Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทุกสังคมต่างมีประวัติศาสตร์ “ยุคมืด” (dark ages) และ “ยุคสว่าง” (the Enlightenment) ของตนเอง ยุคมืดบ่งถึงสภาวะที่สังคมถูกครอบงำด้วยความเชื่อในอำนาจสูงส่งศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ของศาสนจักรหรือชนชั้นปกครอง ไม่มีเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก เหตุผลหรือปัญญาของมนุษย์จึงทำงานไม่ได้อย่างเสรี 

เช่น โคเปอร์นิคัสทำการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบความจริงที่ขัดแย้งกับความเชื่อของศาสนจักร ก็ไม่กล้าเผยแพร่ผลงาน เมื่อกาลิเลโอนำเสนอความจริงนั้น ก็ถูกศาลศาสนา (Inquisition) ลงโทษด้วยการสั่งกักบริเวณภายในบ้านของตนตลอดชีพ เป็นต้น 

ดังนั้น ลักษณะสำคัญที่บ่งบอกความเป็นยุคมืด ก็คือการมี “นักโทษทางความคิด” (prisoner of conscience) หรือนักโทษมโนธรรมสำนึก หมายถึง เพียงแค่ใครสักคนเสนอความคิดเห็น หรือความรู้ที่ได้มาจากการใช้เหตุผลและการลงมือศึกษาค้นคว้าของตน หรือเสนอคุณค่าทางศีลธรรม, คุณค่าทางการเมืองและอื่นๆ ที่แม้จะเป็นความจริงหรือความถูกต้องมากกว่า หรือก้าวหน้ากว่า แต่ขัดแย้งกับความเชื่อของอำนาจศาสนจักรหรืออำนาจรัฐ เขาก็ถูกกระทำให้กลายเป็น “นักโทษ” ที่มีความผิดร้ายแรง ทั้งที่แท้ที่จริงแล้วเขาไม่ได้ทำ “สิ่งที่ผิด” ใดๆ เลย

ขณะที่แก่นแกนของยุคสว่าง คือการยืนยัน “เสรีภาพ” ทางความคิดเห็น มโนธรรมสำนึก การพูด การแสดงออก การมีเสรีภาพหรือการต่อสู้เพื่อให้มีเสรีภาพดังกล่าว ทำให้เกิดแสงสว่างทางความคิด ความรู้ สติปัญญาสลายความมืดที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจชนชั้นปกครอง ศาสนา และความเชื่อใดๆ ที่ไร้เหตุผล 

ถ้าแก่นแกนของยุคสว่างคือ “เสรีภาพ” แก่นแกนของยุคมืดก็คือ “อำนาจเผด็จการ” ของรัฐและศาสนจักร หรืออำนาจรูปแบบใดๆ ที่ละเมิดเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก ซึ่งเป็นอำนาจที่ทำให้มี “นักโทษทางความคิด” ที่เป็นประจักษ์พยานว่าสังคมนั้นๆ ยังอยู่ใต้อำนาจแบบยุคมืด

อย่างไรก็ตาม สังคมใดๆ จะผ่านพ้นยุคมืดได้ ก็ต่อเมื่อผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้ให้เกิดยุคสว่าง หรือผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อที่จะคิดอย่างเสรี เพื่อสร้างกฎกติกาทางสังคมและการเมืองที่เป็นธรรม เสมอภาค และเป็นประชาธิปไตย 

สังคมสยาม-ไทยมีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อจะคิดอย่างเสรี อย่างน้อยก็เริ่มมาตั้งแต่สมัย ร.5 เมื่อสามัญชนเสนอให้มีสภาเป็นปากเป็นเสียงแทนราษฎร, การเกิดกบฏ ร.ศ.130 ช่วงปี 2455, การปฏิวัติสยาม 2475 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน ซึ่ง “ปัญหาแกนกลาง” อยู่ที่ประเทศนี้จะจัดวางสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร หรือทำอย่างไรจะทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐสภา และประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบได้ เหมือนสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว 

ในความขัดแย้งทางการเมืองเกือบ 20 ปี ภายใต้ปัญหาแกนกลางดังกล่าว มีการเมืองบนท้องถนนที่อ้างปกป้องสถาบันกษัตริย์ รัฐประหารที่อ้างปกป้องสถาบันกษัตริย์ การเมืองในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอ้างปกป้องสถาบันกษัตริย์ มีกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ใช้มาตรา 112 ล่าแม่มดคนคิดต่าง มีพรรคการเมืองถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข เพียงเพราะเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมี “นักโทษทางความคิด” ที่โดนมาตรา 112 และ 116 จำนวนมาก 

