Skip to main content
sharethis

คุยกับ จิรพงษ์ วรพันธ์ตระกูล ชาวอำเภอตาคลี กับปัญหาทางด้าน เศรษฐกิจ ปากท้อง ความเป็นอยู่เเละวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่หากมีการทางข้ามรถไฟรางคู่ ลพบุรี-ปากน้ำโพ หมายเลข 194 พร้อมเปิดไทม์ไลน์หลังจากการเรียกร้องยื่นหนังสือของชาวบ้าน สู่รัฐสภาและการพูดคุยกับทางการรถไฟเเห่งประเทศไทย จนมีมติให้คงจุดตัดดังกล่าวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ยื่นข้อเรียกร้องต่อ พีระเดช ศิริวันสาณฑ์ สส.เขต 5 จ.นครสวรรค์ 

จากกรณีเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2566 ประชาชนกว่า 300 คน รวมตัวเรียกร้องต่อ พีระเดช ศิริวันสาณฑ์ สส. เขต 5 พรรคภูมิใจไทย จ.นครสวรรค์  เพื่อนำเรื่องราวความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ และเรียกร้องไม่ให้เกิดการปิดเส้นทางข้ามทางรถไฟจุดตัดพหลโยธิน 194+ 00 หรือเส้นทางเชื่อมระหว่างถนนพระสังข์กับถนนตาคลีพัฒนา จนต่อมา สส.คนดังกล่าวนำเรื่องเข้าหารือการประชุมสภาผู้แทนฯ นำไปสู่การเข้าสู่การประชุมกรรมาธิการการคมนาคมนั้น 

ในโอกาสนี้ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามเพิ่มเติมไปยัง จิรพงษ์ วรพันธ์ตระกูล เเกนนำประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอตาคลี ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการปิดทางกั้นเส้นทางดังกล่าว เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ และ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

จิรพงษ์ วรพันธ์ตระกูล เเกนนำประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอตาคลี (คนด้านหน้า)

ชี้กระทบค่าใช้จ่ายในการเดินทาง-อันตราย-ผ่าชุมชนกระทบประเพณีกิจกรรมร่วม

จิรพงษ์ อธิบายถึงความสำคัญของพื้นที่สัญจรทางข้ามการรถไฟดังกล่าวว่า การเรียกร้องของชาวบ้านในขณะนี้คือการเสนอแผนการทบทวนการปิดทางรถไฟ เนื่องมาจากการปิดถนนข้าม ทางดังกล่าวกระทบวิถีชีวิตของประชาชนโดยทั้งสิ้น 3 จุด แต่เกิดปัญหาหลักสำคัญคือพื้นที่จุดตัดที่พหลโยธิน 194 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรที่สามารถเชื่อมการเดินทางระหว่างจังหวัดชัยนาทรวมทั้งตลาดของประชาชน ในเขตพื้นที่ ชาวบ้านเรียกกันว่า (ตลาดบน) โดยทางกลุ่มชาวบ้านและจิรพงษ์เอง เคยได้ทำการตั้งกล้อง บริเวรจุดตัด 194 เพื่อวัดปริมาณความหนาแน่นของจำนวนรถที่สัญจรผ่านในชั่วโมงเร่งด่วน ปรากฏว่าช่วงเวลา 07.30 – 08.30 น ผ่านจุดดังกล่าวเฉลี่ยมากกว่า 1050 คัน และช่วง 16.30-17.30 น เฉลี่ยกว่า 900 คัน เพราะปัจจุบันมีการไล่ปิดส้นทางข้ามทางรถไฟในเขตพื้นที่อำเภอตาคลีไปแล้ว 2 จุด แต่จุดใหญ่ที่จะสามารถทำให้เกิดปัญหาสำคัญคือจุดตัดที่ 194 ที่จะเกิดตามมานั้นคือ ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่มากขึ้น แม้ทางการรถไฟจะมีการเสนอทำทางโอเวอร์พาร์ทและจุดยูเทิร์นเกือกม้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระยะทางที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 กิโลเมตรนั้นย่อมเกิดภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาไม่ว่าจะเป็นรถส่วนตัวหรือรถโดยสารสาธารณะ แม้ทางการจะเสนอจุดกลับรถแต่ก็อยู่ในลักษณะ Two-way ที่รถต้องทำการสวนทางกันจนอาจเกิดอันตรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถมอเตอร์ไซค์หรือรถขนาดเล็กก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นผู้พิการ คนชรา จะไม่สามารถใช้งานในเส้นทางดังกล่าวได้ อันเนื่องมาจากความสูงของเส้นทางและบริเวณดังกล่าว เป็นทางโอเวอร์พาร์ทที่มีระยะทางมากขึ้น 

