Skip to main content
sharethis

สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ออกระเบียบ 6 ข้อในงานชุมนุมมลายูรายอ 2024 ป้องกันปัญหาบานปลาย เชื่อว่าเหตุระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มคนหนุ่มสาวในช่วง 2-3 วันนี้ เป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว หวังสกัดการเข้าร่วมชุมนุม และหวั่นเกิดปัญหาระหว่างทาง เพจ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุเป็นการปั่นกระแส และปล่อยข่าวปลอม

สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (Civil Society Assembly for Peace : CAP) ได้ออกระเบียบข้อบังคับสำหรับการร่วมกิจกรรมชุมนุมมลายูรายอ 2024 (Perhimpunan Melayu Raya 2024) ที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี สำหรับผู้ชายในวันที่ 13 เม.ย. 2567 และสำหรับผู้หญิงในวันที่ 14 เม.ย. 2567 จำนวน 6 ข้อ ดังนี้ 

1. ห้ามนำธงที่มีลักษณะสุ่มเสี่ยงที่อาจจะกระทบถึงความมั่นคงเข้ามาในบริเวณจัดงาน เว้นแต่เป็นธงสีประจำหมู่บ้าน หรือชมรม/กลุ่มเท่านั้น

2. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจจะทำให้เกิดความหมิ่นเหม่และสุ่มเสี่ยงต่อข้อกฎหมายความมั่นคง

3. หัวข้อประเด็นในการปราศรัย เน้นให้ตระหนักถึงความหลากหลายของอัตลักษณ์และการอยู่ร่วมกัน

4. ไม่อนุญาตให้นำอาวุธ หรือของมีคมทุกชนิดเข้ามาภายในงาน และต้องปลอดอาวุธ 100%

5. เคารพกฎระเบียบจราจร ไม่กีดขวางจราจร และพ.ร.บ.ความสะอาด 

6. ให้ความเคารพและเชื่อฟังคณะผู้จัดงาน และดุลยพินิจของคณะผู้จัดงานถือเป็นที่สิ้นสุด

หมายเหตุ: ผู้ใดฝ่าฝืนข้อระเบียบหรือไม่ปฏิบัติตาม คณะผู้จัดงานจะไม่รับผิดชอบใดๆ

เป้าหมายรณรงค์ทางวัฒนธรรมมลายู สร้างสำนึกในอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่

นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธาน CAP

นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธาน CAP กล่าวว่า ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวออกมาเหมือนปีที่แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเป็นประเด็นเหมือนการชุมนุมเมื่อปี 2565 โดยเฉพาะเรื่องธงที่มีคนนำธงของขบวนการ BRN เข้ามา ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องของฝ่ายความมั่นคง ทั้งที่จริงเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เพราะเป็นธงแค่ผืนเดียว แต่เพื่อความสบายใจของฝ่ายความมั่นคง เราจึงมีห้ามนำธงเข้ามา ยกเว้นธงสีประจำหมู่บ้าน

“เป้าหมายหลักของการชุมนมคือการรณรงค์เพื่ออัตลักษณ์ด้านการแต่งกายของชาวมลายู เพราะความสำนึกในอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่เริ่มมีมากขึ้น”

นายมูฮำหมัดอาลาดี เปิดเผยด้วยว่า การรณรงค์สวมชุดมลายูนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2558 โดยกลุ่มสายบุรีลุกเกอร์ หลังจากนั้นประมาณปี 2561 เริ่มมีการรวมกลุ่มถ่ายรูปด้วยการสวมชุดมลายูในหมู่บ้านของแต่ละคน จากนั้นพวกตนจึงเริ่มจัดรวมกลุ่มแต่งชุดมลายูกันที่มัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และที่อ่าวมะนาว จ.นราธิวาส พอมาปี 2562 จึงรวมกลุ่มกันที่สายบุรี ต่อมาเกิดสถานการณ์โควิดระบาดจึงไม่ได้จัดการรวมกลุ่ม จนกระทั่งปี 2565 จึงจัดรวมกลุ่มกันได้อีกครั้งจนกลายเป็นประเด็นขึ้นมา

“เป้าหมายแรกๆ คือ ต้องการให้กำลังใจกลุ่มเยาวชนในการรณรงค์การสวมชุดมลายูอย่างไม่รู้สึกอาย ซึ่งในการชุมนุมใหญ่ในปี 2565 นั้นยังไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมากมาย เพราะเราไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นประเด็นขึ้นมา”

นายมูฮำหมัดอาลาดี กล่าวว่า แรงจูงใจของการจัดชุมนุมนั้น เกิดขึ้นเพราะเห็นกลุ่มเยาวชนที่เริ่มมีกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมมักถูกฝ่ายความมั่นคงจับตาอยู่ตลอด เช่น การรณรงค์เรื่องผ้าพันศีรษะ ก็ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการใช้ความรุนแรง แต่พวกตนมองว่ามันไม่ใช่จึงจัดรณรงค์ให้มีการสวมใส่ไปเลย

“ต่อมา เรื่องการซุ้มประตูชัยประจำหมู่บ้านตามวัฒนธรรมเดิมของคนมลายู แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ไม่อยากให้ทำ เราก็เลยจัดประกวดไปเลย เพื่อให้มันกลายเป็นเรื่องปกติเหมือนสมัยเด็กๆ ที่เราก็เคยทำกันมา แต่มันหายไปเกือบ 20 ปีตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นมา เพราะคนมารวมตัวทำกิจกรรมกันไม่ได้”

