Skip to main content
sharethis

สส.สายแรงงานก้าวไกล เรียกร้องทบทวนปรับค่าจ้างให้เป็นธรรม-เท่าเทียมทั่วประเทศไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวบางพื้นที่ “สหัสวัต” กังขาตกลงอำนาจขึ้นค่าแรงอยู่ที่รัฐบาลหรือบอร์ดค่าจ้างกันแน่

29 มี.ค. 2567 ฝ่ายสื่อสารของพรรคก้าวไกลรายงานถึงการแถลงของ เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ และ สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี เขต 7 กรณีไม่เห็นด้วยต่อมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือคณะกรรมการไตรภาคี (บอร์ดค่าจ้าง) พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันในกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยให้นำร่องในบางพื้นที่ของ 10 จังหวัด โดยเกือบทั้งหมดเป็นการปรับขึ้นเฉพาะบางเขตตำบล ยกเว้นภูเก็ตที่ปรับขึ้นทั้งจังหวัด

เซียกล่าวว่า คนทำงานทุกคนต้องกินต้องใช้เหมือนๆ กัน ตนเข้าใจหัวอกของผู้ใช้แรงงานดีว่าการเพิ่มค่าตอบแทนในแต่ละวัน จะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นเห็นด้วยกับการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่พี่น้องแรงงานทุกอุตสาหกรรมและต้องเท่ากันทั่วประเทศ แต่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างเช่นนี้ โดยขอเรียกว่าเป็นการ “ปรับค่าจ้างแบบศรีธนญชัย”

เซียและ สส.ของพรรคเห็นว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้แค่อาหารหนึ่งมื้อก็มากกว่า 85 บาทแล้ว อาหาร 3 มื้อก็มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ยังไม่นับค่าเสื้อผ้า ค่าที่พักอาศัย ยารักษาโรค ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเดินทางไปทำงาน ค่าภาษีสังคม แต่กระทรวงแรงงานกลับปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเฉพาะกิจการประเภทโรงแรมและเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้นโดยอ้างเหตุผลว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และ 10 พื้นที่เป้าหมายเป็นพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง จึงเป็นพื้นที่นำร่อง

“การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่และแต่ละประเภทกิจการ เป็นการทำงานแบบศรีธนญชัย ในอนาคตจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นและจะมีส่วนทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานในพื้นที่ที่ค่าตอบแทนสูง เป็นผลให้เกิดการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ไม่กี่แห่ง และไม่เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค ราคาน้ำมัน ค่าไฟ ค่าเชื้อเพลิงทั่วประเทศ ไม่ได้แตกต่างกันเลย” เซียกล่าวและได้ตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ว่าแล้วอุตสาหกรรมประเภทอื่นและแรงงานในพื้นที่อื่นไม่มีความสำคัญหรืออย่างไร

สส.สายแรงงานของก้าวไกลได้เสอนพิจารณาทบทวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ดังนี้

1. ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นธรรมตามหลักสากล ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน โดยปรับจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปสู่การปรับเป็นอัตราค่าจ้างเพื่อชีวิต เพื่อให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

2. ด้วยเป้าหมายค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตามที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญาตอนหาเสียงเลือกตั้ง ขอเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างฯ ปรับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ดังที่ สส. พรรคก้าวไกลเคยอภิปรายในที่ประชุมสภาฯ เนื่องจากสูตรที่ใช้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

เซียวิจารณ์ว่าการปรับตามสูตรของกระทรวงแรงงานไม่มีโอกาสที่จะถึง 600 บาทในปี 2570 แน่นอน แต่ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลคือการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ควบคู่กับการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนทุกช่วงวัย ส่วนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละปี ให้เป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยประกาศของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรืออัตราเงินเฟ้อตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์

“สิ่งที่เกิดขึ้น ท่านกำลังเล่นละครตบตาผู้ใช้แรงงานหรือไม่ การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อตอน 1 มกราคม 2567 ระหว่าง 2-16 บาท ท่านนายกฯ พึงพอใจหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไร ที่นายกฯ เคยบอกให้กลับไปทบทวนก่อนจะปรับขึ้น แต่สุดท้ายท่านก็ยอมจำนน ไม่เคยพูดเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ทั้งที่นี่คือแนวนโยบายของรัฐบาลในการดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามที่เคยสัญญา” เซียกล่าว

ด้านสหัสวัต กล่าวว่าสูตรของกระทรวงแรงงานและรัฐบาลไม่ได้ต่างจากเดิมแม้จะตั้งอนุกรรมาธิการศึกษาเรื่องสูตรค่าแรงใหม่ และวันนี้ถ้าคำนวณตามสูตรไม่มีทางเป็น 400 บาท จึงสงสัยว่าได้ยึดตามสูตรจริงหรือไม่ เขาว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นเพราะเมื่อขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ก็จะอ้างว่ามีสูตรล็อกอยู่

นอกจากนี้ เวลาขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ สิ่งที่จะอ้างคือบอร์ดค่าจ้าง แต่วันนี้ที่ขึ้นได้เป็นเพราะบอร์ดค่าจ้างหรือเพราะผลงานของ รมว.แรงงาน หรือรัฐบาล เอาให้ชัดว่าการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อำนาจอยู่ที่ใครกันแน่

“วันนี้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท บอกเป็นผลงานรัฐบาล แต่พอขึ้นไม่ได้ เป็นความผิดของคณะกรรมการไตรภาคี” สหัสวัตกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net