Skip to main content
sharethis
  • เผยความคืบหน้าหลัง เพจ Red Skull แฉปมล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนโดย รอง ผอ.โรงเรียนประจำ ล่าสุดต้นสังกัดสั่งรอง ผอ.คนดังกล่าวออกนอกพื้นที่และตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ขณะนี้รอผลสอบ
  • ด้านศิษย์เก่าโรงเรียนประจำเปิดด้านมืด ชี้ปัญหาอำนาจนิยมและความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนทำให้นักเรียนนิ่งเงียบและยอมจำนนต่อการถูกกระทำ ชี้ปัจจุบันช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้างและนักเรียนเริ่มรู้จักสิทธิฯ ทำให้เริ่มร้องเรียนมากขึ้น
  • สส.ก้าวไกล ยันแม้เรื่องผ่านไปแล้วหลายปี หากรวบรวมพยานหลักฐานก็ยังเอาผิดทั้งทางวินัยและอาญาได้ หวังเชื่อมโยงระหว่างผู้ถูกกระทำสร้างพลังส่งเสียง

ปัญหาการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศนับวันถูกพูดถึงในพื้นที่สื่อมากขึ้นจนหลายคนเริ่มรู้สึกถึงภัยที่กำลังใกล้ตัวทุกที เพราะเกิดขึ้นได้ทั้งในสถาบันครอบครัว การศึกษาและการทำงาน แต่กลับไม่เคยถูกส่งมาถึงสังคมภายนอกได้เลยเนื่องจากเหยื่อถูกทำให้หวาดกลัวจนไม่กล้าเรียกร้องความยุติธรรม โดยกลุ่มเสี่ยงหนึ่งที่มีโอกาสมากเป็นพิเศษคือ กลุ่มนักเรียนที่เรียนและอาศัยกินนอนอยู่ในโรงเรียนประจำ จนล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา เพจ Red Skull ได้เปิดเผยเรื่องนี้บน X (หรือ Twitter เดิม) ว่า นักเรียนหญิงถูกรองผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัดแห่งหนี่ง ลวนลาม ล่อลวง ขืนใจ โดยที่เด็กไม่กล้าแจ้งความ แม้แจ้งผู้บริหารไปแล้ว แต่กลับไม่ดำเนินการลงโทษทางวินัย ทั้งที่ทำแบบนี้กับเด็กนักเรียนมาหลายปีแล้ว

เพจ Red Skull ยืนยันว่า เด็กตั้งแต่ ม.2 ถึง ม. 6 ครับ อายุตั้งแต่ 14 - 18 ปี ชวนกันหาหลักฐานส่งมาให้ จากที่หลายคนถูกทักแชทไป นอกจากนี้มีนักเรียนที่ถูกคุยด้วย โดยที่นักเรียนไม่ยินยอม ต่อมาต้องลาออก พบว่าเทอมที่ผ่านมา ออกไปเกือบ 15 คน

"เด็กที่ยอมก็ได้อยู่เรียนต่อ ส่วนคนที่ไม่ยอมก็ต้องลาออกไป เขาจะชอบใช้วิธีการ เรียกให้เด็กไปช่วยทำงานบ้าน แต่ให้ไปคนเดียว แล้วก็ลวนลามเด็ก" เพจ Red Skull เปิดเผยผ่าน X

เผย สั่งรอง ผอ.ออกนอกพื้นที่ - ตั้ง กก.สอบแล้ว รอผล

วันต่อมา (5 ม.ค.) คริษฐ์ ปานเนียม สส. จังหวัดตาก พรรคก้าวไกล ได้เปิดเผยเรื่องนี้บนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในโรงเรียนประจำที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตน โดยเบื้องต้นตนได้ประสานกับครูในโรงเรียนเพื่อเข้าไปสอบถามข้อเท็จจริง และได้เข้าพบผู้อำนวยการโรงเรียนเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าวชี้แจงว่า ขณะนี้ทางสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดโรงเรียนได้มีคำสั่งย้ายรองผู้อำนวยการผู้ถูกกล่าวหาออกนอกพื้นที่แล้ว และให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทันที ส่วนผลการสืบสวนจากทางผู้เกี่ยวข้องภายในโรงเรียนได้เสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงรอผลจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

