Skip to main content
sharethis

ปัตตานี- 22 เม.ย.48 กรรมการสมานฉันท์ลงใต้ เปิดห้องรับฟังข้อมูลภาคประชาชน "อาจารย์ มอ." แฉขบวนการแบ่งแยกดินแดนปรับขบวน เลิกสู้รบในป่า ฝึกเยาวชนลุกขึ้นสู้ในเมือง "อานันท์" ปลอบอย่าวิตกเกินเหตุ แยกดินแดนไม่ง่าย อ้อนช่วยกันแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แนะรัฐเปิดข้อมูลชาวบ้าน 200 คน สูญไปไหน

เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 22 เมษายน 2548 ที่ห้องน้ำพราว 1 โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. ได้เปิดประชุมรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากตัวแทนภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม

เปิดโฉมเยาวชนแยกดินแดน

ทั้งนี้ ตัวแทนภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละ 12 คน รวม 36 คน ต่างนำเสนอความคิดเห็นและให้ข้อมูลในประเด็นต่างๆ เช่น การเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายกรณีสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และผลกระทบจากการปราบ ปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547

ในการนี้ นางชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวต่อที่ประชุมว่า จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ร่วมกับมูลนิธิเอเชีย และได้พูดคุยกับนายวันการ์เดย์ เจ๊ะแม ผู้นำขบวนการเบอร์ซาตู ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติมลายาพบว่า สาเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดปี 2547 สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2529 มีการเปลี่ยนแปลงในขบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะขบวนการเดิมหันไปสนับสนุนนักการเมืองในพื้นที่ แต่เข้าไม่ถึงประชาชน

เปลี่ยนแนวรบลุกขึ้นสู้ในเมือง

นางชิดชนก กล่าวว่า จากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว จึงมีการจัดตั้งกองกำลัง ประกอบด้วย เยาวชนจากชุมชนต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่สมาชิกขบวนการออกมามอบตัวเป็นระยะ ทำให้ราชการเข้าใจว่า โจรก่อการร้ายเริ่มหมดไป ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้จากกองทัพติดอาวุธ มีฐานที่มั่นอยู่ในป่า มาเป็นการเคลื่อนไหวในเมือง

นางชิดชนก กล่าวอีกว่า ถึงแม้จะยังมีกองกำลังพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่สามารถหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากขบวนการมีเงื่อนไขว่า จะก่อการกดดันรัฐบาลอย่างหนัก ในช่วงปี 2547 - 2549 เพียงแต่ถ้ายังมีหน่วยงานดังกล่าว อาจจะลดความร้อนแรงของสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง การที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ปลูกฝังแนวคิดให้กับเยาวชนมาเป็นเวลาร่วม 20 ปีโดยที่รัฐไม่รู้ ถือเป็นจุดอ่อนอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาที่กำลังดำเนินอยู่

นางชิดชนก กล่าวต่อไปว่า แนวคิดแบ่งแยกดินแดนมีจริง และถูกปลูกฝังสู่เยาวชนมานานแล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อเยาวชนกว่า 10,000 คน มีความคิดเช่นนี้ รัฐจะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร รัฐควรจะทำให้เห็นว่า อยู่กับรัฐแล้วจะมีความเป็นอยู่ดีกว่าการแบ่งแยกดินแดน รัฐต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เยาวชน ที่ถูกปลูกฝังอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนมาตั้งแต่อายุ 13 ปี เปลี่ยนความคิด หันกลับมาให้ความร่วมมือกับรัฐบาล

"จากสถิติที่ผ่านมา ปี 2544 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น 27 ครั้ง เป็นฝีมือขบวนการแค่ 4 ครั้ง ไม่ทราบว่าที่เหลือเป็นฝีมือของกลุ่มใด ส่วนในปี 2547 เกิดเหตุการณ์รุนแรง 1,253 ครั้ง เป็นฝีมือขบวนการประมาณ 60% เท่านั้น" นางชิดชนก ตั้งข้อสังเกต

"อานันท์" ปลอบอย่าวิตกเกินเหตุ

นายอานันท์ กล่าวว่า ตนยอมรับมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่จริง แต่อย่าวิตกให้มากเกินไป ตนเคยอยู่ในต่างประเทศมานาน เห็นว่าการแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นได้ยาก เพราะแบ่งแยกออกเป็นรัฐอิสระแล้ว ก็จะไม่มีประเทศใดยอมรับ ขณะเดียวกันจะสามารถปกครองตนเองได้หรือ ในเมื่อไม่มีประสบการณ์ในการปกครองประเทศ เพราะฉะนั้น แนวคิดแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ ไปตั้งรัฐอิสระคงเกิดขึ้นได้ยาก ขออย่าวิตกกังวล การแบ่งแยกดินแดนเป็นเพียงปลายเหตุของปัญหา ควรจะมาร่วมแก้ปัญหาที่สาเหตุจากความไม่เข้าใจ ความหวาดระแวงกันมากกว่า

