Skip to main content
sharethis

เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ยื่นนายกฯ ขอให้ใคร่ครวญอย่างรอบคอบก่อนจะเกิดความผิดพลาดจากการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง - ชุมพร ด้าน 'เศรษฐา' ยันทุกเสียงของประชาชน รัฐบาลพร้อมรับฟังเพื่อให้ได้ความกระจ่างในการทำโครงการ 

23 ม.ค.2567 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (23 ม.ค.) ช่วงเที่ยง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับหนังสือจากกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ แลนบริดจ์  ด้วยตนเอง ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า ประกอบด้วย กลุ่มเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ และกลุ่มเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นมากกว่า 100 คน ซึ่งยื่นหนังสือคัดค้านโครงการแลนบริดจ์ 

โดยมีรายละเอียดหนังสือของเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะที่ยื่นดังนี้

เรื่อง ขอให้ใคร่ครวญอย่างรอบคอบก่อนจะเกิดความผิดพลาดจากการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง - ชุมพร

เรียน นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน

พวกเราทราบดีถึงความมุ่งมั่นของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จากการเข้ามารับหน้าที่ผู้นำสูงสุดในการบริหารประเทศในครั้งนี้ ด้วยต้องการใช้ความรู้ความสามารถของท่านเท่าทีมีสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนไทยโดยรวมเป็นที่ตั้ง อันเห็นได้ถึงการทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดของท่านเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายตามที่ท่านได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา เพราะท่านทราบดีว่าภายใต้การบริหารงานแผ่นดินในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ประชาชนไทยโดยรวมต้องทนแบกรับกับสภาพความตึงเครียดทางการเมือง การไร้ความสามารถการบริหารรัฐกิจและเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างที่ควรจะเป็น ประกอบกับภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกปั่นป่วนอย่างหนัก และประเทศไทยก็ตกอยู่ในสภาพดังกล่าวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การนำเสนอนโยบายในการบริหารประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของท่าน จึงมีความมุ่งหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าในทุกมิติ ทั้งนี้เพื่อทำให้ประเทศของเราดีขึ้นมากว่าที่ผ่านมา อย่างเช่น นโยบายเงินดิจิตอล 10,000 บาท นโยบายด้านสุขภาพ ด้านการเกษตรการประมง และอื่นๆ ซึ่งรวมถึงนโยบายการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ที่ท่านกำลังผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง - ชุมพร ที่ท่านคิดว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคและประเทศนี้ได้ อันเป็นไปได้ตามคำมั่นสัญญาที่ท่านแถลงไว้

พวกเราชาวอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ในนามเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน และเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจังหวัดระนอง ที่มาขอพบท่านในโอกาสนี้ อาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ฯ ที่ไม่อยู่ในสมการการพัฒนาของท่าน เหมือนคนบางกลุ่มที่ท่านความสำคัญมากกว่าในเวลานี้ ด้วยเพราะท่านเชื่อว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง จะสร้างผลตอบแทนอย่างมหาศาลให้กับคนภาคใต้และคนไทยทั้งประเทศในภาพรวมได้ทั้งหมด ดังที่ท่านได้พร่ำพูดจนชินหูพวกเราผ่านสื่อมวลชนต่างๆในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา และท่านก็ได้นำความคิดนี้ไปสำเสนอกับผู้นำและนักธุรกิจใหญ่ในหลายประเทศมาแล้วหลายประเทศ ตามที่ได้รับรู้กันผ่านสื่อสาธารณะทั้งหลาย แม้จะมีเสียงทักท้วงอย่างหนักทั้งจากนักวิชาการและผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์รายใหญ่ของประเทศนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเราจะบอกกับท่านว่า ชุดความคิดดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด เพราะในที่สุดแล้วพวกเราก็จะเป็นเพียงผู้เสียสละให้กับการพัฒนา ที่จะต้องสูญเสียอาชีพ การดำรงชีวิตในถิ่นฐานเก่าแก่ของตนเอง รวมถึงต้องสูญเสียฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การได้อยู่ในสภาพอากาศที่ดี ปลอดภัยและการต้องสูญเสียสังคมวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเราไปอย่างสิ้นเชิง และเราก็รู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลบล้างความคิดและความเชื่อดังกล่าวของท่านได้ในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม พวกเรายังหวังที่จะให้ท่านนายกรัฐมนตรีฯ ได้โปรดเอียงหูรับฟังเสียงและความคิดของพวกเรา ในฐานะประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ อันเป็นที่ตั้งโครงการแลนด์บริดจ์ตั้งแต่อ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด จังหวัดระนอง ที่ทอดผ่านอำเภอพะโต๊ะ และอำเภอหลังสวน ตรงแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร รวมระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร ซี่งเป็นน้ำเสียงที่อาจจะดูแผ่วเบาในความรู้สึกของท่าน และนักธุรกิจทั้งสองจังหวัดนี้อีกจำนวนหนึ่งที่อยากเห็นความเจริญรุ่งเรือง จนลืมไปว่าสิ่งเหล่านั้นจะต้องแลกด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของพวกเราด้วยเช่นกัน

