Skip to main content
sharethis
  • ภาคประชาสังคม จัดงาน "ไทยกับเก้าอี้คณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มุมมองจากสถานการณ์การคุ้มครองแรงงานและประชากรข้ามชาติ" พร้อมส่งข้อเสนอถึงรัฐบาลไทย
  • การปาฐกถาจาก 'วิทิต มันตาภรณ์' ฉายภาพรวมปัญหาด้านการคุ้มครองสิทธิ แรงงานข้ามชาติ แรงงานไทย ผู้ลี้ภัย และคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และข้อเสนอถึงรัฐไทยจากมุมมองนักนิติศาสตร์
  • ภาคประชาสังคมอ่านแถลงการณ์ข้อเสนอถึงรัฐไทย หนุนทางการให้สัตยาบัน ILO 87 และ 98 เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มสามารถตั้งสหภาพฯ และรวมตัวต่อรองกับนายจ้าง พัฒนาระบบคัดกรองแห่งชาติ และมีแผนรับมือสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา 

 

1 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (1 มี.ค.) ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย หรือ FCCT กรุงเทพฯ เครือข่ายองค์การด้านประชากรข้ามชาติ (MGW) องค์กรด้านแรงงาน "The Solidarity Center" มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ร่วมด้วยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ไทยแลนด์ ร่วมจัดงาน "ไทยกับเก้าอี้คณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มุมมองจากสถานการณ์การคุ้มครองแรงงานและประชากรข้ามชาติ"

กำหนดการภายในงานจะมีการปาญกฐาหัวข้อ "ไทยและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อเจนด้าภาคสอง ?" โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานเสวนาหัวข้อ "สถานการณ์การคุ้มครองแรงงานและผู้อพยพ เมื่อไทยประกาศลงชิงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ" และการอ่านแถลงการณ์ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บทบาทหน้าที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

เพ็ญพิชชา จรรย์โกมล จากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา พิธีกร ระบุว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 23 ส.ค. 2566 เริ่มมีการรับสมัครสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะมีวาระตั้งแต่ พ.ศ. 2568-2569 จะมีการเลือกตั้งในเดือน ต.ค. 2567 สำหรับบทบาทของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ มีบทบาทสอดส่องตรวจตราการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก และหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงการสร้างบรรทัดฐานส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน

ก่อนหน้านี้ ประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2553 จนถึง 2556 แต่ปี 2556-2560 ประเทศไทยมีการสมัครไว้แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งในคณะมนตรีชุดนี้ และร่วม 10 ปีที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกคณะมนตรีชุดนี้ การลงสมัครเลือกตั้งคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนของไทย แสดงให้เห็นเจตจำนงของไทยที่ต้องการพัฒนาสิทธิมนุษยชน แต่ในด้านสิทธิแรงงาน ผู้ลี้ภัย บุคคลไร้รัฐ และแรงงานข้ามชาติ ประเทศไทยพร้อมเข้าเป็นสมาชิกหรือยัง สามารถร่วมหาคำตอบได้ในงานนี้ 

เวลา 17.45 น. ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ไทยและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อเจนด้าภาคสอง?"

วิทิต กล่าวปาฐกถาระบุว่า ก่อนหน้านี้ เขาเคยเรียกร้องให้ทางการไทยไม่มีการดำเนินคดีอาญากับเยาวชนที่แสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ 280 ราย หรือหากต้องใช้กฎหมาย ขอให้ใช้กฎหมายอื่นๆ ที่ไม่ใช่กฎหมายอาญา 

วิทิต มันตาภรณ์

ไทยและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อเจนด้าภาค 2

วิทิต ระบุว่า เขาจะขอแบ่งหัวข้อการพูดด้านการคุ้มครองสิทธิออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มผู้ลี้ภัย 2. ผู้ไร้รัฐไร้สัญชาติ 3. แรงงานไทย และ 4. แรงงานข้ามชาติ และแต่ละกลุ่มจะมีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนเพื่อปูพื้น ประกอบด้วย กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายและการปฏิบัติในไทย และอุปสรรคและการแก้ไขเพื่ออนาคต

