Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวชายขอบรายงาน 15 ปี บนเส้นทางการต่อสู้ของเครือข่ายชาวบ้านน้ำชี ย้ำรัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชี แนะสนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำขนาดเล็กระดับครัวเรือน

ที่มาภาพ: สำนักข่าวชายขอบ

สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่าเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ที่วัดบ้านอีโก่ม ตำบลเทอดไทย อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด เครือข่ายชาวบ้านน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร กว่า 300 คน ร่วมกันจัดกิจกรรม “15 ปี บนเส้นทางการต่อสู้ของคนน้ำชี” โดยมีตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน ร่วมกันแลกเปลี่ยนเพื่อสรุปบทเรียนการต่อสู้ของคนน้ำชี และกระบวนการแก้ไขปัญหาของเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร หลังมีคำสั่งลงนามแต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ตลอดถึงข้อเสนอในการจัดการน้ำขนาดเล็กระดับครัวเรือน

นางอมรรัตน์ วิเศษหวาน กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร เป็นอีกพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการโขง ชี มูล ภายใต้การสร้างเขื่อนธาตุน้อยซึ่งสร้างเสร็จปี 2543 เป็นต้นมา ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรและกินระยะเวลายาวนานผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ต้องสูญเสียคืออาชีพบนที่ดินทำการเกษตรเนื่องจากน้ำท่วมติดต่อกันนานหลายเดือนและขยายวงกว้าง และยังสูญเสียโอกาสในด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต สูญเสียฐานทรัพยากรที่ชาวบ้านได้พึ่งพาอาศัยตามฤดูกาล นอกจากนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำ จึงทำให้ประชาชนรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา และรัฐบาลควรจะแก้ไขให้พี่น้องแล้วเสร็จได้แล้ว

นายจันทรา จันทาทอง กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า 15 ปี แล้วที่เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี ร่วมกันต่อสู้เนื่องจากสาเหตุสำคัญที่เกิดจาก 1.เขื่อนที่สร้างขวางกั้นแม้น้ำชี 2.โครงสร้างของเขื่อน 3.การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ ตลอดระยะเวลาการเรียกร้องสิทธิ์ของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีเรามีข้อเสนอดังนี้ 1.ให้รัฐดำเนินการเยียวยาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชีตอนล่าง 2.ให้ดำเนินการฟื้นฟูอาชีพ ฐานทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำชี ปัญหาและสาเหตุที่เกิดขึ้นชาวบ้านในพื้นที่รับรู้และเข้าใจดี จึงอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านด้วย

นายนิมิต หาระพันธ์ กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดยโสธร กล่าวว่า การต่อสู้ของพี่น้องน้ำชี ได้สะท้อนและแสดงให้เห็นถึงพลังของกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเอง เพราะเขื่อนร้อยเอ็ด และเขื่อนยโสธร-พนมไพร ที่สร้างกั้นแม่น้ำชีนั้นก่อให้เกิดผลกระทบ ส่งผลให้เกิดการบริหารจัดการน้ำทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งแบบไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นรัฐจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำจากโครงการขนาดใหญ่ ควรเป็นการจัดการน้ำขนาดเล็กที่ชาวบ้านเข้าถึงจริง ๆ

นายนิรันดร คำนุ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า การต่อสู้ของพี่น้องเครือข่ายชาวบ้านน้ำชี ถือได้ว่าเป็นบทเรียนที่สะท้อนให้รัฐควรที่จะต้องทบทวนบทเรียนเรื่องการจัดการน้ำที่ไม่ควรมองน้ำเพื่อเข้ามาบริหารจัดการ แต่ควรมองน้ำเป็นวิถีชีวิตเหมือนที่ชาวบ้านได้พึ่งพาอาศัยและดูแลจัดการกันเอง ที่ผ่านมาโครงการโขง ชี มูล สร้างบาดแผลให้กับคนลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลเป็นอย่างมาก ทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่เกิดขึ้นต้องทำให้ชาวบ้านน้ำชีลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิปีนี้เข้าปีที่ 15 แล้ว เพื่อให้รัฐดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ก่อ แต่ชาวบ้านต้องต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิ์นั้นมา

นายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี กล่าวว่า เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีพากันมาไกลมากกับกระบวนการเรียกร้องสิทธิ เพราะเป็นผลกระทบจากนโยบายการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่รัฐได้ดำเนินการและส่งผลกระทบต่อชุมชน 15ปี บนเส้นทางการต่อสู้ของคนแม่น้ำชีผ่านทั้งกระบวนการเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบ ผ่านทั้งการจัดทำข้อมูล การเจรจาต่อรอง การจัดทำข้อเสนอต่อนโยบาย และการติดตามการแก้ไขปัญหา แต่เรายังมองว่านโยบายของรัฐในการกำหนดแนวทางการจัดการน้ำยังเป็นในรูปแบบรวมศูนย์อำนาจ และการนำเสนอนโยบายการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในรูปแบบเดิม โดยที่ไม่ฟังเสียงของชาวบ้านในพื้นที่และไม่สรุปบทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้ 1.เร่งรีบแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชีให้แล้วเสร็จโดยเร็ววัน 2.กรมชลประทานต้องยุติการจะดำเนินศึกษาเรื่องเขื่อน ประตูระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำกั้นแม่น้ำชีทั้งแม่น้ำชี 3.ยุติโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล 4.รัฐจะต้องสนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำขนาดเล็กที่กระจายตามนิเวศต่าง ๆ ที่เหมาะสมชาวบ้านเข้าถึง จากการศึกษามีหลากหลายรูปแบบ เช่น ปั๊มสูบน้ำใต้ดิน แผงโซล่าเซลล์ สูบน้ำจากลำห้วย สูบน้ำจากแม่น้ำเอง เป็นต้น และ5.กระจายอำนาจการจัดการน้ำให้ชุมชนได้จัดการกันเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net