Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากงานบอลประเพณีสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ออกสู่สายตาสาธารณชนเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสลบต่องานอย่างน่าเหลือเชื่อโดยเฉพาะกับทางฝั่งจุฬาฯ ยังไม่รวมดราม่าเรื่องการอัญเชิญพระเกี้ยวที่สามารถเขียนเป็นอีกบทความนึงได้ กระแสลบที่ออกมามักเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือบ่นเกี่ยวกับขบวนสะท้อนสังคมฝั่งจุฬาฯว่า ไม่ครอบคลุมเรื่องที่ตนกำลังมีประเด็นยิบย่อยต่างๆมากมาย เช่น เรื่อง ศาลเจ้าแม่ทับทิม ชุดนิสิต ฯลฯ รวมไปถึงการบริหารจัดการของสตาฟในวันงานจริงผนวกกับนโยบายการเข้าร่วมงานที่เคร่งครัดกว่าสมัยสมาคมศิษย์เก่าเป็นคนจัด สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความไม่พอใจให้สังคมไม่น้อย เราคณะคว้างในฐานะที่เป็นหนึ่งในสตาฟของงานบอลครั้งนี้ก็ยิ่งไม่พอใจกับกระบวนการทำงานและผลลัพธ์ของงานมากกว่าที่ชาวเน็ตบ่นกันเสียอีก ทั้งนี้การเขียนบทความนี้ขึ้นมาก็เพื่อเปิดเผยข้อมูลหลังบ้านบางส่วนที่อาจจะยังไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อน อย่างไรก็ดีบทความนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะโจมตีบุคคลหรือกลุ่มคนใดเป็นพิเศษ

การเซ็นเซอร์

เป็นที่รู้กันดีว่างานบอลปีนี้ไม่ได้จัดโดยสมาคมศิษย์เก่าอย่างที่เคยเป็น จากการประกาศยกเลิกการอัญเชิญพระเกี้ยว แต่ถึงจะเป็นงานที่นิสิตนักศึกษาจัดกันเองก็ไม่ยักพ้นการโดนตรวจสอบจากเบื้องบนและการเซ็นเซอร์ไปได้ ต้องอธิบายก่อนว่าการเซ็นเซอร์เกิดขึ้นกับขบวนสะท้อนสังคมเพียงส่วนเดียวเท่านั้น และเริ่มตั้งแต่ขั้นเนื้อหาไปจนถึงขั้นออกอากาศ 

ในขั้นตอนการเซ็นเซอร์เนื้อหา ทางจุฬาฯจะโดนหนักกว่า มธ.เพราะจุฬาฯดำเนินงานพาเหรดภายใต้การควบคุมขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ(ต่อไปนี้จะขอเรียกชื่อย่อ อบจ.) ทำให้ไอเดียหรือประเด็นใกล้ตัวที่ต้องการเล่น เช่น ประเด็น ศาลเจ้าแม่ทับทิม สงครามที่กำลังเกิดขึ้นบนโลก สิทธิมนุษยชน และ 112 ถูกสั่งห้ามทั้งหมด โดยคนเบื้องบนก็จะอ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก อย่างขั้นแรกผู้ใหญ่ของทั้งสองมหาลัยได้มีการพูดคุยกันเพื่อขอความร่วมมือต่อขบวนล้อการเมืองไม่ให้พูดเรื่องศาลเจ้าแม่ทับทิมโดยใช้คำว่า “ไม่ค่อยอยากให้มีแต่ไม่ได้ห้ามให้มี แค่ไม่อยากเห็น” ส่วนฝั่งจุฬาโดนเซ็นเซอร์ทุกประเด็นสำคัญตั้งแต่ศาลเจ้าแม่ทับทิม กฎหมาย 112 ไปยันประเด็นปัญหาสงครามระดับโลก บวกกับไม่มีการเซอร์ไพรส์เหมือนฝั่งมธ.ก็ยิ่งทำให้ขบวนสะท้อนสังคมเหลือเพียงประเด็นที่คนในสังคมมองว่า “เลื่อนลอย” ซึ่งก็เป็นที่น่าตั้งคำถามอย่างมากว่าตกลงแล้วอบจ.อยู่เคียงข้างใคร เคารพสิ่งที่นิสิตต้องการสื่อสารเพื่อสังคมแค่ไหนกันเชียวหรือมองคุณค่าของงานบอลแบบใดกันแน่? จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จุฬาฯจะเหลือเพียงประเด็นที่ถูกมองว่า “เลื่อนลอย” ไม่ต้องพูดถึงขบวนสื่อธีมที่แม้ไม่ถูกเซ็นเซอร์แต่ก็ฟังดูเพ้อฝันและสูญเปล่าในตัวมันเอง อย่างป้ายผ้าที่เขียนคำสวยหรูที่ผูกเข้ากับประเด็น sustainability ก็เลื่อนลอยไม่ต่างกัน แต่จะโทษคนทำงานเสียอย่างเดียวก็ไม่ได้เพราะงานปีนี้มันก็ไม่อยู่บนความเป็นจริงตั้งแต่ตัวธีมงานที่ผูกติด ยึดโยงกับการพัฒนาอย่างฉาบฉวย เป็นดั่งที่อาจารย์พวงทองชอบโควท “modern but undeveloped” หากยังเห็นภาพไม่ชัด ก็ขอให้ดูจากการใช้รถ EV ขนพระเกี้ยวเข้าสู่สนามเอา

