Skip to main content
sharethis

'ปิดเหมืองแล้ว' กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ฉลองชัยชนะปิดเหมืองหิน-โรงโม่ ต.ดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู หลังใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าเพื่อกิจการโรงโม่หมดอายุ 10 เม.ย. 67 พร้อมเดินหน้าทวงความยุติธรรม 4 ศพ ยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล ก้าวต่อไป "ยกเลิกประกาศเขตแหล่งแร่" สกัดนายทุนหวนคืนภูผาฮวก 

 

11 เม.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ที่หมู่บ้านผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จัดงาน "ปิดเหมืองหินแล้วจ้า ฮอดเวลาม่วนชื่น ก้าวต่อไป…ดงมะไฟแห่งชัยชนะ" ซึ่งเมื่อ 10 เม.ย. 2567 เป็นวันสุดท้ายที่ใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าเพื่อกิจการโรงโม่หมดอายุลง หลังก่อนหน้าประทานบัตรเหมืองหินหมดอายุลงเมื่อปี 2563 เท่ากับว่าเป็นการสิ้นสุดสัมปทานเหมืองหินทุกอย่างอย่างเป็นทางการ ทางกลุ่มจึงใช้โอกาสเนื่องในเทศกาลสงกรานต์เชิญชวนประชาชนและเครือข่ายร่วมเฉลิมฉลองชัยชนะในการปิดเหมืองแร่และโรงโม่หินในพื้นที่อย่างสมบูรณ์แบบในครั้งนี้

โดยกิจกรรมเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า มีการแห่กลองยาวจากหมู่บ้านผาฮวกฯ ไปยังภูผาฮวก จากนั้นเป็นการจัดพิธีปิดเหมืองหินและพิธีกรรมเรียกขวัญลูกหินกลับสู่อ้อมอกพ่อแม่ผาฮวก หาบหินคืนภูเขา พร้อมเปิดพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ภูผาฮวก เยี่ยมชมรูปภาพคนปิดเหมือง ประทับรอยมือรอยเท้ากลุ่มอนุรักษ์ฯ ตามด้วยการขึ้นป้ายผ้าแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ "เหมืองจบแล้วที่รุ่นเรา" ปักป้าย "ฟื้นฟูภูผาป่าไม้" เพื่อประกาศความสำเร็จในการทวงคืนเหมืองหิน ฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับสู่สภาพเดิม การแสดงดนตรีจากวงซอฟบ้านโคก และวงนักอนุรักษ์น้อย ซึ่งมีชาวบ้านในพื้นที่และเครือข่ายร่วมในงานอย่างคับคั่ง บรรยากาศเต็มไปด้วยความชื่นมื่น

 

ครั้งแรกเดี่ยวไมโครโฟนเรื่องเล่าเร้าพลังของคนธรรมดาโดยนักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได

ต้านเหมืองหินตามรอยพ่อ-ขอผนวกภูผา 7 ลูกเป็นป่าชุมชน

โดยหนูซาย พลซา เรื่องเล่าผาฮวกมาจากไหน โดยหนูซาย กล่าวว่า ผาฮวกแต่ก่อนมีป่าไผ่รวกผืนใหญ่กว่าที่อื่น จึงตั้งชื่อว่าผาฮวก เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีสัตว์ป่าน้อยใหญ่ทุกชนิด แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เพราะมีนายทุนมาบุกรุก สมัยนั้นยังไม่มี อบต. โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ทรงคุณวุฒิ อนุมัติให้นายทุนเข้ามาระเบิดและทำสัมปทานหิน ตนเสียใจที่เวลานั้นชาวบ้านยังไม่รู้เรื่องว่า เขาเข้ามาทำได้อย่างไร สิ่งแวดล้อมก็เสียหายไป นก หนู สัตว์ป่าที่ทนเสียงระเบิดดังไม่ได้ก็หนีหายไปหมด จึงหวังว่าทรัพยากรธรรมชาติผืนป่าที่หายไปจะกลับคืนมาและพี่น้องทุกคนต้องช่วยกันรักษาต่อไป