จึงขอใช้เวลาอันสำคัญนี้ ขอเสนอข้อสังเกตต่อการดำเนินงานและดำเนินโครงการนี้ พร้อมกับข้อเสนอแนะเพื่อให้ท่านได้พิจารณา ดังนี้

  1. กระบวนการศึกษาที่ผ่านมา ถือว่าด้อยมาตรฐานทางวิชาการและไม่เคารพการมีส่วนร่วมของประชาชน หากนับตั้งแต่วันเริ่มต้นในการศึกษาออกแบบและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละโคงการย่อย ถือว่าเป็นกระบวนการที่มาตรฐานด้านวิชาการและด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนตกต่ำเป็นอย่างมาก จนมีคำถามว่า ในขณะที่โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ทำไม่กระบวนการศึกษาถึงไม่สมราคา ซึ่งพวกเราเห็นว่ารัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับขั้นตอนนี้เป็นอันดับแรก เพราะจะเป็นการเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ผ่านการศึกษาและการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงรอบด้าน อันจะทำให้รัฐบาลได้รับข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาจากกระบวนการที่ดี เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างถูกต้อง หาใช่เพียงแค่การสร้างพิธีกรรมเพื่อให้เสร็จตามกฏหมายบังคับ หากแต่ต้องสร้างมาตรฐานให้ดีกว่าโครงการอื่นๆที่เคยทำมา ที่ควรจะผิดแผกแตกต่างจากยุครัฐบาลอื่นใดก่อนหน้านี้

  2. โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องประกอบด้วยโครงการย่อยอีกหลายโครงการ แต่กลับไม่มีการศึกษาผลกระทบและผลสัมฤทธิ์ในภาพรวม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และด้านสุขภาพ กลับพบว่าเป็นการแยกกันศึกษาเป็นรายโครงการย่อยที่ต่างคนต่างทำ อย่างเช่น โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมริ่ว โครงการรถไฟรางคู่ โครงการมอเตอร์เวย์ โครงการนิคมอุตสาหกรรม (ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต) และเชื่อว่าจะมีโครงการอื่นๆตามมาอีกหลายโครงการ ซี่งวิธีการศึกษาเช่นนี้จะไม่ทำให้เห็นภาพใหญ่ของโครงการทั้งหมด อันจะทำให้ขาดระบบการประมวลผลกระทบและผลสมฤทธิ์ของโครงการที่แม่นยำ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจและการดำเนินโครงการที่ผิดพลาดได้ง่าย ซี่งรวมไปถึงการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาที่ได้สรุปรายงานไปแล้ว ซึ่ถูกมองว่าเป็นรายงานที่ทำขึ้นเพียงเพื่อเอาใจท่านนายกฯ แต่กลับไม่ได้นำเสนอข้อสังเกตสำคัญที่พวกเราพยายามให้ข้อมูลไปแล้วแต่อย่างใด

  3. นายกรัฐมนตรีต้องคำนึงถึงศักยภาพการพัฒนาจังหวัดระนอง ชุมพร และภาคใต้ในมิติอื่นๆด้วย กล่าวคือ ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ ท่านนายกรัฐมนตรีเคยคิดไว้หรือไม่ว่า ท่านจะพัฒนาจังหวัดระนอง ชุมพร และจังหวัดอื่นๆในภาคใต้ไปในทิศทางใดนอกจากนี้ ซึ่งพวกเรามีความเชื่อว่าจังหวัดระนอง ชุมพร และภาคใต้ ยังมีศํกยภาพอีกมากที่ไม่ถูกพัฒนาอย่างจริงจัง อย่างเช่นมิติของการท่องเที่ยว การประมง และการเกษตร ที่เพียงรัฐบาลกล้าคิดแตกต่างจากรัฐบาลอื่นๆที่ผ่านมา ก็จะสามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับภาคใต้ได้ไม่ยาก ด้วยเพราะภาคใต้ไม่เคยถูกส่งเสริมการพัฒนาอย่างเป็นระบบเพื่อให้ศักยภาพที่มีอยู่แปล่งประกายได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเรายังเชื่อว่าหากมีรัฐบาลที่ฉลาดมากพอ ก็จะสามารถสร้างการพัฒนาที่จะทำให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน มากกว่าโครงการแลนด์บริดจ์หลายเท่า

