Skip to main content
sharethis
  • สส. ก้าวไกล-นักวิชาการ ลาออก ‘กมธ. แลนด์บริดจ์’ ชี้รายงานนำเสนอข้อมูลด้านเดียว ต้องการคำชี้แจงเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเพิ่ม แต่มีการลงมติเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประธานกมธ. แจง มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เชื่อเป็นความหวังผลักดันเศรษฐกิจภาคใต้ ดึงค่า GDP ประเทศ

วันนี้ (12 ม.ค. 2567) ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า จุลพงศ์ อยู่เกษ, ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ เขต 9 พรรคก้าวไกล และ รศ.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) แถลงเกี่ยวกับผลการพิจารณาศึกษาฯ ของคณะ กมธ. นัดสุดท้าย

จุลพงศ์กล่าวว่า สส. พรรคก้าวไกลที่นั่งอยู่ กมธ. โครงการแลนด์บริดจ์ ได้ทักท้วงถึงความไม่สมบูรณ์ของรายงานและความจำเป็นที่ กมธ. ต้องได้รับคำชี้แจงเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบศึกษาโครงการ ก่อนที่ กมธ. จะพิจารณาอนุมัติรายงานผลการศึกษาได้ คือ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม

เช่น ท่อส่งน้ำมันที่ไม่มีความชัดเจน การเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาสภาพแวดล้อมซึ่งอาจขัดกับมติคณะรัฐมนตรีที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ ประเด็นความน่าเชื่อถือในการประเมินความต้องการของบริษัทเดินเรือและสินค้าที่จะมาใช้โครงการ รวมทั้งไม่สามารถให้ตัวเลขทางการเงินที่สมเหตุผลในการคำนวณผลตอบแทนทางการเงินและทางเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ บทสรุปของรายงานการศึกษาโครงการที่ สนข. เคยทำ ยังขัดแย้งกับบทสรุปของรายงานการศึกษาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งมีผลสรุปว่าโครงการแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ขณะที่ผลการศึกษาของ สนข. ให้ข้อมูลว่า มีผลตอบแทนการลงทุนสูงถึง 17% จึงกังวลว่าอาจทำให้เกิดการสื่อสารข้อมูลกับนักลงทุนต่างประเทศผิดพลาดได้ ทั้งนี้ ตลอดระยะ 2-3 ปีนี้รัฐบาลได้ใช้งบประมาณกว่า 68 ล้านบาทในการศึกษา แต่จนถึงวันนี้โครงการก็ยังไม่สมบูรณ์

ด้านศิริกัญญากล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้มีถามถึงประเด็นที่คาใจจากการถกเถียงเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2566 กับทาง สนข. และที่ปรึกษาที่จัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เพื่อหาข้อสรุปถึงความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ของโครงการ แต่วันนี้ผู้ชี้แจงได้ตอบคำถามเพียงคำถามเดียว คือ กรณีสินค้าเทกอง และประธาน กมธ. ก็สั่งปิดการประชุมและมีการพยายามลงมติเพื่อรับรองตัวรายงาน

จึงเป็นเหตุให้ กมธ. จากพรรคก้าวไกลทั้งหมด 4 คน ขอไม่เป็นตรายางในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติตัวรายงานฉบับนี้ พร้อมขอถอนตัวและลาออกจาก กมธ. ดังกล่าว เนื่องจากยังไม่มีการส่งข้อมูลมาให้พิจารณา และท้ายที่สุด ยังไม่มีการขอขยายอายุของ กมธ. ชุดนี้ออกไปเพื่อให้มีการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง

สมพงษ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่เป็นประเด็นสำคัญคือข้อมูลสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) คือ สินค้าต่างประเทศ เพราะความคุ้มค่าของโครงการนี้ เป้าหมายหลักคือสินค้าถ่ายลำประมาณ 78% เป้าหมายที่ 2 คือ การพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งเราเห็นด้วยว่าต้องทำและเร่งทำ แต่ด้วยความไม่ชัดเจนของโครงการถึงโอกาสและความเป็นไปได้ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีโอกาสชี้แจง จึงมองว่าชะตากรรมของโครงการนี้ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของปริมาณสินค้าถ่ายลำ

ศุภณัฐ กล่าวว่า เจตนารมณ์หลักของพวกเขา คือ การหาคำตอบให้ประชาชนว่า จริง ๆ แล้วโครงการแลนบริดจ์ จะกำไรหรือขาดทุน จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่ แต่สิ่งที่พยายามทำร่วม 90 วัน ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมรายงานของ สศช. จึงแตกต่างจากรายงานของ สนข. และข้อมูลหลายอย่างที่อยู่ในรายงานที่มีการลงมติเห็นชอบ ก็ยังใช้ข้อมูลของ สนข. เกือบทั้งหมด โดยไม่มีเหตุผลว่าทำไมถึงตัดข้อมูลของ สศช. ทิ้ง

