Skip to main content
sharethis

กสม.ประชุมองค์กรประชาสังคม หาทางออกเด็กไร้สัญชาติ 19 รายที่มาบวชเรียนที่ลพบุรี ถูกส่งกลับเชียงราย พร้อมเผยปัญหาสถานศึกษาชายแดนวิตกไม่กล้ารับเด็กไร้สัญชาติ กลัวซ้ำรอยกรณีไทยรัฐวิทยา 126 คนที่ถูกส่งกลับพม่า ด้านวิกฤตเด็กชายแดนทรุด เผชิญปัญหาสารพัด ยาเสพติด-เศรษฐกิจ-ครอบครัว-ขาดเอกสาร-ถูกทำร้าย

 

31 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบ รายงานวานนี้ (30 มี.ค.) ต่อกรณีความคืบหน้าเด็กไร้สัญชาติ 19 คนที่ถูกส่งกลับจาก จ.ลพบุรี ไปยัง จ.เชียงราย ระหว่างบวชเรียน ทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรง ซ้ำรอยกรณีที่หน่วยงานราชการไทยร่วมผลักดันเด็กไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร 126 คนจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา จ.อ่างทาง กลับประเทศเมียนมาเมื่อปีที่แล้ว (2566) ส่งผลให้เด็กต้องออกเรียนหนังสือกลางคัน และจนถึงขณะนี้หลายคนยังไม่สามารถหาที่เรียนได้เพราะหลายโรงเรียนต่างกลัวว่าหากรับเข้าไปเรียนแล้วจะกลายเป็นปัญหา ขณะที่หน่วยงานราชการต่างยืนยันว่าจะไม่มีการผลักดันเด็กไร้สัญชาติ 19 คนกลับเมียนมา ซึ่งกำลังเกิดสงครามภายในประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

โดยล่าสุด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้

เมื่อ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมวัดพระธาตุผาเงา อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ศยามล ไกยูรวงศ์ กสม. พร้อม สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้ทรงคุณวุฒิ กสม. และ เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย พร้อมทีมงานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้ประชุมร่วมกับภาคประชาสังคม และองค์กรเอกชนที่ทำงานคุ้มครองสิทธิเด็กในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและตะเข็บชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว ประกอบด้วย มูลนิธิบ้านครูน้ำ Drop In โครงการบ้านใกล้สะพาน มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง มูลนิธิ "Nesux mission" รวมถึงครูโรงเรียนในพื้นที่ที่ได้ดูแลเด็กไร้สัญชาติ และผู้ใหญ่บ้าน

ที่ประชุมระหว่าง กสม. และภาคประชาสังคม ณ ห้องประชุมวัดพระธาตุผาเงา อ.เชียงแสน จ.เชียงราย (ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ)

ศยามล กล่าวว่า เนื่องจากเห็นว่าเรื่องนักเรียนไร้สัญชาติ 19 คนเป็นเรื่องเร่งด่วน เกรงว่าจะถูกส่งกลับไปทางเมียนมา โดยวันนี้เป็นการรับฟังจากองค์กรเอกชน หรือมูลนิธิบ้านครูน้ำ ซึ่งพื้นที่ชายแดนที่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้าๆ ออกๆ มากน้อยอย่างไร แล้วองค์กรดำเนินการอย่างไร การจะให้ได้อักษร G อย่างไร จะดำเนินการเรื่องสถานะอย่างไร และในส่วน พม. มีกระบวนการดูแลและส่งต่ออย่างไร โดยอุปสรรคเรื่องกฎหมาย กสม.ได้ฟังจากครูและคนทำงานคุ้มครอง เพราะเราหลีกหนีสถานการณ์ไม่ได้ จึงต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

หลังจากการรับฟังจากที่ประชุม ทาง กสม.ได้ขอเอกสารเกี่ยวกับเด็กนักเรียนทั้ง 20 คน โดยเป็นเด็กไร้สัญชาติ 19 คน และคนไทย 1 คน เพื่อจะได้รวมรวมส่งต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามสอบถามสถานการณ์ของเด็กทั้งหมดเป็นรายบุคคล เป็นการทำงานร่วมกัน เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก 

สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านผู้ด้อยโอกาสและเด็ก กสม. กล่าวว่า จากการรับฟังข้อมูลทั้ง 2 วันจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ เห็นว่าทุกฝ่ายปรารถนาดีต่อเด็ก และต้องการคุ้มครองให้เด็กได้อยู่ในไทยและมีโอกาสได้เรียนหนังสือ แต่ระบบของพื้นที่ปัจจุบัน เนื่องจากขาดทรัพยากรและงบประมาณทำให้เด็กมีล้นระบบที่จะรองรับได้

