Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน จับมือไลน์แมนเสริมทักษะไรเดอร์ซ่อมรถจักรยานยนต์ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลและนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงใยแรงงานที่ประกอบอาชีพรับส่งอาหาร ที่แต่ละวันมีรายได้ไม่แน่นอน ดังนั้นเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน เช่น ค่าซ่อมแซมยานพาหนะ อีกทั้ง เพื่อให้ความรู้ไปหารายได้ให้มากขึ้น จึงมอบหมายให้กรมจัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานส่งอาหารให้มีความรู้ด้านการซ่อมรถจักรยานยนต์ ในระยะแรกมุ่งหวังให้ไรเดอร์ตรวจเช็คและซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์ของตัวเองได้เบื้องต้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุง รวมถึงยืดอายุการใช้งานของรถจักรยานยนต์ได้ยาวนานขึ้น สำหรับคนที่มีทักษะสูงขึ้นไปอีกระดับ ซ่อมแซมได้เองโดยไม่ต้องเสียเงินจ้างช่างซ่อมรถ เป็นต้น

นางสาวบุปผา กล่าวว่า การดำเนินงานครั้งนี้ได้ร่วมกับบริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด วางแผนจัดฝึกอบรม หลักสูตรการบำรุงรักษารถจักรยานยนต์เบื้องต้น ให้แก่พนักงานจัดส่งอาหารและจัดส่งพัสดุหรือไรเดอร์ จำนวน 200 คน นำร่องในพื้นที่ 10 จังหวัด

จังหวัดแรกจัดอบรมไปแล้วเมื่อ 19 ม.ค. ที่ผ่านมาที่ จ.เชียงราย

ครั้งที่ 2 วันที่ 22 ก.พ. ที่ขอนแก่น

ครั้งที่ 3 วันที่ 21 มี.ค. ที่ฉะเชิงเทรา

ครั้งที่ 4 วันที่ 22 มี.ค. ที่ชลบุรี

ครั้งที่ 5 วันที่ 23 เม.ย. ที่พระนครศรีอยุธยา

ครั้งที่ 6 วันที่ 14 พ.ค. ที่นครปฐม

ครั้งที่ 7 วันที่ 18 มิ.ย. 2567 ที่อุดรธานี

ครั้งที่ 8 วันที่ 19 มิ.ย. 2567 ที่สกลนคร

ครั้งที่ 9 จัดวันที่ 9 ก.ค. 2567 ที่กระบี่

และครั้งที่ 10 วันที่ 16 ส.ค. ที่ภูเก็ต

โดยใช้สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นสถานที่ฝึกอบรม

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28/1/2567

เบิกค่า sleep test ผ่าน 'ประกันสังคม' ได้แล้ว ไม่เกิน 7,000 บาท

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ประกาศหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2567 กรณี แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทน รักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วย "โรคหยุดหายใจขณะหลับ" และมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous Positive Airway Pressure : CPAP)

โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าว คือ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม สามารถเบิกค่าตรวจนอนหลับ (sleep test) ค่าอุปกรณ์ และอุปกรณ์เสริมได้แล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

2. ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้ (ช) ใน (2) ของข้อ 5 หมวด 1 แห่งประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่องหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 3 เม.ย. พ.ศ. 2556

สำหรับ (ช) การตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ มีดังนี้

- ค่าตรวจนอนหลับ (Polysomnography) ชนิดที่ 1 (มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจทั้งคืน) จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,000 บาท

- ค่าตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) ชนิดที่ 2 (การตรวจวัดเหมือนการตรวจชนิดที่ 1 เว้นแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจ) จ่ายในอัตราเท่าที่จริงไม่เกิน 6,000 บาท

- ค่าอุปกรณ์เครื่อง CPAP และอุปกรณ์เสริมสำหรับการรักษาในอัตราที่สำนักงานกำหนด ดังนี้ 1) เครื่อง CPAP ราคาชุดละ 20,000 บาท และ 2) หน้ากากครอบจมูก หรือปากที่ใช้กับเครื่อง CPAP ราคาชิ้นละ 4,000 บาท

3. กรณีสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน ส่งตัวผู้ประกันตนไปรักษายังสถานพยาบาลอื่น โดยผู้ประกันตนได้รับการตรวจวินิจฉัย และอนุมัติเบิกใช้เครื่อง CPAP ให้สถานพยาบาลที่กำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์ สำหรับผู้ประกันตนจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ พร้อมค่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้แก่สถานพยาบาลที่ทำการรักษา โดยสามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ พร้อมค่าอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ตามหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการที่สำนักงานกำหนดตาม ข้อ 2

อนึ่ง ค่าอุปกรณ์เสริม รายการแผ่นกรองอากาศ (Filter) กระดาษ และแผ่นกรองอากาศฟองน้ำ ให้รวมอยู่ในค่าบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากกรมการแพทย์ อธิบายว่า การตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test เป็นการตรวจบันทึกลักษณะทางสรีรวิทยาหลายสัญญาณในขณะหลับ ซึ่งจะต้องใช้เวลาหนึ่งคืนในการตรวจ โดยให้ผู้ป่วยนอนหลับเหมือนปกติในทุกๆ วัน จากนั้นแพทย์จะวินิจฉัยโรคจากการหลับ เช่น โรคการหายใจผิดปกติขณะหลับ โรคนอนละเมอ ภาวะง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน เป็นต้น เพื่อประเมินระดับความรุนแรง การวินิจฉัยแยกโรคจากสาเหตุอื่น ชี้แนะแนวทางการรักษา ตลอดจนติดตามผลการรักษา เพื่อการวินิจฉัยและรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ

หากตรวจแล้วพบว่าคนไข้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea, OSA) แพทย์จะพิจารณารักษาตามระดับความรุนแรงของโรคและโรคร่วม โดยมี วิธีการรักษา OSA หลักๆ ดังนี้

1. การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (continuous positive airway pressure, CPAP) ถือเป็นมาตรฐานในการรักษา

2. การใส่ทันตอุปกรณ์ (oral appliance) โดยทันตแพทย์จะทำการประดิษฐ์ให้เหมาะสมสำหรับคนไข้ในแต่ละราย หลักการทำโดยดึงกรามล่างและลิ้นมาข้างหน้า เพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง หายใจสะดวกขึ้น

3. การผ่าตัดในคนไข้ที่มีปัญหาโครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนต้นผิดปกติ ทั้งนี้ จะมีการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก เพื่อประเมินก่อนว่าผู้ป่วยมีความเหมาะสมที่จะผ่าตัดหรือไม่ อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการนอนหลับสามารถส่งผลต่อสุขภาพทางร่างกาย จิตใจ และเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ หากพบว่า มีอาการนอนกรนดังผิดปกติ หยุดหายใจ อาการง่วงนอนในเวลากลางวันมากผิดปกติทั้งที่นอนหลับเพียงพอแล้ว แนะนำให้มาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น เข้ารับคำปรึกษาจาก "สถาบันโรคทรวงอก" ที่มีให้บริการปรึกษาโรคจากการนอนหลับทุกวัน (เวลาทำการ 08.30 - 16.30 น. นอกเวลาทำการ 16.30 - 19.00 น.) หรือสามารถโทรสอบถามเพิ่มเติม 02-547-0999 ต่อ 30512

ที่มา: ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม, 27/1/2567

สำนักข่าวอิศราเผยโมโน กรุ๊ป แจ้งปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เตรียมเลิกจ้างพนักงานกว่า 80-90 คน

สำนักข่าวอิศรา อ้างถึงแหล่งข่าวในแวดวงสื่อมวลชน ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ โมโน กรุ๊ป เจ้าของช่องทีวีดิจิทัล 29 หรือ MONO 29 (โมโน ทเวนตี้ไนน์) ได้แจ้งพนักงานให้รับทราบถึงการปรับโครงสร้างการบริหารงานองค์กรใหม่ ทำให้ต้องมีการบอกเลิกจ้างพนักงานฝ่ายต่างๆ รวมถึงฝ่ายสื่อ จำนวนกว่า 80-90 คน