วิทิต กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่ 1 การคุ้มครองสิทธิผู้อพยพลี้ภัย หรือผู้ที่หลบหนีภัยในการประหัตประหาร หรือภัยสงครามเข้ามา เมื่อมองใน 3 หัวข้อ คือ กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายการปฏิบัติในประเทศ และอุปสรรคนั้น ต้องบอกว่าไทยไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ไทยเป็นภาคีอนุสัญญา 7 ฉบับ ใช้เพื่อคุ้มครองผู้อพยพลี้ภัยได้บ้าง เช่น มาตรา 13 อนุสัญญาว่าด้วยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กำหนดว่าห้ามส่งคนต่างด้าวออกจากประเทศพลการ รวมถึงผู้อพยพลี้ภัย 

นอกจากนี้ ประเทศไทยเคยให้คำมั่นสัญญาช่วงสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 8 ข้อ หนึ่งในนั้นคือการพยายามกลั่นกรองและพัฒนากระบวนการคัดกรองผู้ลี้ภัย (NSM) เพื่อให้เขาอยู่ต่อได้ ถ้าเขาผ่านกระบวนการ 

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ระบุว่า เมื่อมาถึงกระบวนการภายในประเทศ สิ่งที่มากระทบมากที่สุด คือการใช้กฎหมายคนเข้าเมืองกับผู้อพยพที่เข้ามา ซึ่งบางครั้งยืดหยุ่นให้เข้ามาได้ แต่บางครั้งก็ไม่ กฎหมายคนเข้าเมืองมีปัญหาทั่วโลก เนื่องจากกฎหมายนี้สันนิษฐานว่า ผู้ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นผู้ที่รัฐต้นทางปกป้องไว้ก่อน และเมื่อถูกจับจะถูกส่งกลับ แต่กฎหมายนี้มีปัญหาเมื่อถูกบังคับใช้กับผู้อพยพลี้ภัยที่รัฐต้นทางไม่ได้ปกป้อง ซึ่งต้องมาทบทวนว่าจะทำยังไง

วิทิต มองว่า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นคือการมี พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน และบังคับสูญหาย โดยมาตรา 83 กำหนดว่า ห้ามส่งใครก็ตามกลับประเทศต้นทางที่อาจจะเป็นภัยต่อชีวิตของเขา ซึ่งอันนี้ต้องบังคับใช้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กฎหมายอื่นๆ มีหลายส่วนที่ขจัดการเลือกปฏิบัติเช่นกฎหมายการศึกษา ซึ่งเปิดให้กับเด็กอพยพลี้ภัย ถึงแม้ว่าหลวมไปหน่อยในทางปฏิบัติ

ชงข้อเสนอช่วยผู้ลี้ภัย 4 กลุ่ม 

สำหรับข้อเสนอ วิทิต แบ่งกลุ่มผู้ลี้ภัยออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มผู้ลี้ภัยเดิม 9 หมื่นคน ที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา เขาขอชื่นชมว่า ประเทศไทยทำงานได้ดีพอสมควร แต่ขอให้ดีขึ้นอีก ให้ผู้ลี้ภัยเดิมได้เรียนอย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา เอกสารต้องชัดและรับรองเอกสารในการศึกษาด้วย 

วิทิต เสนอให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้สามารถทำงานได้ ทำให้เขาต้องแอบทำงาน และเรียกร้องให้เขามีโอกาสได้ทำงาน เพราะตอนนี้เราขาดแรงงาน เขาอยู่เฉยๆ มา 30 ปีแล้ว และคนที่ได้ผลประโยชน์จริงๆ คือคนในชุดยูนิฟอร์ม

2. ผู้ลี้ภัยจากการหนีภัยสงคราม การทิ้งระเบิดโดยเครื่องบินรบของกองทัพพม่า หลังจากรัฐประหารเมื่อปี 2564 ตามชายแดน วิทิต มีข้อเสนอ 3 อย่าง ให้เขาเข้ามาชั่วคราวอย่างน้อย 2. ไม่ผลักดันกลับ และ 3. ต้องเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน เช่น เรื่องข้าว น้ำ และการสาธารณสุข เป็นต้น

