Skip to main content
sharethis


"กลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย"


กับข้อเสนอ "กำจัดทุนสามานย์ออกจากการเมืองไทย"


 


Prachatai Biz-Review - วิทยากร บุญเรือง




 



ประสาร มฤคพิทักษ์ (ที่มาภาพ : www.manager.co.th)


 


 



 



ปรีดา เตียสุวรรณ์ (ที่มาภาพ www.bangkokbiznews.com)


 



ความคาดหวังต่อ "การเมือง" ของ "กลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย"


 


"กลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย" เป็นคนทำธุรกิจส่วนหนึ่งในสังคมไทย ที่เกาะติดสถานการณ์ทางการเมืองและสร้างการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ในยุคที่ "ทุนนิยม" ในประเทศส่อแววมีปัญหามาตั้งแต่ช่วง พฤษภาทมิฬ, วิกฤตต้มยำกุ้ง จนถึงยุคมหกรรมรถถังโชว์ เช่นในปัจจุบัน


 


ประสาร มฤคพิทักษ์ นำทีมพลพรรคคนโค่นทักษิณ ซึ่งประกอบไปด้วย ปรีดา เตียสุวรรณ์, มนตรี ศรไพศาล, สุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง และเหล่าขาประจำที่ถนนสีลม เคลื่อนไหวมาเกือบตลอดระยะเวลาแห่งความกดดันคนหน้าเหลี่ยม


 


… จนกระทั่งเมื่อรถถังคันแรกนำทีมทหารออกมายืดเส้นยืดสาย ดูเหมือนว่าภารกิจของพวกเขาจะจบ และคงต้องหลบฉากไปกบดานเพื่อดูทีท่าว่า "ผู้คุ้มกันรัฐบาลหอย-2" จะหักหลัง "ประชาธิปไตยทุนนิยมไทย" อีกหรือไม่ (แบบที่ รสช. เคยทำ)


 


คงทิ้งไว้แต่ข้อเสนอและความคาดหวังต่อการเมืองหลังจากนี้ไป ไว้ให้เป็นเครื่องเตือนใจผู้มีอำนาจทางการเมือง เพื่อให้นักธุรกิจประชาธิปไตยทุนนิยมไทยทั้งหลายอุ่นใจว่า จะคงทำมาหากินบนระบบทุนนิยมแบบไทยๆ นี้ได้ไปโดยไม่สะดุด … ดังที่ รสช. และ ทักษิณ เคยทำให้พวกเขาสะดุดมาแล้ว!


 


ประสาร มฤคพิทักษ์ Business man & Activist ผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการทำหน้าที่สองอย่างควบคู่กันไป (และเป็นหนึ่งในซ้ายกลับใจที่ออกจากป่ามาแล้วก็รวย) ให้ความเห็นและคาดหวังต่อการเมืองไทยในอนาคตไว้ว่า จะต้องสกัดไม่ให้ทุนใหญ่ครอบงำการเมืองดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคทักษิณ นอกจากนี้จะต้องมีการเอาจริงเอาจังในเรื่องการปราบทุจริต การอายัดทรัพย์ หลังจากการรัฐประหารครั้งนี้ เพราะการปราบปรามทุจริตและยึดทรัพย์เป็นข้ออ้างเหตุผลในการทำรัฐประหารครั้งนี้ และสังคมกำลังลุ้นอย่างใจจดใจจ่อว่าจะออกมาในรูปไหน


 


"ที่คุณทักษิณแกมีอำนาจ เพราะแกถือว่าเป็นคนควักเงินให้พรรค รัฐบาลจึงกลายเป็นเผด็จการนายทุน ซึ่งคราวนี้มันเลวร้ายกว่าครั้งก่อนๆ เพราะผลประโยชน์มันทับซ้อน"



"อย่างครั้งที่ผ่านมา เราบอกว่าทักษิณไม่ดีอย่างไร คนที่ได้ประโยชน์ก็ยังหลงใหล เขาไม่สนใจ เพราะสิ่งที่เขาได้มันเป็นรูปธรรม เขายังจนอยู่ พอเขาได้เงินกู้หมู่บ้านละล้าน ได้พักหนี้ ก็ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สื่อก็ควรจะเข้ามาช่วยสร้างความเข้าใจที่แตกต่างกันของสังคม"


 


ปรีดา เตียสุวรรณ์ ผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับอัญมณี เน้นเรื่องการผลักดัน พ... แข่งขันด้านการค้า สกัดกั้นไม่ให้มีอำนาจใดเหนือการตลาด โดยให้เหตุผลว่านอกเหนือจากที่มันจะกระทบต่อเศรษฐกิจแล้ว ยังอาจจะกระทบต่อการเมือง เพราะเมื่อใครกลุ่มใดมีอำนาจเหนือตลาด ก็จะสามารถกำหนดตลาดและบี้คู่แข่งขันให้จมดินได้