คริษฐ์อธิบายเพิ่มเติมว่า คำสั่งโยกย้ายไม่ใช่การย้ายจากที่หนึ่งเพื่อไปดำรงตำแหน่งใหม่อีกที่หนึ่ง แต่เป็นการย้ายผู้ถูกกล่าวหาให้ออกจากโรงเรียนนั้นก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปยุ่งเกี่ยวกับนักเรียนผู้เสียหาย พยาน หรือหลักฐานที่อาจเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา

คริษฐ์ ปานเนียม

คริษฐ์ยังได้สอบถามผู้อำนวยการฯ ถึงข้อสงสัยจากการนำเสนอตามที่ปรากฏในข่าวว่าผู้อำนวยการจะรู้เห็นเป็นใจหรือมีส่วนช่วยเหลือให้รองผู้อำนวยการคนนี้รอดพ้นจากข้อกล่าวหาหรือไม่ ผู้อำนวยการฯ กล่าวว่า กรณีนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก และสังคมกำลังกดดันให้เปิดเผยความคืบหน้าของการสอบสวน แต่ตนจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและยืนยันว่าจะไม่มีการช่วยเหลือกันอย่างแน่นอน เพราะเรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมและความไว้วางใจต่อระบบการศึกษาไทยอย่างร้ายแรง 

สำหรับความคืบหน้าตามที่ผู้อำนวยการโรงเรียนชี้แจง คริษฐ์อธิบายว่ากรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการ กระบวนการสอบสวนและลงโทษจะมีทั้งทางวินัยและกฎหมาย ซึ่งการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นส่วนของวินัยทางราชการ แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้เสียหายมีความประสงค์จะเอาผิดทางกฎหมายด้วยก็สามารถทำควบคู่กันไปได้โดยไม่จำเป็นต้องรอกระบวนการสอบสวนทางวินัยราชการเสร็จสิ้น

แม้การสอบสวนข้อเท็จจริงจะยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ส้ม (นามสมมุติ) ผู้ปกครองหลานที่กำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งนั้นได้เผยว่า จากความพยายามสอบถามหลานถึงเรื่องที่เกิดขึ้นก็ได้อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ กระบวนการสอบสวนต้องการพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพราะเกรงว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่อาจไม่หนาแน่นพอที่จะเอาผิดรองผู้อำนวยการได้ แม้จะมีพยานหลักฐานพร้อมแต่ไม่มีใครกล้าออกมาเปิดเผย เพราะทางโรงเรียนได้กำชับทั้งครูและนักเรียนไม่ให้นำเรื่องดังกล่าวออกไปเผยแพร่สู่สังคมภายนอกไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ด้วยเกรงว่าหากกรณีเลวร้ายที่สุดหรือ (Worst-case scenario) ที่อาจเกิดขึ้นคือรองผู้อำนวยการคนดังกล่าวรอดพ้นจากข้อกล่าวหา เขาอาจกลับมาเล่นงานผู้เสียหายจนทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในโรงเรียน

โรงเรียนประจำ(นน) กับช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้างและนักเรียนเริ่มรู้จักสิทธิฯ

ประเด็นดังกล่าวจึงนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ สังคมโรงเรียนประจำที่ถูกพยายามนำไปซ่อนไว้ในมุมมืดจริงหรือไม่และเมื่อประเด็นนี้ถูกนำเสนอเป็นข่าวอีกครั้งก็ได้จุดประกายให้ศิษย์เก่าโรงเรียนประจำอีกหลายแห่งออกมาแชร์ประสบการณ์ถึงเรื่องนี้ว่าในอดีตได้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ฟง (นามสมมุติ) ศิษย์เก่าโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในจังหวัดน่านได้พูดถึงภาพรวมของสังคมโรงเรียนประจำที่เกิดขึ้นในสมัยที่ตนเรียนเมื่อ 10 ปีก่อนว่า สังคมโรงเรียนประจำเต็มไปด้วยอำนาจนิยมและความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ในรูปแบบการปกครองให้นักเรียนยำเกรงและหวาดกลัวต่อครู เมื่อนักเรียนถูกครูกระทำความรุนแรงจนอาจเกินเหตุไปในบางกรณี สมัยนั้นนักเรียนหรือแม้กระทั่งสังคมต่างจังหวัดยังไม่เข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร นักเรียนมีสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเรื่องไหนบ้าง ซึ่งโรงเรียนประจำส่วนใหญ่ในขณะนั้นยังไม่ได้มีการให้ความรู้เรื่องนี้อย่างชัดเจน ทำให้นักเรียนไม่รู้ว่าจะไปร้องเรียนใครได้ สุดท้ายก็ต้องนิ่งเงียบและยอมจำนนต่อการถูกกระทำที่เกิดขึ้น

