Skip to main content
sharethis

‘ภัทรพงษ์’ สส. พรรคก้าวไกล เชียงใหม่ ผิดหวังรัฐบาลจัดงบแก้ฝุ่นไม่สะท้อนความรุนแรงของปัญหา มีแต่คำพูด แต่ไม่ให้งบประมาณ แนะข้อเสนอ ‘แปลนตึก 5 ชั้น’ แก้ฝุ่นพิษทั้งโครงสร้าง คืนอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน  

 

4 ม.ค. 2567 ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. พรรคก้าวไกล เชียงใหม่ อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พูดถึงงบจัดการปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่แม้รัฐบาลจะยกให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่เมื่อดูในเอกสารงบประมาณ กลับน่าผิดหวัง เพราะไม่ได้สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหา ไม่ทำให้รู้สึกถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาตามที่พูดไว้

ภัทรพงษ์ระบุว่า เอกสารงบประมาณรายจ่าย เปรียบเสมือนการบอกภารกิจพร้อมตัวเลขงบประมาณที่รัฐบาลจะทำให้กับประชาชน เป็นหลักฐานพิสูจน์สิ่งที่นักการเมือง ผู้บริหารประเทศ หรือคณะรัฐมนตรีได้เคยพูด เคยแถลง เคยสัญญากับประชาชน คนจะพูด พูดอะไรก็ได้ แต่สิ่งเดียวที่โกหกประชาชนไม่ได้คือตัวเลขงบประมาณ

ตนเคยอภิปรายในวันแถลงนโยบายของนายกฯ เมื่อเดือนกันยายน 2566 ว่าปัญหานี้ ต้องแก้ทั้งโครงสร้าง โดยวันนั้นได้เปรียบเทียบเป็นการสร้างตึก 5 ชั้น ที่เริ่มตั้งแต่การวางฐานรากด้วยข้อกฎหมาย จากวันนั้นถึงวันนี้ พรรคก้าวไกลยื่นร่างกฎหมาย 4 ร่าง โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ที่จะมีส่วนช่วยทําให้ตึก 5 ชั้นตึกนี้มั่นคงได้

อย่างไรก็ตาม การสร้างชั้น 1-5 เพื่อแก้ไขปัญหานี้ทั้งโครงสร้าง ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารด้วย จึงจะขอสํารวจงบประมาณของรัฐบาล ดูว่าสิ่งที่รัฐบาลพูดไว้ มีอะไรบ้างที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ. งบฯ และมีอะไรบ้างที่พูดอย่างเดียวแต่ไม่คิดจะทำ

ชั้นที่ 1 สาธารณสุข

น่าผิดหวังมากที่งบประมาณสาธารณสุข มีโครงการเกี่ยวข้องกับประเด็น PM2.5 เพียงแค่ผิวเผินเท่านั้น แผนยุทธศาสตร์จัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม 298 ล้านบาท ฟังดูดี แต่เข้าไปดูในรายละเอียด 292 ล้านเป็นโครงการยกระดับโรงพยาบาล Green and Clean ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากฝุ่นพิษ ส่วนอีก 6.2 ล้านบาทเป็นของกรมอนามัยที่ปีนี้ตั้งเป้าจะลดจํานวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจให้ได้ 5% ซึ่งพอไปเจาะดูตัวเลขงบประมาณให้ละเอียดขึ้น ก็จะเหลือเพียง 2.8 ล้านบาทเท่านั้นที่เป็นโครงการเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษอากาศ เงิน 2.8 ล้านบาทนี้ เทียบเท่ากับโครงการจัดซื้อเครื่องวัดค่า PM2.5 และ PM10 เครื่องเดียว ที่จังหวัดสระบุรี กับวิกฤตที่กระทบสุขภาพ และพรากชีวิตคนที่เรารักไป รัฐบาลจัดงบได้แค่นี้หรือ

ทั้งที่ปัญหานี้มีความรุนแรง ข้อมูลจากกรมการแพทย์ อัตราส่วนโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดอยู่ในภาคเหนือ ปี 2556-2560 ตัวเลขของมะเร็งปอดอยู่อันดับ 2 ของทั้งเพศชายและหญิง แต่เมื่อเทียบกับภาคอื่น พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ภาคเหนือนําห่าง

