Skip to main content
sharethis

ความคืบหน้ากรณีส่งเด็กไร้สัญชาติ 19 คน ที่มาเรียนที่ลพบุรี กลับเชียงราย อยู่ขั้นตอนขอเอกสารยืนยัน และติดตามผู้ปกครอง ด้าน กสศ. แนะไม่ควรผลักดันกลับ ทำไทยเสียภาพลักษณ์ ชี้บทเรียนจากอ่างทอง ปี'66 กรมกิจการเด็กฯ เผยมติที่ประชุมชะลอส่งกลับ พร้อมดำเนินการตามสิทธิเด็กต่อไป

 

30 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 เปิดเผยว่า ความคืบหน้ากรณีนักเรียนไร้สัญชาติ 19 คน ที่ถูกส่งกลับจาก จ.ลพบุรี มายัง จ.เชียงราย หลังจากไปบวชสามเณรและเข้าเรียนเป็นเวลา 1 ปี เบื้องต้น มีรายงานว่านักเรียนทั้งหมดถูกนำตัวไปที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงราย ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างการขอเอกสารยืนยันตัวตนและติดตามพ่อแม่และผู้ปกครอง

กสศ.การผลักดันกลับเมียนมาไม่ควรทำ เสียภาพลักษณ์  

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยได้เรียนรู้จากอดีต กรณีเด็กนักเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จังหวัดอ่างทอง จำนวน 126 ในปีที่ผ่านที่มีการส่งกลับประเทศ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดีกับนานาชาติ เด็กที่อยู่ในประเทศที่มีภาวะสงคราม การผลักดันกลับไปในที่อันตรายเป็นเรื่อง “ไม่ควรทำ” สำหรับเด็กจำนวน 19 คนถูกส่งกลับจาก จ.ลพบุรี กลับมายังต้นทางที่ จ.เชียงราย เด็กเหล่านี้ยังอยู่ในไทยไม่ถูกผลักดันกลับ โดยเป็นเด็กชาติพันธุ์ไร้สถานะ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

สมพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบทั้งกรณีอ่างทอง และลพบุรี เพราะการเดินทางเข้าพื้นที่ชั้นในจากชายแดน ต้องยอมรับว่ามีกระบวนการค้ามนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามตรวจสอบ เมื่อมีการดำเนินปกป้องด้านมนุษยธรรม อีกด้านหนึ่งก็มีเรื่องการค้ามนุษย์ เป็นสิ่งที่ต้องระวัง

ศ.สมพงษ์ กล่าวว่า สำหรับเด็กจากตะเข็บชายแดนสามารถมาเรียนในพื้นที่ชั้นในประเทศได้หรือไม่นั้น ต้องคิดทั้งในมุมสิทธิมนุษยชนและมุมของการค้ามนุษย์ที่รัฐต้องดูแล และขณะนี้ไทยมีนโยบายพื้นที่ระเบียงมนุษยธรรมที่เขตรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้านกว่า 2 พันกิโลเมตรใน 10 จังหวัด ที่เตรียมรองรับหากมีการไหลบ่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากสถานการณ์สู้รบ ในการคุ้มครองความปลอดภัย จะเป็นระเบียงที่คุ้มครองสิทธิที่เด็กควรจะได้รับ

"ระเบียงมนุษยธรรมต้องดูแลเรื่องสาธารณสุข และการศึกษาด้วย รัฐไทยต้องดูและเด็กและเยาวชนด้านการศึกษา ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มองค์กรที่จะมาดูแล เพิ่มบ้านพัก ศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเตรียมรับการไหลบ่าเข้ามา โดยทำในเชิงรุกมากขึ้น จึงต้องเพิ่มทั้งเจ้าหน้าที่ ทรัพยากร และงบประมาณ รวมทั้งต้องสังคยานากฎหมายและขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.การศึกษา 2546 กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองที่ใช้มานาน เด็กเลข 0 อักษร G ที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และดำเนินการใช้เชิงรุกด้านการทูต รักษาประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนเป็นหลัก" สมพงษ์ กล่าว

นุชนารถ บุญคง หรือครูน้ำ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านครูน้ำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์เด็ก 19 คน ได้รับการติดต่อจากพ่อแม่เด็ก 2 คน ที่ได้ยื่นเอกสารของรับตัวลูกแล้ว แต่อยู่ระหว่างการหาหลักฐานใบแจ้งเกิด ซึ่งเขาไม่มี ส่วนข้อมูลว่าเด็กทั้งหมดยังอยู่ในบ้านพักเด็กและครอบครัว จ.เชียงรายหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูล

นุชนารถ กล่าวว่า จากการทำงานดูแลเด็กมาเกือบ 30 ปี เป็นการทำงาน โดยพยายามให้เด็กออกจากพื้นที่เสี่ยง ไปอยู่ในที่ปลอดภัย และได้เรียน ซึ่งขณะนี้มีเด็กผ่านจากบ้านพักที่นี่และเรียนจบประกอบอาชีพ สร้างครอบครัวไปเป็นจำนวนมาก การทำงานกับเด็กเร่ร่อนตะเข็บชายแดนมานาน การทำงานมีข้อจำกัด รู้ว่าเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายแต่ก็ต้องช่วยตามกำลัง และส่งต่อไปในพื้นที่ที่มีกำลังดูแลเด็กได้ และก็ทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ พมจ. และบ้านเด็กและครอบครัว รวมทั้งเคยรับเด็กฯ มาช่วยดูแล 8 คน เห็นว่าการร่วมมือกันของทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์เกิดกับเด็ก

