Skip to main content
sharethis

รมว.ดีอี ตอบกระทู้ สว. ย้ำเดินหน้าปราบมิจฉาชีพออนไลน์เด็ดขาด เร่งสร้างความปลอดภัยคนไทย พร้อมจับมือพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เร่งป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

11 มี.ค.2567 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า พลตรี โอสถ ภาวิไล สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการป้องกันและปราบปรามแก๊ง Call Center ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น สืบเนื่องปัจจุบันมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมเป็นมิจฉาชีพในรูปแบบของแก๊ง Call Center โดยใช้วิธีการแอบอ้างหลอกลวงให้โอนเงิน ซึ่งในแต่ละวันได้มีประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงไม่ต่ำกว่า 50,000 – 60,000 ราย ในบางรายยังเป็นเยาวชนนักเรียนและนักศึกษา ทำให้ผู้เสียหายหลายรายมีอาการซึมเศร้า มีความผิดปกติทางจิตใจ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ เนื่องจากต้องสูญเสียทรัพย์สินจากการถูกหลอกลวงไปเป็นจำนวนมาก จึงขอถามไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันและปราบปรามกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมเป็นมิจฉาชีพในรูปแบบของแก๊ง Call Center หรือไม่ อย่างไร และได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงภัยและวิธีการหลอกลวงที่เกิดจากกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว เพื่อให้รู้เท่าทันถึงวิธีการหลอกลวงหรือไม่ ตลอดจนรัฐบาลมีแผนที่จะประกาศกำหนดให้การป้องกันและปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพในรูปแบบของแก๊ง Call Center เป็นวาระแห่งชาติหรือไม่ อย่างไร 

ขณะที่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ชี้แจงในการตอบกระทู้การประชุมสมาชิกวุฒิสภากรณีพลตรี โอสถ สว. ได้ถามถึงการป้องกันและปราบปรามแก๊ง Call Center ดังกล่าว ว่า กระทรวงดีอี ตระหนักถึงปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชน โดยกลุ่มมิจฉาชีพ ได้มีการสร้างเรื่องหลอกลวงหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการสั่งการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย (TBA) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน กลต.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการร่วมกันร่างและออกกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหานี้ คือ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อใช้เป็นมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงและหลอกลวงออนไลน์ 

ประเสริฐ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะมีบทลงโทษผู้กระทำความผิดและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ กรณีของผู้เปิดบัญชีหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก นำไปใช้ในการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือเป็นธุระจัดหา โฆษณาให้มีการซื้อขายบัญชีเงินฝาก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งยังมีโทษสำหรับผู้ที่เป็นธุระจัดหาเพื่อให้มีการซื้อ หรือขายหมายเลขโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ กระทรวงดีอียังได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ (Anti-Online-Scam Operation Center : AOC) โทร 1441 เป็น One Stop Service ในการปราบปรามเชิงรุกและรับมือกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์  โดยศูนย์จะดำเนินงานในลักษณะ Task Force Command Center เพื่อปราบปรามเชิงรุกและรับมือกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ การหลอกลวงทางการเงินที่ทำให้ประชาชนเกิดความเสียหาย เป็นจำนวนมากและส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งมีช่องทางการให้ประชาชนสามารถรับคำปรึกษาปัญหาทางคดีได้ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชน ได้ทราบถึงวิธีการหลอกลวงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในช่องทางเว็บไซต์ของกระทรวงและช่องทางของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดียที่ อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม TikTok ทวิตเตอร์ เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักและมีภูมิคุ้มกันถึงภัยต่างๆ อยู่ตลอดเวลา 

ประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ขยายขอบเขตการทำงานให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงการไปรษณีย์ และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาในการปราบปรามแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์  ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะทำงานนี้ มีปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน ล่าสุดได้มีการหารือการแก้ไขปัญหาในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 (The 4th ASEAN Digital Ministers’ Meeting: The 4th ADGMIN) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และจะมีการหารือกันอีกครั้ง ระหว่างเดือนมีนาคมร่วมกับคณะทำงานฝ่ายกัมพูชา ในการประชุมผู้นำเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัลและผู้นำสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน ครั้งที่ 1 ณ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นการสานต่อความร่วมมือด้านดิจิทัลในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการจัดการภัยออนไลน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam ซึ่งเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติระดับโลก และประเทศไทยมีบทบาทสำคัญ ในการยกระดับความร่วมมือและการดำเนินงานของอาเซียนในการจัดการและรับมือกับปัญหา การหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net