ขณะที่ สมควร เรียงโหน่ง เล่าเรื่องตามรอยพ่อว่า ในอดีตการหาอยู่หากินของชาวบ้าน ย้อนกลับไปก่อนโรงโม่หินจะเข้ามา ความอุดมสมบูรณ์หลากหลายมาก เช่น อยากกินหน่อไม้ก็ก่อไฟตั้งหม้อแล้วขึ้นไปหักหน่อไม้บนภูเขาที่ตั้งโรงโม่ การที่ตนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องภูผาฮวกไม่ให้ถูกทำลายก็มาตามรอยพ่อ เนื่องจากพ่อคัดค้านมาก่อน และเห็นความสำคัญหลายประการ พ่อบอกเคยบอกกับตนว่าไม่ว่าพื้นที่ใดถ้ามีโรงโม่ ไม่มีทางมีความสุข มีแต่จะได้รับความเสียหายไปเรื่อยๆ และไม่ใช่ช่วงเวลาแค่สั้นๆ แต่เป็นเวลาหลายปีที่ต้องมาต่อสู้ ช่วงนั้นที่ตนออกมาร่วมกับพ่อตนอายุ 35 ปี ก็ยังไม่ถึงกับเป็นคนที่อยู่แดนหน้า เพียงแต่ร่วมสังเกตการณ์และเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อไปให้ถึงตามที่พ่อบอก

“พ่อเคยบอกสิ่งหนึ่งว่าที่ทำกินตรงนี้ ที่ติดภูเขาลูกนี้ อย่าขายให้เก็บรักษาไว้ เพราะว่ามันไม่มีอีกแล้ว มันมีเท่านี้ การที่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ ผมมีความคิดว่าภูเขาตรงนี้ไม่เหมาะกับการทำเป็นโรงโม่แม้แต่นิดเดียว เพราะพื้นที่ทำกินของชาวบ้านติดภูเขาทุกด้าน จึงอยากให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ป่าชุมชน ไม่ใช่เฉพาะแค่ภูผาฮวก ในจำนวนภูผาทั้งหมด 7 ลูกในพื้นที่นี้อยากให้ถูกนำมาผนวกเป็นป่าชุมชนทั้งหมด เพื่อให้ลูกหลานเข้าไป เก็บหาของป่าได้ง่ายขึ้น และใช้ประโยชน์อย่างยื่นยืนเพื่ออนาคตของลูกหลานต่อไป” สมควร กล่าว

เปี่ยม สุวรรณสนธิ์ ชาวบ้านและนักรณรงค์เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน เล่าเรื่องสู่ศาลแห่งชัยชนะ ว่า นโยบายของรัฐทุกสิ่งทุกอย่างก่อความเดือดร้อนและความอัปยศอดสูให้ชาวบ้านตลาดมา ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนห้วยหลวง หรือเหมืองหินแห่งนี้ ไม่ว่าชาวบ้านจะไม่เต็มใจแต่ก็ถูกยัดเยียดโครงการมาให้ตลอด เราต่อสู้มาทุกศาลเราชนะทั้งหมด จนเราปิดเหมืองได้ในวันที่ 13 ส.ค. 2563 และเชื่อว่าสู้อีก 10 ศาลเราก็ชนะ

เดินหน้าฟื้นฟูสิ่งที่ถูกทำลายให้กลับมาเหมือนเดิม

หลง ชินแสง นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าเรื่องนอนปิดเหมืองหินและโรงโม่ ว่า ขบวนการต่อสู้ของคนบ้านเรามีมาอย่างยาวนานนับ 10 ปี พ่อบ้านของตนออกมาต่อสู้ก่อนเจอทั้งการถูกข่มขู่ ถูกจับ และมีคนเสียชีวิต ต่อมา พ่อบ้านล้มป่วย และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ตนจึงก้าวออกมาในวงการต่อสู้แทนเขา เพราะว่าหัวหน้าครอบครัวคือตนแล้ว ถึงจะเป็นผู้หญิง แต่ใจยังสู้ พวกเราได้เดินออกไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐหลายหน่วยงาน แต่เขาบอกเราว่าไม่มีอำนาจสั่งให้เหมืองหินหยุดได้ จนพวกเราผิดหวังกลับมา ไม่ได้กลับเข้าบ้าน แต่ไปนอนกลางถนนทางเข้าเหมือง เพราะเราอยากให้เหมืองหินปิด ตอนแรกเราจะนอนกัน 3 คืน แต่กลายเป็น 3 เดือน และ 3 ปี

“ใบอนุญาตเหมืองหินหมดลงไป เหมืองหินปิดลง แต่เราก็ยังมีต่อคือเราจะฟื้นฟูสิ่งที่มันถูกทำลายไปให้กลับมาเหมือนเดิม ต่อไปนี้เราจะฟื้นฟูและพยายามทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะภูผาป่าไม้ของเรามีสิ่งสวยงามซ่อนอยู่ในนั้น มีทั้งถ้ำหลายแห่ง ภาพเขียนสี และวัตถุโบราณ อายุหลายพันปี อยากให้คนภายนอกได้มาเห็นและรับรู้ ว่าทำไมเราต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้” หลง กล่าว

