Skip to main content
sharethis

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพิ่งจะลงมติรับรองการคุ้มครอง "อินเตอร์เซ็กซ์" (Intersex) หรือบุคคลผู้มีลักษณะกายภาพทางเพศกำกวม ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์ในแง่ที่มันเป็นครั้งแรกที่สหประชาชาติมีข้อมติรับรองคุ้มครองเพศนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้แพทย์ทำการผ่าตัด "ซ่อมเพศ" โดยที่พวกเขาไม่ได้ยินยอม และเพื่อแก้ไขปัญหาการถูกตีตรา เหมารวม เลือกปฏิบัติ และการสร้างความเข้าใจผิดต่อผู้มีเพศสรีระหลากหลาย


ที่มา: OHCHR

เว็บไซต์ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประกาศว่ามีการรับรองข้อมติในการสนับสนุนสิทธิของบุคคลที่เป็น "อินเตอร์เซ็กซ์" (Intersex) เป็นครั้งแรก ข้อมติดังกล่าวนี้มีชื่อว่า "การแก้ไขปัญหาการกีดกัน, ความรุนแรง และการปฏิบัติที่เป็นอันตรายต่อบุคคลที่เป็นอินเตอร์เซ็กซ์"

ข้อมติของสหประชาชาติเป็นการรับรองและยอมรับการมีอยู่ของบุคคลอินเตอร์เซ็กซ์ในทุกสังคม และเป็นการเล็งเห็นถึงปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญแบบทับซ้อนในเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติในทุกด้านของชีวิตไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา, สุขภาวะ, การจ้างงาน, กีฬา และสวัสดิการสังคม รวมถึงถูกจำกัดในเรื่องความสามารถทางกฎหมาย รวมถึงการเข้าถึงการเยียวยา และการเข้าถึงความยุติธรรม

ทางสหประชาชาติยังได้ "แสดงความกังวลอย่างมาก" ต่อเรื่องการปฏิบัติที่เป็นอันตราย เช่น การที่แพทย์หรือผู้ปกครองสั่งให้ทำการผ่าตัด "ซ่อมเพศ" เปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศของเด็กหรือผู้ใหญ่ที่เป็นอินเตอร์เซ็กซ์โดยที่พวกเขาไม่ได้ยินยอมอย่างเป็นอิสระเต็มที่และไม่ได้รับการบอกกล่าวให้เข้าใจก่อน ซึ่งการผ่าตัดเหล่านี้เป็นสิ่งที่อนุโลมให้ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้และนับเป็นการผ่าตัดที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์

อินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) คือกลุ่มบุคคลเพศกำกวมในทางกายภาพ คือมีเพศสรีระตามกำเนิดที่ไม่ได้อยู่ในกล่องของ "ชาย" หรือ "หญิง" ได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะรับรู้ได้แต่กำเนิด หรือเริ่มรับรู้ได้ในช่วงเจริญวัย เช่น บุคคลที่มีอวัยวะเพศในแบบที่กำกวมระหว่างสองเพศสรีระ อย่างคนที่มีคลิตอริสใหญ่มากเป็นพิเศษโดยที่ไม่มีช่องคลอด หรือคนที่มีลักษณะอวัยวะจู๋ที่เล็กมากหรืออัณฑะเปิดแยกออกจนมีลักษณะคล้ายแคม นอกจากนี้ยังมีเรื่องของคนที่มีโครโมโซมที่ไม่ใช่แค่ XX หรือ XY และเรื่องเพศสรีระอื่นๆ เช่นฮอร์โมนเพศตามกำเนิดไม่ตรงกับอวัยวะเพศตามกำเนิดด้วย

ฮิวแมนไรท์วอทข์ระบุว่าบุคคลร้อยละ 1.7 เกิดมาโดยมีสรีระทางเพศแบบอินเตอร์เซ็กซ์ บางส่วนไม่ได้แสดงให้เห็นแต่กำเนิดแต่ปรากฏให้เห็นหลังจากนั้น หรือบางส่วนก็มีสภาวะเช่นนี้โดยที่ยังใช้ชีวิตตามปกติในสังคม