ในส่วนของการออกอากาศ เมื่อขบวนสะท้อนสังคมฝั่งจุฬาฯเดินเข้ามาในสนาม กล้องก็แพลนไปทางอัฒจันทร์ทันที เรื่องนี้ขบวนล้อการเมืองมธ.เองนั้นโดนหนักกว่าเพราะพอขบวนล้อเข้ามาสปอนเซอร์หลักก็ตัดการถ่ายทอดสดเข้าช่วงโฆษณาไปเสียดื้อๆ หลังสตาฟขบวนสะท้อนสังคมและล้อการเมืองเดินออกจากสนามก็รู้สึกท้อแท้ หรือพูดตามภาษาวัยรุ่นคือ “นอย” ไปตามๆกัน เพราะสิ่งที่ทุ่มเททั้งแรงกายและเวลาให้ กว่าหลายสัปดาห์นั้นไม่ได้รับการสื่อสารออกไปอย่างเป็นธรรม 

งานบอลปีนี้จึงน่าตั้งคำถามถึง การเอาใจนายทุน กว่าปกติของอบจ.และนิสิตสตาฟด้วยกันเอง รวมไปถึงคำถามที่ว่า ทำไมแค่ขบวนพาเหรดการเมืองของเด็กอายุ 20 ต้นๆ จึงสามารถสร้างความหวาดกลัวแก่กลุ่มทุนได้ถึงเพียงนี้?

ไม่มีจุดประสงค์ที่แน่นอน

จากการสัมภาษณ์สตาฟรายหนึ่งพบว่าปัญหาสำคัญของงานบอลปีนี้คือ “ความล้มเหลวทางวัตถุประสงค์ ไม่แน่ใจว่าควรเรียกว่าไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หรือ ไม่มีการกำหนดวัตถุประสงค์มาตั้งแต่แรก” หลายคนบ่นตามๆกันถึงการทำงานภายใต้ toxic environment ของงานนี้จนซ้ำร้ายเกิดภาวะ mental breakdown ไปตามๆกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อถามหาวัตถุประสงค์ของงานเพื่อที่จะไปทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็มักต้องรอเวลาหลายวันกว่าเฮดย่อยจะสามารถตอบได้ และนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้งานนี้แม้จะดูสวยหรูในสายตาคนนอกแต่ภายในกลับดำเนินไปด้วยคำก่นด่าและความยากลำบากของนิสิตผู้ปฏิบัติงาน เราไม่แน่ใจว่าผู้บริหารงานเห็นถึงปัญหานี้มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งนี้เองจะเป็นปัญหาแก่ส่วนอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเมื่อคนมากหน้าหลายตามาทำงานร่วมกันแต่ไร้ซึ่งจุดประสงค์ร่วมกันแล้วเราจะดำเนินการให้บรรลุสิ่งที่คาดหวังไว้ได้อย่างไร

คนในองค์กรไม่มีความสามารถ

ก่อนอื่นคงต้องแจ้งให้ทราบอย่างคร่าวๆก่อนว่า ด้วยความที่ ขบวนพาเหรดสะท้อนสังคมจุฬาขึ้นกับอบจ.ทำให้ไม่มีอิสระ ทางการเงิน การตัดสินใจ และถูกควบคุมตรวจสอบจากผู้บริหารอย่างเคร่งครัด ด้วยความที่เป็นฝ่ายที่ขึ้นอยู่กับอบจ.นี้เอง ทำให้เราไม่สามารถตัดสินใจหรือดำเนินการเรื่องต่างๆเองได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การเลือกคนมาเป็นหัวหน้าหรือเฮดฝ่าย 