“เรามองว่า การทำซุ้มประตูชัยได้ก็คือการกลับไปสู่สถานการณ์ปกติ เราจึงสานต่อกิจกรรมต่างๆที่เคยทำมาในอดีต พอมาชุดมลายูมันก็กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเหมือนกัน ทั้งที่เป็นอัตลักษณ์ด้านการแต่งกายของคนในพื้นที แต่หลังๆ มานี้เริ่มมีการสวมชุดมลายูมากขึ้น”

เชื่อว่ามีหลายเหตุการณ์เพื่อสร้างบรรยากาศให้กลัวหวังสกัดการร่วมชุมนุม

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชนในหลายๆพื้นที่ในช่วง 2-3 วันมานี้ เช่น มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ให้รื้อถอนปืนใหญ่จำลองบริเวณซุ้มประตูชัยหน้ามัสยิดแห่งหนึ่งที่กลุ่มเยาวชนจัดทำขึ้นเนื่องในเทศกาลฮารีรายอ รวมถึงให้ถอนธงชาติปาเลสไตน์ออกในหลายพื้นที่ และป้ายข้อความ Selamat Hari raya ออกนั้น 

นายมูฮำหมัดอาลาดี มองว่า เหตุการณ์เหล่านั่นเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว เป็นการสกัดไม่ให้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ เข้าร่วมชุมนุมมลายูรายา เพราะเชื่อว่าจริงๆแล้วฝ่ายความมั่นคงไม่อยากให้มีการจัดชุมนุมมลายูรายาครั้งนี้ขึ้นมา โดยที่ผ่านมามีการพูดเป็นนัยๆว่าไม่อยากให้จัด เพราะมีบางกลุ่มที่ไม่สบายใจ จึงพยายามที่จะห้าม

“ยิ่งช่วงก่อนหน้านี้ที่มีการฟ้องนักกิจกรรมด้วยข้อหาต่างๆ รวมถึงแกนนำของการจัดกิจกรรมมลายูรายานั้น ยิ่งทำให้เกิดกระแสให้คนอยากจะมาชุมนุมมากขึ้น เมื่อมีคนอยากจะมาร่วมมากขึ้นฝ่ายความมั่นคงก็ยิ่งระแวงมากขึ้นไปอีก จึงทำให้เกิดเหตุการณ์บรรยากาศสร้างความหวาดกลัวให้คนในพื้นที่ โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ก็ไม่กล้าจะมาร่วม แม้แต่กลุ่มคนหนุ่มสาวเองก็เกิดความรู้สึกตัวได้เช่นกัน” นายมูฮำหมัดอาลาดี กล่าว

หวั่นเกิดปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มคนหนุ่มสาว

นายมูฮำหมัดอาลาดี ปีนี้พวกเราชัดเจนแล้วว่า จะจัดชุมนุม โดยใช้ธีมงานว่า Buka Patani Doa untuk Palestin จึงไม่แปลที่ให้เอาติดธงปาเลสไตน์ออก หรือให้เอาปืนใหญ่จำลองออก เช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่หมู่ 2 ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส หรือ ที่ อ.เบตง และที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งสร้างบรรยากาศให้คนกลัว ทำให้คนไม่อยากจะมาร่วมชุมนุม ไม่อยากมีเรื่อง ดังนั้น ในช่วง 3-4 วันมานี้จึงมีสถานการณ์ที่ค่อนข้างตึงเครียดกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่

“ดังนั้น สิ่งที่กังวลมากคือ เรื่องการสกัดกั้นผู้เข้าร่วมชุมและอาจมีปัญหาระหว่างทางได้ กลัวจะมีปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มคนหนุ่มสาวกลุ่มเยาวชน ส่วนในงานไม่ได้กังวลมาก“

นายมูฮำหมัดอาลาดี กล่าวด้วยว่า สำหรับเนื้อหาในงานยังคงเน้นเรื่องความเป็นเอกภาพและความสามัคคี โดยธีมของงานคือความเป็นหนึ่ง และการช่วยเหลือพี่น้องชาวปาเลสไตน์

เพจ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุเป็นการปั่นกระแส และปล่อยข่าวปลอม

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อของสัมภาษณ์เรื่องนี้จาก พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์สันติสุข/รองแม่ทัพภาคที่ 4 แต่ติดภารกิจสำคัญไม่สามารถให้สัมภาษณ์ได้ 

อย่างไรก็ตาม มีการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ศูนย์สันติสุขว่า กรณีมีบางเพจระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ให้รื้อปืนใหญ่จำลองออกนั้น เป็นการนำข่าวเก่ามาโพสต์และดึงภาพอื่นใช้ประกอบเนื้อหา ซึ่งเป็นการจับแพะชนแกะ ต่อมามีการลบภาพนั้น แต่อย่างไรก็ตามมีการแชร์เนื้อหานี้ไปในวงกว้างแล้ว ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่แบนเนอร์ที่ระบุว่า แม่ทัพภาคที่ 4 มีคำสั่งห้ามติดธงชาติอื่นนอกจากธงชาติไทยและให้สกัดการเข้าร่วมชุมนุมนั้น กำลังตรวจสอบอยู่ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่

ขณะเดียวกัน ทางเพจ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า – เพจใหม่ ได้รายงานเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ว่า เป็นการปั่นกระแสข่าวปลอม โดยมีการโพสต์ว่า เจ้าหน้าที่ไปคุกคามชาวบ้าน ด้วยการสั่งผู้ใหญ่บ้านให้ถอดปืนใหญ่จำลองที่ตั้งหน้าซุ้มประตูชัยออก และเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้ข่มขู่เยาวชนว่าหากมีการตั้งปืนใหญ่จำลองอีก จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net