จาก 30 ปีที่มืดมนสู่ชัยชนะที่ตราตรึง

ด้านลำดวน วงศ์คำจันทร์ นักรณรงค์ด้านสิทธิฯ เล่าเรื่องความทรงจำแห่งชัยชนะว่า เราต่อสู้เรื่องเหมืองมาเป็นเวลายาวนานที่สุด 30 กว่าปี แต่เราก็ไม่เคยชนะ ไปเรียกร้องจากหน่วยงานรัฐเขาก็ไม่เคยสนใจ จนเราเข้ามาปิดเหมืองด้วยสองมือสองตีนของพ่อแม่พี่น้องทุกคนทั้ง 6 หมู่บ้าน เรามาอยู่ที่นี่วันแรก เราเจอปัญหายิ่งใหญ่ที่สุดคือพายุฝน แต่เราไม่เคยหวั่นไหวไม่เคยคิดหนีและทิ้งเพื่อนไว้ที่นี่ เราอยู่ที่นี่กันจนสว่าง วันแรกยอมรับว่าตนมีความกังวลในใจว่าเราจะเดินทางไปถึงไหน จะอยู่ต่อถึงวันไหน และจะไปต่อได้อย่างไร ความฝันคือเราอยากปิดเหมืองให้สำเร็จ แล้วเราจะไปทางไหนต่อ วันนั้นมืดมนจริงๆ มองไม่เห็นทาง พออยู่ต่อมา 13 วันมีคนเข้ามาติดต่อว่าจะเอารถโม่หินออก รู้สึกดีใจ แต่ยังไม่คลายกังวล เพราะกลัวว่าเขาจะมาโกหกหรือใช้แผนการอะไรกับพวกเราเพื่อให้ออกจากพื้นที่หรือไม่ อีก 2-3 วันต่อมาเขาก็นำรถโม่หินออก เป็นชัยชนะของเราครั้งแรก เสียงพ่อแม่พี่น้องเราตะโกนพร้อมกันว่า "โรงโม่ออกไปๆ" นี่เป็นความทรงจำที่ประทับใจตราตรึง และก้องอยู่ในสมองของตน ไม่เคยลืม เพราะพี่น้องเราร่วมมือร่วมใจกันทุกคน จนได้รับชัยชนะและเหมืองปิดลง

"เราชนะแล้วนะพ่อ" สอน คำแจ่ม ทวงความยุติธรรมให้สามีผู้ล่วงลับ

ขณะที่สอน คำแจ่ม นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน นำภาพถ่ายสามีทองม้วน คำแจ่ม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ที่ถูกลอบสังหารเสียชีวิตจากการต่อสู้เหมืองหินแห่งนี้ขึ้นมาเล่าเรื่องเราชนะแล้วนะพ่อ  โดยกล่าวว่า สามีของตนคือทองม้วน คำแจ่ม เป็นหนึ่งในคนที่ต่อสู้มาเพื่อภูผาป่าไม้มาตั้งแต่รุ่นแรก เขาเป็นคนที่ไปชุมนุมเพื่อปกปักรักษาทรัพยากรไว้ให้ลูกหลาน เขาลุกขึ้นมาเป็นตัวแทนของคนใน ต.ดงมะไฟ แล้ววันหนึ่งเขาก็ถูกฆ่าโดยไม่รู้สาเหตุ เมื่อสามีเสียชีวิตและตนเสียเสาหลักในครอบครัวไปแล้ว ด้วยความทุกข์ ความจน ความวุ่นวายในหัวใจ จึงนึกขึ้นได้ว่าจะมัวเสียใจอยู่ได้อย่างไร มองหาคนช่วยพวกเจ้าพวกนายก็ไม่มี จึงลุกขึ้นมาสู้และต้องตามหาความเป็นธรรมให้ได้ เพราะว่าทุกวันนี้สังคมไทยมันไม่มีความยุติธรรม โดยเฉพาะชาว ต.ดงมะไฟ จะต้องอยู่ด้วยความมืดมน ไม่มีความกระจ่างแจ้ง เพราะว่าผู้ใหญ่บ้าน กำนันเขาไปทางอื่นหมดไม่ได้มาทางชาวบ้าน ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงตกลงกันว่าเราต้องปิดเหมืองด้วยสองมือสองตีนของเรา และลุกขึ้นมาสู้เพื่อลูกหลาน เราได้พากันมานอนปิดเหมืองอยู่ที่นี่ ผ่านไปปีเดียวหน่อไม้ และเห็ดก็มีให้กิน นก หนู จักจั่นก็กลับมาส่งเสียงร้อง