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการบอกเลิกจ้างพนักงานไปแล้ว จำนวน 40 คน และในช่วงกลางสัปดาห์นี้ มีการบอกเลิกจ้างพนักงานเพิ่มได้อีก 40 คน ซึ่งการบอกเลิกจ้างพนักงานดังกล่าว มีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย บวกค่าตกใจจากการไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าด้วย

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 26/1/2567

เผยเอกชน “อิตาลี” สนใจโครงการแลนด์บริดจ์ และต้องการแรงงานเกษตรจากไทย เล็งยกคณะเยือนในอนาคตอันใกล้

นายเปาโล ดีโอนีซี (H.E. Mr. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่

โอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ กล่าวว่า อิตาลีถือเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมการเกษตรในยุโรป และ เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ใหญ่ในยุโรป กำลังต้องการแรงงานเกษตรกรอย่างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรไทย ที่เห็นว่าเป็นแรงงานที่มีทักษะ และ ขยันตั้งใจ (hard worker)

และ อิตาลี ยังให้ความสนใจลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) อย่างมาก ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาเอกอัครราชทูตฯ ได้เป็นผู้นำคณะผู้แทน EEC ของไทยไปยังกรุงโรม และ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทางอิตาลี และ ภาคเอกชนอิตาลีให้ความสนใจ พร้อมต้องการข้อมูลโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ด้วย

ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ยินดีและพร้อมร่วมมือกับอิตาลี โดยความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย และ จะเร่งประสานส่งข้อมูลโครงการแลนด์บริดจ์ และ ข้อมูลด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้ง ขอการสนับสนุนจากอิตาลี เรื่องการขอยกเว้นการตรวจลงตราให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยในการเดินทางเข้าเขตเชงเกน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการไปมาหาสู่ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี หวังที่จะได้นำคณะไปเยือนอิตาลีในอนาคตอันใกล้ เพื่อเดินหน้าความร่วมมือ รวมถึงด้านการค้าและการลงทุนให้ใกล้ชิดและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ที่มา: ข่าวช่อง 7HD, 26/1/2567

เด็กรุ่นใหม่มอง 10 อาชีพเด่น-ฝันแต่อยากเห็นรัฐสนับสนุนมากกว่านี้

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจกล่าวถึง “10 อาชีพเด่น อาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่ และสถานภาพของเด็ก Gen Z ปี 2567” โดยอาชีพเด่น อันดับ 1. วิศวกรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 2. แพทย์ด้านศัลยกรรม ด้านผิวหนัง 3. นักกายภาพบำบัด-นักจิตวิทยา 4. นักวิเคราะห์ข้อมูลด้านดิจิทัลต่างๆ 5. ผู้เชี่ยวชาญอีคอมเมิร์ซหรือผู้ค้าออนไลน์ ดารานักแสดง นักร้อง  6.นักการตลาดออนไลน์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ 7.นักวิเคราะห์การเงิน 8.ผู้ประกอบการธุรกิจส่วนตัว 9. ที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความ 10. หมอดู

นอกจากนี้ ขณะที่อาชีพในฝันนั้น ซึ่งเด็กยังมีความต้องการคือ 1. ครู อาจารย์ ติวเตอร์ 2. ประกอบธุรกิจส่วนตัว 3. หมอ แพทย์ พยาบาล 4.อินฟลูเอนเซอร์ สตรีมเมอร์ ยูทูบเบอร์5.นะกออกแบบกราฟิก 6. ทนายความ 7.งานด้านต่างประเทศ 8.ศิลปินและนักตัดต่อ 9.นักบินแอร์โฮสเตส และ 10.ข้าราชการ เช่น ทหาร ตำรวจ ข้าราชการทั่วไปเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งอาชีพเด่นและอาชีพในฝันที่เด็กรุ่นใหม่ยังมีความต้องการ คือ อยากให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทสำคัญได้แก่ การส่งเสริมการศึกษาของเด็กไทยให้เทียบเท่าหรือแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะปรับปรุงและพัฒนาระบบการเรียนการสอนของไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ส่งเสริมการเรียนภาษาต่างประเทศยกระดับทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนของเด็กไทยและอื่นๆควบคู่กันไปทั้งการจัดกิจกรรมหรืออีเว้นท์พร้อมทั้งสนับสนุนการศึกษาให้กับผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ยากจน