จากนั้น มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีคณะกรรมการฯ เข้ารับฟังความคิดเห็นและข้อมูลจากตัวแทนประชาชนในพื้นที่ เกี่ยวกับเรื่องการศึกษา, สวัสดิภาพความปลอดภัย, ปัญหาเศรษฐกิจ, การร่วมด้วยช่วยกัน (ปาก๊ะ) และการสื่อสารกับสังคม เป็นต้น
โดยนายอานันท์ ได้เปิดโอกาสให้ญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบประมาณ 20 คนเข้าพบ เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการเยียวยาให้กับญาติผู้สูญเสีย ใช้เวลาพูดคุยประมาณ 30 นาที

ต่อมา นายอานันท์ได้พบปะหารือกับตำรวจ ทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้เวลา 30 นาที เช่นกัน

เปิดกำหนดการสมานฉันท์

สำหรับกำหนดการในวันที่ 23 เมษายน 2548 เวลา 09.00 - 12.00 น. คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ จะพบปะกับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เวลา 13.00 น. - 17.00 น. เดินทางไปเยี่ยมญาติผู้เสียหายในเหตุการณ์ความไม่สงบ, ทหาร, ตำรวจ, ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ในพื้นที่ตำบลทรายขาว ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

ส่วนกำหนดการวันที่ 24 เมษายน 2548 เวลา 09.00 - 12.00 น. ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2548 ที่ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ก่อนการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนของคณะกรรมการฯ มีกำลังตำรวจ ทหาร ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดกว่า 100 นาย เข้าเคลียร์ห้องน้ำพราว 1 และรอบโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี รวมทั้งห้องพักที่จะใช้เป็นที่พักของคณะกรรมการฯ

สำหรับห้องน้ำพราว 1 ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมมีการนำเครื่องตรวจจับวัตถุต้องสงสัย มาติดตั้งตรงบริเวณทางเข้า โดยกำหนดให้ผู้เข้าประชุมใช้ประตูทางเข้า - ออก คนละประตู จากนั้นได้ส่งมอบความรับผิดชอบให้กับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเมืองปัตตานี โดยชุดปฏิบัติการพิเศษและชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด ออกไปเตรียมพร้อมตรงบริเวณรอบนอก พร้อมกับจัดวางกำลังตำรวจ ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบ คอยรักษาความปลอดภัยหลายจุด

วันเดียวกัน มีการแจกจ่ายใบปลิวไปตามมัสยิดต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ในวันที่ 23 เมษายน 2548 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
แนะรัฐเปิดข้อมูล200คนหาย

ทั้งนี้ นายอานันท์ ได้กล่าวก่อนประชุมรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมชายแดนภาคใต้ว่า หนึ่งในกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ คือ การให้โอกาสประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด โดยให้เข้ามาร่วมพูดคุยในที่สาธารณะ หรือในห้องที่จัดไว้ สำหรับกรณีผู้สูญหาย ต้องมีการเปิดเผยข้อเท็จจริง ต้องยอมรับว่าประชาชนไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ

ดังนั้น ต้องลดความไม่ไว้วางใจ และความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันลง ตนได้ให้ความเห็นกับรัฐบาลเรื่องมีคนถูกอุ้ม หรือสูญหายในพื้นที่ถึง 200 คนไปแล้วว่า ควรเปิดเผยข้อเท็จจริง หรือพยายามหาพยานหลักฐาน ถ้าหาไม่ได้ รัฐบาลก็ควรออกมาพูดความจริง เพื่อให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นายแวอุมา แวดอเลาะ กำนันตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี เจ้าของพื้นที่มัสยิดกรือเซะ กล่าวว่า ตนต้องการให้คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ลงไปพบปะพูดคุยกับชาวบ้านในหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง เพราะจะได้ทราบข้อมูล และปัญหาที่แท้จริงจากชาวบ้าน การจัดประชุมที่โรงแรม หรือที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีคนเข้าร่วมหลายร้อยหลายพันคน ชาวบ้านจากหมู่บ้านไม่กล้าลุกขึ้นบอกเล่าความรู้สึก การพูดจาสู้นักพูด หรือนักวิชาการไม่ได้ ที่สำคัญชาวบ้านใช้ภาษาไทยไม่เก่ง บางคนพูดไทยไม่ได้เลย หากต้องการรู้ข้อมูลจริงๆ ต้องลงไปหาชาวบ้าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net