แกนนำคัดค้านการปิดทางกั้นเส้นทางฯ กล่าวถึงผลกระทบในมุมมองของประชาชาชนในพื้นที่ที่เกิด เติบโต และยังอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวว่า ยังมีผลกระทบในเรื่องของปากท้อง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เนื่องจากในอดีตพื้นที่ตาคลีเป็นเมืองที่รุ่งเรืองและมีความเจริญ  ทั้งในด้านเศรษฐกิจจากการมีสถานีรถไฟตาคลี ที่ทำให้การเดินทางนั้นสะดวกสบายและการมีตลาดขายของส่ง – ปลีก ขนาดใหญ่ ส่วนเรื่องของประเพณีและวัฒนธรรมของประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอตาคลีคือ งานศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่มีการจัดงานแสง สี เสียง และการจัดขบวนแห่รอบเมืองตาคลีอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้คนในพื้นที่และใกล้เคียงได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันจัดงานทั้งฝากฝั่งชาวบ้านฝั่งตลาดบนและอีกฝั่งของถนนที่ชาวบ้านเรียกกันว่า (ตลาดล่าง) นั้นเชื่อมโยงในเส้นทางที่กำลังจะปิดนี้อยู่ตลอด ในทางกลับกันเมื่อมีการปิดทางรถไฟนั้นจะไม่สามารถจัดกิจกรรมอย่างเดิมได้ สาเหตุจากประเพณีแห่เจ้าเเม่ทับทิมที่ประชาชนปฏิบัติสืบต่อกันมาจะไม่สามารถทำได้เพราะหากขึ้นทางกลับรถเกือกม้าก็จะไม่สะดวกหรือเอื้อในการจัดกิจกรรมรวมถึงเกิดอันตรายและความเสี่ยงจากขบวนที่มีน้ำหนักทำให้อาจต้องยุติประเพณีที่ทำติดต่อกันมากว่าหลายทศวรรษ สองชุมชนตลาดบนและล่างอาจจะไม่มีกิจกรรม ที่เชื่อมโยงทำร่วมกันอีก ร้อนไปถึงหากการปิดกั้นทางรถไฟนั้นอาจเกิดการเรียกร้องของชุมชนตลาดล่างให้สร้างศาลเจ้าอีกที่หนึ่งขึ้นมา ทดแทนศาลเจ้าเดิมที่มีจุดประจำ ณ พื้นที่ตลาดบน 

จิรพงษ์ กล่าวต่อว่า การสัญจรที่สำคัญคือการเดินทางของนักเรียนในเขตพื้นที่ เพราะอำเภอตาคลีนั้นมีโรงเรียน ทั้งขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่อยู่หลายโรงเรียน ซึ่งถูกแบ่งกันทั้งสองฝั่งถนน กรณีเกิดการปิดเส้นทางดังกล่าวจริง การเดินทางจะกลายเป็นเรื่องลำบากและเพิ่มภาระให้ครอบครัวที่ยังมีบุตรหลานศึกษาในพื้นที่เป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นนักเรียนจากอำเภอใกล้เคียง ไปจนถึงจังหวัดใกล้เคียงที่เดินทางโดยรถไฟและมาต่อที่รถโดยสารประจำทางที่ปักหลักอยู่ที่ฝั่ง ตลาดบนจากเดิมที่เคยสามารถลอดทางรถไฟ  ไปส่งยังจุดหมายคือโรงเรียนประจำอำเภอที่อยู่ฝั่งตลาดล่าง หากมีการปิดพื้นที่ดังกล่าวอาจเกิดปัญหา เมื่อบุตรหลานอาศัยอยู่คนละฝากฝั่งกับโรงเรียนจำเป็นต้องเดินทางมากขึ้น ระยะเวลามากขึ้น และรวมไปถึงภาระค่าใช้จ่ายที่จะมากขึ้นตามไปอีกด้วย                                                                     