 


และการเมืองหลังจากนี้ไปจำเป็นจะต้องแยกส่วนระหว่างนักธุรกิจและนักการเมือง หากยังคงให้นักธุรกิจไปสวมเสื้อนักการเมืองโดยเข้าไปรักษาผลประโยชน์ จะทำให้การบริหารประเทศลำบาก เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน การคอรัปชัน และการทุจริตเชิงนโยบาย --- ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรกำหนดเงื่อนไขให้นักธุรกิจเข้ามาเล่นการเมืองได้ยากขึ้น


 


สำหรับประเด็น รธน. ฉบับใหม่นั้น ปรีดาเห็นว่า รธน.2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี เพียงแต่ตามเกมส์นักการเมืองที่ชั่วไม่ทัน ไม่ต้องไปยกร่าง รธน.ใหม่หมด เพียงแต่ทำให้ รธน. 2540 นี้มีความฉลาดขึ้น ป้องกันการแทรกแซงองค์กรอิสระให้ได้ นอกจากนี้ต้องทำให้ รธน.ฉบับใหม่มีมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทางลบจาก "นโยบายประชานิยม" ต้องไม่ให้พรรคอื่นที่จะเข้ามา ใช้ประชานิยมเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาเสียง


 


รธน. ฉบับใหม่ต้องทำลายค่านิยมเดิมที่ระบอบทักษิณทำไว้ที่ให้คนเชื่อว่า "คนต้องเป็นหนี้" ซึ่งเป็นความคิดที่เบี่ยงเบน ให้ไปดูว่าประเทศไหนบ้างที่เจริญจากจีดีพีแล้วประชากรไม่คำนึงถึงการออม คือ อาเจนตินา บราซิล ฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ


 


"จะต้องทำให้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ผมพูดเรื่องนี้มานานแล้ว ตราบใดที่คุณยังยอมให้ใครมีอำนาจเหนือตลาด มันจะกระทบนอกจากกระทบเศรษฐกิจแล้ว ยังกระทบการเมือง เพราะเมื่อมีอำนาจเหนือตลาด คุณก็มีอำนาจกำหนดราคาไล่ต้อนคู่แข่งของคุณ ไม่ให้มาแข่งขัน เมื่อคู่แข่งอยู่ไม่ได้ก็สามารถตั้งราคาได้ตามอำเภอใจเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภค นำมาซึ่งกำไรที่ไม่ธรรมดา เป็นกำไรจากการผูกขาด เมื่อได้กำไรมหาศาลก็มาซื้ออำนาจการเมืองต่อเนื่องกันไป นี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณผ่านโทรศัพท์มือถืออย่าง...เอไอเอส"


 


"ผมคิดว่า ปัญหาในอนาคตของการปกครองประเทศนี้ ที่เราต้องต่อสู้ต่อไปคือประชานิยม ถ้าเราไม่ระวังให้ดี พรรคอื่นที่เข้ามา ก็จะใช้ประชานิยมเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทยในบริบทใหม่ หรือชื่อใหม่ พรรคประชาธิปปัตย์ หรือชาติไทย ก็จะเข้ามาใช้ระบอบประชานิยม ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องมีความฉลาดที่จะหามาตรการป้องกันการกระทำของนักการเมือง"


 



มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง มองว่า ต้องกำจัดการครอบงำในรูปแบบต่างๆ ทั้งอำนาจจากผู้นำ และอำนาจจากทุน นอกจากนี้มนตรีเสนอว่า ผู้มีธุรกิจเกี่ยวโยงกับภาครัฐ/สัมปทานผูกขาด ต้องไม่เข้ามาเกี่ยวกับอำนาจ รวมทั้งตำแหน่งนายกควรอยู่ได้แค่ 8 ปี และบทบาทของนักธุรกิจที่เข้าไปเล่นการเมือง ก็จะต้องไม่เข้าไปเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มตนเอง นักธุรกิจควรนำเรื่อง วิสัยทัศน์ ความสามารถ การจัดการ ไปใช้ประโยชน์ในการทำงานการเมือง


 


"สิ่งที่เราอยากเห็น คือ ประชาธิปไตยที่เป็นประชาธิปไตย เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ผู้นำของประชาชนและทำเพื่อประชาชน ซึ่งเราได้เปลี่ยนผ่านการครอบงำโดยเผด็จการมาแล้วช่วงหนึ่ง แต่พอมาเป็นประชาธิปไตยก็กลับมาเป็นเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ครอบงำด้วยทุน แม้มีระบบการตรวจสอบมีปปช.  มี ปปง. มี สตง. มีศาลรัฐธรรมนูญ แต่ดูเหมือนว่าองค์กรอิสระไม่สามารถทำงานตรวจสอบได้ และหัวใจของประชาธิปไตย คือสื่อมวลชน แต่บางส่วนกลับมีการให้ข่าวสารในลักษณะที่บิดเบือนไปยังต่างจังหวัด มีการจัดฉาก ผลก็คือผู้คนเกิดความเข้าใจที่ไม่เท่าเทียมกัน และสื่อที่ออกไปก็สร้างความแตกแยก"