“ถ้าต้องการจะช่วยเด็กเร่ร่อน เด็กต่างด้าวตามตะเข็บชายแดน ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน ทำไมต้องครูข้างถนน เพราะเด็กๆ เหล่านี้ไม่สามารถไปเรียนโรงเรียนประจำได้ การดูแลเขาต้องเปิดรับแบบครูข้างถนน ในทุกชายขอบ ให้ภาคประชาสังคมช่วยสนับสนุน องค์กรเอกชนสร้างกระบวนการเรียนรู้ และรัฐบาลช่วยเรื่องการศึกษาข้ามพรมแดน การที่ส่งไปในพื้นที่ชั้นใน เพราะการให้เด็กเร่ร่อนในพื้นที่ก็ไม่รู้ว่าใครในพื้นที่จะเป็นเอเย่นต์ค้ามนุษย์หรือไม่” นุชนารถ กล่าว 

ครูน้ำ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้สิ่งที่กังวลคือในขั้นตอนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีการขยายผลถึงเด็กๆ คนอื่นที่เข้ามาด้วยกัน ทำให้เด็กๆ และพ่อแม่เกิดความกลัวเมื่อได้รับการติดต่อก็พยายามจะรับเด็กกลับ และจะสืบเสาะเด็กต่างด้าวตีความเป็นการค้ามนุษย์ และยังมีเด็กๆ อีกหลายคนที่อยู่ในการดูแลของนายจ้างที่พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กทะเลาะกันหนีไป ทิ้งเด็กไว้ และอีกหลายสาเหตุ 

"การทำงานของเราและเครือข่ายเหมือนเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ต้องการทำงานช่วยเด็กๆ และสามารถทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี ยึดในเรื่องประโยชน์ของเด็ก หากมีการเอาผิดก็เป็นห่วงเด็ก 80 กว่าคนที่ดูแลอยู่ และคงไม่หลงเหลือความเชื่อเรื่องสิทธิเด็กอีก ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนท่าที" ครูน้ำกล่าว

ดย.เผยที่ประชุมมีมติชะลดส่งเด็กกลับครอบครัว

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก 'กรมกิจการเด็กและเยาวชน' (ดย.) ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เผยแพร่ข่าวโดยระบุว่า ทีม พม. จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ ตม.เชียงแสน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามูลนิธิฯ ที่รับตัวเด็กไม่มีใบอนุญาตจัดตั้งเป็นสถานสงเคราะห์เอกชนตามกฎหมาย รวมถึงรับบุคคลต่างด้าวไว้ในความดูแลโดยไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ตม.เชียงแสน จึงส่งตัวเด็กเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพตามมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าว เพื่อรอการส่งกลับ ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 2567 เพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกรอบกฎหมายภายในและระหว่างประเทศอย่างเหมาะสม 

อภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา พมจ.เชียงราย บพด.เชียงราย ตม.เชียงแสน และภาคประชาสังคมด้านการคุ้มครองเด็ก ร่วมประชุมทีมสหวิชาชีพ เพื่อหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือ โดยมติที่ประชุมให้ชะลอการส่งเด็กกลับครอบครัว เพื่อสืบเสาะข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและดำเนินการด้านกฎหมาย ซึ่งมีแผนการดำเนินการโดยกรณีเด็กไทยดำเนินการติดตามครอบครัวของเด็ก ซึ่งถ้าเด็กมีผู้ปกครอง จะพิจารณาคืนเด็กให้ผู้ปกครอง และร่วมกันวางแผนด้านการศึกษา หากเด็กไม่มีผู้ปกครอง เด็กจะได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพจาก พม. และประสานให้เด็กได้เรียนต่อเช่นกัน

อภิญญา ชมภูมาศ (ที่มา: เฟซบุ๊ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน)

อภิญญา กล่าวว่า กรณีเด็กต่างชาติ หากพบว่ามีผู้ปกครองหรือญาติที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งในไทย หรือมีผู้ปกครองเดินทางไป-มาระหว่างชายแดน และประสงค์ขอรับตัวเด็กกลับไปอุปการะดูแล จะมีการประเมินความพร้อมเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะปลอดภัย รวมถึงประสานกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดให้เด็กได้เรียนหนังสือต่อในโรงเรียนประจำในพื้นที่ ทั้งนี้ หากไม่สามารถติดตามครอบครัวได้ พม.จะจัดหาสถานรองรับภาครัฐ/เอกชน ที่เหมาะสมในการดูแลและคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กกลุ่มนี้ในระยะยาว

"พม.จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในสถานการณ์โยกย้ายถิ่นฐาน โดยไม่มีการผลักดันกลับหากไม่ปลอดภัยตามหลัก Non-refoulement และดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามหลักสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชนต่อไป" อภิญญา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net