ทั้งที่เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรผู้สูบบุหรี่ ภาคเหนือมีอัตราผู้สูบบุหรี่น้อยที่สุดในประเทศ จากข้อมูลทั้งหมดแสดงว่า ผู้ชายภาคเหนือมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าภาคอื่นๆ 1.4 เท่าและผู้หญิงภาคเหนือก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าที่อื่นๆ ถึง 1.7 เท่า ทั้งๆ ที่ตัวเลขผู้สูบบุหรี่ในภาคเหนือ มีน้อยกว่าตัวเลขผู้สูบทั่วประเทศถึง 10%

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ภาคเหนือ ในปี 2566 มียอดผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจทั้งประเทศอยู่ที่ 6,826,577 คน กว่าครึ่งของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งเกินค่ามาตรฐาน

“ประชาชนเขาไม่ต้องดูตัวเลขพวกนี้ เพราะพวกเขาเจอปัญหานี้ด้วยตัวเองกันไปแล้ว แต่รัฐบาลต้องเข้าใจตัวเลขพวกนี้ก่อน ถึงจะจัดงบประมาณไปแก้ปัญหาได้ ท่านจัดงบมาแบบนี้ อดสงสัยไม่ได้ว่า ท่านเข้าใจปัญหาของประชาชนบ้างหรือเปล่า เปลี่ยนจากดูแลปัญหาปากท้อง มาดูแลปอดของประชาชนบ้างได้ไหม” ภัทรพงษ์ กล่าว

เมื่อมาดูว่า ครม. มีแนวทางอย่างไรในด้านนี้บ้าง หนึ่ง ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำห้องปลอดฝุ่น แต่งบ 67 ไม่มี งบปี 65 ปี 66 ก็ไม่มี ในอดีตมีเพียงการใช้งบจาก สสส. องค์การอนามัยโลก และการรณรงค์ให้ภาคประชาชนเข้าร่วมโครงการแบบอาสาเท่านั้น ตัวเลขยอดรวมปัจจุบัน กรมอนามัยแจ้งไว้ที่ 1,178 แห่ง แต่เมื่อเช้านี้ผมเข้าเว็บไซต์กรมอนามัยยังขึ้นโชว์ที่จังหวัดเชียงใหม่เพียง 4 จุดเท่านั้น

สอง ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ งบประมาณไม่เห็นเช่นเคย ทุกวันนี้เห็นแต่เครือข่ายมลพิษออนไลน์ที่จะช่วยประเมินสุขภาพพร้อมให้คำแนะนําผ่าน LINE official แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงระบบออนไลน์ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเสริมมาตรการออนกราวน์ โดย อสม. เข้าไปด้วย โดยทั้งหมดต้องเตรียมงบประมาณในการแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ และจัดงบประมาณการเฝ้าระวังโรคและสุขภาพในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 อย่างรุนแรง เหมือนที่รัฐบาลจัดโครงการลักษณะเดียวกันนี้กับเขตพื้นที่ EEC ที่ไม่ได้มีความรุนแรงขนาดภาคเหนือด้วยซ้ำ

นี่คือข้อเสนอแนะแนวทางเพื่อทําให้ชั้นสาธารณสุขนี้เกิดประโยชน์สูงสุดจากงบประมาณของรัฐบาล สะท้อนปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

ชั้นที่ 2 ไฟเกษตร

ตนตั้งความหวังไว้สูงมาก เพราะ รมว.เกษตรฯ เป็นอดีตประธาน กมธ.วิสามัญการแก้ปัญหา PM2.5 อย่างเป็นระบบ ซึ่งในผลการศึกษาของ กมธ. ชุดนั้น ชัดเจนว่ารัฐต้องมีนโยบายเพิ่มแรงจูงใจและมาตรการควบคุมการลดการเผาในด้านการเกษตรที่ชัดเจน

เมื่อมาดูงบปี 67 มีโครงการสำหรับพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือที่เจอปัญหาฝุ่นพิษอย่างรุนแรงมาตลอด วงเงิน 15.12 ล้านบาท เพื่อลดการเผามาทําปุ๋ยหมัก โดยมีเป้าหมายว่าจะลดการเผาภาคการเกษตรในพื้นที่ 21,000 ไร่ ในขณะที่ ครม. วางเป้าหมายว่าจะลดการเผาพื้นที่เกษตรลงร้อยละ 50