“ดิฉันสาบานไว้ว่าถ้าหาความเป็นธรรมไม่ได้ ก็จะไม่เผาพ่อทองม้วน วันนี้อยากจะบอกพ่อทองม้วนว่าเราชนะแล้วนะพ่อ” สอน กล่าว

"การ์ดปากแดง" ความคับแค้นแปรแปลี่ยนเป็นพลังปกป้อง

พรพรรณ อนุเวช นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน เรื่องการ์ดปากแดงว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีมานี้ มีเหตุการณ์หนึ่งที่ตนจำไม่เคยลืมคือเหตุการณ์ที่ตนเองจะถูกอุ้ม ซึ่งตอนนั้นพวกนายทุนเข้ามาตั้งแคมป์และโรงโม่ในพื้นที่ และกล่าวหาว่าเราเข้าไปเผาแคมป์ของเขา ซึ่ง 1 ใน 12 รายชื่อที่เขาจะจับมีชื่อพี่สาวตนรวมอยู่ด้วย แล้วเขาก็มาจับกระชากลากถูตัวพี่สาวไป ตนรีบเข้าไปช่วยจึงถูกอุ้มตัวขึ้นรถไปด้วยกัน นี่จึงเป็นสาเหตุที่มาของคำว่า 'การ์ดปากแดง' แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ได้เป็นการ์ดเต็มตัวก็คือเมื่อพวกเราได้มาร่วมกันปิดเหมือง พี่น้องเราได้มอบหมายหน้าที่ให้ตนเป็นการ์ดปากแดง ซึ่งตนก็รับหน้าที่นี้ด้วยความเต็มใจ เพราะคับแค้นใจมานานแล้ว พอได้รับหน้าที่นี้สิ่งแรกที่ทำคือการเป็นเวรยามให้พี่น้องเราอยู่ที่นี่และบริเวณแคมป์ คอยสอดส่องดูแลพี่น้องว่าจะมีคนนอกเข้ามารบกวนการทำกิจกรรมหรือไม่ ส่วนฉายาการ์ดปากแดงนั้นได้มาเพราะชอบทาลิปสติกสีแดง พี่น้องเราจึงมอบฉายานี้ให้  ทั้งนี้ สิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือเราได้ทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่ที่สุดโดยที่พี่น้องให้ความไว้วางใจเรามากที่สุด จากวันนั้นจนถึงวันนี้ถึงแม้จะปิดเหมืองและได้รับชัยชนะแล้ว ตนก็จะยังเป็นการ์ดปากแดงและรับใช้พี่น้องเราไปตลอดจนกว่าชีวิตจะหาไม่

"ผาฮวกฯ หมู่บ้านปิดเหมือง" พลังขับเคลื่อนนักปกป้องสิทธิฯ ลุยทวงความยุติธรรม 4 ศพ หยุดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

ขณะที่ พนมวรรณ นามตาแสง นักรณรงค์สิทธิมนุษยชน จากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เล่าเรื่อง "ผาฮวกฯหมู่บ้านปิดเหมือง" ว่าหมู่บ้านนี้ไม่ใช่แค่หมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมา เพื่อเรียกร้องให้มีการปิดเหมืองหิน ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แต่มันกลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่หลังบ้านของอีกหลายๆ คน อาจจะเป็นหลังที่สอง หลังที่สาม รองลงมาจากครอบครัวหลักของเรา หมู่บ้านนี้ยังได้มีการตั้งโรงเรียนสังคมและการเมืองเหมืองแร่หนองบัวลำภู เป็นการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ทำให้เรามีการพัฒนาความคิดของเรามากขึ้น มีครูมาสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความปลอดภัย เรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การฟื้นฟูภูผาป่าไม้ การรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่ควบคู่กับการต่อสู้ในการเรียกร้องเพื่อปิดเหมืองหิน ที่สำคัญการต่อสู้ของพวกเรามีการสูญเสียเพื่อนและบุคคลในครอบครัวถึง 4 ศพ ซึ่งเขาออกมายืนหยัดในการต่อสู้ การที่เราออกมาชุมนุมที่นี่เราเรียกร้องเสมอมาว่าให้มีการทวงคืนความยุติธรรมทุกคน โดยได้ยื่นหนังสือให้ สภ.สุวรณณคูหา รื้อฟื้นคดี 4 ศพขึ้นมา แต่ทางตำรวจบอกว่าไม่สามารถทำได้ เพราะสิ้นสุดอายุความแล้ว เป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาในพื้นที่ดงมะไฟและสังคมไทย  เราไม่เคยหาคนร้ายมาลงโทษได้เลย ทั้งที่หลักฐานและสำนวนคดีชัดอยู่แล้วว่าใครคือคนที่กระทำความผิด ดังนั้น เราจึงต้องพยายามเรียกร้องต่อไปเพื่อคืนความยุติธรรมให้ทั้ง 4 ศพให้ได้