3. กลุ่มผู้ลี้ภัยกัมพูชา วิทิต เสนอว่า ไม่ผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย สามารถอาศัยในประเทศไทยชั่วคราว และต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน และวิทิต ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ที่รัฐบาลไทยเคยผลักดันกลับไปประเทศต้นทาง ตอนนี้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ 

4. ผู้ลี้ภัยเมืองซึ่งมีหลายสัญชาติ กลุ่มนี้อยู่ได้ชั่วคราวในทางปฏิบัติ และตอนนี้ประเทศไทยกำลังบังคับใช้กฎหมายคัดกรองแห่งชาติ หรือ NSM ให้เป็นผู้ที่ได้รับการคุ้มครอง และเกณฑ์ล่าสุดคือ ห้ามแรงงานข้ามชาติเข้ากระบวนการนี้ ต้องเป็นคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นเท่านั้น ดังนั้น วิทิต ระบุว่าอยากให้บังคับใช้อย่างเร่งด่วน และอยากให้มีการทำงานประสานงานร่วมกันกับ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR 

ให้สัญชาติ ผู้ไร้รัฐ และบุคคลไร้สัญชาติ ที่เกิดในไทย 

อาจารย์จากคณะนิติฯ จุฬาฯ ระบุว่า สนธิสัญญาเกี่ยวกับคนไร้รัฐ และไร้สัญชาติ มี 2 ฉบับ คือเมื่อปี 1954 และ 1961 ไทยไม่ได้เป็นภาคี และภายใต้สนธิสัญญานี้ใครที่ไร้สัญชาติไร้รัฐ จะต้องได้สัญชาติของรัฐที่เขาเกิด แต่ไทยไม่ได้เป็นภาคี อย่างไรก็ดี ไทยเป็นภาคีในอนุสัญญา 7 ฉบับจาก 9 ฉบับ ซึ่งช่วยในเรื่องการศึกษาอย่างไม่เลือกปฏิบัติ แต่ประเด็นปัญหาคือ ไทยมีกฎหมายเยอะเหลือเกิน เช่น กฎหมายสัญชาติ กฎหมายคนเข้าเมือง และอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องแต่มีแนวโน้มที่ดี มีแคมเปญรณรงค์ให้สัญชาติ ซึ่ง 3 ปีก่อน มีสถิติล่าสุดคือประมาณ 5 แสนคนในไทยไม่มีสัญชาติ

ข้อเสนอคือ 1. เด็กที่เกิดในไทยที่ไม่มีสัญชาติ ง่ายที่สุดคือให้สัญชาติไทย 2. กลุ่มที่ไม่ได้เกิดในไทย แต่ไร้สัญชาติ ให้สถานะ ‘residency’ เพื่อให้เขาทำงานได้ และอย่าใช้กฎหมายคนเข้าเมือง 3. สภาผู้แทนราษฎร เพิ่งรับหลักการกฎหมายเรื่องสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ที่ตกหล่นจะต้องได้สัญชาติไทย และนอกจากนั้น สภาฯ จะเป็นปากเสียงและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อพวกเขาได้

กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ต้องช่วยแรงงานนอกระบบ และแรงงานแพลตฟอร์ม

วิทิต ระบุว่า เราเป็นภาคีอนุสัญญาแรงงาน 20 ฉบับ จาก 190 ฉบับ ขององค์การแรงงานสากล หรือ ILO และใน 190 ฉบับ จะมี 8 ฉบับ จะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่เราเป็นภาคี 6 จาก 8 ฉบับ ใน 8 ฉบับ มีห้ามบังคับใช้แรงงาน ต้องยกเลิกบังคับใช้แรงงาน ห้ามเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ปกป้องคุ้มครองแรงงานเด็ก ป้องกันเอาเด็กมาเหยื่อโสเภณี และอื่นๆ 