สุรพงษ์ กล่าวว่า อดีตการบวชเรียนนั้น เด็กชายแดนจะได้เรียนทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นวิถีได้มีความรู้ และทั้งกรณีเด็กที่อ่างทอง และลพบุรี ไม่มีอะไรขัดต่อกฎหมาย ปัจจุบัน พระเณรของไทยน้อย จึงเป็นช่องทางที่เด็กเหล่านี้จะได้สืบทอดศาสนา และตามมติคณะรัฐมนตรี 5 ก.ค. 2548 เด็กทุกคนที่อยู่ประเทศสามารถเรียนได้ และเห็นว่าเป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุด แต่ช่วยสนับสนุน กล่อมเกลา การสอนเด็กในโรงเรียน หรือสถานศึกษาทำให้พวกเขาเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม

"เป็นเรื่องน่าเสียดาย เป็นควาเข้าใจคลาดเคลื่อน ที่มีการตรวจสอบ การผลักดัน มีการให้สึกพระเณร เมื่อเรามองว่าการบวชพระได้บุญ การไปสึกพระสึกเณรก็เสียดายกับการสืบทอดพุทธศาสนา เป็นการกดดันเด็กเหล่านี้ ที่อยู่ในระบบที่ไม่ได้ผิดกฎหมาย" สุรพงษ์ กล่าว 

(ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ)

ผู้ทรงคุณวุฒิ กสม. กล่าวว่า เมื่อเด็กได้กลับมาเชียงราย ก็ต้องได้เรียนและมีบ้านที่อบอุ่น หรือจะเป็นบ้านครูน้ำ ที่เคยดูแลเขาก็สามารถทำได้ โดยให้ผู้ที่มีความพร้อมที่จะดูแลคุ้มครองเด็ก แต่ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการขั้นตอนที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เชียงราย จะทำตามกระบวนการของเขาในการสืบหาครอบครัว การยืนยันตัวตนเด็ก และการคัดกรองตามกระบวนการ แต่จะไม่มีการผลักดันเด็กไปสู่อันตราย ซึ่งปัจจุบัน นอกจากเรื่องสิทธิเด็ก และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก แล้ว ยังมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2465 ที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถส่งคนไปเสี่ยงนอกประเทศ หรือชายแดน ซึ่งฟังสถานการณ์แล้วชายแดนแม่สาย จ.เชียงราย ก็มีความเสี่ยงที่ยังมีการสู้รบภายในประเทศ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่ได้เข้าร่วมประชุมรับปากว่าจะดูแลอย่างเต็มที่ โดยเมื่อเปิดเทอมก็จะหาที่เรียนให้ แม้เอกสารหรือกระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น 

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงอุปสรรคการทำงานของภาคประชาสังคม และเครือข่ายที่ทำงานปกป้องสิทธิเด็ก ซึ่งผลกระทบเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดกรณีที่หน่วยงานราชการผลักดันเด็ก 126 คนจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา จ.อ่างทาง กลับประเทศพม่า พร้อมทั้งดำเนินคดีกับครูและทีมงาน ปัจจุบันทำให้การเซ็นรับรองจากผู้ใหญ่บ้านเพื่อส่งเด็กไปเข้าเรียนในสถานศึกษาทำได้ยากขึ้น เพราะผู้บริหารสถานศึกษาไม่กล้าที่จะรับเด็กเข้าเรียน จนเด็กจำนวนไม่น้อยไม่สามารถหาที่เรียนได้ และไม่มีทางเลือกจึงต้องกลับไปสู่พื้นที่อันตราย 

ในที่ประชุมยังได้ระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กตามแนวตะเข็บชายแดนต้องประสบปัญหามากขึ้น โดยเด็กหลายคนมีสัญชาติไทยแต่ขาดเอกสาร เด็กไทยที่พ่อแม่ติดคุก ติดยาเสพติด มีปัญหาครอบครัว มีปัญหาเศรษฐกิจ เด็กขาดการดูแลและถูกทำร้าย เด็กไร้สัญชาติที่พ่อแม่ไม่สามารถดูแลได้ และไม่มีโรงเรียน ไม่มีสถานพยาบาล เด็กอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่แหล่งผลิตยาเสพติด เสี่ยงที่จะเป็นผู้ค้ารายใหม่หรือผู้เสพรายใหม เข้าเป็นเครือข่ายยาเสพติด ดังนั้น โรงเรียนและบ้านพักที่จะดูแลเด็กปัจจุบันในตะเข็บชายแดนจึงไม่เพียงพอ เมื่อมีสถานศึกษาหรือวัดไหนมีศักยภาพ องค์กรหรือมูลนิธิ เครือข่ายภาคประชาสังคมจึงพยายามส่งต่อเพื่อให้เด็กพ้นจากความเสี่ยงในพื้นที่ที่มีรอบด้าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net