Skip to main content
sharethis

ทางการสิงคโปร์ได้ตอบสนองต่อการกดดันของสหประชาชาติด้วยการพยายามปราบปรามการค้าอาวุธให้กองทัพพม่าโดยอาศัยช่องทางประเทศของพวกเขาเพื่อส่งอาวุธ การปราบปรามได้สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่กลุ่มผู้นำกองทัพเผด็จการพม่าผู้ที่ก่อการรัฐประหารเมื่อเวลามากกว่า 3 ปีที่แล้ว ช่วงเวลาเดียวกันกับที่พวกเขากำลังถูกรุกคืบอย่างหนักจากฝ่ายต่อต้าน


ที่มาภาพ: looyaa (CC BY-NC-ND 2.0)

โทมัส แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า กล่าวว่า รัฐบาลสิงคโปร์ได้ "ตอบสนองโดยทันที" ต่อรายงานของเขาเมื่อปี 2566 ที่ระบุว่า มีตัวการค้าอาวุธที่มีฐานปฏิบัติการในสิงคโปร์ ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นแหล่งค้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลกให้กับกองทัพเผด็จการพม่า และเป็นกลุ่มที่ "มีความสำคัญ" ต่อการจัดหาอาวุธของเผด็จการพม่า

แอนดรูวส์กล่าวว่าในรายงานถัดจากนั้นต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มีการระบุว่า "การส่งออกวัตถุดิบทำอาวุธจากสิงคโปร์ไปสู่พม่าลดลงร้อยละ 83" แอนดรูวส์บอกอีกว่า "เรื่องนี้ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ และเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวก ต่อกลุ่มคนที่เสี่ยงภัยในพม่า"

การปราบปรามเส้นทางค้าอาวุธจากสิงคโปร์จะส่งผลให้ผู้นำกองทัพเผด็จการพม่า มินอ่องหล่าย และกองทัพของเขาต้องจ่ายแพงขึ้นในช่วงเดียวกับที่พวกเขากำลังเพลี่ยงพล้ำในสนามรบ พวกเขาต้องดิ้นรนเพื่อที่จะปราบปรามฝ่ายต่อต้านในดินแดนส่วนกลางที่เป็นฐานความมั่นคงของพม่า อีกทั้งกองทัพพม่ายังล้มเหลวในการที่จะต่อต้านแนวร่วมชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และกองกำลังฝ่ายต่อต้านของชาวชาติพันธุ์พม่าที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่บีบให้ฝ่ายกองทัพเผด็จการต้องสละดินแดนที่มีชายแดนติดกับไทย เช่น เมียวดี และติดกับประเทศอื่นๆ อย่างจีนและอินเดีย ด้วย

นักวิเคราะห์เล็งเห็นสัญญาณที่ว่า กลุ่มนายพลในพม่ามีการดิ้นรนในแบบเข้าตาจนมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาได้บังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารแบบปูพรมไปทั่วโดยหวังว่าจะเพิ่มกำลังทหารให้ฝ่ายตัวเองได้

ก่อนหน้านี้สิงคโปร์เคยถูกใช้เป็นช่องทางโดยนักค้าอาวุธ

รายงานของแอนดรูวส์ในปี 2566 ระบุว่า มีการส่งต่ออาวุธและวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับอาวุธเหล่านี้ให้กับผู้นำกองทัพของพม่ารวมแล้วเป็นเงินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีบริษัทที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ 138 แห่งมีส่วนร่วมในการส่งต่อวัตถุดิบอาวุธ 254 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทัพเผด็จการพม่าตั้งแต่ปี 2564-2565 ในรายงานไม่ได้มีการระบุชื่อบริษัทในสิงคโปร์ แต่มีการระบุชื่อบริษัทในจีน, รัสเซีย และอินเดีย

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ตอบสนองต่อเรื่องนี้ด้วยการบอกว่าพวกเขาชื่นชมความพยายามของแอนดรูวส์ "ในการให้ข้อมูลเพื่อช่วยเหลือการสืบสวนสอบสวนของสิงคโปร์ในแง่ที่ว่ามันมีการฝ่าฝืนกฎหมายใดๆ หรือไม่ ภายใต้กฎหมายของสิงคโปร์"

ทางการสิงคโปร์ระบุอีกว่าพวกเขา "มีจุดยืนเชิงหลักการในการต่อต้านการที่กองทัพพม่าใช้กำลังรุนแรงถึงชีวิตต่อพลเรือนที่ไม่มีอาวุธและได้ดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการลำเลียงอาวุธเข้าไปในพม่า"

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่าระบุว่า มีพลเรือนในพม่าเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 4,882 ราย จากกรณีการโจมตีของกองทัพเผด็จการพม่า และกองทัพเผด็จการพม่าก็เผชิญข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงครามจากการที่พวกเขาใช้กำลังทางอากาศและการโจมตีต่อพลเรือน

แซคคารี อะบูซา ศาสตราจารย์วิทยาลัยการสงครามแห่งชาติที่กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐฯ กล่าวว่า สิงคโปร์ได้ทำการบีบคั้นกองทัพพม่าอยู่เงียบๆ และถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะทำอะไรได้มากกว่านี้แต่สิงคโปร์ทำก็ควรจะได้รับคำชมในแง่ที่ว่า พวกเขาสามารถสร้างความกดดันให้กับกองทัพเผด็จการพม่าได้อย่างเงียบๆ เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา

อะบูซา มองว่าการที่สิงคโปร์ปราบปรามช่องทางการค้าอาวุธต่อพม่านั้น อาจจะไม่ได้ถึงขั้นทำให้การซื้อขายหมดไป แต่มันก็ทำให้เผด็จการพม่าต้องจ่ายแพงขึ้น บีบให้พวกเขาต้องปรับเส้นทางการซื้อขายใหม่ภายใต้ขอบเขตอำนาจทางกฎหมายแบบอื่น