นอกจากนี้ ที่สิ่งหนึ่งที่มีความเป็นห่วงเด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะพฤติกรรมการออมเงินและการใช้จ่าย โดยเด็กรุ่นใหม่กว่า 30.3% มีการออมเงิน แต่ 65.0 % ไม่มีทั้งการออมเงินและการลงทุน โดยจะเป็นการขอเงินจากผู้ปกครอง ยืมเงินเพื่อนหรือคนที่รู้จัก ได้จากการทำงานพิเศษ กู้ยืมเงินในระบบหรือนอกระบบ ขายสินทรัพย์ส่วนตัว ดังนั้น สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลมนับสนุน คือ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และให้นักษามีงานทำระหว่างเรียน ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้นและอื่นๆเป็นต้น

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 25/1/2567

"สุชาติ" ฟ้องอดีตอธิบดี DSI กลั่นแกล้ง กล่าวหาหัวคิวแรงงาน 36 ล้าน

24 ม.ค. 2567 นายสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อม สส. 14 คน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เดินทางมายังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เขตตลิ่งชัน เพื่อยื่นฟ้องต่อศาล กรณีที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แถลงเมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา มีมติกล่าวหา อดีตรมว. 2 คน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน 2 คน รวม 4 คน ในความผิด มาตรา 149 และ 157 หลังพบหลักฐานเชื่อมโยง เกี่ยวข้องกับการค่าหักหัวคิว แรงงานที่ไปเก็บผลไม้ป่าที่ ประเทศฟินแลนด์ จำนวน 12,000 คน ระหว่าง ปี 2563-2566 คนละ 3,000 บาท รวมค่าเสียหาย 36 ล้านบาท ซึ่งการแถลงข่าวในครั้งนั้นทำให้ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 นายสุชาติ ออกมาโต้กลับดีเอสไอให้นำหลักฐานการเงินออกมาชี้แจง กรณีที่มาตั้งข้อหาแต่ไม่เคยถูกเรียกสอบปากคำ รวมถึง การแถลงข่าวของ ดีเอสไอในครั้งนั้น ทำให้ นายสุชาติ ได้รับความเสียหาย

นายสุชาติ เปิดเผยก่อนที่จะขึ้นไปดำเนินการฟ้อง 3 เจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ ได้แก้ 1.อธิบดีดีเอสไอ ที่เซ็นเอกสารในขณะนั้น 2.รักษาการอธิบดีดีเอสไอคนปัจจุบัน 3.ผอ.กองคดีค้ามนุษย์ ในข้อหา ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และ ม.200 เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้งให้รับโทษทางคดีอาญา และอีก 7-8 มาตราที่เกี่ยวข้อง

นายสุชาติ กล่างว่า การที่ดีเอสไอ ออกมาแถลงข่าว ส่งผลให้ตนเอง ครอบครัว ได้รับความเสียหาย แม้ว่าครั้งนั้นจะไม่มีการเอ่ยชื่อ แต่ได้พูดว่ารัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2563 ซึ่ง เป็นช่วงเวลาที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่ทำให้ประชาชนและหลายคนเข้าใจว่าเป็นตน การที่ตนมาร้องในครั้งนี้ถือเป็นการรักษาสิทธิ์ และเชื่อว่าการที่ดีเอสไอ ออกมาแถลงเป็นการ กลั่นแกล้งทางการเมือง เนื่องจากคดีสำคัญที่ประชาชนได้รับผลกระทบกลับไม่แถลง แต่มาแถลงคดีที่มีการยื่นสำนวนให้ ป.ป.ช.ไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กลับมาแถลงข่าว ทั้งที่เข้าสู่กระบวนการป.ป.ช.ไปแล้ว อีกทั่งก่อนหน้านี้ ยังไม่เคยมีการเรียกตนเและบุคคลที่เกี่ยวข้องไปสอบถาม ทั้งที่ตนก็เป็นข้าราชการระดับสูง

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 24/1/2567

ปลดล็อก ‘พนง.กทม.ไม่ต้องอยู่เวร’ ลั่นทุกคนมีครอบครัวให้กลับไปดูแล

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงคณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกให้ครูอยู่เวรประจำโรงเรียน