พอมาดูข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ภาคการเกษตรทั้งหมดของ 9 จังหวัดภาคเหนือ อ้างอิงจาก GISTDA ปี 2566 ตัวเลขอยู่ที่ 237,867 ไร่ เพราะฉะนั้นโครงการนี้ตั้งเป้างบประมาณที่มุ่งเป้าเพียงแค่ 2 หมื่นต่อ 2 แสน หรือ 10% เท่านั้น และไม่เห็นโครงการอื่นที่มีเป้าหมายเช่นนี้แล้ว

นั่นหมายความว่า ที่พูดไว้ว่าจะลดการเผาหลักแสนไร่ แต่ตั้งงบมาแค่สองหมื่นไร่ ทำไมมันไม่เหมือนที่คุยกันไว้ แม้จะบอกว่า เรามีโครงการส่งเสริมการหยุดเผา 9.7 ล้านบาท และมีโครงการเฝ้าระวังการเผาซากพืชอีก 7 ล้านบาท แต่ 2 โครงการนี้ตั้งงบเท่ากับปี 66 เป๊ะ และงบกว่า 3 ใน 4 ค่อนไปที่การอบรมสัมมนาอย่างเดียว

ที่ประชุม ครม. ยังพูดไว้อีกหนึ่งประเด็น คือระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผา งบ 4.5 ล้านบาทเท่านั้น น้อยกว่างบประมาณโครงการกว๊านพะเยาหลาย ๆ โครงการเสียอีก

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของ กมธ. ที่ รมว.เกษตรฯ เคยนั่งเป็นประธาน ยังมีผลการศึกษาว่า ธ.ก.ส. ต้องมีมาตรการการจูงใจเกษตรกรให้ไม่เผาด้วย แต่เมื่อดูงบประมาณ ธ.ก.ส. ด้านนี้ โครงการอุดหนุนเกษตรกรชาวสวนอ้อยไม่เผา 442 ล้านบาท ดูรายละเอียดแล้วเป็นการจ่ายย้อนหลังให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปี 63 และ 64

อีกหนึ่งต้นเหตุของไฟเกษตร คือข้าวโพดอาหารสัตว์ ไม่มีงบประมาณสักบาทเดียว ทั้งที่อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรพูดเอง ว่าเราต้องทําระบบกําหนดเขตที่ดินสําหรับข้าวโพดอาหารสัตว์ภายใต้มาตรการเขตเกษตรเศรษฐกิจ จัดทําโครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงทั้งหมด ทําการเกษตรแบบไม่เผา แล้วทําระบบรับรองสินค้าการเกษตรแบบไม่เผาด้วย

“ที่ท่านอธิบดีพูด มาถูกต้องทุกอย่าง แต่พูดอย่างเดียว ไม่มีในงบประมาณเลย” ภัทรพงษ์ กล่าว

งบประมาณจัดทำมาตรฐาน GAP ก็ไม่ต่างอะไรกับปี 66 หนําซ้ํางบประมาณกระทรวงเกษตรฯ ก็ถูกปรับลดจาก 1.26 แสนล้านบาท เป็น 1.18 แสนล้านบาท

“ท่านนายกฯ ผมทราบว่าท่านลงไปมอบนโยบายให้กรมต่างๆในกระทรวงเกษตรฯ จัดการปัญหา PM2.5 ที่ต้นตอ มีแต่คําสั่งมา แต่เงินไม่มี วิกฤตแบบไหน ท่านจึงจัดงบแบบนี้” ภัทรพงษ์ กล่าว

ชั้นที่ 3 ไฟป่า

ปีนี้เราเห็นงบประมาณด้านไฟป่าเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีความชัดเจนในหลายๆ ด้าน ทั้งที่เรามีข้อมูล มีความรู้หมด

ยกตัวอย่างข้อมูลทางดาวเทียม พฤติกรรมพื้นที่เผาไหม้รายเดือนตั้งแต่ปี 2563-2566 ของภาคเหนือ ระบุอย่างชัดเจนว่าไฟป่ามักเริ่มต้นจากจังหวัดตาก มาที่ลําพูนและเชียงใหม่ตอนใต้ พื้นที่เผาไหม้สะสมของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 63 และ 66 ก็แสดงพื้นที่เฝ้าระวังให้เราอย่างชัดเจน ว่าจุดไหนหนักหรือเบา แต่ทำไมเราทำอะไรกับมันไม่ได้ ทำไมไม่เคยมี action plan ที่ต่อเนื่องและจริงจัง