 



สุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง มองว่า ไม่อยากเห็นการปฏิรูปที่เปลี่ยนแปลงแต่ "คน" และ "ขั้วอำนาจ" แต่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างเพื่อให้เกิดความชอบธรรม และแก้ปัญหาระยะยาวได้จริง และควรให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาโครงสร้าง ไม่ใช่กรณีของการ "ตายดับ" และ "ซ้ำรอยเดิม" ตลอดเวลา เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงการเปลี่ยนขั้วอำนาจ แต่ไม่ได้นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและวิธีคิด.


 


"สิ่งหนึ่งที่อยากให้เกิดขึ้น คือ การมีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาโครงสร้าง ไม่ใช่กรณีของการ  "ตายดับ" และ "ซ้ำรอยเดิม" ตลอดเวลาอยากชี้ประเด็นตรงนี้ การปฏิวัติครั้งนี้มีต้นทุนสูง ทั้งความเสี่ยงเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ประเทศ ส่วนตัวอยากเห็นต้นทุนนี้ออกดอกออกผล และเติบโตแบบยั่งยืน"



"ผมผ่านเหตุการณ์มาทั้ง 14 ตุลาคม 6 ตุลาคม และพฤษภาคม 2535 ถ้าเราใช้ต้นทุนนั้นอย่างคุ้มค่า ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ซ้ำอีกเพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงการเปลี่ยนขั้วอำนาจ แต่ไม่ได้นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และวิธีคิด"


 


 


สรุปความคาดหวังของ ต่อ "การเมือง" ของ  "กลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย"


 


ผู้นำของประเทศใหม่ควรจะ …


·        เข้าใจเศรษฐกิจ - การเมือง และมุ่งมั่นปราบปรามการทุจริต


·        ไม่มีธุรกิจเกี่ยวกับสัมปทาน / ผลประโยชน์จากภาครัฐ


·        วาระในการดำรงตำแหน่งนายกต้องไม่เกิน 8 ปี


·        รัฐบาลใหม่จะต้องไม่ดำเนินนโยบายที่มีความเสี่ยง


 


การเมืองใหม่ควรจะ …


·       จำกัดการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง ของนายทุนแต่ละราย


·       สร้างเงื่อนไขให้นักธุรกิจเล่นการเมืองยากขึ้น


 


รัฐธรรมนูญใหม่ควรจะ …


·       อุดช่องโหว่ประชานิยม


·       อุดช่องโหว่การแทรกแซงองค์กรอิสระ


·       ให้อำนาจประชาชนในการเอาผิดนักการเมืองที่ทุจริต


·       ให้อำนาจแก่ประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมือง


·       สร้างการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ปราศจากการผูกขาด


 


สื่อควรจะ


·        ตีแผ่ข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจให้สังคม


·        ไม่มีอำนาจทุนแทรกแซง


 


 


ที่มา     : "จากนี้.....ต้องไม่มีทุนการเมือง" - กรุงเทพธุรกิจ Bizweek


             ฉบับวันที่ 29 ก.ย. - 5 ต.ค. 2549


: 'พบกัน...เมื่อชาติต้องการ !!' ม็อตโต้ 'ม็อบเสื้อสูท'


   กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 29 ก.ย. - 5 ต.ค. 2549


: "นักตรวจแถว 'ภาคธุรกิจ' ปรีดา เตียสุวรรณ์-ประสาร มฤคพิทักษ์


   กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 29 ก.ย. - 5 ต.ค. 2549


: "แนะตั้งองค์กรอิสระยึดทรัพย์ทักษิณพร้อมบริวาร"


   http://www.dailynews.co.th (Saturday,  September 23, 2006)


 


000


 


เราอาจจะพยายามทำความเข้าใจต่อความคาดหวังของ "กลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย" ว่า ต้องการให้มีการล้างบางการโกงกินคอรัปชัน เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ของการเมืองไทยที่เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจต่อจากนี้ไป


 


