Skip to main content
sharethis

รมช.คลัง เผย คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับสามารถออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท พร้อมตั้งข้อสังเกตในบางประเด็น ยันดิจิทัลวอลเล็ต เสร็จทัน พ.ค.นี้ เตรียมประชุม คกก.นโยบาย เพื่อวางแผนดำเนินการต่อ ขณะที่ ‘ศิริกัญญา’ เตือน 'รัฐบาล' กฤษฎีกายังไม่ได้ไฟเขียว แค่ชี้เงื่อนไขทางกฎหมาย

8 ม.ค.2567 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง กรณีที่กระทรวงการคลัง ได้ทำหนังสือสอบถามความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน พ.ศ...วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตตามนโยบายของรัฐบาล ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งหนังสือตอบกลับมาแล้ว ยืนยันว่าสามารถออก พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน พ.ศ...วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ โดยเป็นไปตามอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะออกกฎหมายกู้เงินดังกล่าวมาใช้ในโครงการ พร้อมกันนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตั้งข้อสังเกตในบางประเด็น เช่น การออกกฎหมายกู้เงินจะต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 และ มาตรา 57 รวมทั้งจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งประเด็นนี้ได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งคงจะต้องพิจารณาสิ่งที่จะเกิดต่อจากนี้ และต้องมีการประชุมคณะกรรมการนโยบาย เพื่อเชิญทุกฝ่ายมา รวมถึงเลขาธิการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการให้นำเสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้ทุกคนทราบถึงคำตอบ สรุปความเห็น และควรจะดำเนินการต่ออย่างไร จากนั้นคณะกรรมการฯจะต้องมีมติว่าจะดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ที่ทำได้ โดยยืนยันว่า กรอบเวลาจะต้องเป็นไปตามกรอบเดิม คือ เดือน พ.ค. ขณะนี้ยังไม่มีเหตุให้เลื่อน

ทั้งนี้ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เป็นประธาน เพื่อพิจารณาข้อหารือในประเด็นกฎหมายดังกล่าว โดยจะมีตัวแทนเลขาธิการกฤษฎีกาที่ร่วมเป็นคณะกรรมการมาพิจารณาตรวจข้อกฎหมาย สรุปข้อประชุม และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ามีข้อสังเกต และแนวทางการดำเนินการอย่างไร

ส่วนประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่นั้น รมช.คลัง กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา เพียงแต่พิจารณาว่าขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังหรือไม่ และข้อสังเกตว่าต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤตจนไม่สามารถตั้งงบประมาณปกติมาดำเนินการได้ รวมทั้งความคุ้มค่าของโครงการ ต้องมีการประเมินผลก่อนและหลัง และรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ที่ต้องดูว่าจะมีกลไกอย่างไร เพื่อให้ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หรือหน่วยงานใดเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะกรรมการชุดใหญ่ต้องพิจารณาต่อ

ด้าน 'ศิริกัญญา' เตือน 'รัฐบาล' กฤษฎีกายังไม่ได้ไฟเขียว แค่ชี้เงื่อนไขทางกฎหมาย

ขณะที่ มติชนออนไลน์ และไทยรัฐออนไลน์ รายงานตรงกันว่า ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นต่อ พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตกลับมาที่รัฐบาล ว่า หากจะมองว่ากฤษฎีกาไฟเขียว และหากตนเองเป็นข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็จะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เพราะสิ่งที่กฤษฎีกาบอกคือ หากโครงการนี้เป็นไปตามกฎหมาย มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 และมาตรา 9 ของวินัยการเงินการคลัง จะสามารถกระทำได้ แต่หากผิดเงื่อนไขเหล่านั้นก็ไม่สามารถกระทำได้

ศิริกัญญากล่าวต่อว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความตามข้อกฎหมายโดยตรง จึงขอฝากไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนว่า กฤษฎีกาให้นำเรื่องนี้กลับเข้ามาประชุมในคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตคณะใหญ่อีกครั้ง ซึ่งมีข้าราชการและผู้มีความรู้หลายท่าน จึงขอให้ระมัดระวังเรื่องการลงมติเกี่ยวกับ พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อให้กระทรวงการคลังกู้เงินด้วย โดยที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ชัดอะไรมาเลยว่าอะไรที่สามารถกระทำได้และไม่สามารถกระทำได้ สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลชุดใหญ่ ว่าการดำเนินการจะเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่

ศิริกัญญากล่าวด้วยว่า ตนยังรอคอยรายงานการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ เพราะเราไม่มีข้อมูลในเชิงลึก จึงได้แต่ตั้งคำถามจากประสบการณ์ที่ประเทศต่างๆ พยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ ซึ่งไม่ใช่วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด แต่อาจจะเป็นวิธีการที่เร็วที่สุด และไม่ได้คุ้มค่าต่อเม็ดเงินมากที่สุด ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นรายละเอียดอย่างครบถ้วนว่าโครงการมูลค่า 5 แสนล้านบาทจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไหร่

ต่อกรณีคำถามที่ว่าจากข้อสังเกตของฝ่ายค้าน รัฐบาลควรประเมินในเรื่องใดบ้างก่อนดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้นศิริกัญญากล่าวว่า สิ่งแรกคือต้องประเมินว่าสรุปแล้วประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ ซึ่งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้งว่านิยามของคำว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะต้องไปในแนวทางที่เห็นเด่นชัดว่าเป็นวิกฤตที่เหมือนกับวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือโควิด ซึ่งทุกคนเห็นเด่นชัดและไม่มีใครเถียง ดังนั้น จึงตกอยู่กับทางรัฐบาลแล้วว่าจะไปหากลวิธีอย่างใดเพื่อทำให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจดูวิกฤต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net