ซัน (นามสมมุติ) ศิษย์เก่าโรงเรียนประจำอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดน่านได้เล่าประสบการณ์ที่ถูกกระทำความรุนแรงโดยครูในโรงเรียนว่า จริง ๆ เรื่องการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศมีอยู่ในโรงเรียนประจำมานานแล้ว เพียงแต่สังคมสมัยก่อนไม่ได้มีช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้างอย่างสมัยนี้ ซึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้นักเรียนในโรงเรียนประจำเริ่มมีข้อสงสัยต่อสังคมโรงเรียนประจำมากขึ้นคือ โรงเรียนเริ่มผ่อนปรนการใช้อุปกรณ์สื่อสารให้แก่เด็กนักเรียนมากขึ้น ซึ่งช่วงเวลานั้นตรงกับจังหวะที่พรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลเริ่มมีบทบาททางการเมือง นักเรียนเริ่มรู้จักว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร ความหลากหลายทางเพศคืออะไร การศึกษาที่ดีกว่าเดิมคืออะไร  

ซันยังเล่าต่อไปอีกว่า สมัยเรียนอยู่โรงเรียนนั้นก็เคยเป็นผู้ถูกกระทำและรับเรื่องร้องเรียนจากเพื่อนที่ถูกครูคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศเหมือนกัน ส่วนมากจะเป็นรูปแบบการส่งข้อความแชทมาให้ไปช่วยทำงานที่บ้านพักครูหรือให้ไปพบที่ห้องพักครูในช่วงนอกเวลาเรียนแล้วมักจะเกิดเหตุดังกล่าวโดยที่นักเรียนผู้นั้นก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าครูคนนี้จะเป็นแบบนี้ ซึ่งบางคนถูกกระทำมามากกว่า 1 ครั้งแต่เพิ่งตัดสินใจส่งเรื่องร้องเรียนด้วยเพราะมีเพื่อนโดนเหมือนกัน

ซันเคยส่งเรื่องร้องเรียนทั้งหมดไปยังสำนักงานการศึกษาต้นสังกัดของโรงเรียนนั้นก็ไม่เป็นผล ต่อมาได้ยื่นเรื่องไปยัง สส. พรรคการเมืองหนึ่งให้เอาไปพูดอภิปรายในสภาแต่ก็เงียบหาย ด้วยอาจเป็นเพราะประเด็นการถูกล่วงละเมิดทางเพศยังไม่ถูกพูดถึงในพื้นที่สาธารณะมากนัก

“การถูกทำให้เงียบหายไม่ได้เกิดจากแค่ปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในโรงเรียนที่ทำให้เรื่องคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศถูกนำไปซ่อนในมุมมืดจนเงียบหาย ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างข้อเสนอหรือข้อแลกเปลี่ยนโดยครูที่ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าตนกำลังถูกบีบให้ยอมจำนนต่อการกระทำของครูอย่างไม่มีทางเลือก เช่น ถ้าเธอยอมครู ครูจะให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ เหนือนักเรียนทั่วไป แต่ถ้าเธอไม่ยอม สิ่งที่เธอจะต้องได้รับอาจหมายถึงโอกาสและอนาคตต่อชีวิตการศึกษาของเธอ เป็นต้น ซึ่งนักเรียนบางคนต้องการยกระดับตัวเองในสังคมโรงเรียนประจำอยู่แล้ว แน่นอนว่าย่อมมีทั้งยินยอมด้วยความสมัครใจหรือจำใจปะปนกันไป เพราะเราเข้าใจว่าเป็นธรรมดาของมนุษย์ทุกคนที่ต้องการเอาตัวรอดในสังคมปิดแบบนี้”

