นักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วไปก็ยังมองมิติเดียวเรื่องกำไรอยู่ ดังนั้น ในแง่ของตลาดการเงินก็ต้องมีตลาดการเงิน มีนักลงทุนแบบใหม่ ที่ยินดีจะลงทุน และระดมทุนในธุรกิจเพื่อสังคม ในด้านธนาคารเองก็ต้องเริ่มคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีสิ่งที่เรียกว่า Patient Capital หรือนักลงทุนที่อดทน ถ้าเป็นนักลงทุนปกติอาจจะยอมรับความเสี่ยงที่จะเสียเงินลงทุนปีแรกแค่ 10% และอาจต้องการผลตอบแทน 30% แต่ถ้าเป็นนักลงทุนที่อดทนต้องเข้าใจว่าธุรกิจเพื่อสังคมมันยาก ต้องใช้เวลานาน อาจต้องขาดทุนเยอะ คุณอาจจะยอมให้ขาดทุนในปีแรกๆ ได้ถึง 50% ผลตอบแทนอาจจะแค่ 10% ก็ได้ จะเห็นว่าเรื่องต่างๆ แบบนี้กำลังเกิดขึ้น ในอเมริกากับลอนดอนมีคนทำตลาดการลงทุนเพื่อสังคม (Social Investment Market) แล้ว


"มันเป็นทุนนิยมที่ไม่ได้ละทิ้งเรื่องประสิทธิภาพ หรือสนใจมิติทางสังคมแล้วขาดทุน ความเชื่อมั่นของคนที่เชื่อแนวคิดแบบนี้ ท้ายที่สุดแล้วก็คือความเชื่อว่าบริษัทที่จะอยู่ได้ยั่งยืนจริงก็คือบริษัทที่มีหัวใจ ซึ่งมันก็อาจไม่ได้ขัดอะไรกับทุนนิยมที่เราคุ้นเคยกัน ฉะนั้น ถ้าคุณเป็นผู้บริหารก็เป็นภาระของคุณที่จะไปหว่านล้อมให้ผู้ถือหุ้นเชื่อว่าถ้าดำเนินการตามนั้นแล้วจะดีกับผู้ถือหุ้นอย่างไร" สฤณีกล่าวทิ้งทาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net