แต่ตราบใดที่ยังไม่มองถึงความจริงปล่อยให้การกุมวิถีเศรษฐกิจไว้กับชนชั้นกลางและชนชั้นนำ แข่งขันกันขูดรีด ปล่อยช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสงคมแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าคุณจะเอาคนมีศีลธรรมแสนดีแค่ไหนมาเป็นผู้นำ ใช้งบเขียน รธน. เป็นร้อยล้านพันล้านโดยไม่มุ่งเป้าไปที่ระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบ "สังคมนิยมประชาธิปไตย" ทางออกก็คงยังจะมืดมิด


 


ถ้ายังคงพุ่งไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มันเอื้อให้แต่คนมีตังค์มีพลังในการกุมทิศทางเศรษฐกิจ แล้วบังคับให้คนจน "พอเพียง" --- หาคนดีแค่ไหนมาเป็นผู้นำ มันก็เหมือนจับพระลาสิกขาแล้วนำมาเป็นเจ้ามือวงไฮโลนั่นแหละ! คุณต้องหลุดกรอบออกจากวงไฮโลนี้ให้ได้ เศรษฐกิจเสรีนิยมมันได้พิสูจน์มาแล้วว่ามันทำให้ทุกหย่อมหญ้าในสังคมไทยมีปัญหา …. ล่าสุดก็การไสรถถังออกมารัฐประหารครั้งนี่ไง! เป็นหลักฐาน


 


รัฐประหารไทยทำภายใต้กรอบ "เสรีนิยมเพื่อเสรีนิยม" มาตลอด มันจึงได้ทำกันซ้ำๆ ซากๆ แล้วลากเรื่อง "บุคคล" และ "จริยธรรม" มาอ้าง


 


ส่วนในเรื่องของการต่อต้านนโยบายประชานิยมที่คนจนได้ประโยชน์นั้น กลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไป (เช่นเดียวกับกลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยนี้) ออกจะยังได้รับแนวคิดที่ว่า "คนจนไม่มีวินัยทางการเงินและถูกทักษิณหลอกใช้" --- ซึ่งนี่เป็นแนวคิดที่ "อันตรายมาก" และอาจจะสานต่อในเรื่องของ "สงครามทางชนชั้น" ที่ทักษิณได้จุดชนวนไว้


 


ซึ่งก็อย่างว่าที่ทักษิณได้ดูดเงินชนชั้นกลางและธุรกิจรายไม่ใหญ่ในรูปของการเสียภาษี ทำให้ชนชั้นกลางทำงานหนักขึ้น การนำเงินในอนาคตมาใช้ แล้วนำส่วนต่างส่วนนั้นไปใช้ในนโยบายประชานิยม … แต่ไม่ยอมแตะกำรี้กำไรของธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจของอภิสิทธิ์ชน หรือธุรกิจผูกขาด --- ชนชั้นกลางถึงได้เกลียด "ประชานิยม" นี้เข้าไส้


 


ดังนั้นชนชั้นกลางและชนชั้นล่างต้องร่วมมือกัน แล้วพุ่งหอกไปที่โครงสร้างข้างบนของสังคมที่เสวยสุขกันอยู่ไม่กี่กลุ่มต่างหาก … นั่นคือคำตอบที่แท้จริง สร้างรัฐสวัสดิการ,สร้างการแข่งขันเชิงธุรกิจที่ปราศจากการผูกขาดจากทุนใหญ่หรืออำนาจใดๆ ก็ตาม และต้องทำลายธุรกิจผูกขาดพร้อมด้วยการอภิสิทธิ์ชนในสังคม เพื่อให้เกิด "ความยุติธรรมทางปากท้อง" ในสังคม


 


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในชีวิตของกลุ่มนักธุรกิจกลุ่มนี้ออกมาเคลื่อนไหว อย่างน้อยก็เหตุการณ์พฤษภาทมิฬและต้มยำกุ้ง --- แล้วใครจะไปรู้ว่าในอนาคตจะมีวิกฤติอะไรใหม่ๆ ทำให้พวกเขาต้องออกมาดิ้นอีก? หากเรายังอยู่ในระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ที่พึ่งพิงอำนาจนิยม


 


และเราจะไว้ใจได้แค่ไหนว่า กลุ่มชนชั้นปกครองกลุ่มต่อไปจะไม่ผูกติดกับการทำการค้าขาย ไม่ผูกติดกับมิติทางเศรษฐกิจ และจะไม่โลภมากเหมือนทักษิณ, พวกพ้อง หรือคนอื่นๆ ที่เคยผ่านมาบน "ถนนสายการเมืองไทย"


 


… ถนนสายซึ่งใครก็อยากจะลิ้มลองรสชาดก้มลงไปเลียมัน … เพราะมันไม่ได้ลาดด้วยยางมะตอย แต่มันราดไว้ด้วย "น้ำผึ้งผสมยาดอง" ที่นอกจะหอมหวานแล้ว มันยังชวนให้มึนเมาจนเสียสติอีกต่างหาก ;-)


 


000

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net