ก่อนเข้ามาทำพาเหรดของจุฬาฯเดิมทีจะมีการสัมภาษณ์เพื่อให้เห็นมุมมองและทัศนคติของตัวผู้สมัครว่าเหมาะสมที่จะมาร่วมทำพาเหรดหรือไม่ โดยให้บรรดาเฮดฝ่ายเป็นคนคัดเลือก ในขณะเดียวกันนั้นเองตำแหน่ง “เฮด” กลับไม่ได้มาจากการคัดเลือกแบบเดียวกัน แต่มาจากการที่คนๆหนึ่งมีความสนิทสนม คุ้นเคยและมีตำแหน่งสัมพันธ์กับคนในอบจ. นั่นจึงนำมาสู่การที่เฮดที่ส่งมาให้ขบวนพาเหรดเปรียบเสมือน “เฮดฟ้าประทาน” ซึ่งไม่ได้คัดเลือกมาจากอะไรเลย นอกจากสิ่งที่ได้กล่าวไปข้างต้น และเมื่อเป็นเช่นนั้นเฮดที่ส่งมาจึงไม่ได้มีความรู้ความสามารถในการบริหารงานอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ทราบข้อมูลงานที่จะต้องทำหรือสามารถจัดแจงได้อย่างชัดเจน ว่าจะต้องทำอะไรยังไง มีการแตกเป็นฝ่ายย่อยลงไปอีกหลายฝ่ายมีเฮดในเฮดหลายต่อ ทำให้เฮดหลักของงานจริงมักจะไม่ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนและทั่วถึง พูดอีกอย่างคือเฮดไม่ได้มาลงมือปฏิบัติในหลายๆงานย่อย ทำให้ไม่รู้ถึงปัญหาที่คนทำงานพบเจอจริงๆ นำไปสู่การที่ไม่สามารถนำทีมหรือร่วมแก้ไขปัญหาได้เมื่อทีมกำลังประสบปัญหา 

นอกจากนี้ปัญหาใหญ่ที่พบระหว่างการทำงานและส่งผลอย่างหนักต่อบรรดาคนทำงานก็คือ การที่แต่ละคนไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องทำอะไร เดี๋ยวสักแป๊บ คนนู้นคนนี้ก็เรียกให้ไปช่วย เขียนป้าย ทาสี ระบายสี แล้วสิ่งที่ระบายอยู่เนี่ยมันคืออะไรกันแน่? เฮดไม่ได้จัดแจงงานอย่างเป็นระบบหรือไกด์ว่าสิ่งที่จะต้องทำคืออะไร แต่ละคนมองเห็นภาพใหญ่ที่ไม่เหมือนกันหรือกระทั่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภาพใหญ่ของสิ่งที่ฉันกำลังทำคืออะไร? perception ในหัวไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และการที่เฮดไม่ได้บอกรายละเอียดในส่วนนี้ก็อาจจะเพราะตัวเฮดเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองต้องทำอะไร

ความล่าช้าของงบประมาณ

งานนี้ถึงจะได้ชื่อว่ามีเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างสองมหาวิทยาลัย แต่ในความเป็นจริงกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ซึ่งส่งผลต่อการได้งบประมาณที่ล่าช้ากว่าปกติ ทำให้กว่าขบวนพาเหรดฝั่งจุฬาฯจะได้เริ่มงานจริงก็เหลือเวลาเพียงไม่ถึงเดือน (ไม่ต่างจากทางฝั่งมธ.) ระหว่างระยะดำเนินงานจึงจำเป็นต้องคอยตัดจำนวนหุ่น ป้ายผ้า หรือลูกเล่นต่างๆให้เหลือเท่าที่จะทำไหวภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ระยะเวลา สิ่งที่พูดได้ และจำนวนคนทำงานที่มีในตอนนั้น ขบวนสะท้อนสังคมมีสตาฟร่วมทำขบวนไม่ถึง 60 คน ไม่ต้องพูดถึงจำนวนคนเดินลงสนามที่ในวันจริงก็มีไม่เพียงพอ ทำให้จำเป็นต้องตัดประเด็นบางส่วนของขบวนไปอย่างน่าเสียดาย นอกจากงบประมาณที่ล่าช้าก็ไม่แน่ใจว่าอบจ.ตั้งใจลงทุนกับขบวนขนาดไหนงบประมาณส่วนใหญ่จึงไปกระจุกที่การโปรโมทศิลปินดาราเสียมากกว่า เพราะงบที่ได้รับมาทำขบวนนั้นต่างจากงบจ้างศิลปินลิบลับ อีกทั้งยังมีประเด็นการต้องออกเงินค่าอุปกรณ์ไปก่อนของเฮดและสตาฟขบวนพาเหรดที่ก็ไม่อาจทราบได้ว่าจะได้รับเงินคืนเมื่อไหร่ บางทีการทำงานอย่างราชการแต่ต้องการผลลัพธ์เท่าเอกชนของอบจ.ก็เป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับใครหลายคนที่เคยทำงานร่วมกับอบจ.มา

Limitless sustainability กี่โมง?