ปลูกต้นไม้ 1 หมื่นต้นฟื้นฟูภูผาป่าไม้-"ดาร์กทัวร์" ชมประวัติศาสตร์การต่อสู้คนตัวเล็กตัวน้อย

พนมวรรณ กล่าวต่อว่า การต่อสู้ของที่นี่ไม่ใช่แค่คนรุ่นใดรุ่นหนึ่งแต่มีถึง 4 รุ่น คือ รุ่นปู่ย่า รุ่นพ่อแม่ รุ่นลูก และรุ่นหลาน ที่เป็นนักอนุรักษ์น้อย การต่อสู้ของที่นี่เราไม่ได้ต่อสู้บนท้องถนนเท่านั้น เราต่อสู้ในกระบวนการของการเมือง มีการส่งตัวแทนของกลุ่มเข้าไปสู่การเมือง ให้เป็นตัวแทนใน อบต.ถึง 4 หมู่บ้าน โดยหาเสียงร่วมกัน มีวิสัยทัศน์คือให้ดงมะไฟเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร และต้องเป็นแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมโบราณคดีเท่านั้น เราฟื้นฟูภูผาป่าไม้โดยการเพาะปลูกต้นกล้า เก็บเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ขึ้นไปปลูกบนภูผาฮวก เพื่อให้ระบบนิเวศเดิมกลับคืนมา โดยปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 1 หมื่นต้น เราได้ทำการฟื้นฟูภูผาป่าไม้  ปัจจุบันเราก้าวไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการเปิดรับนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวของเราเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใครคือการเที่ยวแบบดาร์กทัวร์ เที่ยวชม เที่ยวฟังประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อยที่นี่ที่สามารถต่อสู้จนเอาชนะเหมืองหินได้ด้วยสองมือสองเท้าของเราเอง

ลั่นชัยชนะต่อไป "ยกเลิกประกาศเขตแหล่งแร่" สกัดนายทุนหวนคืนภูผาฮวกฯ

พนมวรรณ ยังเล่าต่อว่า ระหว่างที่เราปักหลักชุมนุมกว่า 1,138 วัน คดีศาลปกครองมหากาพย์ 11 ปี ได้ถูกตัดสินมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประทานบัตรในระหว่างที่เราได้ปิดเหมืองหินสำเร็จไปแล้ว มันคือการยืนยันสิทธิในการปกป้องทรัพยากรของกลุ่มอนุรักษ์ฯ อย่างไรก็ตาม กลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังถูกนายทุนฟ้องปิดปากให้รื้อแคมป์ออกไป ทั้งที่การปักหลักชุมนุมที่นี่เป็นการชุมนุมที่ถูกต้องตามกฎหมาย เราไม่ได้ปิดทางเข้าออก แต่เราแค่ยืนยันสิทธิว่าสิ่งที่บริษัททำตลอดมาคือการทำเหมืองที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ประชาชนทุกคนสามารถเรียกร้องสิทธิของเราได้

"ชัยชนะของดงมะไฟไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่งแต่เกิดจากคนทุกคนที่อยู่ในกลุ่มอนุรักษ์ฯ ร่วมมือกัน และชัยชนะที่เกิดขึ้นจะไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่ชัยชนะของเราต้องไปต่อ แม้ว่าการทำเหมืองหิน ประทานบัตร หรือการอนุญาตให้เข้าใช้ป่าสงวนฯ ได้หมดลงไปแล้ว แต่มันยังมีสิ่งหนึ่งที่ครอบพื้นที่นี้อยู่ก็คือเขตประกาศแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตอาจจะมีนายทุนหรือบริษัทอื่นมาขอทำเหมืองในภูผาฮวกฯ ก็ได้ ชัยชนะที่ต้องไปต่อคือเราต้องยกเลิกประกาศเขตแหล่งแร่ เพื่อให้พื้นที่นี้กลับสู่ชุมชนเป็นป่าชุมชนอย่างแท้จริง ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ในทรัพยากรเป็นป่าส่วนรวม และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตให้ได้" พนมวรรณ กล่าว