อีกทั้งสิ่งที่เป็นปัญหาหลักของไฟป่ามาตลอด คืองบประมาณจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการดับไฟ

ป่าให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ตรงนี้ก็ยังไม่ชัดเจน

- งบประมาณ 80.8 ล้านบาทในการเพิ่มจุดเฝ้าระวังไฟป่า 1,000 จุดในเขตพื้นที่อุทยาน ก็ยังคลุมเครือว่า 80,000 บาทต่อจุดนั้น เป็นการจัดทำระบบ sensor หรือระบบการตั้งหน่วยของอาสาสมัคร

- งบสำหรับโดรนตรวจจับความร้อนเพื่อช่วยในการระบุตำแหน่งของไฟที่ชัดเจนให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดับไฟได้อย่างถูกจุด ก็ยังไม่เห็นในรายละเอียด

แต่สิ่งที่ตนผิดหวังมากที่สุด คืองบประมาณยังคงกระจุกที่ส่วนกลาง ไม่ได้กระจายมายังคนที่อยู่ใกล้ปัญหามากที่สุด นั่นก็คือท้องถิ่น

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นของบในการป้องกันและจัดการไฟป่าไปทั้งหมด 1,709 ล้านบาท สำหรับ อปท. 2,368 แห่ง แต่กลับได้งบมา 50 ล้านบาทเท่านั้น ตัวเลขนี้ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้วเลย งบห้องปลอดฝุ่นก็ไม่มีให้ท้องถิ่น งบไฟป่าก็ไม่มีอีก ท้องถิ่นในพื้นที่ป่าก็มีงบประมาณต่อปีน้อยอยู่แล้ว จะเอางบประมาณที่ไหนมาจัดการปัญหานี้

“ท่านนายกฯ จะให้นักการเมืองท้องถิ่นต้องควักกระเป๋ากันเอง เพื่อหาทุนมาดับไฟป่าอย่างนั้นหรือ” ภัทรพงษ์ กล่าว

อ้างอิงจาก GISTDA พื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนที่เผาไหม้ในปี 2566 ของเชียงใหม่จังหวัดเดียวอยู่ที่ 1 ล้านไร่ แม่ฮ่องสอน 1.7 ล้านไร่ กี่ปีต่อกี่ปีมาแล้วที่เราเห็นว่าเจ้าหน้าที่กรมอุทยานและกรมป่าไม้ มีไม่เพียงพอต่อการดับไฟป่า และหลายครั้งก็ไม่สามารถเข้าถึงจุดดับไฟได้ไวเท่ากับคนในพื้นที่

“ผมหวังว่าเราจะไม่ได้เห็นพี่น้องของเราที่เข้าไปดับไฟ โดยที่ไม่ได้รับอุปกรณ์การป้องกันใดๆ จากงบประมาณของรัฐบาล ขอให้ท่านนายกชี้แจงให้ท้องถิ่นทั่วประเทศได้ฟัง ว่าทําไมท่านถึงตัดงบท้องถิ่นลงเยอะขนาดนั้น และทําไมเราจึงไม่สามารถจัดสรรงบประมาณด้านไฟป่าให้คนที่อยู่ใกล้ปัญหามากที่สุดได้” ภัทรพงษ์ กล่าว

ชั้นที่ 4 การแจ้งเตือนและการเก็บข้อมูล  

เพื่อสามารถพยากรณ์ค่า PM2.5 ล่วงหน้าได้แม่นยํามากขึ้น จําเป็นต้องมีเครื่องวัดระดับความสูงชั้น PBL หรือชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้ผิวโลก ชั้นบรรยากาศนี้คือชั้นที่มลพิษไม่สามารถผ่านได้ ทําให้หากชั้นบรรยากาศนี้ต่ำลงเท่าไร ความหนาแน่นของฝุ่นละอองก็จะมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เราได้เห็นสิ่งนี้ในงบประมาณรายจ่ายเสียที

แต่สิ่งที่ผิดหวังคือในงบ 67 นี้ กลับมีโครงการเพียงแค่ กทม. ที่เดียวเท่านั้น และในแผนงบประมาณผูกพันปี 67-68 วงเงิน 127 ล้านบาท จะทําได้แค่ 3 ที่ คือ เชียงใหม่ สงขลา และ กทม. 

