Skip to main content
sharethis

นักวิชาการมองทิศทางการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ 2567 กระเตื้องขึ้น ส่งออกเริ่มเป็นบวก นำเข้าฟื้นตัวแรง ดอกเบี้ยเริ่มขาลง งบ 2567 ขาดดุลลดลง หนี้สาธารณะต่อจีดีพีดีขึ้น สอดคล้อง 13 หมุดหมายภายใต้แผน 13 ตอบสนองทุกช่วงวัย - ห่วง “ช่องว่างทางดิจิทัล” จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลง

31 ธ.ค. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการ นโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศปี พ.ศ. 2567 หรือ ค.ศ. 2024 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสสี่ปี 66  อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกเริ่มเป็นบวก ราคาสินค้าส่งออกหลายประเภทโดยเฉพาะอาหารเพิ่มขึ้น อัตราการขยายของการนำเข้าฟื้นตัวแรงในเดือนพฤศจิกายน และมีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นถึง 23.9% ภาวะการนำเข้าดังกล่าวสะท้อนภาคการลงทุนเติบโตแข็งแกร่งในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า 

คาดว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกปี พ.ศ. 2567 น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.5-4.5% จากการที่ปริมาณการค้าโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 2.8-3.5% (จากการคาดการณ์ของ ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และองค์การการค้าโลก) อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกของไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่แม้นตัวเลขเดือนพฤศจิกายนสินค้าส่งออกปรับตัวดีขึ้นทุกกลุ่ม การที่มีขยายตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมาเป็นปัจจัยเรื่องฐานต่ำเป็นหลัก โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนเติบโตกว่า 4.9% YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเทียบกับการติดลบกว่า -5.6% ของเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 การแบ่งขั้วของเศรษฐกิจโลกมีความรุนแรงลดลง แต่การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาทำให้รูปแบบ ทิศทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศและระบบห่วงโซ่การผลิตของโลกเปลี่ยนแปลงไป นโยบายเปิดเสรีมีความไม่แน่นอนมากขึ้น การหลอมรวมหรือ เกิด Divergence ทางด้านการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศพันธมิตรความร่วมมือในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น แม้นในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากจีนลงตามลำดับ ลดการนำเข้าจากจีนเมื่อเทียบกับการนำเข้าทั้งหมดจากต่างประเทศลงเหลือประมาณ 16% แต่สัดส่วนนี้จะไม่ได้ลดลงจากระดับนี้มากนักเมื่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศดีขึ้น สหรัฐอเมริกามีการลดการลงทุนโครงการใหม่ๆในจีนลงโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ อาเซียนจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนของบรรษัทข้ามชาติสัญชาติตะวันตก ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออกและนำเข้าในห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบจากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ แม้นผลกระทบนี้จะเบาลงในปี พ.ศ. 2567 แต่กระแสการเคลื่อนย้ายการลงทุนและการผลิตยังคงเกิดขึ้น เป็นโอกาสของไทยในการดึงดูดการลงทุนหากไทยมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะระบบการศึกษาและวิจัยที่มีคุณภาพ และ ระบบความเป็นสถาบันของกฎหมายและความยุติธรรม            
             
ภาวะดอกเบี้ยเริ่มขาลงทั้งดอกเบี้ยภายในประเทศและดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาที่อาจจะเริ่มเห็นสัญญาณของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสสองปีหน้าน่าจะทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกคึกคักขึ้น ทิศทางการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจะทำให้ “ทองคำ” และ “คริปโตเคอร์เรนซี่” ยังคงได้รับสนใจในฐานะสินทรัพย์เพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น  

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า งบ 2567 ขาดดุลลดลงจากระดับ สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพี 3.83% มาอยู่ที่ 3.63%  หนี้สาธารณะต่อจีดีพีดีขึ้น นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยต้องเติบโตตามเป้าหมายที่ระดับ 5.4% จะสามารถทำให้ประมาณการรายรับเป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 2.787 ล้านล้านบาท สอดคล้อง 13 หมุดหมายภายใต้แผน 13 อันประกอบไปด้วย 1. ประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 2. ท่องเที่ยวเน้นคุณภาพและความยั่งยืน 3. ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลก ตอบสนองทุกช่วงวัย 4. ศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5. ประตูการค้าและยุทธศาสตร์โลจีสติกส์  6. ฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 7. SMEs ศักยภาพสูง แข่งขันได้ 8. เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน 9. มีความยากจนข้ามรุ่นลดลง ความคุ้มครองทางสังคมเพียงพอ 10. เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11. ลดความเสี่ยงจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 12. กำลังคนสมรรถนะสูงตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต 13. ภาครัฐทันสมัย มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ประชาชน  

ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นมีลักษณะเป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมผ่านการแบ่งปัน (Sharing) และผ่านแนวคิดสังคมเครือข่ายความร่วมมือ (Collectivism) แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจแบ่งปันผ่านแนวคิดเครือข่ายความร่วมมือคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี  2567 วิกิพีเดีย (Wikipedia) เป็นตัวอย่างอย่างชัดเจนถึงแนวคิดแบ่งปันและแนวคิดสังคมเครือข่ายความร่วมมือ วิกีพีเดียเป็นชุดข้อมูลเอกสารเป็นแหล่งความรู้ที่ผู้คนช่วยกันสร้างขึ้นมา ใครก็ได้และทุกคนสามารถเขียน เพิ่ม แก้ไข หรือปรับเปลี่ยนข้อความได้ วาร์ด คันนิงแฮม (Ward Cunningham) ผู้สร้างวิกิพีเดียซึ่งเป็นเว็บระบบทำงานร่วมกัน (Collaborative) มีสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons) เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายและเกื้อหนุนให้ผู้คนยินยอมให้ใช้สิทธิ์ในรูปภาพ ข้อความ หรือผลงานเพลงของตัวเองและดัดแปลงแก้ไขได้อย่างถูกกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตอีก พูดอีกอย่างก็คือ การแบ่งปันเนื้อหาและการแจกจ่ายตัวอย่างเนื้อหาเป็นตัวเลือกใหม่ในการตั้งค่ามาตรฐาน การขยายตัวของเว็บไซต์แบ่งปันไฟล์งานเกิดขึ้นมากมายหลังการเกิดขึ้นของ วิกิพีเดีย เช่น ทอร์ หรือ TOR (The Onion Router), เรดดิต (Reddit), พินเทอเรสต์ (Pinterest), ทัมเบลอร์ (Tumblr) เป็นต้น เว็บไซต์เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวกรองด้วยความร่วมมือกันจากผู้ใช้เพื่อส่งเสริมสิ่งใดก็ตามที่ดีที่สุดในขณะนั้น เกือบทุกวันจะมีบริษัทเปิดใหม่สักแห่งหนึ่งออกมาแนะนำแนวทางใหม่ๆอย่างภูมิใจที่จะนำพลังจากความร่วมมือของชุมชนออนไลน์มาใช้ประโยชน์ การพัฒนาเหล่านี้แสดงให้เห็นทิศทางที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่ “สังคมนิยม” และ “สังคมเครือข่าย”  Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ได้เสนอยุทธศาสตร์เกี่ยวกับหลักการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circularity and Decoupling) แนวคิดหลัก ๆ ของเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการนำของเสียวนเข้ากลับมาในวัฏจักรการผลิตเพื่อนำไปสู่การบริโภคหรือการบริการ แนวคิด Decouple เริ่มเป็นที่ถูกพูดถึงเพราะโลกมีแนวโน้มประชากรที่เพิ่มขึ้นหากอ้างอิงจากเว็บไซต์ worldometers.info ซึ่งรวมข้อมูลการเกิดและการตายของประชากรทั่วโลก โดยในปี ค.ศ. 2021 มีจำนวนประมาณ 7,800 ล้านกว่าคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีหลังๆ ซึ่งการที่ประชากรในโลกเพิ่มขึ้นนำมาสู่การบริโภคและการผลิตที่มากขึ้นส่งผลมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น เมื่อมีการผลิตสินค้าที่มากขึ้นจะนำไปซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เช่น จำนวนขยะพลาสติกทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้น 8.3 พันล้านตันตั้งแต่ช่วงต้น ค.ศ.1950 ระดับของ Decoupling สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับด้วยกัน 1. Absolute decoupling ซึ่งคือระดับของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ในขณะที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมลดลง 2. Relative decoupling ซึ่งคือระดับของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น มากกว่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น