คำประกาศก้าวต่อไปดงมะไฟแห่งชัยชนะ 10 เม.ย. 67

จากนั้นเข้าสู่กิจกรรมเปิดป้ายหมู่บ้านผาฮวกฯ และร่วมกันอ่านคำประกาศ ก้าวต่อไป.. ดงมะไฟแห่งชัยชนะ ระบุว่า 
ภูผาฮวกคือหมุดแผ่นดินที่ตอกฝังเอาไว้มาอย่างยาวนาน ทำหน้าที่เชื่อมชีวิตพวกเรากับดิน น้ำ ฟ้า และจักรวาล

นี่คือผืนดินศักดิ์สิทธิ์ที่เราต้องการอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดไว้เพื่อชีวิต จิตวิญญาณ ธรรมชาติและสรรพสิ่ง  

ตรงไหนในดงมะไฟก็เป็นบ้าน 
ตรงลานสามแยกสู่เหมืองใหญ่ 
ตรงถ้ำตรอกซอกภูผาจันได 
ตรงไหนๆ ตรงใดใจก็ฮัก

ตรงผาฮวกถึงแม้จะแหว่งวิ่น 
เฮาฟื้นฟูธรณินทร์ให้ประจักษ์ 
มีหินปูนรูปหัวใจสีเขียวคลั่ก 
อยู่ในโถงถ้ำถักให้ฮักสา

เฮาได้หว่านพืชพันธุ์เต็มลานหิน 
ให้มันป่งแทรกดินออกมา
เปรียบดั่งความมุ่งมั่นอันแกร่งกล้า 
ที่ตีฝ่าทุกเสี้ยนหนามของความกลัว

ตรงเขาเหล่าใหญ่ในดงฝัน 
ตรงนั้นเป็นบ้านในเมฆสลัว 
ทุกความหวังเต็มอยู่ในหมอกมัว 
ทุกชั่วคืนวันผ่านที่บ้านเฮา

และที่นี่คือบ้านของเรา เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่พวกมันแย่งยึดที่ดินและความฝันไปจากพวกเรา บัดนี้เราทวงคืนได้ทุกอย่าง และยึดทุกสิ่งทุกอย่างของพวกมันกลับคืนมา ยึดสำนักงาน ยึดโรงซ่อม ยึดห้องน้ำ ยึดทุกอาคารและสิ่งก่อสร้างทุกสิ่งทุกอย่างหมดสิ้น ยึดกองหินทุกกองที่พวกมันระเบิดภูผาฮวกโดยผิดกฎหมาย

วันนี้เป็นวันสุดท้ายของใบอนุญาตใช้ป่าสงวนฯเพื่อกิจการโรงโม่บดย่อยหิน
จึงเป็นการยึดคืนโดยสมบูรณ์ ต่อจากการยึดคืนภูผาฮวกที่พวกมันระเบิดหินทำเหมืองเมื่อสามปีที่แล้ว

ด้วยปณิธานสามข้ออันแข็งแกร่ง มุ่งมั่น หนึ่ง-ปิดเหมืองหินและโรงโม่ สอง-ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และสาม-พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว แม้ว่าเหมืองและโรงโม่จะปิดลงแล้ว เราจึงยังก้าวต่อไป เพราะเราไม่ปรารถนาเพียงแค่เหมืองและโรงโม่ยุติลง แต่เราต้องการฟื้นฟูเพื่อถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอย-ป่านากลาง ที่เอาไปทำเหมืองและโรงโม่ นำมาเป็นพื้นที่ส่วนรวม และต้องการพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี

"เรายังไม่ได้รับความยุติธรรมให้แก่ผู้ถูกสังหาร 4 คน ทั้งๆ ที่มีหลักฐานชี้ชัดว่าใครเป็นคนทำและเป็นผู้บงการ

"บนเส้นทางนี้ เราจะส่งมอบผืนดินศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ลูกหลาน ด้วยการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้เอาไว้ นี่คือภารกิจตราบจนลมหายใจสุดท้ายที่เรามุ่งมั่น กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ประกาศ ณ หมู่บ้านผาฮวกฯ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู 10 เม.ย. 2567"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net