ล่าสุดกรณี “ตะวัน” (ทานตะวัน ตัวตุลานนท์) และ “แฟรงค์” (ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร) บีบแตรรถยนตร์ขณะมีขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งสองถูกขังคุกระหว่างอยู่ในกระบวนการสอบสวน โดยไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัว มีประเด็นที่น่าพิจารณา คือ

1. ตะวัน-แบมเคยทำโพลถามเกี่ยวกับขบวนเสร็จมาก่อนแล้ว และเพียงแค่ทำโพลถามก็โดน 112 และ 116 แน่นอนว่าหากคิดบนหลักการของยุคสว่างที่ยืนยันเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก และหลักการ “ความเป็นคนเท่ากัน” เพียงแค่ทำโพลถามขบวนเสร็จย่อมไม่ใช่ความผิด และต้องไม่ถูกทำให้กลายเป็นนักโทษทางความคิด การโดน 112 และ 116 จึงไม่เป็นธรรม และกลายเป็นแรงผลักดันให้ตะวันและเพื่อนๆ ต่อสู้เรียกร้องให้ยกเลิก 112 ในเวลาต่อมา

2. การบีบแตรขณะมีขบวนเสด็จเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สะท้อน “คำถาม” ต่อขบวนเสร็จ และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การกีดขวางหรือขัดขวางขบวนเสด็จ หรือมีการกระทำใดๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น

3. ควรพิจารณาข้อเท็จจริงตามความเห็นของนักอนุรักษ์นิยมก้าวหน้าผู้ปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่าง “ส. ศิวรักษ์” ที่ว่าในทางวัฒนธรรมเรายกย่องสมเด็จพระเทพเป็นเจ้านายที่ควรเคารพ แต่ในทางกฎหมายสมเด็จพระเทพก็อยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนประชาชนทั่วไป การบีบแตรไม่ใช่การยุยงปลุกปั่นที่เข้าข่ายมาตรา 116 ถ้าจะมองว่าผิดก็แค่ผิดมารยาทเท่านั้นเอง ซึ่งอาจว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ไม่ใช่ขังคุก

ดังนั้น การขังคุกตะวัน-แฟรงค์ โดยศาลไม่ให้ประกันตัว และไม่รับคำแถลงการณ์ของนักวิชาการให้ปล่อยตัวทั้งสอง ขณะที่ศาลรับคำร้องคัดค้านการประกันตัวตะวัน-แฟรงค์จากอีกฝ่าย จึงเป็นการตอกย้ำ “ความเป็นยุคมืด” ของสังคมไทยที่มีนักโทษทางความคิดจากการใช้ดุลพินิจทางกฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกตามหลักสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย

คำถามสำคัญคือ กระบวนการยุติธรรมไทยจะปกป้องสถาบันกษัตริย์ให้เป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทยด้วยการสร้าง “นักโทษทางความคิด” ได้อย่างไร ในเมื่อโลกสมัยใหม่ถือว่าสถาบันใดๆ ทางสังคมและการเมือง ไม่ว่าสถาบันประมุขของรัฐ รัฐบาล ศาล และ ฯลฯ จะเป็นสถาบันที่ “น่าเคารพ” หรือเป็นที่ศรัทธาของประชาชนทุกฝ่ายได้จริง ก็ต่อเมื่อเป็นสถาบันที่เคารพและปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอำนาจอธิปไตยของประชาชนเท่านั้น

การปกป้องสถาบันกษัตริย์ หรือสถาบันใดๆ ด้วยการสร้างนักโทษทางความคิดที่เป็นสัญญะของยุคมืด มีแต่จะทำลายศรัทธาหรือสร้าง “วิกฤตศรัทธา” ต่อสถาบันนั้นๆ มากยิ่งนึ้น และสร้างความขัดแย้งแตกแยกในสังคมมากยิ่งขึ้น เพราะหนทางของการอยู่ร่วมกันระหว่างประชาชนที่มีความคิดแตกต่างหลากหลายในสังคมสมัยใหม่ มีเพียงหนทางแห่งการเคารพและปกป้องเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกตามหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเท่านั้น 

ปล่อยตะวัน-แฟรงค์ และยกเลิกประเพณีการใช้กฎหมายสร้างนักโทษทางความคิด เพื่อสลายยุคมืดในสังคมไทย ด้วยการนิรโทษกรรมคดีการเมือง 112 และคดีการเมืองอื่นๆ เพื่อสถาปนาหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นแสงสว่างสู่อนาคตที่ดีกว่า

 

ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค ไข่แมวชีส https://www.facebook.com/photo?fbid=724199253194966&set=pcb.724201189861439

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net