บุคคลถูกมองว่าเป็นอินเตอร์เซ็กซ์มักจะเผชิญกับการถูกจับผ่าตัดเปลี่ยนแปลงลักษณะเพศสรีระให้เป็น "ชาย" หรือ "หญิง" โดยที่พวกเขาไม่ได้ยินยอม เช่น เมื่อแพทย์เห็นเด็กที่มีอวัยวะเพศแบบเพศกำกวมก็จะพยายามผ่าตัด "ซ่อมเพศ" พวกเขาให้เข้ากับกล่องเพศกำเนิดแบบสองข้ัวตรงข้ามโดยไม่ได้รับการยินยอมจากตัวเจ้าของร่างกาย ซึ่งทางฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าเป็นการผ่าตัดที่ "ทำให้กลับคืนไม่ได้ มีความเสี่ยง และไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์"

อินเตอร์เซ็กซ์ เป็นคนละประเด็นกับ คนข้ามเพศ ขณะเดียวกันอินเตอร์เซ็กซ์บางคนก็เป็นคนข้ามเพศได้

ผู้แปลต้องขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้สับสนกันระหว่างประเด็นของอินเตอร์เซ็กซ์ กับประเด็นของคนข้ามเพศ กรณีของอินเตอร์เซ็กซ์นั้นเป็นเรื่องของเพศสรีระโดยกำเนิด ส่วนเรื่องของคนข้ามเพศนั้นเป็นเรื่องของเพศสภาพ หรือก็คือ สำนึกทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศสรีระโดยกำเนิด การขอผ่าตัดแปลงเพศของคนข้ามเพศจึงถือเป็นการขอแปลงเพศโดยความยินยอมสมัครใจของบุคคลนั้นๆ เอง ไม่นับเป็น "ซ่อมเพศ" เพราะแพทย์ไม่ได้กระทำโดยพลการโดยไม่ขอความยินยอม

ทั้งนี้ อินเตอร์เซ็กซ์บางคนยังสามารถเป็นคนข้ามเพศ ได้ด้วย ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าคนๆ หนึ่งมีสรีระทางเพศกำกวมแบบอินเตอร์เซ็กซ์ แต่ภายในจิตใจของเขามีสำนึกทางเพศเป็นหญิง เธอก็นับเป็นผู้หญิงข้ามเพศได้ และสามารถขอบริการทางการแพทย์เรื่องการแปลงเพศได้ตามความสมัครใจของเธอเอง และส่วนใหญ่แล้วกระบวนการทางการแพทย์เพื่อการข้ามเพศนั้น (เช่นการให้ฮอร์โมน หรือการผ่าตัด) มีความจำเป็นทางการแพทย์เพื่อการช่วยเหลือเรื่อง ความทุกข์ใจในเพศสภาพ (Gender Dysphoria) สำหรับคนข้ามเพศ ตรงกันข้ามกับการ "ซ่อมเพศ" โดยปราศจากความยินยอมต่ออินเตอร์เซ็กซ์ที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์

ทั้งนี้อินเตอร์เซ็กซ์ยังเป็นคนละความหมายกับ นอนไบนารี ด้วย เนื่องจากอินเตอร์เซ็กซ์ เป็นเรื่องของเพศสรีระ แต่นอนไบนารีเป็นเรื่องของสำนึกทางเพศจากจิตใจของตัวบุคคลนั้น โดยที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขามีเพศสรีระแบบใด

ตัวอย่างเรื่องราวของบุคคลอินเตอร์เซ็กซ์

ในเว็บไซต์ของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุถึงตัวอย่างของบุคคลอินเตอร์เซ็กซ์หลายคน เช่น กรณีของ โอบิโอมา จูกุวีเค ที่ถูกส่งเข้าโรงเรียนประจำสำหรับเด็กหญิงล้วนที่ไนจีเรีย แต่เธอก็บอกว่าเธอไม่แน่ใจว่าเธอเป็นเพศอะไร "ทุกคนดูเหมือนจะกังวลกับร่างกายฉันอยู่เสมอ พวกเขาเอาแต่ถามฉันอยู่เสมอว่าฉันเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย แล้วฉันก็จะตอบว่า 'ฉันไม่รู้ ฉันก็เป็นฉันเนี่ยแหละ' "