ในส่วนการแจ้งเตือน ได้เห็นงบประมาณการแจ้งเตือนผ่านสัญญาณโทรศัพท์ 135 ล้านบาทของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งคาดว่าจะเป็นการทำ Cell broadcast entity เพื่อจัดการข้อมูลเตือนภัยและส่งข้อความไปยัง cell broadcast center ซึ่งตรงนี้ตนยังไม่เห็นในเอกสารงบประมาณฉบับนี้

ดังนั้นขอแนะนําให้กระทรวงดิจิทัลฯ  ใช้งบการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation) ของ กสทช. จัดทําไปเลย เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยด้วยระบบ cell broadcast สามารถเริ่มต้นได้ก่อนปี 2568 เรื่องนี้ขอฝากทางกระทรวงมหาดไทยไปยังกรม ปภ. เพราะปัจจุบันแค่ app thai disaster alert ยังแจ้งเตือนกันไม่ได้

เพราะฉะนั้นถ้ายังเป็นแบบนี้ ต่อให้มีเทคโนโลยี เราก็ไม่มีข้อมูลไปแจ้งเตือนประชาชน

นอกจากนี้ ขอเสนอแนะเพิ่มเติมคือการใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมเพื่อประเมินปริมาณใบไม้ร่วง จะทําให้เราประเมินถูกว่าในพื้นที่ไหนมีใบไม้แห้งที่เป็นเชื้อเพลิงมากหรือน้อย และทําให้เราสามารถวางแผนจัดทําแนวกันไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะจากข้อมูลทางดาวเทียม มีแนวกันไฟหลายแนวที่ทําขึ้นมาโดยอ้างอิงจากข้อมูลในอดีต ทําให้เสียทั้งแรงกายและงบประมาณ แต่หากนําเทคโนโลยีมาใช้ประมวลผล จะใช้งบประมาณในการทําแนวกันไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกส่วนหนึ่งที่ช่วยดับไฟตั้งแต่ต้นลม คือ sensor detect ไฟป่า เคยมีงานวิจัยไปทดลองที่ลําพูนมาแล้วว่าการแจ้งเตือนไฟป่าให้คนในพื้นที่เข้าไปดับได้ตั้งแต่แรกเริ่มนั้น จะสามารถลดความรุนแรงและการลุกลามของไฟได้ ทั้งหมดนี้คือเหตุผล ว่าทําไมเราถึงต้องกระจายงบประมาณในการดับไฟไปยังคนที่อยู่ใกล้ปัญหาอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ชั้นที่ 5 ศูนย์บัญชาการ  

คำถามถึงรัฐบาล คือในปีนี้ รัฐบาลจะแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นพิษให้ประชาชนด้วยวิธีใด และเกณฑ์การแจ้งเตือนอยู่ที่เท่าไร

นอกจากนี้ในส่วนระหว่างประเทศ หรือฝุ่นพิษข้ามพรมแดน กระทรวงการต่างประเทศตั้งเป้าลดความเสี่ยงผลกระทบจากภัยธรรมชาติและจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยงบประมาณ 797.5 ล้านบาท แต่ไม่บอกรายละเอียดอะไรเลย มีเพียงแค่ 2 ตัวชี้วัดลอยๆ ก็คือข้อเสนอของไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ 80% และความสําเร็จของไทยในการจัดหารือสัมมนา ตลอดจนพัฒนามาตรฐานภายในประเทศให้เป็นสากล 70%

“ขอถาม รมว.ต่างประเทศ ว่าท่านจัดงบประมาณตรงนี้มาเพื่ออะไร ต่อให้เราผ่านตัวชี้วัดทั้งสองตัวนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราสามารถลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศได้เลย” ภัทรพงษ์ กล่าว

จากการประชุม ครม. มีมติให้กระทรวงต่างประเทศดําเนินการเจรจาประเทศเพื่อนบ้านตามกลยุทธ์ฟ้าใสหรือว่า CLEAR sky strategy ที่เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ไม่เคยเห็นผลลัพธ์แม้แต่ตัวอักษรเดียว

ตนจึงขอเสนอแบบนี้

- C commitment ดําเนินการตามข้อตกลงอาเซียน เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านแล้วตั้งเป้าหมายจํานวนจุดความร้อนในปี 2567 และ 2568 ให้ชัดเจน