สังคมนิยมแบบดิจิทัลโดยใช้เศรษฐกิจแบบเครือข่ายแบ่งปันกันนั้นต่างจากระบบสังคมนิยมที่ใช้การสั่งการโดยรัฐบาลแบบบนลงล่างที่มีลักษณะแบบวางแผนจากศูนย์กลาง มีลักษณะที่เราเรียกว่า Centralized and Command Economy แต่สังคมนิยมแบบดิจิทัลเป็นระบบเศรษฐกิจแบบกระจายศูนย์ (Distributed and Decentralized Economy) สังคมนิยมแบบดิจิทัลจึงมีรากฐานจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้พรมแดน หน่วยเศรษฐกิจหรือผู้คนสามารถประสานความร่วมมือกันได้อย่างเหนียวแน่น การสื่อสารและการทำงานแบบเครือข่ายก่อให้เกิดสังคมแบบกระจายศูนย์แบบสุดขั้ว แทนที่จะใช้การรวบรวมผลผลิตในระบบนารวมแบบในประเทศสหภาพโซเวียตหรือประเทศจีนในสมัยเหมา เจ๋อ ตุง ก็ใช้เทคโนโลยีรวบรวมผลงานของทุกคนผ่านเครือข่ายทางด้านไอทีที่เชื่อมโยงกัน สามารถแบ่งปันข้อมูล ผลงานต่างๆกันได้ เป็นลักษณะการทำงานโดยหน่วยย่อยโดยกลุ่มคนรวมตัวกันเป็นชุมชนจัดการบริหารและจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันที่เราอาจเรียกว่าเป็น Peer Production เมื่อผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นทุน แรงงาน ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดประกอบการ เครื่องจักรอุปกรณ์หรือที่ดิน พยายามทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันและแบ่งปันผลผลิตกันจนเป็นภาวะปรกติในระบบเศรษฐกิจ และพร้อมร่วมแรงร่วมใจในการไม่รับตอบแทนจากปัจจัยการผลิตหรือค่าจ้าง พร้อมกับพอใจกับสิ่งที่ตัวเองได้รับตอบแทนโดยไม่ต้องจ่ายเงิน เราย่อมเรียกระบบเศรษฐกิจดังกล่าวว่า มีลักษณะความเป็นสังคมนิยมอยู่แต่เป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบดิจิทัล ซึ่งนักวิชาการบางท่านเรียกว่า เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน นั่นเอง ในโลกสังคมออนไลน์นั้นผู้คนต่างแบ่งปันข้อมูล ข่าวสาร ภาพถ่ายกันมากมาย นอกจากนี้ยังมีโพสต์อัปเดตสถานะ การระบุตำแหน่งบนแผนที่ มีคลิปวิดิโอมากมายที่ถูกโพสต์ในยูทูบ เราเห็นเนื้อหาต่างๆถูกแบ่งปันเกิดขึ้นโดยทั่วไปอันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบดิจิทัล 

การแบ่งปันของชุมชนออนไลน์สามารถปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ต่างๆได้เหมือนเป็นการร่วมกันทำงาน (Cooperation)  เว็บไซต์อย่าง เรดดิต และ ทวิตเตอร์ อาจสร้างการชี้นำความคิดของประชาชนได้มากกว่าหนังสือพิมพ์หรือสถานีโทรทัศน์ขนาดใหญ่ โลกออนไลน์ในระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล เครือข่ายที่ทำงานร่วมกันย่อมได้รับผลลัพธ์ที่ดีกว่าผลงานที่ต่างคนต่างทำ การร่วมกันทำงานแบบเครือข่ายออนไลน์นั้นเป็นการทำงานข้ามพรมแดนรัฐชาติและมีลักษณะเป็นนานาชาติ 

ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมเครือข่ายความร่วมมือ (Collectivism) และ ประสานความร่วมมือเชิงลึก (Collaboration) ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทำให้การแบ่งปันในระบบเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นในขอบเขตกว้างขวางและขยายตัวอย่างก้าวกระโดดผ่านสังคมเครือข่ายความร่วมมือ มีคนมาช่วยกันทำงานเป็นกลุ่มทางออนไลน์มากมาย ยกตัวอย่างเช่น วิกิพีเดียก็มีผู้ใช้ลงทะเบียนเกือบ 25 ล้านคนเข้ามาช่วยสร้างเนื้อหาโดยมีผู้เขียนประจำอยู่มากกว่า 150,000 ราย อินสตาแกรมมีผู้ใช้ที่เข้าโพสต์เป็นประจำมากกว่า 350 ล้านคน แต่ละเดือนมีกลุ่มมากกว่า 700 ล้านกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในเฟซบุ๊ก (Facebook) เว็บไซต์แบบเรดดิต (Reddit) ใช้เทคนิค Collaborative Filtering  เพื่อคัดเลือกหัวข้อที่อยู่ในกระแสสนใจนั้น มีผู้เข้าชมที่ไม่ใช่บุคคลซ้ำกัน (Unique Visitors) มากถึง 170 ล้านคนต่อเดือนและมีชุมชนออนไลน์ที่ทำกิจกรรมร่วมกันทุกวันมากกว่า 15,000 ชุมชน Youtube ผู้ใช้บริการมากกว่า 2 พันล้านคนต่อเดือน ซึ่งผู้ใช้บริการเหล่านี้ ต่างเป็นผู้ช่วย Youtube ในสร้างชุมชนขนาดใหญ่ด้วยการผลิตวิดิโอและนำวิดิโอมาโพสต์ลงบนยูทูบ Youtube จึงเป็นกลายเป็นสื่อที่เป็นคู่แข่งสำคัญของสถานีโทรทัศน์และบริษัทโฆษณาทั้งหลาย 