กลุ่มประเทศอาเซียนมีอำนาจในการสกัดกั้นเผด็จการพม่า

ในรายงานติดตามผลของแอนดรูวส์ฉบับที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้ระบุว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์รับรู้ว่ามีการค้าอาวุธเกิดขึ้นในประเทศตัวเอง นอกจากนี้ยังระบุว่าหลังจากที่มีการเผยแพร่รายงานปี 2566 รัฐบาลสิงคโปร์ก็ทำการสืบสวนตามที่รายงานระบุไว้และยินดีต้อนรับแอนดรูวส์ให้มาที่สิงคโปร์ ซึ่งแอนดรูวส์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเป็นการช่วยเหลือในการสืบสวน

หลังจากที่ทางการสหรัฐฯ ทำการคว่ำบาตรธนาคารการค้าระหว่างประเทศเมียนมา และธนาคารลงทุนและพาณิชย์เมียนมา องค์กรการเงินสิงคโปร์ก็ได้ไฟเขียวให้ธนาคารยูโอบีและธนาคารอื่นๆ ของสิงคโปร์ระงับการให้บริการต่อบัญชีธนาคารที่มีความเกี่ยวข้องกับพม่า

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่า (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาจากฝ่ายประชาธิปไตยที่มาจากกลุ่มนักการเมืองผู้ถูกรัฐประหารโค่นล้ม ได้เปิดเผยว่าการแทรกแซงของสิงคโปร์ทำให้พวกผู้นำทหารเข้าถึงอาวุธได้ยากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซาซา รัฐมนตรีของ NUG กล่าวว่าสิ่งที่สิงคโปร์ทำเป็นการเน้นให้เห็นถึงการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีอำนาจในการสกัดกั้นกองทัพเผด็จการพม่าไม่ให้ "ก่อการร้ายต่อประชาชนของตัวเอง" ด้วยวิธีการตัดช่องทางการเข้าถึงอาวุธ, เงินทุน และความชอบธรรม

ซาซา บอกอีกว่าวิกฤตเลวร้ายที่เกิดขึ้นในพม่าซึ่งมาจากอาวุธและเงินที่ถูกส่งให้เผด็จการทหารนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในพม่าเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบสืบเนื่องไปยังประเทศใกล้เคียง และส่งผลถึงอาเซียนด้วย การที่กองทัพพม่าบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารจะยิ่งทำให้วิกฤตเลวร้ายกว่าเดิมและอาจจะนำไปสู่การทำลายเสถียรภาพของภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้นกว่านี้ได้

ซาซา ได้เรียกร้องให้ชาติอื่นๆ ช่วยเหลือในการโค่นล้มเหล่าผู้นำทหารลงจากอำนาจ ซึ่งจะทำให้เกิดเสถียรภาพและความมั่งคั่ง ไม่ใช่แค่ต่อภูมิภาคเท่านั้น แต่รวมถึงในระดับโลกด้วย

สถานการณ์ที่กองทัพเผด็จการพม่าเผชิญอยู่นั้น คือการถูกกดดันอย่างหนักจากการรุกคืบทางตอนเหนือของรัฐฉานที่ฝ่ายกองทัพพม่าสูญเสียฐานที่มั่นไปหลายร้อยแห่ง และเสียเมืองตามแนวชายแดนจีนให้กับฝ่ายต่อต้าน รวมถึงเมืองทางตะวันตกในรัฐยะไข่ด้วย อีกทั้งกองทัพพม่ายังเพิ่งจะสูญเสียเมืองที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ติดกับไทยอย่าง เมียวดี ให้กับกองกำลังพันธมิตรระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐประหารด้วย

อย่างไรก็ตามกองทัพเผด็จการพม่ายังคงมีรัสเซียกับจีนเป็นประเทศหลักที่ขายอาวุธขั้นสูงให้ โดยคิดเป็นเงินมากกว่า 400 ล้าน และ 260 ล้านดอลลาร์ และในวันกองทัพพม่าเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย อเล็กซานเดอร์ ฟอร์มิน ก็ได้รับเชิญเป็นแขกเกียรติยศ ในช่วงเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ จำนวนมากบอยคอตต์งานวันกองทัพพม่า

อย่างไรก็ตาม Yadanar Maung โฆษกกลุ่มนักกิจกรรม จัสติสฟอร์เมียนมาร์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยินดีที่สิงคโปร์สกัดกั้นนายหน้าค้าอาวุธให้กับเผด็จการพม่า แต่ก็ขอเรียกร้องให้สิงคโปร์เร่งดำเนินคดีเพื่อทำให้นายหน้าค้าอาวุธให้กองทัพเผด็จการพม่าต้องรับผิดชอบกับเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมการส่งออก และเพื่อให้เกิดการป้องปรามการแสวงหากำไรโดยการค้าอาวุธไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม

นอกจากนี้ Maung ยังแสดงความกังวลว่า กลุ่มผู้ค้าอาวุธอาจจะหาช่องทางเดินเรือช่องทางอื่นๆ ในการขนส่งอาวุธได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นประเทศไทย ในรายงานของแอนดรูวส์ระบุว่ามีตัวการที่อยู่ในประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งชิ้นส่วนวัตถุดิบอาวุธขั้นสูงและเครื่องมือในการผลิตอาวุธป้อนให้กับโรงงานอาวุธของกองทัพเผด็จการพม่าอยู่ก่อนแล้ว


เรียบเรียงจาก
Singapore ‘tightens screws’ on Myanmar generals with arms trade crackdown, Aljazeera, 12-04-2024
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net