นายศานนท์กล่าวว่า กทม.ดำเนินนโยบายยกเลิกครูเวรในโรงเรียนสังกัด กทม.อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 จนเมื่อปี 2564 มีประกาศจากสำนักการศึกษาให้สำนักงานเขต สามารถจ้างเอกชนเข้ามาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้

“ปัจจุบันบริบทของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน เนื่องจากมีโรงเรียนแจ้งว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ ต้องมีครูอยู่ประจำรับสมัครนักเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์ ทำให้ช่วงกลางวันอาจมีบางโรงเรียนที่มีครูเวรอยู่ประจำ แต่ในช่วงกลางคืนตอนนี้เกือบทุกโรงเรียน ไม่มีครูที่ต้องมาประจำแล้ว เพราะเราได้มีประกาศที่ผู้ว่าฯกทม.ได้ลงนามเมื่อวันที่ 8 ก.ย.66 ให้จ้างเอกชนเข้ามาดูแลความปลอดภัยได้ ดังนั้น ทาง กทม.ได้มีระเบียบรองรับเรียบร้อยแล้วในเรื่องนี้” นายศานนท์เผย

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่แค่โรงเรียนที่มีการอยู่เวร ที่ศาลาว่าการ กทม.ก็มีระเบียบการอยู่เวรเช่นเดียวกัน ทั้งที่เรามีเจ้าหน้าที่ รปภ.เป็นจำนวนมาก

“ตอนนี้จึงมีนโยบายไม่จำเป็นต้องมาอยู่เวรแล้ว เพราะทุกคนก็ต้องไปดูแลครอบครัวของตัวเอง” นายชัชชาติกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/1/2567

องค์กรครูแนะรัฐบาลผุดมาตรการรองรับ หลังเลิกครูเวร เพิ่มภารโรง-ติดกล้องวงจรปิด

ที่ ร.ร.บ้านโสน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ดร.สุนทร กุมรีจิตร ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงกรณีที่ ครม.มีมติยกเลิกให้ครูไม่ต้องอยู่เวรแล้วนั้นว่า เรื่องนี้ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีงาม ที่หน่วยงานระดับสูงมีความคิดเห็นที่จะช่วยเหลือครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนักการภารโรงจำเป็นมากที่จะต้องมีใน ร.ร. แต่ว่าทุกวันนี้ ร.ร.กว่า 10,000 โรง ไม่มีนักการภารโรง รวมทั้งเวรรักษาการก็ไม่มีเลย ร.ร.เล็ก ร.ร.ใหญ่เจอปัญหาแบบนี้มาโดยตลอด บาง ร.ร.ก็มีแต่ครูสตรี มีผู้บริหารที่เป็นผู้ชายเพียงคนเดียว แบบนี้ก็ลำบากมาก

ซึ่งถ้าได้ทั้งภารโรงและเวรรักษาการ ก็จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ตนก็คิดว่าเรื่องที่พูดออกมานี้จะเป็นรูปธรรมจริงหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าห่วง ในส่วนของความเป็นครูนี้ตนคิดว่าควรให้กำลังใจกับผู้บริหารและครูที่ต้องใส่ใจและช่วยเหลือตนเองมาโดยตลอด โดยส่วนใหญ่คนภายนอกก็จะไม่รู้ หากไม่เกิดเหตุขึ้นมา พวกเราลำบากกันมากต้องต่อสู้ทุกอย่างทั้งเรื่องการดูแลเด็ก กลางคืนก็ต้องดูแลเวรยามความปลอดภัย ซึ่งตรงนี้ตนต้องขอขอบคุณผู้บริหารและข้าราชการครูทุกคนที่ทำความดีในเรื่องนี้มาโดยตลอด และต้องขอบคุณรัฐบาลที่ได้ให้ความสนใจและใส่ใจดูแลสถานศึกษาและครูของเรา