จากข้อสังเกตดังกล่าว พวกเราจึงมีข้อเสนอเพื่อแนวทางท่านนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการ ดังนี้

  1. ท่านต้องตรวจสอบและสั่งทบทวนกระบวนการศึกษาโครงการที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด โดยการสร้างมาตรฐานทางวิชาการและมาตรฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดขึ้นจริง ทั่วถึง เป็นธรรม โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

  2. ท่านต้องยกระดับกระบวนการศึกษาภาพรวมของโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง - ชุมพร ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยให้มีกลไกและกระบวนการศึกษาที่จะทำเกิดการประมวลผลการศึกษาภาพรวมโครงการทั้งหมด อันจะทำให้ท่านได้เห็นภาพและข้อมูลผลกระทบและผลสัมฤทธิ์อย่างแม่นยำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของโครงการ

  3. ท่านควรศึกษาทางเลือกในการพัฒนาจังหวัดระนอง ชุมพร และภาคใต้ในมิติอื่นๆด้วย อันรวมถึงการศึกษาศักยภาพที่แท้จริงของภาคใต้ในมิติการท่องเที่ยว การประมง การเกษตร ซึ่งรวมถึงมิติทางด้านสังคมวัฒนธรรม โดยการใช้นโยบายตามแนวคิด “ซอฟต์พาวเวอร์” ทำการยกระดับการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าแต่ละมิติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

  4. เพื่อให้ข้อเสนอดังกล่าวเบื้องต้นเกิดขึ้นได้จริง เราขอเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ที่มีองค์ประกอบของหลายภาคส่วน เช่น นักการเมือง ข้าราชการ ท้องถิ่น ท้องที่ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นกลไกในการดำเนินงานตามข้อเสนอทั้งหมดให้เป็นที่ประจักษ์ อันจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่เข้าใจที่ไม่ตรงกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ และเพื่อช่วยค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงได้ร่วมออกแบบการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของท่านและรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

พวกเรามีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะรับฟังเสียงของพวกเราที่พยายามนำเสนอความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ทั้งยังเชื่อว่าท่านยังไม่เคยได้รับข้อเสนอแนะเช่นนี้มาก่อน ซึ่งเรายังยืนยันว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง - ชุมพร เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลได้ผลกระทบอย่างกว้างขวางกับประชาชนทั่วไป ท่านจึงควรพิจารณาไตร่ตรองเรื่องนี้ด้วยตนเองอย่างรอบคอบ และควรจะหาโอกาศศึกษาข้อเสนอเหล่านี้ของพวกเราอย่างละเอียดทั้งด้วยตนเองและจากกลไกที่ท่านสามารถไว้วางใจได้ เพื่อที่จะทำให้ท่านเกิดความมั่นใจในการตัดสินใจต่ออนาคตของโครงการนี้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องแบกรับภาระความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นกับท่านโดยไม่จำเป็น

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

(สมโชค จุงจาตุรันต์)

คณะทำงานเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ

เศรษฐา ยันทุกเสียงของประชาชน รัฐบาลพร้อมรับฟังเพื่อให้ได้ความกระจ่างในการทำโครงการ Land bridge

ขณะที่ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เศรษฐา ย้ำถึงกรณีหลายคนมีข้อสงสัยเรื่องของการศึกษาโครงการ Land bridge มีความครอบคลุมหรือมีอิสระหรือไม่ และดูแลครบทุกมิติหรือไม่ว่า การดำเนินดังกล่าวไม่ใช่แค่โครงการ Land bridge เท่านั้น แต่รวมถึงอุตสาหกรรมที่จะต่อเนื่องในอนาคตด้วย ตลอดจนการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาคม  ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันรับฟังทุกความคิดเห็นและจะนำไปพิจารณาเพื่อประกอบการทำเอกสารศึกษาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีความกระจ่างในจุดประสงค์ของการทำโครงการ Land bridge รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้ นอกเหนือจากโครงการ Land bridge ซึ่งมั่นใจว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว การสร้างสนามบินอันดามันที่จังหวัดพังงา ซึ่งเราได้ดำเนินการแล้ว
 
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเรื่องการประมงซึ่งได้มีตัวแทนกลุ่มประมง 14 จังหวัดภาคใต้ เดินทางมาขอบคุณที่จะมี พ.ร.บ. ประมง โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในอาทิตย์หน้า ซึ่งจะทำให้ชาวประมงสามารถกลับมาค้าขายได้อีกครั้งหนึ่ง รวมไปถึงเรื่อง Soft power วัฒนธรรม กีฬาและอาหาร ก็ได้ถูกบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาลแล้ว ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าทุกเสียงของประชาชนจะถูกรับฟังอย่างดีจากรัฐบาลนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net