Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 13 ธ.ค.2549 กลุ่มพันธมิตรสื่อแห่งเอเชียอาคเนย์ (SEAPA) องค์กรส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกระหว่างประเทศ (IFEX) สมาคมคุ้มครองนักหนังสือพิมพ์แห่งกัมพูชา (CAPJ) และสหพันธ์นักข่าวระหว่างประเทศ (IFJ) ร่วมกันประนามผู้ว่าราชการจังหวัดรัตนคิรี ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของกัมพูชาว่าละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกกรณีข่มขู่คุกคามนายรัฐ วิศาล นักข่าววิทยุประจำวิทยุเอเชียเสรี (RFA) ไม่ให้รายงานข่าวพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างรัฐกับชนเผ่าพื้นเมือง และขบวนการขนไม้เถื่อน ในพื้นที่นั้นอีก ยกเว้นได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น โดยกล่าวหาว่าปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนเอาใจออกห่างจากรัฐ


 


ส่วนองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) และสมาคมสื่อพม่า ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลทหารพม่ากรณีข่มขู่ให้ให้ล้มงานฉลองวันเกิดปีที่ 91 ของลูดู ดอว์ อามาร์ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์หญิงชื่อดัง ผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ลูดู เดลี นิวส์ ซึ่งมุ่งนำเสนอข่าวประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งการที่สื่อไร้เสรีภาพ อีกทั้งยังเกี่ยวดองเป็นญาติกับอู วิน ทิน นักข่าวชื่อดังวัย 77 ปีที่ถูกจำคุกที่เรือนจำอินเส่งมานาน 17 ปี เนื่องจากเป็นการควบคุมเสรีภาพของนักเขียนที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาล


 


นอกจากนี้ IFJ ยังได้ประณามรัฐบาลแดนมังกรจีนว่าคุกคามเสรีภาพสื่อ โดยอ้างถึงกรณีที่ศาลสูงในกรุงปักกิ่งตัดสินให้ยืนคำพิพากษาจำคุกนายจ้าว เอี๋ยน นักวิจัยของนิว ยอร์ก ไทมส์ เป็นเวลา 3 ปี ในข้อหาเปิดเผยความลับทางราชการ นอกเหนือจากยืนคำพิพากษาจำคุกนายชิง เชียง นักข่าวของนิตยสารกวนชา โจวกั่น พร้อมผู้ช่วยซึ่งถูกจับในข้อหาสัมภาษณ์โดยไม่ได้รับอนุญาตขณะกำลังเจาะข่าวการะเบิดที่เหมืองถ่านหินแห่งหนึ่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 คน


 


อย่างไรก็ตาม รายงานประจำปีของ CPJ ชี้ว่าอินเตอร์เน็ตเป็นตัวการทำให้นักข่าวทั่วทุกมุมโลกถูกจับมากขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 2 รวมเป็น 134 รายแล้วใน 24 ประเทศ โดย 1 ใน 3 ของจำนวนนี้เป็นเจ้าของไดอารี่ ออนไลน์หรือบล็อก เป็นบรรณาธิการออนไลน์ หรือนักข่าวให้กับเวบไซต์ข่าว ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่ถูกขังโดยไม่มีการตั้งข้อหาหรือส่งฟ้อง และประเทศที่คุกคามสื่อออนไลน์มากที่สุดก็คือจีน คิวบา เอริเทรียและเอธิโอเปีย


 


แต่กรณีที่ทำให้สั่นสะเทือนไปทั่วทั้งปฐพี ถึงขนาดที่ SEAPA และ IFEX ต้องรีบร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงความกังวลเรื่องเสรีภาพสื่อเป็นพิเศษ คือกรณีที่บริษัทนิวสเตรทส์ไทมส์เพรสส์ และอูตูซานเมลายูเบอร์ฮัด กลุ่มสื่อยักษ์ใหญ่ 2 แห่งในมาเลเซีย จะควบรวมกิจการ และตั้งเป็นบริษัทด้านสื่อรายใหญ่สุดของประเทศ อันจะทำให้ "พรรคอัมโน" กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสื่อท้องถิ่นเกือบทั้งหมดของประเทศโดยตรง จะยิ่งทำให้พรรครัฐบาลควบคุมสื่อมวลชนเข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน 


 


ขณะเดียวกัน สหภาพนักข่าวแห่งชาติมาเลเซียชี้ว่านักข่าวต่างวิตกว่าความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการจะหายไป หากกลุ่มสื่อที่เป็นคู่แข่งมาควบรวมกิจการกัน ด้านศูนย์เพื่อสื่อมวลชนอิสระในกรุงกัวลาลัมเปอร์ชี้ว่า การควบรวมครั้งนี้จะทำให้เสรีภาพของสื่อมวลชนที่ถูกจำกัดเข้มงวดอยู่แล้วถูกปิดกั้นยิ่งขึ้นไปอีก สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการกระจุกตัวของเจ้าของสื่อและการที่การเมืองเข้าไปควบคุมสื่อโดยตรง


 


ส่วนประเทศที่มีสถานการณ์คุกคามสื่ออีกแห่งหนึ่ง ได้แก่ ประเทศฟิจิ โดย IFJ ได้ประนามกลุ่มผู้นำทหารฟิจิที่ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีไลเซเนีย คาเรส และจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ ด้วยการส่งทหารเข้าไปคุมที่ห้องข่าวของหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ทุกแห่ง นอกเหนือจากออกคำสั่งให้ทหารเป็นคนเซนเซอร์ข่าวทุกชิ้นก่อนจะตีพิมพ์หรือออกอากาศ ซึ่งนายวอร์เรน คริสโตเฟอร์ ประธาน IFJ ชี้ว่านี่เป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อในการเผยแพร่ข่าวสารด้วยการเข้าไปควบคุมสื่อโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เด็ดขาด


 


ทางด้าน นายคริสโตเฟอร์ วอร์เรน ประธานของ IFJ ได้เปิดตัวหนังสือคู่มือการรายงานข่าวเอชไอวี/เอดส์ ที่พิมพ์เป็น 5 ภาษาทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ทมิฬ เขมร และตากาล็อก แจกจ่ายในหมู่นักข่าวในเอเชียและแอฟริกา เพื่อหวังช่วยพัฒนาการรายงานข่าวโรคเอดส์ที่แพร่ระบาดในหลายประเทศใน 2 ทวีปนี้ โดยนอกจากจะให้ข้อมูลเบื้องต้นของโรคร้ายนี้แล้ว ยังเน้นประเด็นสำคัญๆ เช่น การตั้งคำถามกรณีสื่อเปิดเผยชื่อผู้ป่วยและการรักษา ตลอดจนข้อมูลเจาะลึกเกี่ยวกับสาเหตุ การติดโรค ผลกระทบ และการรักษาด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net