ในฐานะ กมธ. ซึ่งเป็นผู้ศึกษา ศุภณัฐมองว่า กมธ. ไม่ควรเลือกว่าจะหยิบหรือไม่หยิบข้อมูลไหนมาใช้ เพราะหน้าที่ของ กมธ. คือ การนำข้อมูลทั้งหมดใส่ในรายงานอย่างรอบด้าน แต่ผลสรุปที่ออกมาเหมือนเป็นการหยิบข้อมูลของ สนข. เป็นตัวตั้ง ตนจึงกังวลว่าอาจสร้างความเสียหายแก่ประเทศ เพราะเป็นการนำข้อมูลด้านเดียวจากหน่วยงานราชการไปขายต่างประเทศ ถ้าต่างประเทศย้อนกลับมาว่าศึกษาแล้วไม่คุ้มทุน อาจส่งผลต่อมุมมองที่มีต่อประสิทธิภาพในการศึกษาทำวิจัยของรัฐบาลไทย

ศุภณัฐ ยืนยันว่า ตนและพรรคก้าวไกลไม่ได้มีเจตนาขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ แต่มองว่าหน้าที่ของกรรมาธิการนี้ คือ ศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ว่าสร้างผลประโยชน์ให้เศรษฐกิจภาคใต้ในอนาคตอย่างไร รัฐบาลจะแก้ปัญหาการขาดทุนในระยะแรกอย่างไร แต่ข้อมูลตัวเลขที่ตนขอไปตั้งแต่วันแรกก็ยังไม่ได้รับ และหน่วยงาน สศช. กับ สนข. ก็ยังไม่มีการคุยกัน

ประธานกมธ. แจงมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เชื่อเป็นความหวังผลักดันเศรษฐกิจประเทศ

ขณะที่ ศาสตรา ศรีปาน รองประธานคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนบริดจ์ พร้อม ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกคณะ กมธ. แถลงข่าวผลการประชุมเมื่อเวลา 16:00 น. ณ อาคารรัฐสภา และมีการเผยแพร่ผ่านสำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีใจความว่า

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 ได้มีมติตั้งคณะ กมธ. วิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อพิจารณาศึกษาโครงการดังกล่าว  โดยกำหนดระยะเวลาในการศึกษาไว้ 90 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 2566  - 18 ม.ค. 2567  ทั้งนี้ หลังจากพิจารณาในห้องประชุมแล้ว คณะ กมธ. ได้เดินทางไปศึกษาดูงานและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 6-7 ม.ค. 2567 ณ จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง ทำให้ได้ทราบถึงความต้องการและข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่  เกี่ยวกับสิทธิครอบครองที่ดินและการเยียวยาเมื่อเกิดโครงการดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านการดำเนินการ 

โครงการแลนด์บริดจ์ภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้นี้ จะเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักลงทุนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศให้มาลงทุนยังเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรองรับการลงทุนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าการคมนาคมขนส่งสะดวกจะทำให้เกิดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้และส่งผลต่อการจ้างงานคนในพื้นที่และประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทางภาคใต้และประเทศไทยโดยรวม ตลอดจนการทำให้ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น

ส่วนประเด็นที่เกิดขึ้นในการประชุมวันนี้ (12 ม.ค. 2567) คณะ กมธ. ได้มีการประชุมนัดสุดท้ายเพื่อลงมติรับรองรายงานของคณะ กมธ. ฉบับสมบูรณ์ โดยมติที่ประชุมได้เห็นชอบต่อรายงานของคณะกมธ. 20 เสียง/ไม่เห็นชอบ 2 เสียง จึงถือว่าเป็นมติเอกฉันท์ โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการนำรายงานเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อรับทราบรายงานและลงมติเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

ศาสตรา กล่าวว่า คณะ กมธ. ได้ประชุมพิจารณากันอย่างรอบคอบ ทั้งเชิญหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจงต่อคณะกมธ. เพื่อรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดลงในรายงาน ซึ่งประชาชนทางภาคใต้รอคอยโครงการดังกล่าว เพื่อความหวังในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ โดยโครงการนี้จะทำให้ประชาชนดำรงชีวิตร่วมกับโครงการแลนด์บริดจ์ได้อย่างราบรื่นสมดุลต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net