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์นั้นถูกขับเคลื่อนและดำเนินไปโดยแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างในส่วนสำคัญของกิจการ ผู้คนเป็นพันล้านคนใช้เวลามากมายในแต่ละวันเพื่อสร้างเนื้อหาให้เฟซบุ๊กฟรีๆโดยรายงานเหตุการณ์ต่างๆ แสดงความคิดเห็น นำเสนอเรื่องราวต่างๆพร้อมโพสต์รูปภาพต่างๆ โพสต์วิดิโอต่างๆ สิ่งที่อาจจะพิจารณาว่าเป็นค่าจ้างได้ ก็คือ การสื่อสารถึงกลุ่มคนต่างๆและความสัมพันธ์ใหม่ หากโพสต์มีคนเข้าชมหรือมีส่วนร่วมมากพอก็อาจได้รับส่วนแบ่งจากโฆษณาเพียงเล็กน้อย ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและได้รับประโยชน์ที่เหมาะสมในเงื่อนไขที่เหมาะสม ในอนาคตการแบ่งปันข้อมูลอาจจะขยายไปยัง ข้อมูลการเงินส่วนบุคคล ปัญหาสุขภาพ หรือชีวิตส่วนตัว ก็ได้

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวแสดงความห่วงใยว่า “ช่องว่างทางดิจิทัล” จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลง เวลาเราพูดถึง ช่องว่างทางดิจิทัล เรามักหมายถึง ช่องว่างระหว่างกลุ่มที่เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลกับกลุ่มที่เข้าไม่ถึง ความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่สะท้อนความสามารถทางการเงิน ฐานะทางเศรษฐกิจ ทักษะและศักยภาพของบุคคลที่แตกต่างกันอีกด้วย เราจึงเห็นความแตกต่างของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ระหว่างพื้นที่ในเมืองใหญ่กับชนบท ความไม่สามาถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพ การศึกษา ข้อมูลข่าวสารและโอกาสทางเศรษฐกิจต่างๆ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึง การใช้ และผลกระทบจาก เทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารของผู้คน ตั้งแต่อดีตจนก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลในระยะต่อมา ทำให้ความไม่เท่าเทียมนี้ถูกเรียกในภายหลังว่า “ช่องว่างทางดิจิทัล” หรือ Digital Divide ซึ่งแปลความให้ง่ายก็คือ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีและช่องทางในการติดต่อสื่อสารของมนุษย์เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติของการใช้โทรเลขของโลก ตั้งแต่ ค.ศ. 1849 หรือ พ.ศ. 2392 เป็นต้นมา พบว่าช่องว่างทางด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีหรือความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบโทรเลขของประเทศต่างๆในยุโรปตะวันตก มีแนวโน้มลดลงหรือในบางกรณีกลับเป็นตรงกันข้ามและช่องว่างนี้มีความเชื่อมโยงกับความไม่เท่าเทียมประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น ความไม่เท่าเทียมทางด้านเศรษฐกิจและการศึกษา

จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) เมื่อปี ค.ศ. 2019 พบว่าประชากรทั้งโลกซึ่งมีอยู่ประมาณ 7,700 ล้านคน มีประชากรเพียง 53.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ประชาชนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะคนในแอฟริกา ละตินอเมริกาและเอเชียใต้

ขณะเดียวกัน ข้อมูลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยังพบว่า ปัญหาของครัวเรือนในไทยที่ใหญ่กว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านคือ การไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน  หากเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์เพียงร้อยละ 21 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 49 และค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ร้อยละ 38 ขณะที่ ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีอินเทอร์เน็ตที่บ้านร้อยละ 68 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 55 และค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ร้อยละ 44 ในปี พ.ศ. 2563 การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของครัวเรือนยิ่งยากมากขึ้นหากเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2560 ในประเทศไทย ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาทมีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 3 ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 2 แสนบาทขึ้นไปมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร้อยละ 19 ของครัวเรือนทั้งหมด ความไม่เท่าเทียมจากการเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่ผู้คนทั้งโลก เกิดจากปัจจัยอย่างน้อยที่สุด 3 ประการคือ ประการที่หนึ่ง เกิดจากช่องว่างในการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยี (วัดจากจำนวนและการกระจายตัวของเทคโนโลยี เช่น จำนวนโทรศัพท์ จำนวนคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เป็นต้น) ประการที่สอง เกิดจากช่องว่างจากความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (วัดจากทักษะและปัจจัยเสริมอื่นๆ) ประการที่สาม เกิดจากช่องว่างที่มีผลกระทบต่อการใช้งาน (วัดจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การเงิน หรือการวัดผลด้านอื่น)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net