ทางด้าน นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวว่า เรื่องนี้ขอให้ อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา หากจะยกเลิกการอยู่เวรยาม จะต้องมีหนังสือออกมาให้ชัดเจน แต่ถือว่าเมื่อมองดูเจตนารมณ์แล้ว ที่ผ่านมาก็เป็นตราบาปอย่างหนึ่ง ที่ผู้มีอำนาจออกกฎเกณฑ์มาโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของสถานที่ราชการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการครูถ้าให้อยู่เวรยามทั้งที่เขาไม่มีสิทธิที่จะถืออาวุธป้องกันตัว ไม่มีอะไรต่างๆ เลย แต่ให้เขาอยู่เวร ซึ่งเป็นตราบาปออกมาเช่นนั้นเป็นเวลานานหลาย 10 ปีแล้ว มันควรจะยกเลิกได้แล้ว ทางรัฐบาลควรจัดสรรตำแหน่งนักการภารโรงและยามรักษาการให้กับทาง ร.ร. ซึ่งตนก็เห็นด้วยที่มีมติยกเลิกให้ครูต้องอยู่เวร ซึ่งการยกเลิกมติให้ครูต้องอยู่เวรนี้ จะต้องออกระเบียบที่เอื้อกับครู ร.ร. ไม่สร้างภาระ สร้างปัญหาให้กับสถานศึกษา ตนได้ดูคำสัมภาษณ์ของผู้มีอำนาจแล้วท่านคงมองว่ามันคงมีเทคโนโลยีใหม่ เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิดหรือใช้ AI อะไรต่างๆ ซึ่งนั่นคือเป็นภาระของสถานศึกษาถ้าครูไม่ได้อยู่เวรยาม ก็จะต้องไปหาซื้อกล้องวงจรปิดมาติดตั้งทุกมุมของ  ร.ร.ซึ่งจะต้องใช้เงินงบประมาณอีก ซึ่งจะต้องใช้เงินจำนวนมาก

นายวิสัยกล่าวต่อไปว่า ถ้าจะให้ทันสมัย ร.ร.ที่จะติดตั้งกล้องวงจรปิดจะต้องมีอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงและสามารถตรวจสอบดูภาพจากกล้องวงจรปิดก็จะได้รู้ว่ามีคนร้ายเข้ามา ร.ร. นี่คือสิ่งที่จะตามมา รัฐบาลจะต้องมองให้รอบคอบต้องครบถ้วนทั้งการติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทุก ร.ร.เพื่อที่จะสามารถดูภาพจากกล้องวงจรปิดได้ ผู้บริหาร ร.ร.หรือครูที่ติดภารกิจอยู่นอกพื้นที่ หรืออยู่ที่บ้านก็จะสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวภายในบริเวณ ร.ร.ได้ ถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ตก็ไม่สามารถที่จะดูภาพจากกล้องวงจรปิดได้ โดยสภาพของอินเตอร์เน็ตตาม ร.ร.แนวชายขอบแล้วอินเตอร์เน็ตจะไม่แรง จะหมุนอยู่ตลอดทำให้ไม่สามารถที่จะดูภาพต่างๆ ได้ ตนจึงขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ สพฐ.และรัฐบาล ได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือ ร.ร.ในเรื่องดังกล่าวข้างต้นด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/1/2567

ครม.ไฟเขียว 'ยกเลิกครูเวร' ทั่วประเทศ ชี้ใช้คนผิดประเภทไม่ตรงยุคสมัย

จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ เกิดเหตุครูผู้หญิงโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะเข้าเวรในช่วงวันหยุด เหตุเกิดในช่วงบ่ายวันที่ 20 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา จนเกิดกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกครูเวร โดยในโลกออนไลน์ แพลตฟอร์ม X มีการติด#ยกเลิกครูเวรกี่โมง เช่นเดียวกัน สหพันธ์ครูเชียงราย ออกแถลงการณ์พร้อมยื่น 3 ข้อเรียกร้อง คือ ยกเลิกครูเวร , บรรจุแต่งตั้งครูโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน และ จัดสรรตำแหน่งนักการภารโรง

ล่าสุด ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.ระนอง  นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า การอยู่เวรของครู จากการที่เป็นกระแสข่าวมาเมื่อเร็วๆ นี้ ว่ามีครูท่านหนึ่ง อยู่เวรยามเฝ้าโรงเรียน แล้วมีคนร้ายเข้าไปทำร้าย