ซันเล่าให้ฟังอีกว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนานมากจนเพื่อนหลายคนอาจลืมไปแล้ว แต่พอมีประเด็นข่าวนักเรียนถูกครูล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นอีกครั้ง ตนจึงกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า สมควรที่จะนำเรื่องทั้งหมดออกมาฟ้องร้องหรือไม่

“มันเป็นไปได้ยากที่ผมและเพื่อน ๆ จะได้รับความเป็นธรรมกลับคืนมาเพราะครูคนนั้นปัจจุบันย้ายไปสอนที่อื่นแล้ว แต่สิ่งที่ผมคาดหวังอย่างน้อยที่สุดคือ ได้สอนให้น้อง ๆ นักเรียนรุ่นหลังจากผมได้เรียนรู้และเข้าใจจากนอกห้องเรียน นอกหนังสือเรียนมากขึ้นว่า การปกป้องสิทธิของตัวเองคืออะไร” ซันกล่าว

ยังเอาผิดทั้งทางวินัยและอาญาได้ หวังเชื่อมโยงระหว่างผู้ถูกกระทำสร้างพลังส่งเสียง

กรณีการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนั้นเมื่อ 3 – 4 ปีก่อนจะยังสามารถกลับมาฟ้องร้องได้หรือไม่ ปารมี ไวจงเจริญ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อธิบายต่อข้อสงสัยดังกล่าวว่า ตามระเบียบราชการเมื่อเกิดเหตุขึ้นผู้เสียหายจะสามารถยื่นฟ้องทางวินัยได้ภายใน 3 เดือนนับจากวันเกิดเหตุ ซึ่งเหตุดังกล่าวได้เกินอายุความที่จะฟ้องร้องได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากผู้เสียหายยังยืนยันที่จะเอาเรื่องต่อครูผู้ถูกกล่าวหาจนถึงที่สุดก็มีอีกช่องทางหนึ่งคือ ไปสืบว่าครูคนนั้น ปัจจุบันไปสอนที่ไหน แล้วสืบไปอีกว่าครูคนดังกล่าวยังคงมีพฤติกรรมคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียนในโรงเรียนนั้นอีกหรือไม่ ถ้ายังมีก็สามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดทั้งทางวินัยและอาญาได้

ปารมี ไวจงเจริญ

ปารมีกล่าวสรุปว่า ปัญหาที่เด็กไม่กล้าออกมาร้องเรียนหรือเปิดเผยเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้นในโรงเรียน ส่วนหนึ่งมาจากการขาดการเชื่อมโยงระหว่างกันจากผู้ถูกกระทำเหมือนกัน ซึ่งตนเชื่อว่ายังมีนักเรียนหรือครูอีกหลายโรงเรียนที่พร้อมจะออกมาเผยเรื่องราวเหล่านี้ เพียงแต่ต้องอาศัย “พลัง” จากคนหลายคนรวมกันซึ่งจะทำให้เสียงดังจนเกิดผลสะเทือนต่อสังคมได้ดีกว่า

กรณีนี้จะจบลงอย่างไรต้องติดตามต่อไป แต่สิ่งที่กำลังสะท้อนให้เห็นจากปมถูกคุกคามทางเพศในโรงเรียนประจำคือ ครูและนักเรียนรับรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิในการได้รับการคุ้มครองต่าง ๆ ตามกฎหมายมากน้อยแค่ไหน หรือเมื่อเกิดเหตุถูกกระทำใด ๆ ทำไมผู้เสียหายเลือกที่จะร้องเรียนผ่านสื่อหรือ สส. ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนในแวดวงการศึกษาต้องร่วมกันหาทางแก้ไขเพื่อไม่ให้ปัญหาการถูกคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในสถานศึกษาอีก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net