อีกกรณีหนึ่ง เป็นกรณีของ ไคสลี สรียาเนน ผู้ที่เล่าเรื่องการต้องปกปิดตัวเองในช่วงวัยรุ่นที่เขาอยู่ในฟินแลนด์ "มันเป็นความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างเต็มที่ เป็นความรู้สึกแบบไม่มีพื้นที่ เพียงเพราะคุณไม่ได้เข้ากับกรอบมุมมองแบบที่แบ่งเพศเป็นสองขั้ว"

คริสตัล เฮนดริกส์ เติบโตมาในแอฟริกาใต้โดยคิดอยู่เสมอว่าตัวเองเป็น "เด็กผู้หญิงปกติทั่วไป" จนกระทั่งเธอพบว่าเธอไม่เคยเป็นเมนส์แบบเด็กหญิงคนอื่นรอบตัวเธอเลย "ฉันคิดว่า ฉันเป็นแค่คนเดียวในโลกที่เป็นแบบนี้ ฉันรู้สึกโดดเดี่ยวที่โรงเรียนและรู้สึกเหมือนไม่ได้เป็นคนเต็มคน บางครั้งฉันก็ไม่รู้ว่าฉันจะอยู่รอดได้อย่างไร"

เมาโร คาบราล กรินสแปน ย้อนความทรงจำที่เจ็บปวดถึงตอนที่เขาไปเยือนคลินิกกุมารเวชในอาร์เจนตินาตอนอายุได้ 13 แล้วต้องเผชิญกับกระบวนการทางการแพทย์ที่สร้างแผลใจให้ "พวกเขาไม่ยอมรับว่าร่างกายของผมก็ดีอยู่แล้วในแบบของมัน มันเป็นความรุนแรงทางการแพทย์ในแบบที่ทารุณ"

ทั่วทุกมุมโลกบุคคลอินเตอร์เซ็กซ์มักจะเผชิญกับการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติ, การตีตรา, อคติ และมักจะต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิในหลายด้านตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา บุคคลทั้ง 4 คนจากตัวอย่างนี้ ได้ร่วมกับนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจำนวนมากและองค์กรอินเตอร์เซ็กซ์หลายองค์กรในการแสดงความยินดีที่ยูเอ็นมีข้อมติรับรองสิทธิของพวกเขา หลังจากที่มีการเรียกร้องและรณรงค์กันตั้งแต่ในระดับรากหญ้ามาอย่างยาวนาน

นอกจากมติล่าสุดของสหประชาชาติจะมุ่งแก้ปัญหาการผ่าตัด "ซ่อมเพศ" โดยไม่ได้รับความยินยอมแล้ว ยังมีการมุ่งแก้ปัญหาในระดับรากฐาน เช่น ปัญหาเรื่องการเหมารวม, ปัญหาเรื่องการแพร่กระจายความเข้าใจผิดหรือข้อมูลที่ไม่แม่นตรง, ปัญหาการตีตราและการถูกทำให้เป็นเรื่องต้องห้าม รวมถึงเพื่อส่งเสริมยกระดับมาตรฐานสุขภาพกายและสุขภาพจิตสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสรีระโดยกำเนิดด้วย

มอร์แดน คาร์เพนเทอร์ ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรอินเตอร์เซ็กซ์ฮิวแมนไรท์ออสเตรเลีย (IHRA) และนักชีวจริยธรรม จากวิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีมากสำหรับชุมชนอินเตอร์เซ็กซ์ แต่พวกเขาก็ยังต้องทำงานกันต่อไปอีกยาวไกล

"เพราะการที่ร่างกายของพวกเราถูกมองว่าแตกต่าง พวกเราต้องเผชิญกับการถูกตีตรา, การถูกเลือกปฏิบัติ และการกระทำที่เป็นอันตราย เช่น การแทรกแซงทางการแพทย์เพื่อทำให้ร่างกายของพวกเราดูเหมือนหรือทำงานในแบบของหญิงและชายทั่วไป พวกเรากำลังเรียกร้องสิทธิแบบเดียวกับคนอื่นๆ ทุกคน มันเป็นเรื่องของความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิในบูรณภาพทางร่างกายและอิสรภาพทางร่างกาย สิทธิที่จะเป็นอิสระจากการกระทำที่เป็นอันตราย" คาร์เพนเทอร์กล่าว


เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net