นายกรัฐมนตรี รู้สึกเสียใจมาก ที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ถึงได้ปรารภต่อที่ประชุมว่า มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2542 ที่ให้มีการมอบหมายเป็นภาระของครูในการเข้าเวรยาม เป็นมติที่ล้าหลัง ไม่ตรงกับยุคสมัย ซึ่งทุกวันนี้ไม่จำเป็นจะต้องให้ครูไปเฝ้าเวรยาม เพราะปัจจุบันมีเครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยี รวมถึงบริษัทรักษาความปลอดภัย พร้อมกับมองว่าเป็นการใช้ครูผิดประเภท ในการเอาครูไปเฝ้าเวรยาม

ที่มา: คมชัดลึก, 23/1/2567

เผยเสนอ ครม. "คืนภารโรงให้ทุกโรงเรียน" แล้ว จ่อยกเลิกครูอยู่เวร ลดภาระ ป้องกันเหตุร้าย

จากกรณีครูผู้หญิงเข้าเวรวันหยุดคนเดียว ถูกหนุ่มที่มาตัดต้นไม้ในโรงเรียนทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ โดยเหตุเกิดภายในโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.เชียงราย เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 20 มกราคม 2567ที่ผ่านมา ต่อมาผู้ก่อเหตุเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยอ้างว่าตนเองโดนทำร้ายก่อน จึงบันดาลโทสะโต้ตอบ

ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาที่หลายคนออกมาเรียกร้องภาครัฐพิจารณางดเว้นเรื่องการเข้าเวรของครู โดยเฉพาะครูผู้หญิง และคืนเวลาสอนให้กับครู

ขณะที่แฟนเพจ ครูวันดีดอทคอม - เปิดสอบครูสมัครงานราชการ ได้ออกมาเรียกร้องประเด็นดังกล่าว ระบุ "ยกเลิกให้ครูมาอยู่เวร ทั้งกลางวัน และกลางคืน ถึงเวลาหรือยังที่จะยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดเวรรักษาการณ์ #เลิกให้ครูมาอยู่เวร #ครูเวร #ยกเลิก" ส่วนกระแสในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะใน X ได้มีการติดแอชแท็ก #ยกเลิกครูเวรกี่โมง เรียกร้องยกเลิกครูเวร 

ล่าสุด ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า เบื้องต้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบหมาย ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. บุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 (สพป.เชียงราย เขต 1) นักจิตวิทยาประจำเขตพื้นที่พร้อมทีมสหวิชาชีพ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามอาการของครูที่ได้รับบาดเจ็บ

"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ได้แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกำชับ สพฐ. ให้ดูแลขวัญและกำลังใจของคุณครูที่ประสบเหตุ พร้อมติดตามการดำเนินคดีและกำหนดแนวทางสร้างเสริมความปลอดภัยในสถานศึกษาให้รัดกุมมากขึ้น ซึ่งตนได้โทรศัพท์สอบถามเหตุการณ์และส่งกำลังใจให้แก่คุณครูที่ประสบเหตุด้วยตนเอง พบว่าคุณครูมีขวัญและกำลังใจที่ดี อาการปลอดภัยดีขึ้นแล้ว"

"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้สั่งการ สพฐ. ให้เสนอขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติคืนอัตรานักการภารโรงกว่า 14,000 ตำแหน่ง เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีนักการภารโรงประจำ ซึ่ง สพฐ. ได้จัดทำคำขอต่อ ครม. เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่กลางเดือนที่ผ่านมา"

ในระหว่างที่ รอ ครม. พิจารณาอนุมัติคืนตำแหน่งนักการภารโรง ได้ขอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานปกครองในพื้นที่หรือผู้นำชุมชน จัดเวรยามดูแลความปลอดภัยในโรงเรียน ช่วยเฝ้าระวังกรณีชุมชนมีบุคคลผู้เสี่ยงมีพฤติกรรมรุนแรง

นอกจากนี้ สพฐ. จะได้เร่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดเวรยามและการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษาที่เหมาะกับบริบทความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเสริมสร้างความปลอดภัย เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ ที่สร้างความสุขและความอุ่นใจให้แก่ครู นักเรียนทุกคน" ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว

ที่มา: MCOT News FM 100.5, 22/1/2567

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net