ด้วยแหล่งบริการประชาชนต่างๆ กระจุกรวมอยู่ในฝั่งตลาดบน ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ เทศบาล ที่ว่าการอำเภอ  หรือแม้กระทั่งสถานีดับเพลิง หากมีการปิดเส้นทางดั้งกล่าวนั้น จิรพงษ์ มองว่า จะต้องใช้การเดินทางในระยะเวลาที่มากขึ้นและอาจเกิดปัญหาว่าจะสามารถไปได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่  รวมไปถึงรถดับเพลิงที่ต้องบรรทุกน้ำที่มีน้ำหนักหลายตันก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสามารถขึ้นเส้นทางสะพานยกระดับได้    

ขอยับยั้งการปิดทางข้ามเส้น 194+00 และขยับแนวกั้นปูน ยันไม่ปฏิเสธการพัฒนา แต่การพัฒนาก็ไม่ย้อนแย้งด้วยตัว

ประเด็นหลักในการเรียกร้องของประชาชนในเขตพื้นที่ตาคลีนั้น ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อมิให้ปิดทางข้ามเส้น 194+00 เพราะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ควรให้ประชาชนมีความลำบากมากเกินไป หรือมากไปกว่าเดิม ซึ่งในขณะนี้กำลังดำเนินการการปิดจุดตัดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนไปถึงสองที่ จนเหลือที่สุดท้ายคือจุดกึ่งกลางของแหล่งชุมชนที่การจราจรหนาแน่น และประชาชนใช้อยู่สม่ำเสมอเป็นจุดเศรษฐกิจในเขตพื้นที่ที่เป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ และการใช้ชีวิตของประชาชน และอีกหนึ่งการเรียกร้องคือการขยับแนวกั้นปูนที่การรถไฟนำมาตั้งเพื่อเป็นจุดบอกเขตการก่อสร้าง แต่กลับมีการล้ำมายังแนวถนนที่ใช้สัญจรบริเวณตลาดล่างจนเกิดปัญหาอุบัติเหตุ  และกินพื้นที่การค้าขายริมถนนของประชาชนในพื้นที่  ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ภาพแผนที่บริเวณที่จะมีการปิดทางข้าม (ภาพจากเฟซบุ๊ก Jirapong Woraphantrakool)

ในการชุมนุมเรียกร้องของชาวบ้านได้มีการผลักดันไปจนถึงการทำหนังสือยื่นแก่ พีรเดช สิริวันสาณฑ์  สส. จังหวัดนครสวรรค์ เขต 5 เพื่อเข้าร่วมหารือกับประชาชนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไปจนถึงการนำเสนอหนังสือส่งถึงทีมที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้รับเหมาก่อสร้างในการแก้ไขการปิดเส้นทาง และการเสนอพูดคุยถึงสำนักงานจังหวัดนครสวรรค์  ต่อการเรียกร้องเสนอคัดค้านการปิดช่องทางดังกล่าว  

แกนนำคัดค้านการปิดทางกั้นเส้นทางฯ ยืนยันว่าชาวบ้านในเขตพื้นที่ไม่ได้ปฏิเสธความเจริญที่รัฐพยายามจะมอบให้  ผ่านรถไฟรางคู่ที่จะเอื้อการเดินทางสัญจรได้สะดวกสบายมากขึ้นในอนาคต แต่อีกมุมมองในฐานะชาวบ้านในพื้นที่ การปิดทางดังกล่าวก็เป็นการเพิ่มภาระประชาชน  รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางที่ยากลำบากขึ้น จนกลายเป็นการพัฒนาที่ย้อนแย้งด้วยตัวโครงการเอง  จึงต้องการเรียกร้องให้การเปิดจุดตัดทางรถไฟนั้นไม่เพียงเปิดชั่วคราวแต่เปิดอย่างถาวร

ลำดับเวลาการเคลื่อนไหวคัดค้าน

สำหรับความเคลื่อนไหวที่ผ่านมามีดังนี้

  • 17 ก.ย.2566 ประชาชนกว่า 300 คน รวมตัวเรียกร้องต่อ พีระเดช ศิริวันสาณฑ์ สส. เขต 5 พรรคภูมิใจไทย จ.นครสวรรค์  เพื่อนำเรื่องราวความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ  จากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ และเรียกร้องไม่ให้เกิดการปิดเส้นทางข้ามทางรถไฟจุดตัดพหลโยธิน 194+ 00 หรือเส้นทางเชื่อมระหว่างถนนพระสังข์กับถนนตาคลีพัฒนา
  • 27 ก.ย. 2566 พีระเดช สส. นำปัญหาดังกล่าวขึ้นหารือการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณ สัปปายะสภาสถาน  โดยนำเรื่องราวความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เขต 5 จังหวัดนครสวรรค์ และผู้ที่สัญจรผ่าน เพราะเส้นทางดังกล่าวนั้นเป็นผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ

  • 9 พ.ย.2566 ส.ส.พีระเดช หารือกับผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เผื่อผลักดันและพูดถึงเหตุผลว่า ตาคลีเป็นอำเภอขนาดใหญ่ มีประชากรในพื้นที่กว่า 103,000 คน และมีชุมชน หมู่บ้าน กว่า 30 โดยได้กล่าวถึงปัญหาที่จะตามมาหากมีการปิดทางข้ามทางรถไฟดังกล่าวว่า เพราะความเชื่อมโยงของทั้งตลาด การเดินทาง การทำกิจกรรม การขนส่งสินค้า จะถูกปิดทั้งหมด จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก การสร้างรถไฟทางคู่นั้นเป็นแนวนโยบายสำคัญของการคมนาคมขนส่ง ที่รับผิดชอบโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย วัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้า ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ แต่ปัญหาปัจจุบันคือการเสนอปิดทางข้ามทางรถไฟถึงสามจุดด้วยกันในเขตพื้นที่อำเภอตาคลี จนเกิดการรวมตัวเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเข้าพูดคุยทั้งกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพในพื้นที่อำเภอตาคลี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
  • 7 ธ.ค. 2566 มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการปิดเส้นทางจุดตัดพหลโยธิน194+ 00 หรือเส้นทางเชื่อมระหว่างถนนพระสังข์กับถนนตาคลีพัฒนา จุดตัดที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างการเดินทางไปชัยนาทเเละเส้นทางไปสู่อำเภอตากฟ้า ท่าตะโกที่อยู่ข้างเคียงโดยมีภาคประชาชนได้ส่งตัวแทนในการรับฟังการประชุมได้ข้อเสนอว่าปัจจุบันจะยังคงไม่ปิดจุดตัดดังกล่าวทำการเปิดตามปกติชั่วคราว และในอนาคตจะนำมติที่ประชุมการเรียกร้องของชาวบ้านเข้าที่ประชุมใหญ่อย่างหน่วยงานการรถไฟแห่งประเทศไทย และ กระทรวงคมนาคมอีกครั้ง

  • 21 ธันวาคม 2566 งานที่ปรึกษาเพื่อบริหารโครงการเเละควบคุมงานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเหนือช่วง ลพบุรี-ปากน้ำโพ ได้มีการนำเรื่องเข้าพิจารณาการเเก้ไขเส้นทางจุดตัดบริเวณจุดดังกล่าว อันเนื่องมาจากที่ชาวบ้านในชุมชนยื่นหนังสือเรียกร้อง ซึ่งหลังจากการได้รับฟังคตวามคิดเห็นอย่างละเอียดเล็งเห็นว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นทางผ่านที่อยู่กลางชุมชนเมืองตาคลีเเละเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างพื้นที่พักอาศัยกับสถานที่ราชการ โรงเรียนเเละตลาด คณะกรรมการจึงเล็งเห็นว่าอนุญาตให้เเก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟดังกล่าว มีมติเห็นควรให้คงจุดตัดดังกล่าวไว้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยรอบ
  • 16 มกราคม 2567 การรถไฟเเห่งประเทศไทยได้ออกหนังสือชี้เเจงในนาม โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ โดยเนื้อหาของหนังสือชี้เเจงว่า สืบเนื่องจากการประชุมในระดับจังหวัดนครสวรรค์ คณะอนุกรรมการกรั่นกรองได้อนุญาตให้แก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟในเขตพื้นที่อำเภอตาคลี เเละมีมติให้คงจุดตัดดังกล่าวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน กลุ่มบริษัทที่รับผิดชอบโครงการเเละควบคุมการทำงานจึงมีการปรับเปลี่ยนแผนการให้สามารถดำเนินงานภายใต้การเปลี่ยนแปลงเเบบเเผนใหม่

 

สำหรับ พิชชาวีร์ เชลงวิทย์ ผู้เขียนรายงานและกราฟิกชิ้นนี้เป็นนักศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์เเละรัฐประศาสนศาสตร์ เอกการเมืองการปกครอง ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยนเรศวร ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net