- L Leverage ใช้ข้อตกลง ASEAN ไม่ว่าจะเป็นหมอกควันข้ามแดนหรือ ATIGA ในการต่อรองแก้ไขประกาศการนําเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านให้เอื้อกับประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ประโยชน์ของนายทุน และกําหนดมาตรฐานของหนังสือรับรองสินค้าว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่วมกันใหม่ให้ชัดเจนในด้านการเผาหรือการก่อให้เกิดฝุ่นพิษ

- E experience sharing แลกเปลี่ยนการฝึกอบรมอาสาระหว่างประเทศ ทําอาสาข้ามพรมแดน

- A air quality network ทําฐานข้อมูลให้ครอบคลุมเครือข่ายประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อช่วยในระบบการแจ้งเตือนในพื้นที่ชายแดนและการลุกลามของไฟในแนวเขตป่าติดต่อระหว่างประเทศ

- R response รับมือกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนโดยการลงทุน sensor ตรวจไฟป่า สนับสนุนงบประมาณช่วยประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผา และนําส่วนนี้เข้าไปเพิ่มน้ําหนักในการต่อรอง เป็น leverage ในชั้นตัว L อีกทางหนึ่ง

หวังรัฐบาลนำข้อเสนอไปพิจารณาแก้ไข

จากเอกสารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่นายกฯ ยกให้เป็นวาระแห่งชาติ สิ่งที่เราได้เห็น คือ

- งบประมาณรายจ่ายด้านสาธารณสุข ที่จัดมาโดยไม่ได้สะท้อนถึงวิกฤตปัญหา

- งบไฟเกษตรที่มีแต่คําพูด แต่กลับไม่มีเงิน

- งบไฟป่าที่ยังคงกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ไม่ได้กระจายสู่ท้องถิ่น ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลชุดที่

แล้ว

- งบการพยากรณ์และการแจ้งเตือนที่ทําให้เรายังวิ่งตามเทคโนโลยีมาตรฐานสากลไม่ทัน

และติดขัดในภาคปฏิบัติ

- งบการบัญชาการ ที่นอกจากจะไม่ได้กระจายอํานาจแล้ว งบฝุ่นพิษข้ามแดนก็ยังคลุมเครือ

 

จึงหวังว่าวันนี้ รัฐบาลจะนําสิ่งที่ตนอภิปรายเสนอแนะไปพิจารณาแก้ไข เพราะถ้าจะจัดงบกันแบบนี้ ทางแก้มีทางเดียวคือต้องจุดธูปขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภาวนาให้ธรรมชาติ ทุเลาเบาบางไปกว่าเดิม ถ้าธรรมชาติปรานี ประชาชนก็พ้นภัย แล้วก็ต้องสวดมนต์อ้อนวอนให้ประเทศเพื่อนบ้านเลิกเผาด้วย แต่ก็ไม่รู้จะเลิกหรือไม่ เพราะทุกวันนี้รัฐยังไม่มีมาตรการใดๆ กับการนําเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ที่มีที่มาจากการเผาเลย

ส่วนนี้ขอให้ รมว.พาณิชย์ เร่งดําเนินการพิจารณาตามข้อเสนอแนะที่ตนเสนอผ่านกระทู้สดไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาด้วย

ของขวัญที่ประชาชนอยากได้ คืออากาศบริสุทธิ์

ในอีกไม่กี่สัปดาห์ เราจะเจอกับปัญหา PM2.5 ที่รุนแรงอีกครั้ง จะรอดูว่าประชาชนพอจะมีความหวังกับการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ได้หรือไม่ ประชาชนภาคเหนือกําลังรอตัดสินท่านอยู่ ตนและพรรคก้าวไกลจะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด และหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่ให้ความสนใจกับประเด็นนี้เพียงแค่ช่วงที่มีปัญหา แต่พอฝุ่นเบาบางลง ก็ปล่อยปละละเลยไม่วางแผนเตรียมการใดๆ อย่างเช่นที่ผ่านมา

“ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ปี 2567 นี้ ของขวัญที่ประชาชนอยากได้จากท่านคงไม่ใช่คําอวยพร หรือคํามั่นสัญญาใดๆ แต่ของขวัญที่ประชาชนอยากได้ คืออากาศบริสุทธิ์ที่พวกเขาสามารถหายใจได้ เด็กๆ ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านได้ และเราไม่ต้องยิ้มให้กันภายใต้หน้ากากอนามัย ขอแค่เท่านี้ มอบให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน” ภัทรพงษ์ กล่าว

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net