Skip to main content
sharethis

ยกระดับ 'วัดพระบาทน้ำพุ' เป็นสถานชีวาภิบาลต้นแบบเขตสุขภาพที่ 4 พร้อมขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยชีวาภิบาล” ในระบบบัตรทอง รองรับผู้ป่วยระยะท้ายในจังหวัดลพบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง ให้การดูแลอย่างมีมาตรฐาน เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะท้ายจากไปอย่างสงบ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สาธารณสุข) และ พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจ้าอาวาสวัดกวิศรารามราชวรวิหารเป็นประธาน เปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบสุขภาพเขตที่ 4 ที่วัดพระบาทน้ำพุ อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีพระปัญญาวิสุทธิโมลี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ฝ่ายธรรมยุติ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล แป้นแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 คณะผู้บริหาร ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และ อสม.เข้าร่วม

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ประเทศไทยวันนี้ได้เข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยมีผู้สูงอายุมากขึ้นทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ และมีปัญหาสุขภาพด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งส่วนหนึ่งยังมีภาวะเจ็บป่วยระยะท้ายม กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขับเคลื่อนนโยบาย 1 เขตสุขภาพ 1 สถานชีวาภิบาล และวัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี เป็นสถานชีวาภิบาลต้นแบบเขตสุขภาพที่ 4 โดยสถานชีวาภิบาลจะเป็นหน่วยดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างสงบสุข รวมถึงผู้สูงอายุ พระสงฆ์ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

วัดพระบาทน้ำพุเป็นต้นแบบสถานชีวาภิบาลที่ให้วัดเข้ามาเป็นศูนย์กลางการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจัดตั้งเป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ซึ่งจะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยระยะท้ายมีคุณภาพชีวิตที่ดีก่อนจากไปอย่างสงบ ขณะเดียวกันยังเป็นการลดการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของบุคลากรทางการแพทย์ โดยให้ชุมชนดูแลแทนตามหลักการและวิธีการที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังลดภาระค่าใช้จ่ายของญาติ ครอบครัว ที่ต้องดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งเป็นภาระที่หนักสำหรับประชาชน

พระราชวิสุทธิประชานาถ (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ กล่าวว่า 31 ปีมาแล้วที่วัดพระบาทนำพุได้ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เน้นให้การดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะท้าย กระทั่งปัจจุบันได้ร่วมกับ สธ. ยกระดับวัดวัดพระบาทน้ำพุเป็นสถานชีวาภิบาล เพื่อเป็นศูนย์กลางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยระยะพึ่งพิง และผู้ป่วยติดเตียง ในจ.ลพบุรี รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อให้ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยนระยะท้ายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยสถานชีวาภิบาล วัดพระบาทน้ำพุ มีทั้งหมด 32 เตียง เป็นชีวาภิบาลชาย 10 เตียง ชีวาภิบาลหญิง 10 เตียง กุฏิชีวาภิบาลที่ดูแลพระสงฆ์ 10 เตียง และอีก 2 เตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หรือกลุ่ม End of Life โดยมี รพ. พระนารายณ์มหาราช ให้การสนับสนุนและจัดระบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายได้อย่างถูกต้อง พร้อมเตรียมพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้กับพระสงฆ์ในวัดต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้ได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติแนวทางการดูแลพระสงฆ์อาพาธด้วยกันเอง และแผ่ขยายการดูแลออกไปให้มากยิ่งขึ้นด้วย

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สถานชีวาภิบาลวัดพระบาทน้ำพุ เป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านชีวาภิบาล” หรือ หน่วยชีวาภิบาล เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ภาวะพึ่งพิง และผู้ป่วยติดเตียง โดยปัจจุบันจังหวัดลพบุรีมีผู้ป่วยระยะท้าย 2,070 คน ผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงจำนวน 1,021 คน ผู้ป่วยติดเตียงอีก 1,051 คน และมีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 21% ของประชากรทั้งจังหวัด

ทั้งนี้สถานชีวาภิบาลเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานบริการสาธารณสุข ที่ บอร์ด สปสช. อนุมัติให้จัดตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2567 เพื่อให้มาเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำหรับผู้แลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงทั่วประเทศที่มีกว่า 3 แสนคน และวัดเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถเป็นสถานบริการสาธารณสุขตามกฎหมาย และจัดตั้งเป็นสถานชีวาภิบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง และผู้ป่วยติดเตียงได้

นอกจากนี้ในส่วนองค์กรศาสนาอื่น รวมถึงสถานชีวาภิบาลที่ดำเนินการโดยท้องถิ่น ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน ที่ไม่แสวงหากำไร สถานชีวาภิบาลในสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถานชีวาภิบาลเอกชน ก็สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการตามมาตรา 3 ในระบบของ สปสช. ซึ่ง สปสช. จะมีการกำกับติดตามเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้การดูแลผู้ป่วยในสถานชีวาภิบาลมีคุณภาพมากที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net