ธีมหลักของงานบอลในครั้งนี้คือ “Limitless sustainability” ซึ่งเป็นธีมที่เป็นคู่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงต่อสิ่งที่ขนานนามตัวเองว่า “งานบอล” งานบอลไม่ว่าอย่างไรก็ตามเป็นงานที่ตะโกนออกมาด้วยชื่อของมันเองอยู่แล้วว่าไม่ sustain(ยั่งยืน) แน่นอนว่าเจตนาแรกอาจจะเป็นเจตนาที่ดีในการที่อยากจะให้สังคมพัฒนาต่อไปจึงเลือกใช้ธีมนี้ แต่ธีมนี้ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงกับงานบอล สู้ไม่จัดไปเลยยังจะ sustain กว่า 

ด้วยธีมที่ครอบไว้เช่นนี้ทำให้กระบวนการทำพาเหรดไม่ว่าจะขบวนสื่อธีม ขบวนสะท้อนสังคม หรือแม้กระทั่งขบวนล้อการเมืองล้วนแล้วแต่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ วัสดุอุปกรณ์ที่จะสามารถนำไปใช้ในการทำพาเหรดได้นั้น ต้องได้รับการตรวจสอบจากเฮดก่อนทุกครั้ง นำไปสู่ความยากลำบากในการหาอุปกรณ์ต่างๆ ต้องวนไปดูร้านนู้นร้านนี้ เปรียบเทียบราคา ร้านไหน sustain กว่า ตรงส่วนนี้ก็ทำให้เกิดเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินทางและมลภาวะที่เพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งเมื่อได้วัสดุอุปกรณ์ที่ขึ้นชื่อว่ามีความ sustain มาทำแล้วก็จริง กลับเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่น อุปกรณ์ที่เอามาใช้นั้นไม่ได้มีความเหมาะสมหรือมีคุณภาพพอที่จะนำมาทำพาเหรดตั้งแต่แรก เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดคือเคยเกิดความผิดพลาดขึ้นก็คือ ในคืนสุดท้ายก่อนวันงาน(30 มี.ค.) อุปกรณ์ชำรุด เพราะวัสดุที่ใช้ทำนั้นไม่ทนทานและไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ตั้งแต่แรก ระหว่างการทำงานเหตุการณ์ของเสียนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ต้องไปซื้ออุปกรณ์ใหม่อยู่เรื่อยๆและมีการซื้อเผื่อไว้จำนวนมาก(กันเหนียวว่าจะเกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำอีก) ทำให้หลังจบงานมีอุปกรณ์เหลือเยอะมาก และไม่สามารถนำไปใช้อะไรต่อได้ 

นอกจากนี้ปัญหาใหญ่อีกอย่างที่พบ(และก็เกิดขึ้นแทบทุกปีหลังจบงานบอล อ้างอิงจากการสัมภาษณ์อดีตสมาชิกกลุ่มล้อมธ. ช่วงปี 255x) ก็คือการจัดการกับขยะหลังจบงาน ไม่ว่าจะป้ายผ้าหรือหุ่นล้อ เราไม่สามารถทำอะไรกับมันต่อได้เลย ต้องกลายไปเป็นขยะทั้งหมด ไม่ว่าจะเหล็ก ลวด ไม้หรืออะไรก็ตามที่ไม่ได้ใช้แล้ว ดังนั้นตัวธีมและตัวงานจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างบริบูรณ์

สรุป

ทั้งหมดที่วิจารณ์มานี้ทางเราต้องการเพียงชี้ให้สังคมเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและความบกพร่องในการบริหารงานของอบจ.ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของนิสิตผู้ปฏิบัติงานเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนเข้าใจดีว่าเป็นเพราะการที่งานนี้หายไปกว่า 4 ปี ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้ความรู้หรือวิทยาการเกี่ยวกับการทำงานหลายอย่างตกหล่นหรือหายไป อย่างไรก็ดียังคงน่าสงสัยว่า ทางอบจ.ไม่มีแนวทางแก้ปัญหาหรือถ่ายโอนกระบวนการทำงานเลยหรืออย่างไร อีกทั้งการที่อบจ.ทำงานมาจวนจะครบวาระอยู่แล้ว ทำไมจึงเกิดข้อผิดพลาดได้ถึงเพียงนี้ หวังว่าคำวิจารณ์ทั้งหมดนี้จะได้รับการส่งต่อไปยังอบจ.ในสมัยหน้า เพราะเราเชื่อว่างานบอลเป็นได้มากกว่าแค่งานรวมตัวศิลปินและเป็นได้มากกว่างานที่สร้างความสัมพันธ์แค่เฉพาะกับนิสิตนักศึกษาในมอตนเอง งานบอลสานสัมพันธ์ประเพณีเป็นได้มากกว่านั้น ขอเพียงมีวิสัยทัศน์ และอุมดมการณ์ร่วมกัน ในเมื่อสังคมต่างจับจ้องมาที่หอคอยงาช้างของประเทศก็จงใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นกระบอกเสียงช่วยเหลือผู้ยากลำบากเถิดท่านผู้เกิดมาพร้อมความมั่งมี


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net