วิทิต ระบุต่อว่า ที่ไม่เป็นภาคี ซึ่งจะได้ยินอีกเรื่อง freedom association หรือการสมาคม ตั้งสหภาพแรงงาน และการร่วมเจรจา นี่คือสนธิสัญญาฉบับ 87 และ 98

อาจารย์คณะนิติฯ ระบุว่า ข้อเสนอคือกฎหมายคุ้มครองแรงงานต้องครอบคลุมกลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบ หรือ informal economy ควรต้องมาอยู่ในกรอบการคุ้มครอง อย่างแรงงานภาคการเกษตร หรือแรงงานยุคใหม่คือแรงงานแพลตฟอร์ม ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีสิทธิการรวมกลุ่ม 

ต้องคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานบนดินหรือใต้ดิน

วิทิต ระบุว่า ไทยเป็นภาคี 6 ฉบับจาก 8 ฉบับตามที่กล่าวข้างต้น แต่เมื่อพูดถึงสนธิสัญญาระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ เราไม่ได้เป็นภาคี อย่างไรก็ดี ไทยร่วมกับ Global Compact on Migration และที่สำคัญ ไทยมีข้อตกลงร่วมกับ MOU ในประเทศข้างเคียง ซึ่งเป็นการเช็กการเข้า-ออกของแรงงานข้ามชาติจากประเทศข้างเคียงทั้งหลาย ซึ่งอยากให้มันคล่องมากขึ้น ลดกระดาษ และกระบวนการราชการ ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ยากมากยิ่งขึ้น

อาจารย์จุฬาฯ ระบุต่อมาว่า แรงงานถูกกฎหมาย และแรงงานผิดกฎหมาย ต้องได้รับการคุ้มครองปกป้องจากการเอารัดเอาเปรียบเขา อย่าใช้กฎหมายเรื่องการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตามต้องปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ทำร้ายเขาไม่ได้ เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ไม่ได้ และต้องจ่ายค่าแรงเทียบเท่ากัน ไม่เกี่ยวกับผิดหรือถูกกฎหมาย 

วิทิต อยากเสนอให้ MOU คล่องตัวมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในยุคที่เรา ตลาดของเราต้องการแรงงานมากในอนาคต 

สุดท้าย วิทิต เสนอว่า มาตรฐานสากลโดยเฉพาะสนธิสัญญาสากลเป็นสิ่งที่สำคัญ และคำมั่นสัญญาที่ไทยน่าจะให้คือ การเป็นภาคีมากยิ่งขึ้น ซึ่งมันจะได้ชัดขึ้นเรื่องมาตรฐาน และมีการมอนิเตอร์เรื่องความโปร่งใส 2. การบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ดี และกฎหมายที่มันแย่ อย่าบังคับใช้นัก กฎหมายอาญาอื่นๆ และกฎหมายคนเข้าเมือง 3. ต้องมีการร่วมมือระหว่างกระทรวงทั่งหลาย 4. การร่วมมือกับ NGO และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ 5. การมีส่วนร่วมของผู้อพยพลี้ภัย คนไร้สัญชาติ แรงงาน และแรงงานข้ามชาติ ไทยต้องมองว่าเขามีสิทธิต่างๆ ไม่ใช่ถูกมองเป็นวัตถุ และถูกเอารัดเอาเปรียบ 

MGW อ่านแถลงการณ์ข้อเสนอแนะถึงรัฐไทย

เมื่อเวลา 19.50 น. อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน องค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ Migrant Working Group - MGW อ่านแถลงการณ์ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลไทย 4 ประการ 

อดิศร เกิดมงคล

รายละเอียดแถลงการณ์ 

แถลงท่าทีและข้อเสนอแนะของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติต่อรัฐบาลไทยก่อนการเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

1 มีนาคม 2567

ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 รับทราบการลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของประเทศไทย (United Nations Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 (พ.ศ. 2568-2670) ซึ่งมีกำหนดเลือกตั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2567 โดยในกระบวนการสมัครนั้นตามข้อมติสหประชาชาติที่ 60/251 ไทยจัดทำเอกสาร คำมั่นโดยสมัครใจที่จะดำเนินการให้เกิดความก้าวหน้าในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ

คำมั่นโดยสมัครใจของไทยจำนวน 10 ข้อ พบว่าเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน อยู่หลายกรณี เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ในการเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน คือ อนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว (International Convention on the Protection of the Rights of All Migrant Workers and Members of Their Families : ICRMW) การพัฒนาแก้ไข กฎหมาย หรือนโยบายให้มีความสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี การปฏิบัติตามข้อแนะนำของ สมาชิกองค์การสหประชาชาติในกระบวนการจัดทำรายงานตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ตามกระบวนการพิเศษ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ และกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review : UPR) การ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการส่งเสริมแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในระยะที่ 2 ทั้งนี้ สถานการณ์ด้านการคุ้มครองแรงงานในประเทศไทย ยังมีความท้าทายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติและครอบครัว อาทิ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของไทยในปัจจุบันยังคงปิดกั้นเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการสมาคม โดยไม่อนุญาตให้แรงงานข้าม ชาติมีเสรีภาพในการรวมกลุ่ม อันไม่สอดคล้องต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม. (International Convent on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR) ที่ไทยเป็นรัฐภาคี ความพยายามในการ แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมง ซึ่งมีแนวโน้มว่าแรงงานประมงจะเผชิญกับความเสี่ยงของการเป็นแรงงานบังคับมากขึ้น การให้มีเด็กเข้าสู่กระบวนการทำงานในอุตสาหกรรมที่มีอันตราย เช่นในอุตสาหกรรมประมง การเลือกปฏิบัติด้านการเข้าถึงด้าน สิทธิประโยชน์ทางสังคมของกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านและภาคเกษตร และความไม่ชัดเจนด้านการคุ้มครองผู้แสวงหาที่ลี้ภัย โดย เฉพาะที่ประเทศเพื่อนบ้านเกิดความไม่สงบทางการเมืองทำให้มีนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ได้รับผลกระทบทางการขัดแย้งต้อง หนีเข้ามายังชายแดนไทยและมีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมืองและการบังคับส่งกลับโดยไม่สมัครใจ อันขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านกาทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ไทยเป็นรัฐภาคี ดังนั้นแนวทางการบริหารจัดการและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยในภาวะสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศพม่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นเครื่องชี้วัดความความตั้งใจในการจะปกป้องคุ้มครองและการยึดมั่นต่อหลักสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และความเชื่อมั่นของประชาคมโลกต่อการที่ประเทศไทยจะมีความเหมาะสมเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และภาคีภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการพัฒนามาตรการในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยดังนี้

  1. พิจารณารับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย ได้แก่ การให้การรับรองอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว, อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย, อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกัน และเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนากฎหมายภายในประเทศให้รองรับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย
  2. ดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่มียุทธศาสตร์การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ การมีแผนรองรับผลกระทบสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า
  3. พิจารณาดำเนินการทบทวนกลไกการคัดกรองบุคคลที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ ซึ่งยังพบปัญหาการต้องให้ผู้ลี้ภัยที่ต้องการได้รับการคุ้มครองจากประเทศไทยต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมืองก่อน ซึ่งถือว่าทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำซ้อน รวมถึงการพิจารณาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อบริหารจัดการและกำหนดสถานะให้แก่ผู้ลี้ภัยและแสวงหาผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ
  4. จัดทำกลไกการคัดกรองก่อนการผลักดันส่งกลับผู้อพยพที่อาจจะมีความเสี่ยงต่ออันตรายต่อชีวิตและภัยการประหัตหาร เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการผลักดันส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพไปเผชิญภัยอันตรายต่อตนเอง 

ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันและสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลกว่า ประเทศไทยมีความจริงใจและยืนยันในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกกลุ่ม และเป็นหลักประกันสำหรับแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และประชาชนไทย ว่าจะได้รับการคุ้มครองและดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน และเพื่อให้ประเทศไทยได้ยืนอยู่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net